ความทรงจำ ณ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้

1,378 views
5 mins
November 25, 2022

          ข้าพเจ้าได้มีโอกาสได้ศึกษาที่โรงเรียนสาธิต มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี  ช่วงปี พ.ศ. 2544-2547 โดยอาศัยอยู่ที่หอพักหน้าโรงเรียน หลังเลิกเรียน ข้าพเจ้าและเพื่อนๆ มักจะไปกินข้าวที่โรงอาหารลานอิฐ ภายในมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และเมื่อรับประทานอาหารเสร็จ พวกเราจะเดินไป หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy Library) หรือบางคนเรียกสั้นๆ ว่า หอ เอฟ ซึ่งเมื่อได้ยินชื่อครั้งแรก ข้าพเจ้าก็มีความรู้สึกสงสัยว่า ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เกี่ยวข้องอะไรกับหอสมุดแห่งนี้

          ข้าพเจ้าสังเกตว่า บริเวณหอสมุดหลังเก่า มีภาพถ่าย ประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ประดับอยู่หลายภาพ ข้าพเจ้าจึงได้เปิดเว็บไซต์หอสมุดฯ และทราบในภายหลังว่า หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ (John F. Kennedy Library) สร้างขึ้นด้วยการริเริ่มและดำเนินการของ พันเอกถนัด คอมันตร์ อธิการบดีคนแรกของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการมูลนิธิจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ท่านจึงได้นำเรื่องที่จะสร้างห้องสมุดเข้าปรึกษากรรมการมูลนิธิเพื่อขอความช่วยเหลือในการก่อสร้าง ซึ่งมูลนิธิฯ ได้ให้งบประมาณมาก่อสร้างอาคาร จึงเรียกหอสมุดแห่งนี้ว่า “หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้” เรื่อยมา

          บรรยากาศที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ค่อนข้างคึกคัก มีนักเรียน นักศึกษา จากต่างพื้นที่จำนวนมาก อากาศที่จังหวัดปัตตานีค่อนข้างร้อน อบอ้าว บางครั้งมีกลิ่นไอทะเล กลิ่นปลาป่น โชยมา เมื่อเดินไปถึงหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ข้าพเจ้าในวัย 15 ปี รู้สึกตื่นตาตื่นใจ ที่ได้เห็นหอสมุดที่มีขนาดใหญ่มาก ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็นมาก่อน หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ตอบโจทย์สภาพแวดล้อมของจังหวัดปัตตานีมาก เพราะภายในมีเครื่องปรับอากาศ ผู้ใช้บริการรู้สึกเย็นสบายในขณะที่ภายนอกอากาศร้อน บริเวณทางเข้าหอสมุด มีต้นสนขนาดใหญ่ ซึ่งข้าพเจ้าจินตนาการว่าคล้ายต้นคริสต์มาส ข้าพเจ้าซึ่งเป็นนักเรียน โรงเรียนสาธิตฯ ต้องทำบัตรสมาชิกหอสมุดฯ ซึ่งนักเรียน นักศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์สามารถสมัครสมาชิกในราคาถูกกว่าบุคคลภายนอก

          หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ที่ข้าพเจ้าจำได้ เป็นอาคารสีขาว ขนาดใหญ่ มี 3 ชั้น ชั้นล่างจะมีโทรทัศน์ เปิดฉายรายการต่างๆ ทั้งภาพยนตร์ ละคร ซีรีส์ไทยและต่างประเทศ ทั้งใหม่และเก่า เปิดบริการให้ผู้สนใจได้รับชม ทำให้ผู้รับบริการรู้สึกเพลิดเพลิน ผ่อนคลาย ซึ่งถือเป็นครั้งแรกที่ข้าพเจ้าได้สัมผัสบรรยากาศห้องสมุดที่มีหนังสือพิมพ์ นิตยสาร วารสาร จำนวนมาก

ความทรงจำ ณ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้
Photo : ภูมิรัฐ ดำยศ
ความทรงจำ ณ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้
Photo : ภูมิรัฐ ดำยศ
ความทรงจำ ณ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้
Photo : ภูมิรัฐ ดำยศ

          ข้าพเจ้ามักไปดูโทรทัศน์ หรืออ่านนิตยสาร วารสาร ในหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ อยู่เสมอๆ นิตยสารที่ข้าพเจ้าชอบอ่าน ได้แก่ นิตยสารประเภทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รวมถึงการเกษตรและเทคโนโลยีชาวบ้าน การปศุสัตว์ ซึ่งหอสมุดแห่งนี้ได้รวบรวมนิตยสาร วารสารแทบทุกประเภท ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ทำให้ผู้มาใช้บริการหอสมุดได้เพลิดเพลินกับการอ่าน เสริมสร้างความฝันและจินตนาการจากข้อมูลต่างๆ ที่ได้เรียนรู้ ในยุคที่ยังไม่มีสมาร์ทโฟน

          นอกจากนี้ เหตุการณ์ความทรงจำอีกเหตุการณ์หนึ่ง ณ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ คือ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2544 ข้าพเจ้าได้เข้าไปใช้บริการหอสมุดแห่งนี้ เดินผ่านชั้นล่างซึ่งมีโทรทัศน์วางอยู่ 2 เครื่อง ฉายภาพเครื่องบินกำลังชนตึกแฝด ข้าพเจ้าก็เข้าใจว่า คงเป็นการฉายภาพยนตร์เรื่องใหม่ แต่ ทำไมสมจริงมากๆ และได้ทราบต่อมาภายหลังว่า ที่สหรัฐอเมริกา มีเหตุการณ์วินาศภัย เครื่องบิน 2 ลำพุ่งชนตึกแฝดเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ในนิวยอร์ก ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่น่ากลัวมากๆ วันรุ่งขึ้น หนังสือพิมพ์ทุกฉบับพาดหัวข่าวหน้าหนึ่งเกี่ยวกับเหตุการณ์การก่อการร้ายในครั้งนี้ และข้าพเจ้ามักจะมาติดตามข่าวสารเหตุการณ์ที่หอสมุดฯ แห่งนี้ เสมอ

          ชั้นที่ 2 ของ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ จะเป็นตำราวิชาการ สาขาต่างๆ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ เคมี ฟิสิกส์ สังคม ปรัชญา ภาษา วรรณกรรม อารยธรรม ประวัติศาสตร์ ฯลฯ นอกจากนี้ ยังมีมุมห้องพุทธทาสภิกขุ เป็นที่รวบรวมประวัติ ปรัชญา ตำราธรรมะ ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุได้เทศน์ไว้เมื่อยังมีชีวิต ส่วนใหญ่เป็นเรื่องชีวิตและความตาย ซึ่งข้าพเจ้าก็เคยได้ไปอ่านหลายครั้ง แต่ก็ไม่ได้เข้าใจอย่างถ่องแท้ เนื้อหาในหนังสือของพุทธทาสภิกขุค่อนข้างยาว และเนื้อหา คำศัพท์ทางพระพุทธศาสนาที่ค่อนข้างเข้าใจยาก ทำให้ข้าพเจ้าไม่ได้ตั้งใจอ่านอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ดี เนื้อหา ปรัชญา เกี่ยวกับการเกิด การแก่ การเจ็บ และการตาย และคำอธิบายต่างๆ ทางพระพุทธศาสนา ซึ่งท่านพุทธทาสภิกขุได้อธิบาย แฝงด้วยความเรียบง่าย ไม่เน้นปาฏิหาริย์ อาจถูกจริตความคิดวัยรุ่นหัวก้าวหน้าในปัจจุบันที่เน้นการวิเคราะห์ด้วยเหตุผล แต่อาจไม่ถูกจริตชาวบ้านที่มีความหวังเรื่องโชคลาภ เชื่อโชคลาง สนใจเรื่องราวอภินิหารเหนือธรรมชาติ

          ที่ชั้น 2 ของหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ จะมีทางเชื่อมไปยังหอสมุดหลังเก่า เป็นอาคาร 2 ชั้น ส่วนมากเป็นหนังสือนวนิยาย ซึ่งข้าพเจ้าไม่ค่อยจะได้อ่าน เนื่องจากส่วนมาก ข้าพเข้าจะชอบอ่านหนังสือการ์ตูน หรือนิตยสาร วารสาร มากกว่า หนังสือที่อาคาร หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ หลังเก่า จะเป็นหนังสือที่ค่อนข้างเก่า ก่อนข้าพเจ้าเกิด เมื่อได้อ่านหนังสือเหล่านี้ ข้าพเจ้าจะจินตนาการถึงชีวิตผู้คนในสมัยก่อน ซึ่ง ณ ตอนนั้นก็น่าจะอายุ 60-70 ปีแล้ว บางเรื่องเป็นหนังสือที่รวบรวมคอลัมน์จากนิตยสารสมัยก่อน เช่น ตอบปัญหาเรื่องความรัก เรื่องเพศ ของวัยรุ่น หนุ่มสาว สมัยช่วง พ.ศ. 2500 – 2520 ทำให้เข้าพเจ้าเรียนรู้ ความรู้สึกนึกคิด ทัศนคติ สภาพแวดล้อมของคนสมัยก่อน ซึ่งบางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ข้าพเจ้าเห็นว่าแปลก บรรยากาศในอาคารเก่าค่อนข้างจะเงียบสงบกว่าอาคารใหม่ นอกจากนี้ ข้าพเจ้ายังได้อ่านนวนิยายที่ข้าพเจ้าเคยดูทางละคร แต่ก็อ่านแบบคร่าวๆ เช่น สะพานดาว ปริศนา เป็นต้น

ความทรงจำ ณ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้
Photo : M.IMRON POHMA
ความทรงจำ ณ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้
Photo : M.IMRON POHMA

          ชั้นที่ 3 ของหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ จะเป็นบริการสารสนเทศ ห้องชมภาพยนตร์ ห้องแล็บภาษา และห้องคอมพิวเตอร์ มีสื่อสารสนเทศในยุคสมัยนั้น ได้แก่ เครื่องเล่นเทปวิดีโอ ตลับเทป แผ่นซีดี ผู้ใช้บริการสามารถรับชมภาพยนตร์ ฟังเพลง ฟังนิทาน เรื่องเล่าที่บันทึกในเทป ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่ง ข้าพเจ้าได้ลองหยิบตลับเทปฟังเพลงสมัยโบราณ เมื่อนำไปเข้าเครื่องฟัง ได้ยินเสียงผู้หญิงร้องเพลงโบราณ บีบเสียง โทนเสียงสูง ขับร้องบทเพลง

           “คุณหลวง …คุณหลวง

          อยู่กระทรวงยุทธนา

          เงินเดือนยี่สิบบาท

          ดูเปิ๊ดสะก๊าดเสียเต็มประดา

          ใส่เสื้อราชประแตน

          ทำไมไม่แขวนนาฬิกา”

          ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้รู้จัก และไม่เคยฟังเพลงนี้มาก่อน ต่อมาจึงได้นำเนื้อเพลงที่ได้ยินไปลองสืบหาข้อมูลทางอินเทอร์เน็ต จึงทราบว่าเพลงนี้เป็นเพลงมาร์ชชิงเทราก์จอร์เจีย เข้ามาในเมืองไทยเมื่อกองทัพเรือสหรัฐอเมริกาได้เดินเรือรบชื่อเทนเนสซี ซึ่งต่อมานักดนตรีไทยได้จำทำนองไปเล่นในวงดนตรีไทยและใส่เนื้อร้องใหม่ ชื่อเพลงคุณหลวง ข้าพเจ้าชวนเพื่อนๆ ลองฟังเพลงนี้ ต่างหัวเราะ สนุกสนาน กับเนื้อเพลง และลักษณะการขับร้องเพลงแบบโบราณ ที่พวกเราไม่เคยได้ฟังมาก่อน

          นอกจากนี้ ที่ชั้น 3 ยังมีห้องคอมพิวเตอร์ นักเรียน นักศึกษา สามารถเล่นอินเทอร์เน็ต มีโปรแกรมแชตในยุคนั้น ได้แก่ Pirch และ ICQ มีมุมโทรทัศน์ ซึ่งทำให้นักเรียน นักศึกษา ที่อยู่หอพัก ไม่มีโทรทัศน์ ได้ติดตามข่าวสาร ดูหนัง ฟังเพลง และในยุคนั้น ช่วงวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์ จะมีพี่ๆ นักศึกษา เพื่อนนักเรียน โรงเรียนสาธิต ไปดูซีรีส์ไต้หวัน F4 รักใสๆ หัวใจ 4 ดวง ซึ่งเป็นซีรีส์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในยุคนั้น

ความทรงจำ ณ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้
Photo : M.IMRON POHMA
ความทรงจำ ณ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้
Photo : M.IMRON POHMA

          โดยภาพรวม ข้าพเจ้ารู้สึกว่า หอสมุดแห่งนี้ ไม่ได้เป็นแหล่งเรียนรู้เชิงวิชาการอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่สำหรับนักเรียน นักศึกษา ได้พบปะ ผ่อนคลาย เข้าถึงสื่อการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ อย่างไรก็ดี กฎของหอสมุดประการหนึ่งคือ การห้ามพูดคุยเสียงดัง รบกวนสมาธิของผู้ใช้บริการคนอื่นๆ หากมีกลุ่มคนที่เสียงดัง มักจะมีบรรณารักษ์มาตักเตือนอยู่เสมอ ซึ่งกลุ่มของข้าพเจ้าที่ไปเที่ยวเล่น อ่านหนังสือในห้องสมุดมักจะได้รับการตักเตือนอยู่บ่อยๆ ข้าพเจ้ารู้สึกว่าบรรณารักษ์ที่หอสมุดทุกคนมีบุคลิกที่น่าเกรงขาม ไม่ค่อยเป็นกันเอง ทำให้เด็กนักเรียนเข้าใหม่ต่างถิ่น ซึ่งมักทำอะไรใม่ค่อยถูก จะรู้สึกเกร็งๆ เล็กน้อย เมื่อเข้าไปใช้บริการหอสมุดฯ ครั้งแรก

          20 ปี ผ่านไป ข้าพเจ้าได้มีโอกาสแวะผ่านหอสมุดแห่งนี้อีกครั้ง เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2564 แต่ข้าพเจ้าก็ไม่ได้มีโอกาสเข้าไปในหอสมุดเนื่องจากมีเวลาจำกัด ข้าพเจ้าได้ถ่ายภาพบรรยากาศ หอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ รำลึกความทรงจำดีๆ สมัยวัยรุ่น ยุคปี 2000 ข้าพเจ้าได้ติดตามการพัฒนาการให้บริการของหอสมุดจอห์น เอฟ เคนเนดี้ ในปัจจุบัน ทราบว่า มีการใช้เทคโนโลยี VR บริการห้องสมุดเสมือนจริง มีนวัตกรรมการเรียนการสอนออนไลน์ มีการให้บริการ JFK Netflix ฯลฯ

          ข้าพเจ้าได้เรียนรู้และตระหนักว่า สื่อสารสนเทศ เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และองค์ความรู้ ประสบการณ์ สิ่งที่เราได้ยิน ได้ฟัง ได้อ่าน ได้หล่อหลอมความเป็นตัวตน ณ ปัจจุบัน และคนเราก็ยังสามารถเปลี่ยนแปลงความคิด ความอ่าน รสนิยม ได้ในอนาคต การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และตกผลึกทางความคิด จากการอ่าน การเรียนรู้ การสั่งสมประสบการณ์ จะช่วยให้เราได้ทันโลก ทันเหตุการณ์ มีวิจารณญาณ และมีแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและสังคม

          อย่างไรก็ดี ข้าพเจ้าเองก็ไม่ได้มีความชอบ (Passion) อะไรเป็นพิเศษ แต่ก็รู้สึกเพลิดเพลิน เมื่อได้อ่านหนังสือ ได้ดูภาพวาด ภาพถ่าย และมีความสุขกับการจินตนาการ ซึ่งบ่อยครั้งก็ไม่ได้นำไปสู่การปฏิบัติ แต่ข้าพเจ้าเชื่อว่า ประสบการณ์ องค์ความรู้ จะเป็นต้นทุนในชีวิตให้เกิดการพัฒนาต่อไป

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก