เมื่อ 7 ปีที่แล้ว การรวมตัวของกลุ่มสถาปนิกเลือดใหม่ได้เกิดขึ้นในเขตภาคใต้ตอนล่าง ภูเก็ต และสุราษฎร์ธานี ด้วยนโยบายกระจายทำงานสู่ภูมิภาคโดยสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการขับเคลื่อนความคิดสร้างสรรค์ของกลุ่มคนที่ ‘คิดคล้ายๆ กัน’
นั่นคือ อยากบอกให้โลกได้รับรู้ว่า ในพื้นที่ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ที่คนนอกอาจจะรู้จักและเข้าใจแบบน้อยนิด ความจริงแล้วมีความงดงามทางวัฒนธรรมซ่อนอยู่ และยังมีกลุ่มคนทำงานเลือดใหม่ที่เต็มเปี่ยมไปด้วยไฟในการทำงาน ที่พร้อมจะนำเสนอเรื่องราวของเขาให้เป็นที่ประจักษ์ และผลักดันให้คนในพื้นที่พัฒนาต่อยอดเศรษฐกิจและสังคมด้วยความสร้างสรรค์
จากจุดเริ่มต้นในฐานะกลุ่มสถาปนิกที่มารวมตัวกันเพื่อภารกิจทางวิชาชีพ ‘มลายู ลิฟวิ่ง’ ในปัจจุบัน ได้ขยายขนาดกลายเป็นกลุ่มของ ‘นักสร้างสรรค์’ ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส ไม่ว่าจะเป็นนักออกแบบ นักเขียน ช่างภาพ ศิลปิน ร้านกาแฟ และมีแนวโน้มจะขยายขอบเขตความร่วมมือออกไปอีกเรื่อยๆ หากกำลังกาย กำลังใจ และไฟแห่งจินตนาการยังลุกโชติช่วง
ตั้งแต่ก่อตั้งมา มลายู ลิฟวิ่ง ผลักดันให้เกิดกิจกรรมหลากหลายในพื้นที่เพื่อพัฒนาศักยภาพของคน เป็นเวทีสำหรับการแสดงออก และสร้างการรับรู้ว่ามีคนที่มีฝีมือซ่อนอยู่ไม่น้อย ทั้งงานเสวนา นิทรรศการ กิจกรรมฉายหนัง เวิร์กชอป เทศกาล งานออกร้านสินค้า การพัฒนาเชิงพื้นที่ในย่าน อา-รมย์-ดี (อาเนาะรู ปัตตานีภิรมย์ ฤๅดี 3 ถนนในย่านเมืองเก่าปัตตานี) ทุกๆ งานเกิดจากน้ำพักน้ำแรงของสมาชิกกลุ่ม บวกกับเครือข่ายที่มองเห็นความงดงามของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง และอยากให้งานศิลปะเหล่านั้นออกสู่สายตาคนภายนอก
“คำว่า มลายู ลิฟวิ่ง มาจากโพสต์ของสมาชิกในกลุ่ม เป็นภาพเก่าๆ ของห้องรับแขก เราอยากให้ มลายู ลิฟวิ่ง เป็นเหมือนห้องรับแขกของพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง สะท้อนบรรยากาศเป็นกันเอง สบายๆ ต้อนรับทุกคนที่มาเยือน”
ราชิต ระเด่นอาหมัด หนึ่งในผู้ก่อตั้งกลุ่มมลายู ลิฟวิ่ง ได้กล่าวถึงที่มาของกลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่มาร่วมแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ทุกคนมารวมตัวกันเพื่อส่งเสียงออกไป ว่าในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้นี้ มีงานศิลปะ และงานสร้างสรรค์แขนงต่างๆ รอให้ผู้คนมาเรียนรู้และแลกเปลี่ยน
“ตลอดเวลาที่ทำงานมาก็เหนื่อยบ้าง ใช้พลังงานสูงมาก มลายู ลิฟวิ่งเป็นกลุ่มที่ก่อให้เกิดรายจ่าย มากกว่าจะก่อให้เกิดรายได้นะ แต่เราก็ได้เรียนรู้ว่าความเหนื่อยก็มี เดี๋ยวมันก็หาย ไอเดียใหม่มันเกิดขึ้นเรื่อยๆ จากสิ่งที่ทำ”
และเมื่อถามว่าอะไรคือความภาคภูมิใจของมลายู ลิฟวิ่ง คุณราชิตในฐานะตัวแทนกลุ่มตอบกลับมาด้วยน้ำเสียงภาคภูมิใจ “สื่อให้ความสนใจ คนนอกให้ความสำคัญ ส่วนคนในพื้นที่ก็เปิดใจยอมรับซึ่งกันและกัน”
“เมืองที่ไม่มีศิลปะ เป็นเมืองที่ไม่เจริญ”
ราชิต ระเด่นอาหมัด เชื่อแบบนี้มาตลอด เขาจึงรู้สึกแปลกใจที่สิ่งแวดล้อมรอบตัวที่เคยมองว่าไม่ค่อยจะเจริญนัก อย่างปัตตานี ยะลา นราธิวาส กลับมีคนทำงานศิลปะและงานสร้างสรรค์อยู่เยอะมาก จนงานศิลป์เหล่านั้นกลายมาเป็นทรัพยากรที่กลุ่มมลายู ลิฟวิ่งใช้เป็นเครื่องมือสื่อสารความคิดออกไปสู่สาธารณะ
“ตอนแรกเราตั้งใจว่า จะตะโกนออกไปให้ดังๆ แข่งกับเสียงข่าวความไม่สงบ แต่ต่อมาเราก็รู้แล้วว่าไม่ต้องตะโกน แต่พูดออกไปด้วยภาษาปกติของเรานี่แหละ”
ภาษาปกติคืออะไร?
“ภาษาปกติคือ เล่าเรื่องราวของ 3 จังหวัด ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ผ่านผลงาน ไม่ต้องคิดว่าเรากำลังแข่งกับเสียงระเบิด แต่คิดว่าเรานำเสนองานสร้างสรรค์เป็นเรื่องปกติ นำเสนอว่าพื้นที่ตรงนี้มีความสร้างสรรค์ยังไงบ้าง”
กลุ่มมลายู ลิฟวิ่ง ได้ยึดถือหลักการนั้นเรื่อยมา นอกจากคำว่า ‘ภาษาของเรา’ จะหมายถึงการบอกเล่าถึงผลงานชาวใต้แบบไม่ต้องพยายามแต่งเสริมเติมสี เล่นกับเรื่องราวความไม่สงบแล้ว ‘ภาษาของเรา’ ยังหมายถึงการทำงานแบบสดๆ อีกด้วย
“พอมีงบประมาณจำกัดก็เน้นลงมือทำกันเอง บางทีก็ออกมาสดมาก ไปคนละทิศละทางกัน ไม่เหมือนออร์แกไนเซอร์มืออาชีพ”
แต่ความสดนั่นกลับทำให้อัตลักษณ์ภาคใต้เด่นชัดในผลงาน ไม่เหมือนใครและไม่มีใครเหมือน มันคือเสน่ห์ที่ทำให้ผู้ที่มาเยือนและบังเอิญได้มีส่วนร่วมรู้สึกหลงรักพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ได้ง่ายๆ
7 ปีที่ผ่านมาพิสูจน์ให้เห็นว่า การรวมตัวของมลายู ลิฟวิ่งไม่เสียเปล่า เยาวชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดริเริ่ม และเป็นกำลังสำคัญช่วยให้งานแต่ละครั้งผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทั้งเยาวชนในระดับมัธยม และในระดับมหาวิทยาลัย ภาคีที่ให้ความร่วมมือก็เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในและนอกพื้นที่ ทุกคนที่เข้ามาล้วนคิดเหมือนกัน คือไม่กลัวการเข้ามาในพื้นที่ ที่ว่ากันว่ามีข้อขัดแย้งและความไม่สงบคุกรุ่นอยู่ภายใน ต่างคนต่างมาร่วมมือสร้างกิจกรรม ต่างคนต่างอยากเรียนรู้ แลกเปลี่ยนไอเดีย และสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ทั้งนั้น
จากปีแรกๆ ที่กลุ่มมลายู ลิฟวิ่ง ลงแรงทำงานกันเอง งานเสวนา ทอล์กสร้างแรงบันดาลใจ เวิร์กชอป เทศกาล นิทรรศการ และงานสร้างสรรค์อื่นๆ เกิดขึ้นด้วยน้ำแรงมากกว่าน้ำเงิน สู่ปีหลังๆ ที่มีกลุ่มคนหลากหลายมาร่วมทำงานด้วย งบประมาณและการสนับสนุนจากองค์กรภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้น กิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรมก็เพิ่มความหลากหลายมากขึ้น
งานเวิร์กชอป ‘ไส้เดือนตาบอดในมหาสมุทร’ ที่คุณแหม่ม วีรพร นิติประภา นักเขียนรางวัลซีไรต์ชื่อดัง และคุณนุช พิมผกา โตวิระ ผู้กำกับหนังที่คว้ารางวัลใหญ่ มาร่วมสร้างสีสัน จุดประกายไอเดียให้กับพื้นที่ เป็นหนึ่งในผลงานที่มลายู ลิฟวิ่งรู้สึกภาคภูมิใจ เพราะเป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองระหว่างคนในและนอกพื้นที่ที่ได้ผลแบบที่คาดหวัง เพราะมลายู ลิฟวิ่ง เอง ก็อยากให้คนนอกพื้นที่มารับรู้และสัมผัสตัวตนของเมืองใต้ และนำไปบอกเล่าต่อให้เกิดการรับรู้ในวงกว้างขึ้น
งานครั้งอื่นๆ ของมลายู ลิฟวิ่ง ก็ได้รับเกียรติจากศิลปินในพื้นที่ ทั้ง ‘มูบารัต สาและ’ กวีจากจังหวัดนราธิวาส ‘ซะการีย์ยา อมตยา’ หรือวงดนตรีท้องถิ่นจากยะลา มาร่วมงาน กลายมาเป็นจุดศูนย์กลางที่ช่วยสื่อสาร บอกเล่า เรื่องราวของคนมีฝีมือประจำ 3 จังหวัดให้คนในพื้นที่รู้สึกภาคภูมิใจ และให้คนนอกมองเข้ามาแล้วรับรู้ว่า พื้นที่ตรงนี้มีคนดีมีฝีมืออยู่มาก และมีผลงานดีๆ ที่ไม่ได้ด้อยไปกว่าพื้นที่อื่นๆ สมดังความตั้งใจแรกเมื่อก่อตั้งกลุ่มขึ้น
“ช่วงแรกๆ งานอีเวนต์ก็จัดกันทั้งปี แต่พอเริ่มจัดงาน ‘Pattani Decoded’ เราก็รวบเอางานที่กระจายมารวมไว้ในช่วงเดียวกัน” ราชิตบอกเล่าให้เราฟัง
งาน Pattani Decoded เป็นงานเทศกาลที่ดึงเอาภูมิปัญญาเก่ามาผสานกับความใหม่ กลายเป็นการนำเสนอผลงานที่สะท้อนอัตลักษณ์ของพื้นที่ ในงานมีทั้งเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณกรรม ศิลปะ งานออกแบบ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ที่ผ่านมากลุ่มมลายู ลิฟวิ่ง เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการจัดงานมาถึง 2 ครั้งแล้ว
“งานครั้งแรกในปี 2562 เหมือนเป็นอัลบั้มรวมฮิต เราหยิบของดี 3 จังหวัดมานำเสนอ แต่ครั้งต่อไปก็ไม่ได้แล้ว เลยคิดกันว่าครั้งที่ 2 จะเล่าเรื่องทั้งทีก็ต้องมีธีม จะมารวมฮิตของดีเป็นครั้งที่ 2 ก็ไม่ได้”
หลังจากพูดคุยกันในกลุ่มแล้ว มลายู ลิฟวิ่ง ก็ตกผลึกว่าอยากให้งานที่ทำช่วยขับเคลื่อนและสะท้อนปัญหาสังคมด้วย “เราอาจจะไม่ใช่คนแก้ปัญหา แต่เราจะสะท้อนปัญหาผ่านงานสร้างสรรค์”
และนั่นก็เป็นที่มาของการเลือกธีม ‘เกลือหวาน’ หรือ Deep Salt เป็นแกนกลางของงาน Pattani Decoded ครั้งที่ 2 ที่จัดขึ้นในปี 2565
“เกลือหวานเป็นของดีในพื้นที่ที่กำลังจะหายไป งาน Pattani Decoded ก็เป็นเหมือนเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยเป็นกระบอกเสียง ทำให้คนหันมาสนใจปัญหานี้มากขึ้น”
‘เกลือหวานปัตตานี’ มีรสชาติที่กลมกล่อมและหาได้จากปัตตานีเท่านั้น เกลือหวานเคยสร้างความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ แต่ในปัจจุบันพื้นที่ทำนาเกลือลดน้อยลง ผู้คนเปลี่ยนไปทำอาชีพอื่น ผลผลิตลดน้อยลงอย่างน่าใจหาย งาน Pattani Decoded ชวนมาคิดต่อว่า สังคมควรจะทำอย่างไรเพื่อต่ออนาคตให้กับเกลือหวานปัตตานี
งานถอดรหัสครั้งนี้ จึงไม่ได้แค่ถอดรหัสให้คนนอกและคนในมองเห็นคุณค่าของพื้นที่ แต่ยังช่วยถอดรหัสประเด็นทางสังคมอีกด้วย
แม้จะต้องลงมือ ลงแรง แบบมองไม่เห็นผลตอบแทนในเชิงตัวเงินมาเนิ่นนาน แต่กลุ่มมลายู ลิฟวิ่ง ก็ยังดูมีไฟ เมื่อถามว่าทำงานเพื่อขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงมานานหลายปี รู้สึกเหนื่อยหรือถอดใจบ้างไหม ราชิตตอบกลับมาในฐานะตัวแทนของกลุ่ม
“พออายุเพิ่มขึ้นก็เริ่มเหนื่อย ต้องมองหาคนรุ่นใหม่มาช่วยซัพพอร์ต มาช่วยงานกันต่อไป”
นอกจากเรื่องกำลังกาย เวลาที่ผ่านไป กับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง ก็มีผลต่อการทำงานของมลายู ลิฟวิ่งบ้างเหมือนกัน
“ช่วงหลังๆ พอเราเริ่ม live รายการทอล์กหรือสัมมนา คนก็จะรอชมที่บ้าน ซึ่งมุมหนึ่งก็ดีที่คนเข้าถึงได้หลากหลายช่องทาง แต่บรรยากาศของงานมันก็จะเปลี่ยนไป เราอยากให้เกิดการรวมตัว มีบรรยากาศของคนมาพบปะแลกเปลี่ยนกัน”
แม้จะเหนื่อยและต้องเจอกับเรื่องไม่คาดฝันบ้าง แต่มลายู ลิฟวิ่งก็ยังคงไม่คิดจะหยุดเดิน ยังมีไอเดีย มีสิ่งที่อยากทำในอนาคตอีกหลายอย่าง ที่ผ่านมางานที่ทำล้วนเป็นงานอีเวนต์หรือกิจกรรมชั่วคราวเสียมาก ในอนาคต มลายู ลิฟวิ่ง ก็ยังอยากจะสร้างการเปลี่ยนแปลงโดยการเข้ามาร่วมแก้ปัญหาของเมือง ด้วย ‘ภาษา’ ของตัวเองต่อไป
“เราก็คิดถึงปัญหาในพื้นที่ แล้วก็อยากเข้าไปช่วยผลักดันให้เกิดการปรับเปลี่ยนนะ อย่างเรื่องการใช้ประโยชน์จากพื้นที่สาธารณะริมแม่น้ำด้วยเหมือนกัน คนในพื้นที่ยังไม่มีโอกาสใช้พื้นที่อย่างเต็มที่”
ฟังแล้วก็รู้สึกว่า แม้จะเหนื่อยแค่ไหนแต่ความมุ่งมั่นของกลุ่มมลายู ลิฟวิ่งก็ยังคงอยู่ เป้าหมายยังคงชัดเจน แม้ว่าจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานบ้าง ทั้งหมดก็ล้วนเป็นเพราะต้องการปรับให้เข้ากับกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลง และเพื่อเพิ่มผลลัพธ์ที่ดีให้กับพื้นที่นั่นเอง