ประวัติศาสตร์ที่ทุกคนเรียนกันอยู่ทุกวันนี้ มีเรื่องราวของท้องถิ่นบ้านเกิดตัวเองกี่เปอร์เซ็นต์?
จากปัญหาที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำของ (หรือที่เราคุ้นในชื่อทางการว่า แม่น้ำโขง) ทั้งเขื่อนที่กำลังเข้ามาทำลายแม่น้ำและธรรมชาติ ผู้คนที่ไม่ได้กลับมายังท้องถิ่นจนวิถีชุมชนลุ่มแม่น้ำเลือนหาย หรือประวัติศาสตร์ชุมชนที่ไม่มีใครส่งต่อ ทำให้ ครูตี๋-นิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของที่ทำงานกับแม่น้ำของมากว่า 20 ปี ชวนชาวบ้านในชุมชนมาทำวิจัยเกี่ยวกับแม่น้ำของ ผ่าน 3 คำสำคัญคือ ประวัติศาสตร์ นิเวศ และวัฒนธรรม ซึ่งเกี่ยวโยงกับชีวิตของคนในชุมชน
เมื่อเห็นว่าชุมชนยังขาดพื้นที่การเรียนรู้ที่จะถ่ายทอดและส่งต่อประวัติศาสตร์ ในปี พ.ศ. 2558 จึงได้เกิดพื้นที่การเรียนรู้ที่ชื่อ ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ ขึ้นมา
บ้านไม้สองชั้นที่อยู่ติดกับแม่น้ำของ ในจังหวัดเชียงรายแห่งนี้ กลายเป็นทั้งพื้นที่การเรียนรู้ ห้องสมุดที่รวมงานวิจัยเกี่ยวกับแม่น้ำของไว้อย่างครบถ้วน แหล่งรวมตัวของคนที่พยายามปกป้องแม่น้ำของ และที่นั่งพักผ่อนหย่อนใจ ทอดสายตามองแม่น้ำของที่สวยงาม
พื้นที่นี้เกิดขึ้นมาด้วยความเชื่อที่ว่าทุกคนควรได้รู้จักประวัติศาสตร์ ธรรมชาติ และวัฒนธรรมของชุมชนตัวเอง มากกว่าจะรับรู้แค่เรื่องเล่าจากหลักสูตรแกนกลาง เพราะการพาเด็กๆ และชุมชนเชื่อมโยงกับบ้านเกิด จะทำให้ชุมชนพัฒนาได้จริงๆ
ชวนไปสำรวจพื้นที่เรียนรู้แห่งนี้พร้อมกับล่องเรือลงแม่น้ำของไปด้วยกัน
ประวัติศาสตร์ นิเวศ วัฒนธรรม สามคำสำคัญของโฮงเฮียนแม่น้ำของ
พูดถึงโรงเรียน หลายคนอาจนึกถึงรายวิชาน่าเบื่อ หรือเรื่องราวที่ห่างไกลจนไม่เห็นความเชื่อมโยงกลับมาที่ตัวผู้เรียน แต่ไม่ใช่กับโฮงเฮียนแม่น้ำของ ที่ทุกการเรียนรู้ต่างพาย้อนมาสู่รากเหง้าของผู้เรียนและชุมชนเสมอ ชีวิตที่พึ่งพาแม่น้ำ ประวัติศาสตร์ที่ทำให้เห็นเหตุผลที่มาของวิถีชีวิต หรือนิเวศที่ทำให้เข้าใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติที่จะช่วยมนุษย์ให้มีชีวิตอยู่ต่อไป
“ประวัติศาสตร์ นิเวศ วัฒนธรรม ต่างเกี่ยวโยงกันและกันอยู่เสมอ หากจะเรียนเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก็จะมีอีกสองเรื่องมาเกี่ยวข้องกัน”
ครูตี๋อธิบายถึงเหตุผลที่ทั้งสามคำนี้กลายเป็นหัวใจสำคัญของโฮงเฮียนแม่น้ำของ ซึ่งยังขยายต่อไปว่า เราจะเห็นประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมเมื่อได้รู้ว่าแม่น้ำของมีสัตว์อะไรอาศัยอยู่ น้ำมากหรือน้ำน้อยในฤดูกาลใด แก่งหินเกิดมาเพื่อเป็นบ้านของลูกสัตว์น้ำเล็กๆ แบบไหน สิ่งเหล่านี้ชุมชนที่อยู่ริมน้ำก็จะคอยสังเกตและจดจำเป็นวัฒนธรรมของตัวเองเรื่อยมาว่า จะล่องเรือหาปลาต้องระวังจุดไหน จุดไหนหากินได้ น้ำตรงไหนเชี่ยวหรือเป็นแหล่งน้ำวน ซึ่งบางทีก็มาในมุมของตำนานหรือนิทานเรื่องเล่านั่นเอง
“แต่ทุกวันนี้คนเราไม่เห็นการเชื่อมโยงของทั้งสามสิ่ง เพราะโรงเรียนไม่เคยสอน โรงเรียนสอนแต่ประวัติศาสตร์ของเมืองหลวง สอนแต่เรื่องราวของคนเมือง เด็กๆ ที่นี่ไม่เคยได้รู้จักประวัติศาสตร์บ้านของตัวเอง” ครูตี๋ย้ำ พร้อมกับบอกว่าทั้ง 3 คำนี้ไม่ได้เกิดขึ้นอย่างเลื่อนลอย แต่คือผลจากการวิจัยของกลุ่มรักษ์เชียงของร่วมกับชาวบ้านจริงๆ
ที่นี่เปิดรับทั้งบุคคลภายนอกให้เข้าไปเรียนรู้ พร้อมกับการทำ MOU กับโรงเรียนในพื้นที่เพื่อให้เรื่องนี้เข้าไปสู่ใจของเด็กๆ ในชุมชนพร้อมๆ กัน
ล่องเรือไปเรียนรู้ระบบนิเวศของแม่น้ำของ
หนึ่งในการเรียนรู้ที่ทำให้คนเรียนจดจำและมีส่วนร่วมได้คือ การพาลงพื้นที่จริง ไปสัมผัสประสบการณ์จริงให้เห็นกับตา
สำหรับแม่น้ำของ กิจกรรมหนึ่งที่จะได้เรียนรู้และเข้าใจแม่น้ำสายสำคัญแห่งนี้คือการพากันล่องเรือไปสัมผัสแม่น้ำและย้อนไปดูเส้นทางของแม่น้ำของที่ตอนนี้กำลังถูกทำลายเรื่อยๆ จากการสร้างเขื่อนไล่ลงมาตั้งแต่ประเทศจีน ที่เกิดขึ้นเรื่อยมาตั้งแต่พ.ศ. 2535 ซึ่งปัจจุบันมีเขื่อนที่กั้นธรรมชาติแม่น้ำของกว่า 11 แห่งแล้วจากทั้ง 28 แห่งตามแผน นอกจากนี้ยังมีการระเบิดแก่งหินเพื่อให้เรือสินค้าผ่านได้ ซึ่งแม้รัฐบาลจะยุติจากเสียงคัดค้าน แต่โฮงเฮียนเชียงของก็ยังคงไม่นิ่งนอนใจในเรื่องนี้
ระหว่างการล่องเรือ ครูตี๋จะคอยเล่าเรื่องราวตามเส้นทาง เช่น หาดทรายที่โผล่ขึ้นในแม่น้ำของช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญให้เหล่านกท้องถิ่นมาวางไข่ หรือนกอพยพได้แวะพัก แต่เมื่อแม่น้ำถูกรบกวนจากการสร้างเขื่อนจนผิดธรรมชาติ วงจรชีวิตของสัตว์ต่างๆ ที่พึ่งพาแม่น้ำของก็ต้องเสียศูนย์ไปด้วย เพราะกลายเป็นน้ำขึ้นลงไม่ตรงตามฤดูกาล แต่กลับขึ้นอยู่กับเขื่อนมากมายที่ขวางกั้นสายน้ำ
การล่องเรือเรียนรู้ไปกับโฮงเฮียนแม่น้ำของ จึงพาเราย้อนไปเรียนรู้อดีตอันอุดมสมบูรณ์ในวันที่ธรรมชาติยังสวยงาม และกลับมายังยุคสมัยปัจจุบันที่แม่น้ำของและธรรมชาติที่พึ่งพากำลังตายลงด้วยน้ำมือของมนุษย์ รวมถึงสะท้อนไปยังอนาคตว่าเมื่อได้เรียนรู้แล้ว ทุกคนจะเลือกให้อนาคตเป็นแบบไหน
ค้นหาประวัติศาสตร์ของชุมชนผ่านเรื่องเล่าตำนานริมน้ำของ
อีกเรื่องเล่าฟังสนุก คือสารพัดตำนานท้องถิ่นจากปากครูตี๋ที่เล่าสืบทอดกันมาหลายต่อหลายรุ่น ทำให้เราพอเห็นความเชื่อมโยงของผู้คนกับสายน้ำในอดีต ที่นี่เป็นทั้งบ้านของสัตว์น้ำไปพร้อมๆ กับเป็นบ้านให้คนในชุมชน และก่อให้เกิดวัฒนธรรมเกี่ยวกับสายน้ำ
หากได้ไปเรียนรู้ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ครูตี๋จะชี้ชวนว่าแก่งแต่ละแก่งมีตำนานอย่างไร มีเรื่องเล่าอย่างไร โดยแต่ละเรื่องเล่าก็เป็นทั้งจุดคอยชี้ว่าตรงนี้มีปลามากหรือน้อย ตรงนั้นเป็นจุดอันตรายเพราะน้ำเชี่ยวหรือมีน้ำวน
ครูตี๋เชื่อว่า นี่คือวิธีการส่งต่อความรู้อันชาญฉลาดของคนยุคก่อนที่ใช้เรื่องราวทำให้คนสนใจมากกว่าการบอกอย่างตรงไปตรงมา และเรื่องเล่านี้ยังเป็นเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ผ่านชื่อเรียก หรือเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่สอดแทรกในเรื่องเล่า ให้ทุกคนได้สังเกตและเห็นการเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำเทียบโยงกับตำนานในอดีตไปพร้อมกัน
สำรวจวัฒนธรรมของชุมชนแม่น้ำของที่พึ่งพาธรรมชาติ
คนในชุมชนใช้ชีวิตริมน้ำ มีเครื่องมือ มีวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับริมน้ำ ไม่ว่าจะเครื่องมือหาปลาที่เกิดจากภูมิปัญญาของชุมชน อาชีพที่เกิดขึ้นสายน้ำของ ทั้งคนเก็บดอกงิ้ว คนหาปลา คนทำเครื่องจักสาน
สิ่งที่ทุกคนจะได้ลองเรียนรู้คือ การค้นพบว่าทักษะของคนที่นี่ไม่เคยด้อยกว่าใบปริญญา แต่เป็นทักษะชีวิตที่หาได้ยากและกำลังจางหายไปตามการแปรเปลี่ยนของแม่น้ำ เช่น อาชีพคนเก็บดอกงิ้วสำหรับทำขนมจีนน้ำเงี้ยวจะเริ่มหายไป เพราะพื้นที่ริมฝั่งที่เคยเต็มไปด้วยต้นงิ้วถูกรุกราน หรือแม้แต่ความรู้เรื่องพันธุ์ปลาที่อาจกลายเป็นแค่อดีตเมื่อพันธุ์ปลาในแม่น้ำของลดจำนวนลงเรื่อยๆ
การเรียนรู้วิถีชีวิตท้องถิ่นอาจช่วยให้ทุกคนแม้แต่คนในชุมชนด้วยกันเองได้เห็นความเชื่อมโยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่เกิดจากมนุษย์จริงๆ เพราะหลากหลายอาชีพอาจหายไปในวันที่แม่น้ำของถูกทำลาย
เรียนรู้ไปให้สุด ผ่านหนังสือในห้องสมุดที่รวมงานวิจัยแม่น้ำของไว้มากที่สุด
และหากใครที่ยังรู้สึกไม่หนำใจกับข้อมูลผ่านการล่องเรือรวมไปถึงการเดินคุยกับคนในชุมชน ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ ยังมีห้องสมุดที่ได้ชื่อว่ารวมงานวิจัยแม่น้ำของไว้มากที่สุด
ห้องสมุดและงานวิจัยมากมายเหล่านี้ เป็นผลจากการทำงานหนักของครูตี๋และกลุ่มรักษ์เชียงของ รวมถึงเครือข่ายต่างๆ ที่คอยเก็บสะสม รวบรวมงานวิจัยเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ระบบนิเวศ และวัฒนธรรมชุมชนแม่น้ำของไว้ ซึ่งงานวิจัยก็ได้กลั่นออกมาเป็นหลักสูตรของโฮงเฮียนแม่น้ำของที่กล่าวไปข้างต้น
ห้องสมุดแห่งนี้เพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการไปเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ครูตี๋บอกว่าทุกคนสามารถมาศึกษาค้นคว้าได้เต็มที่ และที่สำคัญคือกำลังจะทำขึ้นบนเว็บไซต์ออนไลน์เพื่อกระจายให้ถึงทุกคนอีกด้วย
“การเรียนรู้ท้องถิ่นทำให้เรามีชีวิตต่อไป” สิ่งที่ครูตี๋ได้เรียนรู้หลังต่อสู้เพื่อแม่น้ำของมาหลายสิบปี
เป็นเวลาหลายสิบปีที่ครูตี๋ทำงานเพื่อผลักดันองค์ความรู้เกี่ยวกับแม่น้ำของแห่งนี้ เพราะเขามองเห็นว่าการศึกษาในปัจจุบันไม่ชวนให้คนในชุมชนได้รู้จักตัวเอง แต่กลับไปให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ส่วนกลางมากเกินไป และนั่นเป็นสิ่งที่ครูตี๋ได้เรียนรู้ในช่วงที่ผ่านมา
“ผมได้เรียนรู้และเห็นความสำคัญของชุมชนและองค์ความรู้ในชุมชน เรียกว่านี่เป็นเรื่องพื้นฐานที่เราควรรู้ เพราะถ้าเราไม่เข้าใจรากเหง้า เราอาจเดินไปข้างหน้าได้แบบไม่ดีที่สุด”
นอกจากนั้นครูตี๋ยังเชื่อว่าการจะพาชุมชนไปข้างหน้า ต้องทำให้คนในชุมชนรวมถึงคนรุ่นใหม่ได้เห็นความสัมพันธ์ของตัวเองกับบ้านเกิด ให้เขาได้เรียนรู้ประวัติศาสตร์ สังคม วิถีชีวิตของชุมชนตั้งแต่ยังเป็นเด็ก ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่ขาดหายไปเมื่อเด็กเข้าสู่รั้วโรงเรียน ก่อนจะทิ้งท้ายถึงคนที่อยากสร้างพื้นที่การเรียนรู้ของตัวเอง
“ถ้าวันหนึ่ง ใครจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ องค์ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมั่นใจว่าเราเชี่ยวชาญมันจริงๆ และควรจะเป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นด้วย ช่วยให้มันกระจายความรู้ท้องถิ่นออกไป แล้วทุกชุมชนจะได้ก้าวไปข้างหน้าได้”
Tiny Space, Big Learning โดย ili.U คอนเทนต์ซีรีส์จากเพจที่สนใจ Conscious Lifestyle ชวนไปสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ขนาดเล็กที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ทั่วประเทศ ใส่ใจเรื่องการศึกษาในแบบฉบับของตัวเอง และพยายามขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปจากห้องเรียนที่เคยชิน พื้นที่เหล่านี้มีอะไรให้เรียนรู้ แล้วคนทำได้บทเรียนก้อนใหญ่อะไรจากการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน
Photo: Parker Hilton on Unsplash