เมืองมะสึบาระ จังหวัดโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เป็นเมืองที่มีภูมิประเทศเป็นเอกลักษณ์ ในอดีตมีอ่างเก็บน้ำเพื่อการเกษตรกระจายอยู่กว่า 133 แห่ง ต่อมาอ่างเก็บน้ำเหล่านี้ถูกถมเพื่อนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ตามความต้องการที่เปลี่ยนไปของยุคสมัย ปัจจุบันมีอ่างเก็บน้ำหลงเหลืออยู่ประมาณ 47 แห่ง
เดิมทีเทศบาลเมืองมะสึบาระมีแผนการถมอ่างเก็บน้ำเพื่อสร้างห้องสมุดหลังใหม่ให้มีขนาดใหญ่ขึ้น แต่บริษัทสถาปัตยกรรมมารุ (MARU) ได้เลือกออกแบบอาคารโดยคงอ่างเก็บน้ำเอาไว้เพื่อรักษาภูมิทัศน์ดั้งเดิมของเมือง ห้องสมุดหลังใหม่รูปทรงแปลกตาจึงถือกำเนิดขึ้น ผู้คนมักเรียกที่นี่ว่า ‘ป่าแห่งการอ่าน’
สถาปนิกได้รับแรงบันดาลใจมาจากสุสานโบราณโมซุ-ฟูรูอิจิสมัยปลายศตวรรษที่ 4 ถึงปลายศตวรรษที่ 5 มีลักษณะเป็นเนินดินขนาดใหญ่ มีคูน้ำล้อมรอบ ซึ่งพบอยู่ในจังหวัดโอซาก้า อาคารห้องสมุด 3 ชั้นถูกสร้างยื่นลงไปในอ่างเก็บน้ำ ภายนอกมีโทนสีชมพูเพื่อให้กลมกลืนกับถนนและโรงยิมของเทศบาลที่อยู่ติดกัน ผนังคอนกรีตมีความหนาถึง 600 มม. ซึ่งหนากว่าผนังของอาคารทั่วไปถึง 3 เท่า ทำให้มีคุณสมบัติทนทานต่อแผ่นดินไหว เป็นฉนวนกันความร้อน และช่วยรับน้ำหนัก พื้นที่ภายในห้องสมุดแต่ละชั้นจึงสามารถเปิดโล่งเป็นหนึ่งเดียว ส่วนที่ดาดฟ้าเป็นลานพักผ่อนซึ่งสามารถชื่นชมทัศนียภาพโดยรอบของเมือง
หน้าต่างของห้องสมุดมีขนาดใหญ่และถูกจัดวางในตำแหน่งที่เหมาะสม ทำให้สามารถรับแสงแดดและมองเห็นทิวทัศน์สวยงามภายนอก สายน้ำที่ไหลเวียนรอบอาคารมีส่วนช่วยในการระบายอากาศตามธรรมชาติ สะท้อนแสงเงานวลตาเมื่อยามแดดกระทบผิวน้ำ ดังที่ผู้ออกแบบได้กล่าวไว้ว่า “การสร้างอาคารในอ่างเก็บน้ำ ทำให้เราสามารถใช้ประโยชน์ และสัมผัสบรรยากาศริมน้ำได้จากทั้งภายในและภายนอกอาคาร”
นอกจากความน่าสนใจด้านการออกแบบ ห้องสมุดประชาชนมะสึบาระยังคำนึงถึงสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อรองรับนักอ่านที่หลากหลาย เช่น หนังสือเสียง ตู้หนังสือและจุดบริการรับคืนหนังสือนอกห้องสมุด ห้องพยาบาล ห้องเปลี่ยนผ้าอ้อม และรถเข็นเด็ก มีบริการอ่านหนังสือที่บ้าน รวมทั้งมีระบบอาสาสมัครซึ่งช่วยแบ่งเบาภาระงานอันมากมายของเจ้าหน้าที่ และสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีร่วมกันของคนในชุมชน
หนึ่งในลูกเล่นเพื่อส่งเสริมการอ่านที่น่าสนใจ คือการทำสมุดบันทึกการอ่านที่มีหน้าตาคล้ายสมุดบัญชีธนาคาร ผู้ใช้บริการสามารถบันทึกรายการหนังสือที่ตนเองอ่านในแต่ละครั้ง คล้ายการอัปเดตยอดเงินในบัญชี การได้เห็นรายการหนังสือที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วยกระตุ้นและจูงใจให้เด็กๆ อยากอ่านหนังสือ
ห้องสมุดประชาชนมะสึบาระได้รับรางวัล BCS จากสหพันธ์การก่อสร้างแห่งญี่ปุ่น ที่มอบให้แก่อาคารในประเทศที่ก่อสร้างอย่างยอดเยี่ยม ‘ห้องสมุดแห่งนี้เป็นห้องสมุดประชาชนที่สวยงามน่ามอง มีพื้นที่ภายในที่สะดวกสบายพร้อมสภาพแวดล้อมที่มั่นคงแข็งแรง มีกระบวนการทำงานที่เป็นหนึ่งเดียว” ห้องสมุดแห่งนี้ยังได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแห่งโอซาก้า ประจำปี 2020 และ Good Design Award ประจำปี 2020 จากสถาบันส่งเสริมการออกแบบแห่งประเทศญี่ปุ่น
ความพยายามในการคิดนอกกรอบก่อให้เกิดอาคารที่อยู่เหนือกาลเวลาและสะท้อนอัตลักษณ์ของท้องถิ่น ห้องสมุดประชาชนมะสึบาระได้กลายเป็นหนึ่งในสถานที่เรียนรู้ที่สำคัญของเมือง ซึ่งปรารถนาจะสร้างการมีส่วนร่วมกับสมาชิกในชุมชนต่อไปอีกหลายชั่วอายุคน
ที่มา
บทความ “Matsubara Civic Library / MARU。architecture ” จาก archdaily.com (Online)
บทความ “Matsubara Civic Library” จาก futurarc.com (Online)
บทความ “Matsubara City Library” จาก arup.com (Online)
บทความ “松原市民松原図書館” จาก maruarchi.com (Online)
บทความ “About Matsubara” จาก matsubara-kanko.net (Online)
บทความ “【松原市】読書の森はこんなところ” จาก minamiosaka-yorimichimap.com (Online)
เว็บไซต์ 松原市民図書館 (Online)