‘มะขามป้อม’ กระบวนการเรียนรู้ผ่านละคร ปลุกสำนึกทางสังคม ค้นพบศักยภาพตนเอง

17 views
August 25, 2022

หากพูดถึงพื้นที่การเรียนรู้ เชื่อว่าสถานที่ที่หลายคนนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ คงหนีไม่พ้น ‘มะขามป้อม

มะขามป้อม ผลิตนักสร้างกระบวนการเรียนรู้มาแล้วหลายต่อหลายรุ่น และผลิดอกออกผลเป็นคนในแวดวงการศึกษาที่อยากขับเคลื่อนเรื่องการเรียนรู้ในไทย มีทั้งสาขาที่ตั้งอยู่ทั้งในกรุงเทพฯ และอำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่

ชื่อของหลักสูตรที่คุ้ยเคยกันมีทั้ง โรงเรียนไท มหาวิทยาลัยเถื่อน มาสเตอร์คลาส และโรงเรียนวิทยากร จึงพูดได้ว่านี่เป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับทุกคนตั้งแต่มือใหม่จนถึงผู้เชี่ยวชาญ

แต่ที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือการเรียนรู้ผ่าน ‘ละคร’

ในพื้นที่เชียงดาวนั้นเป็นเหมือนพื้นที่ฮีลใจ ไปพร้อมกับชวนเรียนรู้ความหลากหลายไปด้วยกัน เพราะการเรียนรู้ของที่นี่เชื่อใน 3 คำสำคัญ คือ ‘ละคร ศิลปะ สังคม’ โดยตัวพื้นที่แบ่งเป็นโรงศิลปะร่วมสมัย โรงละคร ลานประติมากรรม บ้านศิลปิน ที่พักสำหรับผู้เข้าร่วมเวิร์กชอป และคาเฟ่

จากความตั้งใจอยากสร้างสังคมประชาธิปไตยเมื่อ 40 ปีก่อน ในยุคที่สื่อยังมีเพียงไม่กี่ช่อง ทำให้มะขามป้อมก่อตั้งขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อสำหรับชาวบ้าน เป็นสื่อเล็กๆ เพื่อคนรากหญ้า คอยเป็นกระบอกเสียงให้คนตัวเล็กตัวน้อย และส่งเสริมให้พวกเขาได้มีพื้นที่ในการพูด

ก๋วย – พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) เป็นหนึ่งในคนที่เริ่มต้นจากการเข้ามาเรียนรู้จนกลายเป็นหนึ่งในผู้ขับเคลื่อนงานสำคัญในพื้นที่ และมองเห็นว่า ‘ละคร’ คือ สื่อการเรียนรู้ที่ทรงพลังและจะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกันอย่างเข้าใจ

‘มะขามป้อม’ กระบวนการเรียนรู้ผ่านละครปลุกสำนึกทางสังคม ค้นพบศักพภาพตนเอง
Photo: Makhampom Art Space

เครื่องมือการเรียนรู้ที่ทรงพลังในนามของ ‘ละคร’

เมื่อนึกถึงการเรียนละคร หลายคนอาจนึกถึงคลาสแอ็กติ้ง คลาสการแสดงที่สอนให้เป็นนักแสดงที่ดี แต่การเรียนละครในมะขามป้อมนั้นต่างออกไป ที่นี่ไม่ได้สอนว่าร้องไห้ทำอย่างไร ยิ้มอย่างไรให้เป็นธรรมชาติ แต่หัวใจสำคัญ คือ การสอนเพื่อเข้าใจตัวเอง ไปพร้อมๆ กับเข้าใจความเป็นมนุษย์ และเข้าใจความแตกต่างของคน ด้วย ‘ละคร’

วิธีการเรียนรู้ของที่นี่มีหลากหลายวิธีแล้วแต่สิ่งที่อยากสื่อสาร มีทั้งละครสร้างสรรค์เพื่อเข้าใจตัวเอง ละครสำหรับนักเรียนรู้ ละครถกแถลงที่ชวนมาแลกเปลี่ยนความเห็นกัน ที่แต่ละวิชาก็จะมีกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างกันไป เช่น การชวนยืดเส้นยืดสาย ปล่อยร่างกายเป็นอิสระเพื่อให้ได้รู้จักและเข้าใจการเคลื่อนไหวของตัวเอง การลองเดิน ลองยืน เพื่อหาสมดุลของร่างกาย สังเกตร่างกายทางกายภาพและเชื่อมโยงกับจิตใจ

นอกจากนี้ก็ยังมีเรื่องท่าทางที่สามารถใช้ตีความเพื่อการเรียนรู้ เช่น การขยับเขยื้อนร่างกายที่ตีวงกว้างอาจไปแตะกับขอบของคนอื่น เป็นการเรียนรู้เรื่องการอยู่ร่วมกับคนที่มีความหลากหลาย

หลังจากนั้นก็จะมีกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่าเรื่องที่จะเลือกจากประเด็นหรือปัญหาที่ผู้เรียนอาจรู้สึกเกี่ยวข้องหรือถูกกดทับ เช่น เป็นนักเรียนก็ชวนทำละครเกี่ยวกับสิทธิของนักเรียน การถูกตัดผม การบูลลี่ในโรงเรียน

ซึ่งหากจะบอกว่าผลลัพธ์จากการเรียนรู้ผ่านละครคืออะไร ก็ต้องบอกว่าสิ่งที่ประจักษ์อย่างหนึ่ง คือ การเติบโตของก๋วยเอง ที่ผ่านกระบวนการเรียนรู้ด้วยละครในมะขามป้อม กลายเป็นคนที่ค้นพบตัวเอง ได้เห็นศักยภาพตัวเอง และมีสำนึกทางสังคม

การเรียนรู้ผ่านละครจึงไม่ใช่เพียงเรื่องบันเทิงหรือการเต้นกินรำกิน แต่ละครสามารถเป็นเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทรงพลังได้

‘มะขามป้อม’ กระบวนการเรียนรู้ผ่านละครปลุกสำนึกทางสังคม ค้นพบศักพภาพตนเอง
Photo: Makhampom Art Space

เรียนละครเพื่อเรียนรู้ความเห็นต่าง

มากไปกว่าการเข้าใจตัวเอง ในพื้นที่ของมะขามป้อมนั้นได้มีการพยายามช่วยเหลือหรือแก้ไขปัญหาความขัดแย้งต่างๆ โดยเฉพาะความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ โดยละครคือส่วนหนึ่งในการช่วยให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

วิธีการของมะขามป้อมคือนำเสนอละครถกแถลง โดยพยายามเปิดพื้นที่กลางให้ตัวละครจากทุกแง่มุมมาอยู่ในเวทีเดียวกันแล้วพูดคุย หลังจากนั้นก็ให้ผู้ชมลองเลือกฝั่งตามตัวละครที่พวกเขาเห็นด้วย ก่อนจะเกิดเป็นกระบวนการคุยกันเพื่อเรียนรู้ความแตกต่าง

ก๋วยเล่าให้ฟังว่าจริงๆ แล้วละครถกแถลงเป็นละครที่ใช้เวลาแสดงสั้นมาก แต่สิ่งที่ใช้เวลามากกว่าคือบทสนทนาของคนที่คิดต่าง ว่าแต่ละฝ่ายคิดอย่างไร เชื่ออย่างไร ต้องการอะไร

เมื่อทุกคนหันหน้าคุยกันอย่างรับฟัง สันติจึงเกิดขึ้น และเกิดการเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่าง

‘มะขามป้อม’ กระบวนการเรียนรู้ผ่านละครปลุกสำนึกทางสังคม ค้นพบศักพภาพตนเอง
Photo: Makhampom Art Space

โรงละครที่ไม่เน้นหรู แต่เน้นเปิดกว้างและปรับได้ตามใจ

ด้วยคลาสที่มีการหมุนเวียนเปลี่ยนและเปิดรับคนหน้าใหม่เข้ามาตลอด ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู คนทำงานเพื่อสังคม หรือแม้แต่แพทย์ ก็เข้ามาเรียนรู้ผ่านวิชาการละครของมะขามป้อมนี้ ที่นี่จึงเป็นชุมชนการเรียนรู้ขนาดย่อมที่มีการแลกเปลี่ยนข้ามศาสตร์กันเสมอ

ตัวพื้นที่ของโรงละครที่นี่เป็นเพียงลานกว้างว่างเปล่า ที่มีอุปกรณ์หยิบเข้าหยิบออกได้ง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเสื่อที่ใช้ปูนั่งเมื่อต้องปรับเป็นคลาสเรียน แสงไฟสำหรับการแสดง จอโปรเจคเตอร์ที่มีเสาค้ำเป็นไม้ไผ่ หรือกระดานที่เป็นเพียงกระดาษปรู๊ฟง่ายๆ แต่แต่งแต้มสีสันได้เต็มที่

การเป็นลานกว้างที่แต่งเติมด้วยผู้มาเรียนรู้ได้ไม่รู้จบนี้ยิ่งสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่กับคนเรียนได้เป็นอย่างดี อย่างน้อยก็เป็นความรู้สึกของการมีส่วนร่วมที่สำคัญกับการเรียนรู้นั่นเอง

‘มะขามป้อม’ กระบวนการเรียนรู้ผ่านละครปลุกสำนึกทางสังคม ค้นพบศักพภาพตนเอง
Photo: Makhampom Art Space

หลากหลายและลึกซึ้ง เมื่อพื้นที่การเรียนรู้ต้องมีจุดแข็งเป็นของตัวเอง

แม้กระบวนการเรียนรู้จะเหมือนเดิม แต่ก๋วยเองเชื่อว่ามีความแตกต่างและสิ่งที่ได้เรียนรู้อยู่เสมอ ก็คือบทสนทนาและละครที่เกิดจากกลุ่มคนใหม่ๆ ที่สร้างเรื่องราว สร้างการพูดคุยที่ไม่เหมือนเดิม เป็นการเรียนรู้ความแตกต่าง และพาออกจากโลกที่หลายคนคุ้นชิน ออกจากคอมฟอร์ตโซน ออกจาก echo chamber เดิมๆ เปิดประตูมาเจอโลกใบใหม่

และจากประสบการณ์การมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ ก๋วยเชื่อในการลงมือทำและทำให้แตกต่าง

“ในระยะเริ่มต้น ขอแค่ลงมือทำ อยากทำก็ทำเลย เราสนับสนุน แต่พอทำไปถึงจุดหนึ่ง เราเชื่อในความลึกซึ้งของสิ่งที่เรียนรู้ หาลายเซ็นของตัวเองให้เจอ หาความแตกต่างให้เจอ

“แน่นอนว่าต้องใช้เวลาเหมือนกัน อย่างมะขามป้อมที่ผ่านมาหลายสิบปีกว่าจะตกตะกอนว่าเราทำอะไรได้ดี เราอ่อนเรื่องอะไร ซึ่งอันไหนที่เราทำได้ดี ก็พัฒนาต่อไปให้กลายเป็นจุดแข็ง แล้วจะไปรอด

“ถ้าเรายิ่งดําดิ่งไปกับความเชี่ยวชาญของเรา ไม่ใช่แค่พื้นที่ของเรามีความแตกต่าง แต่คนเรียนก็ได้ประโยชน์ด้วย ใครเก่งคอมพิวเตอร์ เก่งกราฟิก เก่งในการสร้างบทสนทนา ก็ลึกซึ้งกับสิ่งนั้นไป จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่หลากหลาย แล้วดีต่อทุกคน”

นี่คือสิ่งที่ก๋วยมองเห็นในช่วงเวลาหลายสิบปีที่เขาได้ลองมาเป็นผู้ให้และผู้รับสำหรับชีวิตการเรียนรู้ ที่ไม่เคยหยุดนิ่งที่มะขามป้อมแห่งนี้

‘มะขามป้อม’ กระบวนการเรียนรู้ผ่านละครปลุกสำนึกทางสังคม ค้นพบศักพภาพตนเอง
Photo: Makhampom Art Space


Tiny Space, Big Learning โดย ili.U คอนเทนต์ซีรีส์จากเพจที่สนใจ Conscious Lifestyle ชวนไปสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ขนาดเล็กที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ทั่วประเทศ ใส่ใจเรื่องการศึกษาในแบบฉบับของตัวเอง และพยายามขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปจากห้องเรียนที่เคยชิน พื้นที่เหล่านี้มีอะไรให้เรียนรู้ แล้วคนทำได้บทเรียนก้อนใหญ่อะไรจากการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน หลังจากนี้พบกันได้ทุกวันพฤหัสที่ 2 และ 4 ของเดือน

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก