แมนเชสเตอร์ ไม่ได้มีชื่อเสียงแค่เรื่องทีมฟุตบอล หรือห้องสมุดสุดทันสมัย แต่เมืองนี้มีเป้าหมายจะเป็นสวรรค์ของคนทำงานด้านธุรกิจสร้างสรรค์ จึงพยายามสร้างแรงดึงดูดแรงงานทักษะสูงในสายงานเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งเชื่อว่าจะสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจระยะยาวให้กับเมือง
หลายปีที่ผ่านมา ได้เกิดขบวนการเคลื่อนไหวด้านการเรียนรู้ดิจิทัลทั่วทุกหัวระแหง ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่น ห้องสมุดเมือง และองค์กรภาคประชาสังคมซึ่งดำเนินไปด้วยพลังจิตอาสาของคนรุ่นใหม่ ดังเช่น MadLab (Manchester Digital Laboratory) แหล่งบ่มเพาะนักสร้างสรรค์เทคโนโลยีเลือดใหม่ มุ่งสร้างความเท่าเทียมทางสังคมด้วยการเริ่มต้นที่ความเท่าเทียมในการเข้าถึงเทคโนโลยี
การเติบโตขึ้นของชุมชนออนไลน์และการแบ่งปันความรู้ในยุคดิจิทัล เป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่แสดงให้เห็นว่า ความร่วมมือเป็นคุณค่าสำคัญที่จะนำไปสู่เปลี่ยนแปลง ผู้คนที่มีภูมิหลังและประสบการณ์ที่หลากหลายจากโลกออนไลน์มาพบเจอกันง่ายขึ้น และสามารถแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันเพื่อคิดหาทางออกของปัญหาสังคมบางประเด็นได้สะดวกง่ายดายกว่าแต่ก่อน ซึ่งเป็นบรรยากาศการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นใน MadLab
MadLab เป็นองค์กรนวัตกรรมที่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี ศิลปะและวัฒนธรรม มุ่งสนับสนุนผู้คนให้เป็นนักสร้างสรรค์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านดิจิทัล หรือ Digital Making ซึ่งมีนิยามทั้งการสร้างผลิตภัณฑ์ดิจิทัล และการสร้างสิ่งต่างๆ โดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือ
MadLab เชื่อว่าการทำความเข้าใจนวัตกรรมเทคโนโลยีในเวลาอันรวดเร็วคือการได้ลงมือทดลองและเล่นสนุก จึงมีกิจกรรมกระตุ้นให้คนรุ่นใหม่กล้าที่จะลองเจาะโปรแกรม (Hacking) รื้ออุปกรณ์ดิจิทัลออกเป็นส่วนๆ เพื่อทำความเข้าใจระบบการทำงานของมัน
องค์กรแห่งการเรียนรู้ดำเนินไปอย่างคึกคัก เต็มไปด้วยโปรเจกต์และการสนทนา มีผู้เข้ามาใช้บริการกว่า 60 กลุ่ม ภาพบรรยากาศเช่นนี้ได้จุดประกายให้ห้องสมุดเมืองแมนเชสเตอร์ทบทวนถึงทิศทางของห้องสมุด จนกระทั่งร่วมจับมือกันเป็นภาคีในที่สุด ไม่เพียงแต่บรรณารักษ์จะฝังตัวเข้าไปอยู่ใน MadLab นักสร้างสรรค์จาก MadLab เองก็ได้ก้าวเข้ามาในห้องสมุดด้วย
เมื่อคนรุ่นใหม่ที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและการจัดการข้อมูลได้พบกับคลังภาพประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าเกือบแสนรายการในห้องสมุด ก็เกิดทั้งความประทับใจระคนหงุดหงิดใจ นำมาซึ่งการร่วมพัฒนาฐานข้อมูลประวัติศาสตร์เมืองให้เป็นระบบ ทันสมัย และน่าสนใจยิ่งขึ้น นอกจากนี้ทั้งสองหน่วยงานยังร่วมกันตั้งชมรมนักอ่านนิยายวิทยาศาสตร์ (Manchester Sci-Fi Book Club) เพื่อสร้างแรงบันดาลใจด้านเทคโนโลยีด้วยการส่งเสริมการอ่าน
MadLab ยังตระหนักถึงประเด็นความไม่เท่าเทียมทางเพศในวงการเทคโนโลยีดิจิทัล สัดส่วนเพศชายที่ทำงานด้านนี้สูงกว่าผู้หญิงถึง 6 เท่า ดังนั้นจึงร่วมกับห้องสมุดเมืองแมนเชสเตอร์ และ Manchester Girl Geeks จัดโครงการส่งเสริมทักษะดิจิทัลให้กับผู้หญิง เพื่อเพิ่มโอกาสในเส้นทางอาชีพนี้และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้น หลักสูตรอบรมแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 2013 ในห้องสมุด 5 แห่ง เนื้อหาประกอบด้วยเรื่องทักษะไอทีพื้นฐาน โซเชียลมีเดีย การพัฒนาเว็บไซต์เบื้องต้น และการเขียนโปรแกรมเบื้องต้น ต่อมามีการเพิ่มเนื้อหาให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงใหม่ๆ อยู่เสมอ เช่น บล็อกเชนเพื่อการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม
ผลลัพธ์จากโครงการทำให้เพียงแค่สองปีหลังเปิดหลักสูตรแรกมีผู้หญิงเข้ามาใช้บริการ MadLab สูงขึ้นเป็นสัดส่วนถึงประมาณ 1 ใน 3 ของผู้ใช้งานทั้งหมด และส่งผลให้บรรยากาศการเรียนรู้ด้านดิจิทัลแตกต่างไปจากเดิมที่เคยมีแต่ ‘คนผิวขาว ผู้ชาย และวิศวกร’ เพราะได้เปิดโอกาสอย่างเท่าเทียมให้กับผู้หญิง คนวัยเกษียณ ผู้อพยพ ผู้ที่ต้องการรายได้เสริม และคุณแม่วัยใส
ผู้เข้าอบรมรายหนึ่งกล่าวว่า เธอเข้ามาร่วมโครงการในช่วงที่ชีวิตตกต่ำ ไม่มีงานและเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว เธอได้พบกับคนฉลาดๆ ในหลักสูตรที่ยอดเยี่ยม ซึ่งได้เสริมพลังให้เกิดความมั่นใจในตนเอง จนในที่สุดเธอได้ทำงานสอนทักษะอาชีพในโรงเรียนที่อยู่ใกล้บ้าน
MadLab ยังเป็นสะพานเชื่อมระหว่างธุรกิจดิจิทัลกับคนรุ่นใหม่ โดยประสานกับมหาวิทยาลัยท้องถิ่นและเครือข่ายที่มีนักศึกษาเป็นสมาชิกกว่า 2,000 คน อาทิ การจัดกิจกรรมให้หนุ่มสาวกว่า 1,300 คนที่กำลังมองหางาน ได้ทำความรู้จักกับบริษัทและผู้ประกอบการด้านดิจิทัลและเทคโนโลยี และยังตั้งชมรม Manchester Digital Peer Club ให้คนที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน ได้พบปะแลกเปลี่ยนประเด็นระหว่างกัน โดยมีภาคอุตสาหกรรมช่วยเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา
ที่มา
เว็บไซต์ MadLab (Online)
MadLab, Manchester Digital Laboratory