ความเชื่อมโยงที่สาบสูญใน ‘โลกซึมเศร้า’

363 views
4 mins
January 24, 2022

          ปี 2561 องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าบนโลกใบนี้มีผู้ป่วยโรคซึมเศร้าราวๆ 300 ล้านคน—ผมคือหนึ่งในนั้น

          ความเศร้าโศกมากมายขนาดนี้เดินทางมาจากไหนกัน

           วิธีการรักษาของจิตแพทย์ที่ผมพบทุกคนมุ่งไปที่การจ่ายยา ผมเคยกินยามากที่สุด 6-8 เม็ดต่อวัน การถามไถ่ว่าทำไมผมป่วย มี แต่ไม่มาก สันนิษฐานได้ว่าในความคิดคำนึงของจิตแพทย์ โรคซึมเศร้าไม่ต่างจากไข้หวัด เหมือนมีไวรัสสักตัวชอนไชอยู่ในสมองของผู้ป่วย สารเคมีละเลยหน้าที่ที่ควรจะเป็น เซโรโทนิน-สารแห่งความสุขไม่ยอมหลั่งไหล

          คิดดูแล้ว การบอกว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมองผิดปกติ มันเป็นคำตอบที่ไม่ได้ตอบอะไรเลย อยู่ๆ สารเคมีในสมองจะดื้อดึงผิดปกติได้ยังไง มันควรมีคำถามที่ 2 ตามมาว่าทำไมสารเคมีในสมองจึงผิดปกติ

          ‘โลกซึมเศร้า’ หรือ ‘lost connections’ ของ Johann Hari คือการตอบคำถามที่ 2 ชื่อในภาษาอังกฤษที่แปลได้ว่า-ความเชื่อมโยงที่สูญหาย บอกใบ้คำตอบไว้ประมาณหนึ่ง

ความเชื่อมโยงที่สาบสูญใน ‘โลกซึมเศร้า’

          Johann Hari เป็นผู้ป่วยโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลรุนแรง เขาเดินทางค้นหาสาเหตุของความป่วยไข้แห่งยุคสมัยไปทั่วโลก และพบว่าสาเหตุที่ฉุดลากให้คนคนหนึ่งดิ่งลงหุบเหวความเศร้าล้ำลึก มีอยู่ด้วยกัน 9 ประการ ซึ่งทุกข้อก็ตรงไปตรงมา ไม่ต้องอธิบายเพิ่ม

           หนึ่ง-การตัดขาดจากงานที่มีความหมาย แต่จุดที่ผมคิดว่ายิ่งกดทับคนที่รู้สึกว่างานตนช่างไร้ความหมาย คือค่านิยมที่บอกให้เราทำงานที่รัก ไม่มีทางที่ทุกคนบนโลกจะได้ทำงานที่ตนรัก แต่ต้องทนทำเพราะไม่มีจะกิน คนเหล่านี้จะขมขื่นแค่ไหนเมื่อคนรอบข้างเอาแต่พร่ำพูดให้ทำงานที่ตนรัก

           สอง-การตัดขาดจากผู้อื่น เราโดดเดี่ยวมากขึ้นในโลกที่ผู้คนมากขึ้นและเทคโนโลยีช่วยให้เราสื่อสารได้รวดเร็ว ความโดดเดี่ยวไม่ใช่มิติเชิงปริมาณของผู้คนรอบตัว แต่มันเป็นคุณภาพทางอารมณ์ที่คุณไม่รู้สึกเชื่อมต่อกับใคร

          สาม-การตัดขาดจากค่านิยมที่มีความหมาย หมายถึงค่านิยมที่ให้ความสำคัญกับคุณค่าภายใน ส่วนค่านิยมที่ไม่มีความหมาย หรือที่ผู้เขียนใช้คำว่า ‘ค่านิยมขยะ’ ก็คือวัตถุนิยม เราขวนขวายครอบครองมากขึ้น ยิ่งได้มาก็ยิ่งว่างโหวง

          สี่-การตัดขาดจากเรื่องสะเทือนใจในวัยเด็ก บาดแผลที่ไม่ได้รับการเยียวยาจะกลัดหนองอยู่ภายใน กัดกินชีวิตไม่รู้จบ

          ห้า-การตัดขาดจากสถานะและการได้รับเกียรติ ประเด็นนี้เกี่ยวพันกับความเหลื่อมล้ำอย่างลึกซึ้ง ในสังคมที่ช่องว่างต่างกันมาก คนที่ฐานล่างของปีระมิดจะรู้สึกถูกบีบอัดจนตัวลีบเล็ก ไม่มีปากเสียง

          หก-การตัดขาดจากธรรมชาติ

          เจ็ด-การตัดขาดจากอนาคตที่สดใสหรือมั่นคง ถ้าคุณทำงานวันละ 8-9 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น แล้วทิ้งตัวลงบนเตียงโดยไม่รู้ว่าพรุ่งนี้ชีวิตจะไปทางไหน อนาคตเดียวที่คุณเห็นคือความสิ้นหวัง

          แปดและเก้า-ยีนและการเปลี่ยนแปลงในสมอง แม้ผู้เขียนจะเห็นว่าเหตุผลนี้อธิบายอะไรไม่ได้มาก แต่มันก็ยังเป็นปัจจัยที่มีผลต่อโรคซึมเศร้า แต่ๆๆ ประเด็นสำคัญคือแค่พันธุกรรมและสารเคมีในสมองไม่ใช่สาเหตุโดยตัวมันเอง มันจะผิดปกติก็เมื่อถูกกระตุ้นจากสาเหตุ 7 ประการข้างต้น

          สรุปคือความโศกเศร้าลึกซึ้งของผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เกิดจากการสูญเสียความเชื่อมโยงกับสิ่งที่มีความหมายกับชีวิต

          Johann Hari จึงเสนอให้การกลับไปเชื่อมโยงกับสิ่งมีค่าที่ชีวิตทำหล่นหาย มันคือยาต้านซึมเศร้าประเภทหนึ่งที่ควรได้รับการแจกจ่าย ซึ่งเราทุกคนรู้ดีว่าไม่ง่าย ประการแรกคืออุตสาหกรรมยาในสหรัฐฯ ใหญ่โตและทรงพลัง ยักษ์ตัวนี้ไม่ยอมสูญเสียประโยชน์หลายพันล้านแน่ๆ ประการต่อมา ซึ่งผมคิดว่าหนักกว่าข้อแรก คือทัศนคติคับแคบของแพทย์ที่ยังจำกัดมุมมองเฉพาะด้านชีววิทยา ทั้งที่แนวคิดชีวะ-จิต-สังคม ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ก็มิได้นำพา

          นี่ยังรวมถึงคนทั่วไปเองที่เชื่อหัวปักหัวปำว่าโรคซึมเศร้าเกิดจากสารเคมีในสมอง เคยมีคนมาแสดงความคิดเห็นในเพจของผมว่า R.I.P แก่ผู้ป่วยซึมเศร้าที่ไม่ยอมพบแพทย์ กินยา และหลงเชื่อว่าเป็นเรื่องเชิงสังคม ทั้งที่มันเป็นเรื่องสารเคมีในสมองล้วนๆ …ผมอ่านแล้วก็เหนื่อยใจ

          ผู้เขียนเล่าการทดลองและกรณีตัวอย่างต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้ป่วยและไม่ป่วยกลับไปเชื่อมโยงกับความหมายและคุณค่าภายในอีกครั้ง

          อย่างไรก็ตาม ผู้เขียนตระหนักดีว่าบนโลกที่มีคนอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจน 700 กว่าล้านคน การโน้มน้าวให้กัดฟันสู้ เข้าหาธรรมชาติ พบนักบำบัด หรือลาออกจากงานน่าเบื่อ โดยไม่รู้ว่าพรุ่งนี้จะกินอะไร ย่อมไม่ต่างจากเรื่องไร้สาระหรือการตบหน้าเยาะเย้ย

          ดังนั้น Johann Hari จึงเสนอให้เราสร้างความเปลี่ยนแปลงทางสังคมในบทที่ชื่อว่า ‘กอบกู้อนาคต’ เขาเล่าถึงแนวคิดรายได้พื้นฐานทั่วหน้าหรือ Universal Basic Income รัฐสวัสดิการรูปแบบหนึ่งซึ่งจ่ายเงินจำนวนมากพอแก่ประชาชนสำหรับค่าใช้จ่ายพื้นฐานทั่วไปในชีวิต เขาอ้างงานวิจัยที่ศึกษาโครงการลักษณะนี้ในเมืองโดฟิน รัฐแมนิโทบา ประเทศแคนาดา ที่เคยทำเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน พบว่าเงินก้อนนี้เปลี่ยนชีวิตคนในเมืองให้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

          งานศึกษายังพบด้วยว่าโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลลดลงอย่างมีนัยสำคัญ นั่นเพราะเงินคืออิสรภาพ มันช่วยให้มนุษย์มีทางเลือก สามารถค้นหาและใช้ศักยภาพของตนได้เต็มที่ ไม่ต้องจมกับงานที่ไร้ความหมาย ความรู้สึกต้อยต่ำ และอื่นๆ

          มนุษย์ซึมเศร้าอย่างผม ฝันว่าสักวันหนึ่งประเทศไทยจะไปถึงจุดที่รัฐสวัสดิการดูแลผู้คนตั้งแต่เกิดจนตายจริงๆ

          และพยายามปลอบประโลมตัวเองว่าอย่าเพิ่งสิ้นหวัง แม้ว่าสภาพบ้านเมืองจะน่าสิ้นหวังเพียงใดก็ตาม

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก