เสียงน้ำแข็งที่กำลังละลายก็กลายเป็นงานวิจัยได้ แน่นอนว่าโลกพูดถึงเรื่อง Climate Change หรือภาวะโลกรวนกันจนกลายเป็นประเด็นคลิเช่ไปแล้ว สถิติทั้งหลายอาจดึงความสนใจคนได้น้อยลงเรื่อยๆ วันนี้เราจึงลองพามา ‘ฟังเสียงน้ำแข็ง’ ผ่านงานวิจัยระยะยาวของซูซาน ชูปพลิ (Susan Schuppli) ศิลปิน-นักวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์วิจัยทางสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยโกลด์สมิธ (Centre for Research Architecture at Goldsmiths College) ที่ศึกษาเรื่องการเมืองของความหนาวเย็นในหลายพื้นที่ เช่น กลุ่มเกาะอาร์กติกแคนาดาหรือเทือกเขาหิมาลัย
แก่นในการทำงานของเธอคือการค้นหาความสัมพันธ์ของมนุษย์กับโลก ผ่านสิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ซึ่งสามารถตอบคำถามบางอย่างเกี่ยวกับวาทกรรมทางสังคมได้ การสำรวจ ‘น้ำแข็ง’ คือการตรวจสอบว่าระบบนิเวศที่เปลี่ยนไปจากภาวะโลกร้อนจะสร้างหลักฐานใหม่ๆ อะไรให้สำรวจต่อได้บ้าง
โปรเจกต์วิจัยส่วนใหญ่ของซูซานคือโครงการวิจัยต่อเนื่องหลายปี Learning from Ice แปลตรงตัวตามความหมาย คือการเรียนรู้จากน้ำแข็ง เป็นโปรเจกต์ที่ศึกษาแก่นกลางของน้ำแข็งในหมู่เกาะสฟาลบาร์ (Svalbard) กลุ่มเกาะอาร์กติกแคนาดา อีกทั้งเทือกเขาฮินดูกูชและเทือกเขาหิมาลัย
วิธีการของเธอก็คือลงพื้นที่วิจัย และใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนประเด็นนี้ไปสู่สาธารณะ ดังนั้นพาร์ตเนอร์ที่เกี่ยวข้องกับ Learning from Ice จึงเป็นองค์กรศิลปะระดับโลกต่างๆ เช่น Toronto Biennial of Art และ สำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัยนอร์เวย์ ส่วนงบประมาณที่ได้รับการสนับสนุนนั้นมาจากองค์กรส่งเสริมศิลปะแคนาดา (Canada Council for the Arts) และบริติช เคานซิล
นิทรรศการจากงานวิจัยชิ้นนี้กระจายตัวในหลายประเทศ เช่น อินเดีย แคนาดา สวิตเซอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ที่น่าสนใจคือมันไปปรากฏอยู่ในเทศกาลศิลปะระดับนานาชาติหลายแห่ง เช่น Berlin Biennale หรืองานประชุมระดับโลกด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ COP26 (COP26 Creative Commission) ไม่ใช่แค่ในแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์
ภาพยนตร์เชิงสารคดีที่เธอผลิตออกมาก็มีหลายรูปแบบ ทั้ง ‘Listening to Ice / Learning from Glaciers & Mountain Communities’ ที่รวบรวมวิธีการวิจัย ลงพื้นที่ เวิร์กชอปกับคนภูเขาทั้งหลายทั้งปวงในอินเดียตอนเหนือ บันทึกการเดินทางของทีมวิจัยทีมเล็กๆ จากอังกฤษและอินเดียที่เดินทางไปยังแผ่นน้ำแข็งเพื่อวิจัยเรื่องภาวะโลกร้อน หรือ ‘Tropical Glaciers’ ภาพยนตร์ส่วนตัวที่ถ่ายทำ ณ เทือกเขาคิลิมันจาโร ประเทศแทนซาเนียที่เธอใช้ชีวิตอยู่ตอนเป็นวัยรุ่น นับว่าเธอถ่ายทำชิ้นงานที่วนเวียนอยู่กับแผ่นน้ำแข็งออกมาไม่ต่ำกว่า 20 ชิ้นแล้ว
แผ่นน้ำแข็งเกิดขึ้นได้อย่างไร? โลกจะมีเสียงอย่างไรเมื่อปริมาณน้ำแข็งน้อยลง? แล้วการบันทึกเสียงนี้จะถือเป็นการอนุรักษ์เสียงที่กำลังจะหายไปหรือเปล่า? เหล่านี้คือคำถามสำคัญ และมักจะอยู่ในเลกเชอร์และงานเสวนาภายใต้หัวข้อ Learning from Ice ตามประเทศต่างๆ ของซูซาน ซึ่งเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับการพัฒนางานวิจัย หรือการใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์และวิธีการทางศิลปะเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาโลกร้อน
สำหรับศิลปินแบบซูซาน การทำงานวิจัยเพื่อช่วยเหลือหรือสนับสนุนให้ชุมชนนอกแวดวงวิชาการได้เข้ามามีส่วนร่วมกับโลกของวิทยาศาสตร์นั้นเป็นเรื่องสำคัญ เธออธิบายว่างานวิจัยนี้ใช้ ‘วิธีการฟัง’ เพื่อดึงเอาประสบการณ์ของคนท้องถิ่นเข้ามาผสมผสานกับความรู้เรื่องแผ่นน้ำแข็ง และสร้างบริบทที่เอื้อให้ชาวบ้านได้ฟังเสียงแผ่นน้ำแข็งละลาย เพราะแม้พวกเขาจะอยู่ที่นั่นแต่ก็ไม่เคยมีโอกาสได้ลองฟังเสียงของมันเลย อีกเป้าหมายที่สำคัญคือทำงานกับชุมชนภูเขาที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศและการที่น้ำแข็งละลายโดยตรง เช่น การถูกบีบให้ย้ายถิ่นเพราะโลกร้อน (climate refugee)
ช่วงปี 2021 โปรเจกต์ H.E.A.R. ของซูซานชวนผู้เข้าร่วมทีมวิจัยมาฟังเสียงของแผ่นน้ำแข็งและเสียงของชนพื้นเมืองที่เทือกเขาหิมาลัย เรียนรู้วิธีที่ชาวบ้านจากลาดักห์ใช้ในการดูแลรักษาน้ำและแบ่งปันน้ำกันใช้ผ่านวิธี ‘deep listening’
นั่นคือการหย่อนไฮโดรโฟน (อุปกรณ์แปลงเสียง) ลงไปที่บริเวณรอยแยกของน้ำแข็ง ทำให้เราได้ยินเสียงน้ำที่กำลังไหล เสียงน้ำแข็งแตก เสียงฟองอากาศอย่างชัดเจน บางคนอาจจะฟังแล้วรู้สึกเหมือนเป็นเสียงฟองอากาศในถ้วยชา แต่บางครั้งก็เป็นเสียงวื้อๆ ของเฮลิคอปเตอร์
“น้ำแข็งพูดได้ พูดได้เยอะด้วย เราเห็นมาแล้วที่สถูปน้ำแข็ง ถ้าคุณยืนอยู่บนนั้น ระหว่างวันคุณจะได้ยินเสียง เสียงแตกหัก คุณได้ยินแน่ คุณได้ยินเสียงมันแตกตอนคุณเดินเหยียบบนน้ำแข็ง ตอนกลางคืน เมื่อน้ำแข็งละลาย น้ำจะพุ่งขึ้นสูงและตกลงมาทันที และกลายเป็นน้ำแข็งอยู่ตรงนั้น คุณจะได้ยินเสียงของมัน” นิชาน ติคุณ (Nishant Tikun) ผู้ประสานงานโครงการที่เทือกเขาหิมาลัยกล่าว
ความหวือหวาของการศึกษาแผ่นน้ำแข็ง ยังต่อยอดเป็นโปรเจกต์ที่น่าสนใจต่างๆ เช่น Ice Record แผ่นเสียงบันทึกเพลงแผ่นน้ำแข็งละลาย หรือ Singing Ice Book เพลงโฟล์คท้องถิ่นของชาวลาดักห์ทีมีเนื้อหาเกี่ยวกับภูเขา แผ่นน้ำแข็ง และสายน้ำ
กดเพื่อรับชมบรรยากาศของ Learning from Ice ได้ที่
https://susanschuppli.com/H-E-A-R
https://listening-to-ice.org/
https://susanschuppli.com/LEARNING-FROM-ICE-1
ที่มา
บทความ “Learning from Ice” จาก torontobiennial.org (Online)
บทความ “Listening to Ice Public lecture by Susan Schuppli” จาก kmd.uib.no (Online)
บทความ “JUSTICE: Cold Rights in a Warming World” จาก wolfson.ox.ac.uk (Online)
เว็บไซต์ SUSAN SCHUPPLI (Online)
เว็บไซต์ LISTENING TO ICE (Online)
บทความ “Susan Schuppli – Cold Matters” จาก digitaldemocracies.org (Online)
บทความ ““Learning from Ice”, by Susan Schuppli” จาก artofchange21.com (Online)