ในขณะที่ห้องสมุดของไทยกำลังปรับตัวไปอย่างช้าๆ ข่าวคราวห้องสมุดยุคใหม่ทั่วโลกกลับดำเนินไปอย่างคึกคัก สวนทางกับความเชื่อที่ว่าห้องสมุดมีความสำคัญลดลง
‘โอดิ’ (Oodi) ห้องสมุดแห่งใหม่กลางกรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ใช้เงินลงทุนไปกว่า 3.7 พันล้านบาท เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 100 ปีของการประกาศอิสรภาพออกจากรัสเซีย เปิดตัวเมื่อปลายปี 2561
ต้นปี 2562 สิงคโปร์เดินหน้าตามวิสัยทัศน์การสร้างประเทศสู่ Smart Nation ด้วยการเปิดห้องสมุด library@harbourfront บนชั้น 3 ของห้าง VivoCity เป็นห้องสมุดพื้นที่ 3,000 ตารางเมตรซึ่งมีขนาดใหญ่ที่สุดในห้างสรรพสินค้า
ในรอบสิบปีมานี้มีห้องสมุดที่ออกแบบปรับปรุงใหม่หรือสร้างขึ้นใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้จำนวนมากมายหลายแห่ง ที่เด่นๆ อาทิ De Nieuwe Bibliotheek ประเทศเนเธอร์แลนด์ (2553) ห้องสมุดเมืองชตุทท์การ์ท ประเทศเยอรมนี (2554) ห้องสมุดเครจีเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย (2555) ห้องสมุดเมืองเบอร์มิงแฮม สหราชอาณาจักร (2556) Dokk1 ประเทศเดนมาร์ก (2558) และ Gifu Media Cosmos ประเทศญี่ปุ่น (2558)
ทศวรรษที่ผ่านมา ความเชื่อที่ว่าหนังสือกำลังจะตายและจะถูกแทนที่ด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์กำลังเจือจางลง คำถามที่ว่าห้องสมุดยังสำคัญอยู่หรือไม่และจะดำรงอยู่ต่อไปอย่างไร เพราะการปฏิวัติเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทำให้ผู้คนใช้ห้องสมุดลดน้อยลงและมีห้องสมุดปิดตัวไปเป็นจำนวนมาก กลายเป็นคำถามใหม่ว่าห้องสมุดควรปรับตัวอย่างไรจึงจะตอบสนองความต้องการอันหลากหลายของผู้ใช้งานได้มากที่สุด
อาจจะจริงดังที่มีนักคิดตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ห้องสมุดเปรียบเหมือนสิ่งมีชีวิตที่มีการปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้นห้องสมุดจึงไม่เคยตาย และเป็นสถาบันทางสังคมที่เก่าแก่และมีอายุยืนยาวมานับร้อยๆ ปีโดยที่ยังไม่เสื่อมสลายสูญหาย อีกทั้งสามารถรักษาบทบาทและภาพลักษณ์สำคัญไว้ได้อย่างไม่เสื่อมคลาย โดยเฉพาะการเป็นแหล่งความรู้ที่น่าเชื่อถือ เป็นศูนย์รวมข้อมูลสารสนเทศที่อ้างอิงได้
จะว่าไปแล้ว การอ่านหนังสือ เป็นเรื่องใหม่ที่คนหมู่มากบนโลกใบนี้เพิ่งจะคุ้นเคย กิจกรรมการอ่านในอดีตถูกจำกัดอยู่ในแวดวงเล็กๆ แคบๆ ส่วนใหญ่จะเกี่ยวพันกับเรื่องของศาสนาและชนชั้นปกครอง แต่เมื่อเครื่องพิมพ์กูเทนเบิร์กปรากฏตัวขึ้นเมื่อ 564 ปีก่อน โลกจึงก้าวสู่การพิมพ์ยุคใหม่ และทำให้หนังสือแพร่หลายสู่มวลชน สังคมมนุษย์ก้าวหน้าขึ้นจากหนังสือและการอ่าน โดยมีแหล่งความรู้สำคัญอย่างห้องสมุดสาธารณะเกิดขึ้นมาเคียงคู่กัน
ณ เวลานี้ ห้องสมุดยุคใหม่กำลังปรับตัวจากองค์กรที่เน้นการเป็นคลังทรัพยากรหนังสือ (Collection Centered Organization) ไปเป็นองค์กรที่เน้นผู้ใช้เป็นศูนย์กลาง (User Centered Organization) โดยคำนึงถึงความต้องการของผู้คนในยุคดิจิทัลและโลกโลกาภิวัตน์ และให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ตลอดชีวิตมากขึ้น พร้อมกับประยุกต์แนวคิดการจัดการพื้นที่ (Space Management) เพื่อปรับบทบาทตนเองให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรม
การจัดการพื้นที่ของห้องสมุดยุคใหม่มีความสัมพันธ์กับการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Space) คือการเรียนรู้เพื่อหาหนทางแก้ไขปัญหาหรือเพื่อปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลง กระบวนการเรียนรู้รูปแบบหนึ่งซึ่งได้รับการยอมรับว่ามีประสิทธิภาพสูง คือการจัดให้มีพื้นที่พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้จากผู้คนซึ่งมีประสบการณ์ที่แตกต่าง ยิ่งปัญหานั้นมีความซับซ้อนมากเท่าไร การแบ่งปันความรู้และร่วมคิดร่วมแบ่งปันไอเดียหาวิธีการแก้ไขจากผู้คนที่หลากหลาย ก็ยิ่งมีความสำคัญและจำเป็นมากขึ้น
‘การอ่าน’ จึงมิใช่เป็นการเรียนรู้เพื่อความรู้เท่านั้น แต่ยังเป็นการเรียนรู้เพื่อแสวงหาวิธีการเรียนรู้ที่เหมาะสม ค้นหาวิธีที่จะได้คำตอบซึ่งนำไปสู่การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์ (Knowledge for Solution) และตอบโจทย์ที่เป็นประเด็นทางสังคม
‘การเรียนรู้’ ในลักษณะนี้ยังเรียกร้องการปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ เพราะประเด็นปัญหาใหม่ๆ เกิดขึ้นได้รวดเร็วและตลอดเวลา ความสามารถในการปรับตัวจึงเป็นอีกทักษะหนึ่งซึ่งจำเป็นสำหรับผู้คนในโลกยุคใหม่
สำหรับประเทศไทย แม้ว่าผู้คนทุกระดับจะตระหนักถึงความสำคัญของการอ่านและมุ่งส่งเสริมให้คนไทยมีพฤติกรรมการอ่าน จนทำให้ปริมาณการอ่านเพิ่มขึ้นทุกปี ทั้งในแง่จำนวนคนอ่านและเวลาที่ใช้ในการอ่าน แต่การพูดถึงคุณภาพของการอ่าน คุณภาพหนังสือและสื่อการอ่าน และวัฒนธรรมการวิจารณ์ กลับเป็นไปอย่างบางเบา
การอ่านที่มีคุณภาพกระตุ้นให้เกิดการคิด ความรู้ความเข้าใจที่เกิดจากความคิดเป็นสิ่งซึ่งไม่มีใครพรากไปจากมนุษย์ในฐานะปัจเจกได้ ในสังคมที่เปิดกว้างและมีเสรีภาพ พลังแห่งความคิดจะช่วยผลักดันให้ผู้คนสามารถดึงเอาศักยภาพตนเองออกมาใช้ได้อย่างเต็มที่ พลังความคิดของปัจเจกที่ไม่จำนนต่อสภาพแวดล้อมเดิมและไม่หลบซ่อนหรือเลื่อนไหลไปกับพฤติกรรมรวมหมู่นี่เอง ที่นำมาสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือสิ่งใหม่ๆ ให้โลกก้าวหน้ากว่าเดิม
การส่งเสริมการอ่านและการเรียนรู้ ตลอดจนการพัฒนาห้องสมุด เป็นงานยาก ต้องใช้ความเพียรพยายามสูง หากเปรียบเป็นการฝนทั่งตีเหล็กเพื่อหวังให้ได้เข็มแหลมเล็ก ก็ดูเหมือนจะเป็นการเปรียบเปรยที่สะท้อนความเหนื่อยยากและสร้างความรู้สึกให้ทดท้อหดหู่
แต่เพราะมนุษย์นั้นมีชีวิตอยู่ด้วยความหวังและความฝัน เราจึงเชื่อว่าสักวันหนึ่งผลลัพธ์จากความเพียรทำงานอันยากเข็ญ จะกลายเป็นเข็มแหลมดุจความเฉียบคมทางปัญญา อันเป็นรากฐานของสังคมความรู้สร้างสรรค์ของไทย