ประวัติศาสตร์ของห้องสมุดเกี่ยวข้องกับการผลิตสิ่งพิมพ์มายาวนาน ห้องสมุดมีความชำนาญในการตีพิมพ์คอลเลกชันหนังสือ ทำสำเนา และจัดทำระบบบรรณานุกรม ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของงานรวบรวม เก็บรักษา และให้บริการสารสนเทศ โรงพิมพ์ของห้องสมุดอเล็กซานเดรียเริ่มดำเนินงานมาตั้งแต่เมื่อ 400 ปีก่อน ห้องสมุดบอดเลียนของมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด (Oxford’s Bodleian Library) ตีพิมพ์หนังสือเพื่อนำมาให้บริการตั้งแต่ปี ค.ศ. 1604 ส่วนหอพระสมุดวชิรญาณของไทยก็มีบทบาทในการจัดพิมพ์หนังสือที่ทรงคุณค่ามาตั้งแต่สมัยที่ธุรกิจโรงพิมพ์ยังไม่แพร่หลาย
ปัจจุบันเทคโนโลยีดิจิทัลทำให้การพิมพ์หนังสือและสิ่งพิมพ์ดิจิทัลกลายเรื่องง่ายดาย จนเกิดกระแสการผลิตสิ่งพิมพ์เอง (self-publish) โดยไม่ต้องพึ่งพาโรงพิมพ์หรือสำนักพิมพ์ ปัจจัยเหล่านี้ส่งเสริมให้นักเขียนก้าวเข้าสู่อาชีพและเป็นผู้ประกอบการได้ง่ายขึ้น และนำพาห้องสมุดไปสู่โอกาสใหม่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในมิติเชิงวัฒนธรรมที่สัมพันธ์กับท้องถิ่น และการยกระดับกระบวนการผลิตเนื้อหาสิ่งพิมพ์
โอกาสที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล
เทคโนโลยีการพิมพ์ดิจิทัลสร้างโอกาสใหม่ที่มีนัยสำคัญต่อห้องสมุด เพราะงานผลิตสิ่งพิมพ์ไม่ได้เป็นเรื่องซับซ้อนหรือต้องใช้เงินลงทุนสูงเมื่อเทียบกับยุคที่ผ่านมา ห้องสมุดประชาชนทั่วไปก็สามารถให้บริการเครื่องพิมพ์หนังสือ รวมทั้งให้บริการแบบหรือโครงร่าง (template) หรือการออกแบบจัดหน้าหนังสือซึ่งเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์ ก่อเกิดเป็นระบบนิเวศที่เอื้อต่อการสื่อสารเชิงวิชาการในชุมชน
มีการสำรวจพบว่าระหว่างปี ค.ศ. 2008-2013 การผลิตสิ่งพิมพ์เองขยายตัวสูงขึ้นมากกว่า 400 เปอร์เซ็นต์ มีแบบหรือโครงร่างมากมายที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการจัดพิมพ์ตามความต้องการ (Print-on-demand) เช่น Lulu และ CreateSpace ส่วนเอสเปรสโซ (Espresso Book Machine – EBM) เป็นเครื่องผลิตสิ่งพิมพ์ขนาดกะทัดรัดที่สามารถพิมพ์หนังสือปกอ่อนได้ภายในเวลาไม่กี่นาที นอกจากนี้ยังมี BiblioBoard SELF-e platform ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้บริการอัพโหลดไฟล์เพื่อเผยแพร่สู่สาธารณะ แต่แพลตฟอร์มนี้ยังมีข้อกังขาเพราะไม่ได้ให้ค่าตอบแทนแก่นักเขียน
ห้องสมุดประชาชนซาคราเมนโต (Sacramento Public Library) ติดตั้งเครื่องพิมพ์เอสเปรสโซเพื่อให้นักเขียนในชุมชนตีพิมพ์ผลงานของพวกเขา และสามารถหาช่องทางวางจำหน่ายหนังสือนอกเมืองผ่านบริการเสริม EBM Mid-Continent ส่วนห้องสมุดประชาชนในเมืองแคนซัส ได้ริเริ่มศูนย์เรื่องเล่า (Story Center) โดยมีเครื่องพิมพ์เอสเปรสโซเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงาน ห้องสมุดที่ทดลองนำ BiblioBoard SELF-e platform ไปใช้ในโครงการส่งเสริมการอ่าน เช่น ห้องสมุดประชาชนลอสแอนเจลิส (Los Angeles Public Library) ห้องสมุดประชาชนรัฐแอริโซนา (Arizona State Library) และห้องสมุดประชาชนเมืองซานดิเอโก (San Diego County Public Library)
การผลิตสิ่งพิมพ์เองทำให้ห้องสมุดมีเนื้อหาใหม่ๆ พร้อมกับช่องทางในการขยายขอบเขตงานให้ครอบคลุมบริการและกิจกรรมด้านการอนุรักษ์เรื่องราวอันดีงามของชุมชน โดยเชื่อมโยงกับนักเรียนในท้องถิ่นหรือกลุ่มนักเขียน บทบาทนี้ยังสอดคล้องกับความเคลื่อนไหวด้านเมกเกอร์ ทำให้ห้องสมุดกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถเข้ามาผลิตสิ่งพิมพ์เองอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
โอกาสที่มาพร้อมกับบทบาทส่งเสริมการเรียนรู้
ไม่ว่าในยุคเทคโนโลยีการพิมพ์แบบดิจิทัลหรือก่อนหน้านี้ กิจกรรมส่งเสริมการเขียนและผลิตสิ่งพิมพ์เป็นงานที่อยู่ในความสนใจของห้องสมุดเสมอมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเยาวชน ห้องสมุดประชาชนเมซ่า (Mesa Public Library) จัดทำนิตยสารนิยายวิทยาศาสตร์ซึ่งเขียนและจัดพิมพ์โดยวัยรุ่น ตั้งแต่ปี 1978 ต่อเนื่องนับสิบปี ส่วนห้องสมุดประชาชนลอสกาโตส (Los Gatos Public Library) ร่วมมือกับโรงเรียนมัธยมในการตีพิมพ์กวีนิพนธ์ดิจิทัลและขายผ่านตัวแทนจัดจำหน่ายอีบุ๊คเมื่อปี 2015
ห้องสมุดบางแห่งมองว่า การสนับสนุนให้ชุมชนสามารถผลิตสิ่งพิมพ์เองเป็นเครื่องมือที่ช่วยขยายพันธกิจของห้องสมุดด้านการเป็นพื้นที่สร้างสรรค์หรือเมกเกอร์สเปซ ตัวอย่างเช่นโครงการ I Street Press ของห้องสมุดประชาชนซาคราเมนโตเป็นผลที่เกิดขึ้นจากแนวคิด “ห้องสมุดแห่งสรรพสิ่ง” (Library of things) มีการให้บริการหรือยืมอุปกรณ์สิ่งของอื่นๆ ด้วย เช่น จักรเย็บผ้า กล้องโกโปร เครื่องดนตรี ฯลฯ
“ห้องสมุดเชื่อว่า นักเขียนที่ตีพิมพ์หนังสือเองเป็นเสมือนผู้ประกอบการธุรกิจขนาดย่อม ห้องสมุดควรช่วยให้พวกเขาเข้าถึงทรัพยากรเพื่อการผลิตงานพิมพ์ที่ดีขึ้น”
กิจกรรมการผลิตสิ่งพิมพ์สามารถเป็นไปเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างห้องสมุดกับชุมชนศิลปะในท้องถิ่น ห้องสมุดประชาชนโพรวินซ์ทาวน์ (The Provincetown Public Library) ในรัฐแมสซาชูเซตส์ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ขึ้นเพื่อช่วยสนับสนุนความต่อเนื่องและยั่งยืนของชุมชนศิลปะ ทางด้านห้องสมุดเมืองวิลเลียมสัน (Williamson County Library) ได้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Academy Park Press เพื่อส่งเสริมความสามารถด้านศิลปะและเสริมพลังสร้างสรรค์ให้ชุมชน ส่วนห้องสมุดประชาชนวินด์เซอร์ (Windsor Public Library) ขนานนามเครื่องพิมพ์เอสเปรซโซว่า “หัวใจเครื่องจักรกลแห่งแคนาดา” เพราะมันดึงดูดเหล่านักเขียนให้เข้ามาที่ Xpress Self-Publishing Centre จนกลายเป็นพื้นที่ที่มีสีสันสำหรับชุมชนนักเขียนหน้าใหม่
ห้องสมุดยังสามารถเป็นตัวแปรในการยกระดับคุณภาพการผลิตสิ่งพิมพ์เอง โดยการจัดกิจกรรมอบรมการเขียน การบรรณาธิกรต้นฉบับ และการออกแบบสิ่งพิมพ์ ห้องสมุดประชาชนลอสกาโตสทำงานร่วมกับบริษัท Smashwords ซึ่งเป็นผู้ออกแบบแพลตฟอร์มสิ่งตีพิมพ์ ในการพัฒนากิจกรรมนำร่องเพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับอีบุ๊คแก่นักเขียนในท้องถิ่น กิจกรรมดังกล่าวไม่ใช่เพียงแค่ทำให้พวกเขาได้แรงบันดาลใจในการเป็นนักเขียน แต่สามารถจินตนาการถึงการตีพิมพ์ผลงานของตัวเองในอนาคต
การผลิตสิ่งพิมพ์เองยังสอดรับกับกลยุทธ์ของห้องสมุดด้านการส่งเสริมวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ท้องถิ่น นอกเหนือจากหนังสือประเภทนวนิยายแล้ว เนื้อหาที่คนในท้องถิ่นนิยมตีพิมพ์ขึ้นเองมักเป็นเรื่องประวัติศาสตร์และชีวประวัติ เพราะมนุษย์ย่อมมีความสนใจในเรื่องที่ตนเห็นคุณค่าและรู้สึกผูกพัน ห้องสมุดบิบลิโอเทค (BiblioTech Digital Library) ซึ่งเป็นห้องสมุดดิจิทัลเต็มรูปแบบแห่งแรกของสหรัฐอเมริกา ได้สร้างคอลเลกชันว่าด้วยเรื่องราวและสูตรอาหารซึ่งสร้างสรรค์โดยคนในท้องถิ่น โดยใช้ข้อความเชิญชวนว่า “เขียนเรื่องราวและความทรงจำของคุณ จุดประกายความคิดของพวกเขา”
โอกาสที่มาพร้อมกับความท้าทาย
เมื่อปี ค.ศ. 2013 การสำรวจในประเทศอังกฤษพบข้อเท็จจริงประการสำคัญว่า นักเขียนราวร้อยละ 76 ที่สามารถผลิตสิ่งพิมพ์เองเป็นผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย พวกเขามีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการตีพิมพ์ประมาณ 1,500 ปอนด์ต่องานเขียน 1 เรื่อง และใช้ระยะเวลาในการตีพิมพ์ไม่รวมการเขียนประมาณ 7 เดือน
ส่วนสหรัฐอเมริกามีการสำรวจเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายของนักเขียน พบว่า แพลตฟอร์มสำหรับการผลิตสิ่งตีพิมพ์เอง เช่น Kindle Direct และ Smashwords อนุญาตให้นักเขียนใช้แพลตฟอร์มเหล่านี้ โดยคิดส่วนแบ่งรายได้จากการขายหนังสือ ส่วน Bookbaby คิดค่าธรรมเนียมในการผลิตและจัดจำหน่ายอีบุ๊คเป็นรายครั้ง ครั้งละ 149 ดอลลาร์ หากนักเขียนต้องการบริการเสริมอื่นๆ ก็สามารถเลือกตามความต้องการโดยคิดค่าใช้จ่ายเพิ่ม เช่น การให้คำปรึกษาด้านการออกแบบและการตลาด การบรรณาธิกรต้นฉบับ การลงโฆษณา ฯลฯ ส่วน Reedsy มีบริการช่วยประสานงานระหว่างนักเขียนกับผู้เชี่ยวชาญด้านการทำเนื้อหาหนังสือ โดยคิดค่าใช้จ่ายในการพิสูจน์ตัวอักษรและบรรณาธิกรต้นฉบับความยาว 60,000 คำ ในราคาระหว่าง 540-1,020 ดอลลาร์ และค่าออกแบบปกราคา 700 ดอลลาร์
ตัวเลขดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า การผลิตสิ่งพิมพ์เองยังคงเป็นเรื่องสุดเอื้อมสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้ต่ำ ผู้มีการศึกษาไม่สูงนัก และผู้มีเวลาน้อย ปัจจัยสำคัญที่นักเขียนจะก้าวขึ้นมาผลิตสิ่งพิมพ์ด้วยตนเองได้ คือการเข้าถึงเทคโนโลยีเพื่อการสร้างสรรค์ อัพโหลด และจัดรูปแบบเนื้อหา ผลสำรวจเมื่อปี 2013 พบว่าสหรัฐอเมริกามีประชากรที่ไม่ใช้อินเทอร์เน็ตร้อยละ 14 ซึ่งร้อยละ 37 ของคนจำนวนดังกล่าวมีรายได้เพียง 50,000 เหรียญต่อปี และร้อยละ 44 มีวุฒิการศึกษาไม่เกินระดับอนุปริญญา ส่วนการสำรวจในปี 2015 ระบุว่าประชากรมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ข้อมูลเชิงประจักษ์เหล่านี้สะท้อนถึงสภาวการณ์ที่ท้าทายสำหรับห้องสมุด ซึ่งมีศักยภาพมากพอที่จะเข้ามาช่วยลดช่องว่างระหว่างผู้มีใจรักการเขียนกับการเข้าถึงปัจจัยในการผลิตสิ่งพิมพ์เอง โดยไม่ต้องแบกรับภาระค่าใช้จ่ายเองทั้งหมด
มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์อยู่บ่อยครั้งว่า “ปัจจุบันหนังสือมีมากเกินพอแล้ว” “การมีหนังสือจำนวนมากเกินไปเป็นเรื่องสยอง” หรือ “ง่ายที่จะสร้างสรรค์สิ่งพิมพ์ แต่ยากกว่าที่จะหามันให้เจอ” ดังนั้นในยุคที่กระแสการผลิตสิ่งพิมพ์เองกำลังขยายตัว และมีแนวโน้มว่าจะกลายเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของห้องสมุด การจินตนาการถึงเครื่องมือที่จะช่วยจัดระบบหรือสืบค้นสิ่งพิมพ์เหล่านี้ซึ่งมีกระจัดกระจายอยู่ทุกหนทุกแห่ง เป็นอีกหนึ่งโจทย์สำคัญที่รอให้ห้องสมุดเป็นผู้ไขคำตอบในอนาคตอันใกล้
ที่มา
บทความเรื่อง “Public Libraries as Publishers: Critical Opportunity” เขียนโดย แคทริน คอนราด (Kathryn M. Conrad) ผู้อำนวยการสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแอริโซนา [Online]
Cover Photo: studiobunnyfish.com/https://pin.it/5RD7377