สภาพการณ์ทางสังคมในปัจจุบัน ทั้งโรคระบาด สงคราม เศรษฐกิจตกต่ำ ปัญหาในที่ทำงาน และความขัดแย้งภายในครอบครัว ฯลฯ ต่างเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันให้ผู้คนเสี่ยงกับการเผชิญภาวะเครียดและความเจ็บป่วยทางจิตใจ ในกรณีของสหรัฐอเมริกา มีประชากรที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้ากว่า 17 ล้านคน สูงเป็นอันดับสองของโลก และมีข้อมูลที่น่าตกใจว่า ในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา คนหนุ่มสาว อายุ 18-24 ปี กว่าร้อยละ 25 มีความคิดเรื่องการฆ่าตัวตาย
ประเด็นปัญหาดังกล่าว เป็นที่มาของการริเริ่มโครงการส่งเสริมด้านสุขภาพจิตในห้องสมุดประชาชน โดยอาศัยจุดเด่นด้านทำเลที่ตั้งและสายสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดกับชุมชน ตัวอย่างการดำเนินงาน เช่น การให้คำแนะนำด้านสุขภาพจิต การจัดมุมหนังสือสุขภาพจิต ไปจนถึงการช่วยเหลือผู้ที่มีความต้องการที่อยู่อาศัย
บรรณารักษ์หลายคนสวมหมวกอีกใบหนึ่งเป็นนักสังคมสงเคราะห์หรือนักให้คำปรึกษา เพื่อช่วยเหลือให้ผู้คนสามารถรับมือกับปัญหาและความซับซ้อนของชีวิต ดังเช่น โจเซฟ มีสเนอร์ (Joseph Miesner) บรรณารักษ์ห้องสมุดประชาชนในเมืองซานดิเอโก ซึ่งทำงานในห้องสมุดมา กว่า 28 ปี เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการอบรมเพื่อเยียวยาผู้ป่วยในโครงการด้านสุขภาพจิตของห้องสมุดกับรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรค อาการ และวิธีการช่วยเหลือ รวมทั้งทำให้เขาเข้าใจความเจ็บป่วยทางจิตใจและมีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากยิ่งขึ้น
มีสเนอร์ ยกตัวอย่างเหตุการณ์ที่ผู้หญิงคนหนึ่งกําลังร้องตะโกนอย่างบ้าคลั่งในห้องสมุด เขาเลือกเข้าไปไถ่ถามแทนที่จะสั่งให้เธอหยุด “ผมแค่ใช้เวลารับฟังปัญหาของเธอ ในที่สุดเธอก็เก็บข้าวของและเดินจากไปอย่างเงียบๆ” ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โครงการอบรมเพื่อช่วยเหลือผู้มีปัญหาสุขภาพจิตของเครือข่ายห้องสมุดประชาชนในเมืองซานดิเอโกได้รับผลตอบรับที่ดี ทำให้มีการขยายผลการถ่ายทอดความรู้แก่เจ้าหน้าที่ห้องสมุดเพิ่มอีกกว่า 250 คน
ทางด้านห้องสมุดประชาชนนิวยอร์กได้ร่วมมือกับสํานักงานสุขภาพจิตชุมชน ดำเนินโครงการ ‘Spaces to Thrive’ เพื่อเพิ่มช่องทางเข้าถึงข้อมูลและสนับสนุนการรักษาด้านสุขภาพจิตให้แก่ประชาชนผ่านเครือข่ายห้องสมุดประชาชน เช่น การจัดวงเสวนาเกี่ยวกับประเด็นสุขภาพจิต การจัดโซนหนังสือด้านสุขภาพจิตโดยเฉพาะ ทั้งอัตชีวประวัติ สารคดี และหนังสือนิยาย รวมไปถึงการจัดมินิคอนเสิร์ต
ส่วนห้องสมุดประชาชนเมืองซานฟรานซิสโกได้เปิดรับนักสังคมสงเคราะห์เป็นหนึ่งในทีมงานของห้องสมุด ลีอาห์ เอสเกร์รา (Leah Esguerra) หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ ยกตัวอย่างถึงอดีตนางพยาบาลซึ่งต้องทนทุกข์ทรมานจากโรคเครียดจนกลายเป็นคนเร่ร่อนมานานหลายปี เอสเกร์ราพบกับผู้หญิงคนนี้ทุกสัปดาห์เพื่อให้การบําบัดสั้นๆ จนกระทั่งสามารถพาเข้าสู่ระบบการรักษาพยาบาล และประสานองค์กรท้องถิ่นเพื่อจัดหาที่อยู่อาศัยได้ในที่สุด นับจนถึงปัจจุบันเอสเกร์ราช่วยหาที่อยู่อาศัยให้แก่คนเร่ร่อนมากกว่า 200 คน
นอกจากการดำเนินงานของห้องสมุดที่ยกตัวอย่างมาข้างต้นนี้ ยังมีห้องสมุดอีกหลายแห่งทั้งในสหรัฐอเมริกาและทั่วโลก ที่ไม่ได้เป็นเพียงสถานที่สำหรับอ่านหรือยืมหนังสือเท่านั้น แต่พยายามมีบทบาทด้านการบรรเทาปัญหา ช่วยเหลือ และเยียวยาสภาพจิตใจ รวมถึงยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน เช่น ห้องสมุดและโรงเรียนสำหรับคนไร้บ้านในมาเลเซียและอินโดนีเซีย และการพัฒนาห้องสมุดให้เป็นมิตรกับผู้ป่วยออทิสติกในสหราชอาณาจักร
ที่มา
บทความ “Spaces, Skills and Resources: How Libraries Support Mental Health” จาก blogs.ifla.org (Online)
บทความ “Libraries Can Help in Times of Stress, Uncertainty, and Burnout | by EveryLibrary” จาก medium.com (Online)
บทความ “Your Local Library May Have A New Offering In Stock: A Resident Social Worker” จาก wamu.org (Online)
บทความ “Libraries as mental health hubs” จาก apa.org (Online)
บทความ “Beacons of Strength: Libraries Provide Mental Health Resources to Cope With COVID” จาก imls.gov (Online)