ส่องห้องสมุด 7 ประเทศ จุดเด่นที่ชวนให้เลียนแบบ

22 views
February 20, 2023

ห้องสมุดในศตวรรษที่ 21 เป็นพื้นที่สาธารณะซึ่งสัมพันธ์กับวิถีชีวิตอย่างใกล้ชิด ผู้คนไม่เพียงเข้าห้องสมุดเพื่อยืมคืนหนังสือ แต่ยังนัดพบปะกัน เข้าร่วมงานวัฒนธรรม งานเทศกาล นัดเจรจาทางธุรกิจ สร้างสิ่งประดิษฐ์ต่างๆ หรือแม้กระทั่งจัดงานแต่งงาน เมื่อลองพิจารณาดูให้ดีจะพบว่า ห้องสมุดของแต่ละประเทศมีจุดเด่นและบุคลิกไม่เหมือนกัน ทั้งการออกแบบสถาปัตยกรรม และรูปแบบการให้บริการ

ทำความรู้จักห้องสมุดของ 7 ประเทศ ที่แม้จะไม่ได้เป็นตัวแทนของห้องสมุดทุกแห่งในประเทศนั้นๆ แต่ตัวอย่างของห้องสมุดที่หยิบยกมา ก็สามารถสะท้อนถึงความคิด ความเชื่อ ตัวตน และความเป็นอยู่ ของคนแต่ละชาติได้เป็นอย่างดี

ห้องสมุดออสเตรเลีย เป็นพื้นที่ในดวงใจของคนทุกวัย ไม่ใช่เรื่องแปลกหากช่วงเวลาหลังมื้อเย็น ผู้คนจะนัดรวมตัวกันที่ห้องสมุด หรือพ่อแม่จะจูงเด็กๆ ในชุดนอนรองเท้าเตะเพื่อเล่านิทานก่อนนอน

ห้องสมุดเนเธอร์แลนด์ ให้ความสำคัญกับการออกแบบอย่างเรียบง่ายและการอนุรักษ์คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม มีการนำอาคารเก่ามาดัดแปลงเป็นห้องสมุด โดยยังคงกลิ่นอายของอดีตพร้อมกับผสมผสานการใช้งานของคนยุคใหม่อย่างลงตัว

ห้องสมุดสหรัฐอเมริกา สนับสนุนให้ผู้คนเข้าถึงความรู้อย่างสะดวกที่สุด และเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ เช่น โครงการสร้างห้องสมุดและอพาร์ตเมนต์ไว้ในอาคารเดียวกัน ได้เปลี่ยนภาพลักษณ์การเคหะสาธารณะให้เป็นย่านน่าพักอาศัย

ห้องสมุดจีน รังสรรค์สิ่งที่ใครๆ ก็อยากแชร์ในโซเชียลมีเดีย นอกเหนือจากฟังก์ชันการใช้งานอย่างครบครันทันสมัย ยังเน้นความสวยงามอลังการ ทำให้ห้องสมุดกลายเป็นสถานที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจำนวนมาก

ห้องสมุดแคนาดา เน้นการเรียนรู้ที่สอดรับกับอนาคต ให้บริการเทคโนโลยีล้ำสมัยแบบจัดเต็ม เพื่อให้พลเมืองทุกวัยก้าวไกลทันการเปลี่ยนแปลงในวันข้างหน้า

ห้องสมุดเดนมาร์ก ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน โดยออกแบบอาคารให้ใช้พลังงานทางเลือก และสร้างจากวัสดุที่สามารถนำกลับไปใช้ใหม่ รวมทั้งมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมพลเมืองให้มีสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม

ห้องสมุดฟินแลนด์ เริ่มต้นออกแบบจากโจทย์คำถามว่า ‘ผู้คนต้องการอะไร’ ด้วยการเปิดรับฟังความเห็นสาธารณะ เพื่อนำความเห็นมาพัฒนาเป็นห้องสมุดสำหรับทุกคน

หลังจากทำความรู้จักกับจุดเด่นของห้องสมุดทั้ง 7 ประเทศ ที่มีความแตกต่างกันแล้ว คุณคิดว่าห้องสมุดไทยมีบุคลิกตัวตนอย่างไร? หรืออยากให้เป็นแบบไหน

ห้องสมุดออสเตรเลีย: พื้นที่ในดวงใจของคนทุกวัย

ออสเตรเลียมีประชากร 25.7 ล้านคน แม้เข้าสู่ยุคดิจิทัลชาวออสเตรเลียก็ยังคงนิยมเข้าห้องสมุด โดยมียอดการใช้บริการราว 114 ล้านครั้งต่อปี มากกว่าพิพิธภัณฑ์ หอศิลป์ หรือโรงละคร ห้องสมุดเน้นให้บริการครอบคลุมความต้องการของผู้คนทุกช่วงวัยตั้งแต่เด็กจนถึงวัยชรา มีบรรณารักษ์ซึ่งได้รับการอบรมเป็นอย่างดีคอยดูแลให้ความช่วยเหลือด้านการเรียนรู้และจัดกิจกรรมที่หลากหลาย เช่น การเล่านิทาน การเล่นสนุกๆ การอ่านเขียนเบื้องต้น รวมทั้งกิจกรรมทางสังคม

สำหรับห้องสมุดในเมือง พ่อแม่มักพาเด็กๆ ไปใช้บริการห้องสมุดหลังจากมื้อเย็นในชุดนอนรองเท้าเตะ เพื่อยืมหนังสือ เล่านิทาน และเล่นก่อนนอน ชุมชนคุ้นเคยกับการเดินเข้าห้องสมุดเพื่อขอใช้บริการพื้นที่สำหรับจุดประสงค์ต่างๆ เช่น การประชุม การเรียนการสอน การอภิปราย และการจัดงานวัฒนธรรม ห้องสมุดจึงเป็นสถานที่ที่เข้าถึงง่ายและมีความเป็นมิตร

ส่องห้องสมุด 7 ประเทศ จุดเด่นที่ชวนให้เลียนแบบ
Photo: Peter Moeck Architect

ห้องสมุดเนเธอร์แลนด์: เคารพมรดกทางศิลปวัฒนธรรม

เนเธอร์แลนด์เป็นต้นกำเนิดของสถาปนิกซึ่งออกแบบห้องสมุดที่มีชื่อเสียงให้หลายประเทศทั่วโลก เช่น เร็ม คูลฮาส (Rem Koolhaas) บริษัทเมคานู (Mecanoo) และบริษัท MVRDV เมื่อย้อนมองห้องสมุดในประเทศเนเธอร์แลนด์ จะเห็นได้ว่าได้รับการออกแบบอย่างประณีตและมีประสิทธิภาพในการใช้งานสูง เอกลักษณ์ของห้องสมุดดัตช์อยู่ที่ความเรียบง่ายและการอนุรักษ์คุณค่าทางศิลปวัฒนธรรม

ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดลอคฮาล (LocHal library) เมืองทิลเบิร์ก ดัดแปลงมาจากโรงเก็บหัวรถจักรเก่า ที่นี่ใช้องค์ประกอบเดิมของตัวอาคาร เช่น รางรถไฟ และเสาเหล็กแบบยุคอุตสาหกรรม เป็นสื่อกลางบอกเล่าประวัติศาสตร์ของอาคาร เช่น ล้อรถไฟถูกนำมาประยุกต์กลายเป็นโต๊ะขนาดใหญ่ที่สามารถเคลื่อนย้ายไปตามรางรถไฟจริงๆ

ส่องห้องสมุด 7 ประเทศ จุดเด่นที่ชวนให้เลียนแบบ
Photo: Ossip Architectuurfotografie

ห้องสมุดสหรัฐอเมริกา: สนับสนุนให้ผู้คนเข้าถึงความรู้อย่างสะดวกที่สุด

ห้องสมุดเป็นส่วนหนึ่งของการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ที่เมืองชิคาโกมีโครงการสร้างห้องสมุดและอพาร์ตเมนต์ไว้ในอาคารเดียวกัน พื้นที่การอ่านไม่ได้ถูกจัดสรรไว้ตามซอกหลืบ แต่ตั้งอยู่ชั้นล่างซึ่งเป็นจุดเด่นของอาคาร ประตูทางเข้าหันเข้าหาถนน เหมือนกำลังเชื้อเชิญผู้คนให้เข้ามาพักผ่อนหาความรู้ และเกิดเป็นแลนด์มาร์กของชุมชน

ผลลัพธ์คือห้องสมุดช่วยเปลี่ยนแปลงภาพลักษณ์การเคหะสาธารณะ ซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นที่อยู่อาศัยคุณภาพต่ำ ดูอัปลักษณ์ และไม่มีความปลอดภัย ให้กลายเป็นย่านน่าอยู่ ด้วยรูปลักษณ์โมเดิร์น สวยงาม ราคาเข้าถึงได้ และสิ่งสำคัญคือมีหนังสือและความรู้อยู่ใกล้แค่เอื้อม ปัจจุบัน เมืองชิคาโกมีการก่อสร้างห้องสมุดไว้ในอพาร์ตเมนต์แล้ว 3 แห่ง และคาดว่าจะมีการขยายโครงการอื่นๆ อีก ในอนาคต

ส่องห้องสมุด 7 ประเทศ จุดเด่นที่ชวนให้เลียนแบบ
Photo: James Florio

ห้องสมุดจีน: รังสรรค์สิ่งที่ใครๆ ก็อยากแชร์ในโซเชียลมีเดีย

ช่วง 10 ปีมานี้ จีนทุ่มเทงบประมาณมหาศาลกับการพัฒนาห้องสมุดให้ทันสมัย เพื่อรองรับการขยายตัวของเมืองสมัยใหม่ หนึ่งในห้องสมุดที่ตรึงตาตรึงใจคนทั่วโลกคือ ห้องสมุดเทียนจินปิ่นไห่ (Tianjin Binhai Library) ที่นี่ ดึงดูดผู้คนทั่วโลกซึ่งต้องการมาชมสถาปัตยกรรมอันน่าอัศจรรย์ของบริษัท MVRDV จนกลายเป็นสถานที่ท่องเที่ยวชั้นนำในจีน

ใจกลางห้องสมุดดูเหมือนคลื่นชั้นหนังสือขนาดมหึมาซึ่งอยู่รายรอบโลก หรือที่เรียกว่า ‘The Eye’ ตรงนี้เองเป็นมุมยอดนิยมสำหรับถ่ายเซลฟี่หรือโพสต์ลงโซเชียลมีเดีย อย่างไรก็ตาม ต่อมาภายหลังสื่อมวลชนได้ตั้งข้อสังเกตว่า หนังสือ 1.2 ล้านเล่ม ไม่ใช่หนังสือทั้งหมดที่เป็นของจริง ส่วนใหญ่เป็นหนังสือจำลองทำจากอลูมิเนียม นอกจากความสวยงามแล้ว ห้องสมุดเทียนจินปิ่นไห่ยังเพียบพร้อมไปด้วยทุกสิ่งที่ห้องสมุดจำเป็นต้องมี ไม่ด้อยไปกว่าห้องสมุดชั้นนำแห่งอื่นของโลก

ส่องห้องสมุด 7 ประเทศ จุดเด่นที่ชวนให้เลียนแบบ
Photo: Ossip van Duivenbode

ห้องสมุดแคนาดา: การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับอนาคต

เมื่อกลางปี 2561 ผลการวิจัยของมหาวิทยาลัยไฮริคไฮน์ ดุสเซลดอร์ฟ ได้จัดอันดับให้แคนาดาเป็นประเทศซึ่งมีระบบห้องสมุดประชาชนที่ดีที่สุด โดยมีห้องสมุดจาก 3 เมือง ติดอันดับ Top 10 ได้แก่ มอนทรีอัล โตรอนโต และแวนคูเวอร์

จุดเด่นของห้องสมุดแคนาดาคือ การให้บริการเทคโนโลยีที่ทันสมัยแบบจัดเต็ม เช่น ห้องสมุดเมืองโตรอนโต มีเมกเกอร์สเปซ ซึ่งมีชื่อว่า ‘Innovation Hub’ ประกอบด้วยสตูดิโอสำหรับอัดรายการพอดแคสต์ ฉากเขียวสำหรับการถ่ายทำวิดีโอหรือภาพนิ่ง และเครื่องพิมพ์หนังสือประเภท Self-publishing นอกจากนี้ห้องสมุดยังเป็นเจ้าภาพจัดงาน Hand-a-thons ให้ผู้คนใช้เครื่องพิมพ์สามมิติและบอร์ดอาร์ดูอิโน สำหรับการประดิษฐ์แขนเทียมให้ผู้พิการ

ส่องห้องสมุด 7 ประเทศ จุดเด่นที่ชวนให้เลียนแบบ
Photo: Toronto Public Library

ห้องสมุดเดนมาร์ก: ให้ความสำคัญกับความยั่งยืน

เดนมาร์ก ได้รับการจัดอันดับดัชนีด้านการดำเนินงานสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับที่ 1 ของโลก ต่อเนื่องมาแล้ว 2 ปี โดยเป็นผู้นำด้านการลดก๊าซเรือนกระจก ใช้พลังงานหมุนเวียน และการรีไซเคิลทรัพยากรอย่างจริงจัง ทั้งนี้ เดนมาร์กใช้นโยบายสีเขียวมาตั้งแต่ปี 2523 และได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้พลังงานมาก

แนวคิดเรื่องความยั่งยืนสอดแทรกอยู่ทุกหนทุกแห่ง รวมถึงห้องสมุด Dokk1 เมืองอาร์ฮุส ซึ่งมีขนาดใหญ่มหึมา การก่อสร้างอาคารใช้วัสดุเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและรีไซเคิลได้ มีการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 2,400 ตารางเมตรบนหลังคา ใช้ไฟ LED และนำน้ำทะเลมาใช้ลดอุณหภูมิอาคาร นอกจากนี้ ห้องสมุดยังมีบทบาทสำคัญในการหล่อหลอมพลเมืองให้มีสำนึกรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยผลักดันให้เรื่องนี้เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตประจำวัน

ส่องห้องสมุด 7 ประเทศ จุดเด่นที่ชวนให้เลียนแบบ
Photo: Dokk1

ห้องสมุดฟินแลนด์: รับฟังผู้คนว่าต้องการอะไร

ฟินแลนด์ได้รับการจัดอันดับว่าเป็นประเทศที่มีความสุขที่สุดในโลก ระบบการศึกษามีคุณภาพ เด็กๆ ได้เรียนรู้อย่างมีความสุข อีกทั้งยังมีห้องสมุดชั้นเยี่ยม ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ฟินแลนด์ใช้งบประมาณลงทุนเรื่องระบบห้องสมุดถึง 320 ล้านยูโร คิดเป็นเงินประมาณ 58 ยูโรต่อคนต่อปี ซึ่งนับเป็นการลงทุนค่อนข้างสูง เพราะเชื่อว่าการศึกษาและห้องสมุดเป็นทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับการพัฒนาสังคม

หนึ่งในห้องสมุดเด่นของฟินแลนด์คือ ห้องสมุดโอดิ (Helsinki Central Library Oodi) ซึ่งเรียกตัวเองว่าเป็น ‘สถานที่นัดพบที่มีชีวิต’ การออกแบบและสร้างห้องสมุดเริ่มต้นจากโจทย์คำถามว่า ‘ผู้คนต้องการอะไร’ มีการจัดเวทีรับฟังสาธารณะ เพื่อนำความเห็นมาพัฒนาเป็นห้องสมุดที่ดีที่สุดสำหรับทุกคน นอกจากให้บริการด้านการอ่านแล้ว ยังมีคาเฟ่ ระเบียงสำหรับการพบปะ สตูดิโอบันทึกสื่อโสตทัศน์ เมกเกอร์สเปซ พื้นที่จัดเวิร์กชอป ฯลฯ ห้องสมุดยังจัดสรรพื้นที่เป็นตลาดนัดและเปิดให้ผู้ประกอบการทั้งหน้าเก่าและใหม่ได้มีโอกาสพบปะกับคู่ค้าหรือลูกค้า และมีเคาน์เตอร์กลางเป็นศูนย์รวมข้อมูลกิจการของบริษัทร้านค้าต่างๆ ไว้ให้สืบค้น

ส่องห้องสมุด 7 ประเทศ จุดเด่นที่ชวนให้เลียนแบบ
Photo: Jussi Hellsten/ City of Helsinki


ที่มา

บทความ “How can we save UK libraries? A look at the innovative steps being taken by countries around the world” จาก penguin.co.uk (Online)

บทความ “ทำไม “เดนมาร์ก” ถึงเป็นผู้นำด้าน Green Economy” จาก salika.co (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก