ไม่ใช่แค่เด็กที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมของโรงเรียน แต่โรงเรียนเองก็ต้องปรับหลักสูตรอยู่เสมอเพื่อให้เข้ากับเด็กในแต่ละยุค เพราะเราต่างอยู่รอดได้ด้วยการปรับตัว เปลี่ยนแปลง และลงมือทำมันสักที!
เรากำลังพูดถึง Haja Center พื้นที่เรียนรู้ที่ให้เด็กได้ลงมือทำ ผ่านแนวคิด “Do and eat what you want.” ที่นี่ให้ความสำคัญกับการทบทวนหลักสูตรเป็นประจำเพื่อให้สอดคล้องกับแนวโน้มพฤติกรรมของเด็กๆ
Haja Center ตั้งอยู่ในเขตยองดึงโพ (Yeongdeungpo) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของกรุงโซล ประเทศเกาหลีใต้ ก่อตั้งในปี 1999 โดยศาสตราจารย์แฮจองโช (Hae-Joang Cho) จากมหาวิทยาลัยยอนเซ (Yonsei University) เพื่อรองรับเด็กนักเรียนที่เลือกเดินออกจากโรงเรียนกลางคัน เมื่อการเรียนการสอนในระบบไม่สามารถสร้างความสุขและการเรียนรู้ในมิติใหม่ๆ กระทั่งไม่สามารถรองรับความสนใจที่หลากหลายของเด็กแต่ละคนได้ เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนที่ต้องการกระหน่ำกวดวิชาเพื่อเดินเท้าเข้าสู่มหาวิทยาลัย ที่นี่จึงกลายเป็นจุดหมายของเด็กๆ ที่ต้องการอิสระในการเรียนรู้
Haja Center ต้องการสร้างสเปซของตัวเอง และด้วยความเป็นโรงเรียนเอกชนในเครือข่ายชุมชนการเรียนรู้ทางเลือกของกรุงโซล ที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลอย่างเต็มที่ ทั้งเรื่องงบประมาณและอาคารสถานที่ Haja Center จึงเป็นพื้นที่ที่พร้อมสำหรับการแสดงออกอย่างสร้างสรรค์
ที่สำคัญ เด็กนักเรียนของ Haja มีส่วนร่วมในการกำหนดเงื่อนไขการอยู่ร่วมกันของพวกเขาเอง 7 ข้อต่อไปนี้
เราจะทำในสิ่งที่เราต้องการ ไม่ใช่สิ่งที่เราต้องทำ
เราจะไม่เลือกปฏิบัติต่อคนอื่นจากเรื่องเพศ การศึกษา และภูมิหลัง
เราจะไม่ใช้ความรุนแรงทุกรูปแบบ
เราจะรับผิดชอบต่อการกระทำของตัวเอง
เราจะแบ่งปันซึ่งกันและกัน (ไม่ใช่แค่ขนม แต่เป็นข้อมูลและทรัพยากร)
เราจะพยายามทำความเข้าใจสถานการณ์ของคนอื่น
เราจะรักษาคำพูด และไม่ให้สัญญาในสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
เมื่อเปิดเข้าไปในห้องเรียนแรก คุณจะได้พบกับภาพของนักเรียนกำลังจับกลุ่มแลกเปลี่ยนสิ่งที่พวกเขาได้อ่านและเรียนรู้จากยุคสมัยของพวกเขา ขณะที่อีกห้องหนึ่ง เด็กๆ กำลังออกแบบอาร์ตเวิร์กที่มีดีไซน์เฉพาะตัว หรือเสียงเพลงจากสตูดิโอบนชั้นสามของที่นี่เต็มไปด้วยเหล่าดีเจวัยทีน นักแต่งเพลงที่ผลิตผลงานเพลงขึ้นมาจริงๆ กระทั่งวิศวกรที่ดูแลสถานีกระจายเสียงออนไลน์ที่รันโดยเยาวชนจากทั่วโลก เท่านั้นยังไม่พอ ที่นี่ยังมีโปรแกรมการเรียนรู้อีกมาก สามารถรองรับความสนใจของเด็กแต่ละคน เปิดพื้นที่ให้พวกเขาได้มองเห็นโอกาสในการเลือกอาชีพของตัวเองในอนาคต เท่าที่คุณจะจินตนาการได้ ทั้งโรงงานไม้ สตูดิโอซ่อมจักรยาน ห้องแล็บ ห้องทำหนัง สตูดิโอออกแบบเสื้อผ้า ห้องออกแบบที่อยู่อาศัย และส่วนที่เป็น Social Culture ประกอบด้วยบุ๊กคาเฟ่ และโรงหนังขนาดเล็ก
เด็กนักเรียนของ Haja สามารถจัดการเวลาและจัดลำดับความสำคัญของสิ่งที่จะลงมือทำได้ดี นั่นเป็นเพราะหลักสูตรพื้นฐานเน้นเรื่องการมีวินัยในตัวเอง การเรียนรู้วัฒนธรรมผ่านการลงมือทำโปรเจกต์และการฝึกงาน การเรียนรู้เชิงวิพากษ์ผ่านหลักสูตรมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ การเรียนรู้ด้านฟังก์ชันผ่านหลักสูตรคอมพิวเตอร์และภาษาต่างประเทศ การเรียนรู้พื้นฐานของกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ ผ่านการทำภาพยนตร์และหนังสือ และที่สำคัญคือการเรียนรู้ด้วยตนเอง
สุดท้ายที่อยากเก็บไว้เฉลยตอนจบ คือชื่อ Haja มาจากคำว่า 하자 ในภาษาเกาหลี ความหมายของมันคือสิ่งเดียวกับที่โรงเรียนนี้อยากบอกกับเด็กๆ ของพวกเขาว่า Let’s Do it! (ลงมือทำ/ลุยเลย!)
ที่มา
บทความ “문제없는 스튜디오 – 프로젝트” จาก haja.net (Online)
บทความ “Haja Center” จาก ydp.go.kr (Online)
บทความ “Haja Center Rekindles Love of Learning” จาก koreajoongangdaily.joins.com (Online)