“เปิดพรมแดนการเรียนรู้ยุคใหม่ที่ไม่จำกัดอยู่ในห้องเรียน” วงเสวนาที่ชวนพูดคุยถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์พื้นที่การเรียนรู้ในหลากหลายบริบท ในกิจกรรมเวิร์กชอป “สร้างสรรค์พื้นที่เรียนรู้ที่ไม่ต้องอยู่แค่…ในห้องเรียน” วันเสาร์ที่ 6 สิงหาคม 2565 ณ โรงแรมสยามแอ็ทสยาม ดีไซน์ โฮเต็ล จัดโดย TK Park ร่วมกับ TED Circles by TEDxCharoenkrung
ผู้ร่วมเสวนา ได้แก่ จุมพฏ ศรียะพันธ์ จาก CoderDojo Thailand ในประเด็นเกี่ยวกับชุมชนการเรียนรู้ Coding ที่ไม่ต้องมีครูมาสอน อรุณี อธิภาพงศ์ จาก Ari Around ในประเด็นเกี่ยวกับแพลตฟอร์มการเรียนรู้ที่มุ่งทำให้ความเอื้ออารีเกิดขึ้นในชุมชมอย่างเป็นรูปธรรม และ วันใหม่ นิยม จาก ธนบุรี มี คลอง และ 3C Project ในประเด็นเกี่ยวกับการเชื่อมโยงเรียนรู้ร่วมกันของโรงเรียนและชุมชนย่านคลองบางมด โดยมี ธนัน รัตนโชติ เป็นผู้ดำเนินรายการ
โรงเรียนไม่ได้ดำรงอยู่อย่างเอกเทศ แต่ถูกโอบล้อมไปด้วยชุมชน ผู้คน วิถีชีวิต และวัฒนธรรม วันใหม่ นิยม อดีตครูระดับชั้นมัธยมศึกษา โรงเรียนรุ่งอรุณ ได้ตั้งคำถามต่อการทำงานของโรงเรียนและครูว่า รู้จักและมีความสัมพันธ์กับชุมชนที่อยู่รายรอบโรงเรียนมากน้อยเพียงใด
นอกจากบทบาทครูซึ่งมักพานักเรียนออกไปเรียนรู้และสัมผัสประสบการณ์นอกห้องเรียน วันใหม่ ตัวไปทำงานด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ให้กับ ‘ธนบุรี มี คลอง’ และ ‘3C Project’ จุดเน้นคือการสร้างชุมชนแห่งการเรียนรู้โดยใช้โรงเรียนเป็นฐานร่วมกับอีกหลายโรงเรียน เช่น โรงเรียนดรุณสิกขาลัย โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ธนบุรี และโรงเรียนบางมด (ตันเปาว์วิทยาคาร) กิจกรรมที่เป็นที่รู้จัก เช่น ‘บางมดเฟสติวัล’ ซึ่งเป็นการเปิดบ้านริมคลองให้ผู้คนทั้งในและนอกชุมชนได้สัมผัสวิถีชีวิตแบบดั้งเดิมที่มีความเป็นธรรมชาติและเอื้ออารี รวมทั้งเกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน
เคล็ดลับในการทำงานคือการทำความรู้จักชุมชนเชิงลึก รับฟังเรื่องราวของผู้คน จนสนิทสนมและกลายเป็นสายสัมพันธ์อันดี แรงกระเพื่อมของการจัดกิจกรรมทำให้ชุมชนมีชีวิตชีวา รวมทั้งกระตุ้นเศรษฐกิจชุมชน เช่น ตลาดนัด หรือการขายสินค้าเกษตร
ในกรณีของ CoderDojo Thailand เป็นชุมชนการเรียนรู้ที่มีจุดเริ่มต้นมาจากความสนใจของครอบครัว เมื่อลูกสนใจด้านการเขียนโค้ดดิ้ง แต่การศึกษาที่มีอยู่ยังไม่สามารถตอบโจทย์ความสนใจ หลายครอบครัวจึงรวมตัวกันสร้างพื้นที่และกิจกรรมการเรียนรู้ขึ้นมาเอง หลังจากก่อตั้งและดำเนินงานมาแล้ว 5 ปี CoderDojo Thailand มีพื้นที่เรียนรู้ทั้งในกรุงเทพฯ และจังหวัดอื่นๆ 10 แห่ง โดยใช้พื้นที่สาธารณะ เช่น ห้องสมุด ร้านกาแฟ และวัด เป็นสถานที่จัดกระบวนการเรียนรู้
จุมพฏ ศรียะพันธ์ กล่าวกว่าที่นี่เป็น ‘พื้นที่การเรียนรู้ที่ไม่ต้องมีครูมาสอน’ ผู้เรียนไม่ได้มีบทบาทตั้งรับความรู้ฝ่ายเดียวดังเช่นการศึกษาทั่วๆ ไป แต่เชื่อมั่นว่ามนุษย์ทุกคนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตนเอง เมื่อผู้เรียนเกิดความสงสัยใคร่รู้ก็จะพยายามแสวงหาคำตอบเองก่อนพึ่งพาผู้อื่น หรือที่เรียกว่า ‘Ask 3 then me’
อีกหนึ่งย่านการเรียนรู้ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะเป็นของตัวเองคือย่านอารีย์ ซึ่งเป็นแหล่งรวมคนวัยทำงานในสายครีเอทีฟและเทคโนโลยี อรุณี อธิภาพงศ์ ซึ่งอาศัยอยู่ในย่านนี้มากกว่า 10 ปี จึงสนใจที่จะสร้างเครือข่ายให้ผู้คนเกิดความเอื้อเฟื้อต่อกันและทำให้ย่านนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้น
ประเด็นแรกๆ ที่ Ari Around ผลักดันคือเรื่องการคัดแยกขยะอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะ การเปลี่ยนขยะเป็นเหรียญ AriCoin เพื่อแลกรับสินค้าในร้านรวงต่างๆ โดยเข้าไปมีส่วนร่วมกับกิจกรรมที่จัดขึ้นในชุมชน เช่น Bangkok Design Week
เมื่อเรื่องราวถูกสื่อสารออกไป ก็เกิดการรวมตัวของผู้คนในการทำงานที่เข้มแข็งยิ่งขึ้น เช่นมีผู้มาร่วมออกแบบแอปพลิเคชัน ประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม และเขียนบทความบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในย่าน จากชุมชนเมืองที่ผู้คนต่างคนต่างอยู่ วันนี้ อารีย์กลายเป็นย่านที่มีสายสัมพันธ์แน่นแฟ้น เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างคนรุ่นใหม่ที่เข้ามาทำงานกับคนเก่าแก่