คาเฟ่ที่ใส่ใจเรื่องวัตถุดิบหมุนเวียน ชุมชนเรียนรู้เรื่องอาหารยั่งยืน ‘เลพาทอ’

46 views
October 20, 2022

เวลานึกถึง ‘เลพาทอ’ หลายคนอาจเห็นภาพของแบรนด์กาแฟออร์แกนิกที่ใส่ใจโลก แต่เลพาทอไม่ได้จบอยู่แค่เรื่องกาแฟเท่านั้น หากยังไปต่อกับการสร้างพื้นที่การเรียนรู้เพื่อบอกเล่าเรื่องความมั่นคงทางอาหาร ในพื้นที่บ้านของ กวิ๊ – อำนวย นิยมไพรนิเวศน์

ที่บ้านของกวิ๊ ในชุมชนบ้านหนองเต่า ชุมชนชาวปกาเกอะญอซึ่งเคยเจอทั้งปัญหาต่อสู้เรื่องพื้นที่ทำกิน หลังจากถูกไล่ที่จากกฎหมายป่าสงวนฯ จนคนในชุมชนต้องหาหลักฐานของชุมชนมาสู้ หรือแม้แต่ปัญหานายทุนที่มาชักชวนชาวบ้านให้ปลูกพืชเมืองหนาว ที่ต้องใช้สารเคมีและเปิดโอกาสให้พืชต่างถิ่นเข้ามารุกราน

กวิ๊จึงตึดสินใจเปลี่ยนบ้านของตัวเองเป็นทั้งคาเฟ่ของเลพาทอ และพื้นที่การเรียนรู้ที่ชวนชาวบ้านและคนนอกชุมชนมาศึกษาเรื่องวัตถุดิบตามฤดูกาล และการทำอาหารจากวัตุดิบที่มีในพื้นที่ แทนการสั่งของนำเข้า โดยออกแบบเป็นพื้นที่การเรียนรู้ที่มาจากการลงมือทำจริง เพื่อให้คนเห็นตัวอย่างว่าหากเข้าใจฤดูกาลของผลผลิต ก็จะสามารถมีผลผลิตให้เก็บเกี่ยวได้ทั้งปีแบบไม่มีอดอยากแน่นอน

คาเฟ่ที่ใส่ใจเรื่องวัตถุดิบหมุนเวียน ชุมชนเรียนรู้เรื่องอาหารยั่งยืน ‘เลพาทอ’
Photo: Lapato Organic Coffee

สอนให้เห็นวิถีชีวิตและฤดูกาลจากสิ่งที่ชุมชนมี

ในช่วงเวลาที่ต้องต่อสู้เรื่องที่ดินทำกิน มีอีกเรื่องที่เข้ามาในเวลาไล่เลี่ยกันคือ เรื่องการปลูกผักเมืองหนาวที่มีนายทุนมาสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูก ซึ่งกวิ๊มองว่าการเข้ามาของพืชผักเมืองหนาวไม่ใช่แค่เมล็ดที่เป็นเหมือนเอเลี่ยนสปีชีส์ในพื้นที่ แต่ยังรวมไปถึงปุ๋ยและสารเคมีที่จะต้องใช้เพื่อให้เจริญเติบโต เพราะพืชผักเหล่านี้ไม่ใช่พืชพันธุ์ท้องถิ่น จึงไม่คุ้นกับสภาพแวดล้อมและอาจเติบโตตามธรรมชาติได้ยาก มิหนำซ้ำการเข้ามาของพืชผักเหล่านี้ก็เป็นเพียงแค่กระแส เป็นเทรนด์ที่สักพักก็เงียบหายไป ไม่ใช่เกษตรยั่งยืนที่ควรจะเป็น

แต่จะมีวิธีการไหนที่จะทำให้ชาวบ้านได้เห็นว่าวิถีชีวิตแบบที่ไม่ต้องวิ่งตามนายทุนก็เป็นไปได้

คำตอบก็คือลงมือทำจริงให้ดู

เมื่อมองไปยังในพื้นที่ของกวิ๊ที่มีทั้งต้นกาแฟ ต้นบ๊วย ต้นสาลี่ ต้นแพร์ ที่อยู่คู่กับสวนของกวิ๊มานาน แต่ละชนิดก็มีช่วงเวลาเติบโตและผลิดอกออกผลแตกต่างกัน ซึ่งกวิ๊มองว่านี่คือความงามของธรรมชาติ และนี่คือสิ่งที่จะทำให้ชุมชนมีกินมีใช้ได้จริง และหากวางแผนดี ชุมชนจะมีของกินไม่ขาดสาย แถมยังสร้างรายได้ตลอดทั้งปีอีกด้วย

ถามว่าหมุนเวียนทั้งปีได้ยังไง กวิ๊อธิบายให้ฟังแบบคร่าวๆ แต่น่าสนใจถึงวงจรที่หลายคนอาจไม่เคยเห็น อย่างกาแฟจะเก็บในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ บ๊วยจะเก็บช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน ส่วนพฤษภาคม-กรกฎาคมเป็นฤดูกาลของข้าว สิงหาคม-กันยายนก็จะเก็บลูกพลับ กันยายน-ตุลาคมเกี่ยวข้าวกัน นี่คือเวลาหนึ่งปีที่หากใครสนใจช่วงเวลาไหนก็สามารถมาเรียนรู้ได้ตลอด และเป็นทั้งปีที่มีทั้งข้าวให้กิน มีผลให้ลิ้มรส มีบ๊วยไว้หมักดอง และมีกาแฟไว้ดริปทุกเช้า

“เราคิดว่าอย่างน้อยเมื่อเราปลูกเองก็จะทำให้เรามีกินก่อน แล้วถ้าเหลือค่อยให้มาเป็นรายได้ หรือแบ่งให้คนอื่นได้กิน ก็จะทำให้เราไม่อดอยาก”

ซึ่งองค์ความรู้เหล่านี้คงไม่เกิดขึ้น หากกวิ๊ไม่ตัดสินใจลองลงมือทำจริง จนประกอบออกมาเป็นบทเรียนล้ำค่าที่พาคนในชุมชนมีอาหารอร่อยและมีเงินเหลือใช้ และพาคนนอกชุมชนมาเข้าใจเรื่องอาหารยั่งยืนที่จะเป็นแนวคิดสำคัญในโลกอนาคตที่อาจเกิดวิกฤตทางอาหารได้ในวันที่สภาพอากาศและสังคมไม่แน่นอน

พื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้เชื่อว่าแม้องค์ความรู้อาจจะเริ่มต้นจากหนึ่งหรือสองคน แต่วันหนึ่งก็จะสามารถกระจายองค์ความรู้ไปสู่หลักสิบ หลักร้อยได้ ด้วยคอมมูนิตี้การเรียนรู้ที่คอยช่วยเหลือกันและกันอยู่เสมอ ที่เลพาทอตั้งใจอยากเห็นในอนาคต

คาเฟ่ที่ใส่ใจเรื่องวัตถุดิบหมุนเวียน ชุมชนเรียนรู้เรื่องอาหารยั่งยืน ‘เลพาทอ’
Photo: Kwiv Nong Tao

ชวนทำอาหารแบบเดินไปหยิบผักหลังบ้านมาทำเป็นเมนูแสนอร่อย

หากเราเดินทางไปยังบ้านของกวิ๊ที่ชุมชนหนองเต่า นอกจากจะได้สัมผัสธรรมชาติที่โอบล้อมแล้ว สิ่งสำคัญคือการได้เห็นแหล่งเพราะปลูกพืชผักหรือแม้แต่เมล็ดกาแฟที่หลายคนชอบดื่มกันเป็นประจำ ซึ่งหากใครได้มาที่บ้านของกวิ๊ เขาจะชวนเราไปเด็ดผักตามป่า ตามสวน หรือไปสำรวจวัตถุดิบตามหมู่บ้าน แล้วพามาเข้าครัวที่เป็นครัวแบบเปิด

ที่ครัวแห่งนี้เป็นครัวที่ออกแบบพิเศษเพื่อทุกคน โดยเป็นครัวที่ไม่มีประตูหน้าต่างมิดชิด ทุกคนสามารถเดินมาทำอาหารที่นี่ได้ตามสบาย เอาวัตถุดิบที่เดินไปหยิบด้วยมือตัวเองมาปรุงตามความชอบ ที่นี่จึงมักมีเชฟมากหน้าหลายตาแวะเวียนมาหา เพราะเป็นห้องทดลองทำอาหารแสนสนุกที่มีวัตถุดิบให้เลือกไม่รู้จบ

ในฝั่งของกวิ๊เองก็ถือเป็นการเรียนรู้เรื่องการแปรรูปหรือการทำอาหารไปด้วย คนที่แวะเวียนเข้ามาต่างก็ทิ้งเครื่องปรุงหรือสูตรลับไว้ให้ กลายเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านอาหารที่ได้เรียนรู้ตั้งแต่ต้นน้ำจนกระทั่งแปลงร่างมาเป็นอาหารรสเด็ด เคล้ากับวงคุยแสนอบอุ่นผ่านเตาผิง

กวิ๊ยังพูดติดตลกว่าปกติออกไปกินอาหารกับเชฟดังๆ เสียเงินแพงมาก แต่เราสามารถเปิดครัวให้เชฟมาทำอาหารกับเรา แล้วได้รับประทานแบบฟรีๆ อีกด้วย

คาเฟ่ที่ใส่ใจเรื่องวัตถุดิบหมุนเวียน ชุมชนเรียนรู้เรื่องอาหารยั่งยืน ‘เลพาทอ’
Photo: Kwiv Nong Tao

เปิดบ้านให้ทุกคนมาช่วยเป็นครูผลัดกันสอน

นอกจากเชฟที่มาแลกเปลี่ยนวิธีการทำอาหารกันแบบใกล้ชิดแล้ว กวิ๊มองว่าพื้นที่การเรียนรู้ที่นี่ยังพร้อมต้อนรับการแบ่งปันประสบการณ์หรือความรู้ในรูปแบบอื่นๆ เสมอ มีชาวต่างชาติหลายคนเข้ามาในพื้นที่และมอบไอเดีย ความรู้ใหม่ๆ ให้คนในชุมชน เช่น การดูแลต้นกาแฟ หรือการแปรรูปบ๊วย ซึ่งกวิ๊มองว่าการแลกเปลี่ยนความรู้เช่นนี้ เป็นเรื่องสำคัญสำหรับพื้นที่การเรียนรู้หรือชุมชนที่เขาอาศัยอยู่ บ้านของกวิ๊จึงกลายเป็นพื้นที่เข้าออกของทั้งคนในชุมชน และคนนอกชุมชนที่เชื่อในการแลกเปลี่ยนความรู้กัน

คาเฟ่ที่ใส่ใจเรื่องวัตถุดิบหมุนเวียน ชุมชนเรียนรู้เรื่องอาหารยั่งยืน ‘เลพาทอ’
Photo: Kwiv Nong Tao

ห้องเรียนที่เกิดจากไม้เหลือทิ้ง

นอกจากอาหาร อีกสิ่งหนึ่งที่กวิ๊ให้ความสำคัญมากๆ และอยากทำให้เห็นจริง คือการสร้างบ้านจากไม้ที่หลายคนมองว่าไม่สวยและไม่สมบูรณ์แบบ โดยบ้าน อาคาร หรือศาลาแต่ละหลังในพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้

กวิ๊ใช้ไม้ที่ขายไม่ได้ ซึ่งมีเหลือเยอะมากจากอุตสาหกรรมค้าไม้ การใช้ไม้เหลือทิ้งมาสร้างบ้านคือการใช้ทรัพยากรอย่างเข้าใจ และไม่ทำลายป่าไม้ไปมากกว่าเดิม เป็นการคงคอนเซ็ปต์พื้นที่การเรียนรู้ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย

คาเฟ่ที่ใส่ใจเรื่องวัตถุดิบหมุนเวียน ชุมชนเรียนรู้เรื่องอาหารยั่งยืน ‘เลพาทอ’
Photo: Kwiv Nong Tao

เมื่อชีวิตต้องลองถอยหลังเพื่อเดินไปข้างหน้า สิ่งที่กวิ๊ได้เรียนรู้ในปัจจุบัน

ตลอดเวลาหลายสิบปีที่กวิ๊ขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารและการพึ่งพาตัวเอง กวิ๊เชื่อว่าการเรียนรู้คือประสบการณ์ที่ทุกคนควรได้ลงมือทำ ลงไปสัมผัส ลงไปหยิบจับด้วยตัวเองจริงๆ

“การเรียนรู้ที่นี่ ผมไม่ให้มานั่งเขียน นั่งจด เพราะเป็นการเรียนที่ไม่มีชีวิตเลย ผมเลือกพาเขาไปเดินเล่นแล้วไปสัมผัสประสบการณ์จริงๆ ดีกว่า เพราะนึกถึงที่ผ่านมา เราก็นั่งเรียนผ่านการจดกันจนเบื่อแล้ว ถ้าให้มาจดอีกก็ไม่ใช่ ผมว่ามาทำให้การเรียนรู้มันมีชีวิตดีกว่า”

“สุดท้ายผมเชื่อว่าการจะสร้างพื้นที่การเรียนรู้ คือการถอยหลังเพื่อเดินไปข้างหน้า อาจจะฟังดูงงๆ แต่จริงๆ คือการถอยไปดูรากฐาน ไปดูสิ่งที่เราเคยมี แล้วใช้สิ่งต่างๆ เหล่านั้นพาเราเดินไปข้างหน้า พาเราพัฒนาหรือเติบโตไปด้วยของพื้นถิ่นอย่างมั่นคง บางทีการถอยมาตั้งหลักหรือมาสะท้อนประสบการณ์ก่อนเดินไปข้างหน้าก็เป็นสิ่งที่ควรทำนะ”

นอกจากนั้น กวิ๊ยังทิ้งท้ายว่าการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ต้องมอบพลังให้กับคนที่มา แม้ว่าเขาจะกลับบ้านไปแล้วก็ยังต้องคอยส่งพลังหรือกำลังใจให้ เพราะบางทีก็หมดพลังได้เหมือนกัน การช่วยกันดูแล มีเครือข่าย ช่วยให้กำลังใจกันและกัน ก็จะทำให้การเรียนรู้มันเติบโตและขยายผลได้

คาเฟ่ที่ใส่ใจเรื่องวัตถุดิบหมุนเวียน ชุมชนเรียนรู้เรื่องอาหารยั่งยืน ‘เลพาทอ’
Photo: Kwiv Nong Tao


Tiny Space, Big Learning โดย ili.U คอนเทนต์ซีรีส์จากเพจที่สนใจ Conscious Lifestyle ชวนไปสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ขนาดเล็กที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ทั่วประเทศ ใส่ใจเรื่องการศึกษาในแบบฉบับของตัวเอง และพยายามขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปจากห้องเรียนที่เคยชิน พื้นที่เหล่านี้มีอะไรให้เรียนรู้ แล้วคนทำได้บทเรียนก้อนใหญ่อะไรจากการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน หลังจากนี้พบกันได้ทุกวันพฤหัสที่ 2 และ 4 ของเดือน

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก