เล่นสนุกคลุกขยะ สนามเด็กเล่นจากลานทิ้งของเก่า ‘Junk Playground’

32 views
July 7, 2022

เวลาเห็นลานโล่งที่เต็มด้วยความรกชัฏ หรือข้าวของถูกวางทิ้งไว้ คนที่เป็นผู้ใหญ่อาจมองว่าพื้นที่เหล่านี้แสนอันตราย ไม่ปลอดภัย และสกปรกเกิน แต่พื้นที่แบบนี้แหละ ที่เต็มไปด้วยการเรียนรู้

เพราะความสนุก คือเครื่องมือสู่การเรียนรู้ที่ดีสำหรับคนอายุน้อยๆ ทั้งการควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกายไม่ให้หล่นลงมาขณะปีนป่าย เพราะไม่มีใครจะอยากเจ็บ การมีปฏิสัมพันธ์กับสภาพแวดล้อม (ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต) ไปจนถึงการรู้จักความเสี่ยงและการรับมือกับอันตราย ซึ่งเด็กๆ เรียนรู้สิ่งเหล่านี้ได้จากการเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบที่นอกเหนือจากชีวิตประจำวัน การหยิบจับสิ่งรอบตัวไม่ว่าจะเป็นยางรถยนต์เก่าหรือเศษไม้มาประกอบร่าง ทำให้การเรียนรู้เกิดได้ แม้แต่ใน ‘ลานทิ้งของเก่า’ ซึ่งเป็นทั้งความหมาย และแรงบันดาลใจสู่สนามเด็กเล่นแบบ “Skrammellegepladser” (Junk Playground)

สนามเด็กเล่นที่รวมทั้งการเล่น-ผจญภัย-ทดลองแบบนี้ เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สอง จากความคิดของ คาร์ล ธีโอดอร์ โวเรนเซน สถาปนิกชาวดัตช์ ที่เห็นว่าสนามเด็กเล่นแบบเดิมที่เขาออกแบบไว้นั้นดูจะไม่ถูกใจเด็กๆ เท่าไรนัก เมื่อเทียบหลุมหลบภัยที่พวกเขาสนุกกับการหยิบจับสิ่งต่างๆ มาสร้างและรื้อใน ‘สนามเด็กเล่น’ ของตัวเอง คาร์ลจึงได้จำลองสิ่งที่เห็นออกมาเป็นสนามเด็กเล่น ‘Emdrup’ ในย่านชานเมืองกรุงโคเปนเฮเกนเมื่อปี 1943 ที่มีทั้งวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ เช่น ไม้ เชือก อิฐ ให้เด็กใช้ในการขุด-สร้าง-และเปลี่ยนแปลงพื้นที่ด้วยสองมือ และประสบความสำเร็จในการให้เด็กๆ ได้มีพื้นที่เล่น

แนวคิดนี้เติบโตมากในกลุ่มประเทศนอร์ดิก จนกลายเป็นรากฐานในการออกแบบพื้นที่สาธารณะในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบพื้นที่สีเขียวของทีมงาน White Arkitekter ในสวีเดน หรือพิพิธภัณฑ์ศิลปะ Amos Rex ที่เมืองเฮลซิงกิ ที่ออกแบบให้ใครๆ ก็สามารถปีนป่ายได้

ความคิดเหล่านี้ยังขยายไปสู่อังกฤษ สวีเดน และอีกหลายเมืองทั่วโลก ในประเทศอังกฤษนั้นก็ริเริ่มโดย เลดี้มาร์จอรี อัลเลน นักสิทธิเด็กและสถาปนิกหญิงผู้ได้ไปเยือนประเทศเดนมาร์กและหยิบยืมแนวคิดมาใช้ ด้วยความเชื่อว่า “ต่อให้กระดูกหักก็ยังดีกว่าจิตวิญญาณที่แตกร้าว” ที่มองว่าการเล่นของเด็กไม่ควรถูกจำกัดอยู่กับสิ่งติดตั้งที่ปลอดภัยเสียจนขยับไม่ได้ ควรจะมีอิสระแม้จะมีความเสี่ยงบ้างภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ ตัวอย่างเช่น ในเมืองกลาสโกว์ ที่มีกองฟางและสารพัดวัสดุเช่น ยางล้อรถยนต์ ท่อน้ำ ไปจนถึงรถเข็นชอปปิ้ง กระจายตัวอยู่ใน Baltic Street Adventure Playground แต่จุดขายสำคัญคือลานดินโคลนที่เด็กๆ ชอบเป็นที่สุด (แม้ว่าอาจจะขัดใจพ่อแม่อยู่บ้าง)

อีกที่ที่เป็นตัวอย่างที่ดีคือ ‘Plas Madoc’ ในประเทศอังกฤษที่มองเผินๆ หน้าตาเหมือนสวนหลังบ้านใครสักคนที่ไม่ได้จัดให้เรียบร้อย และเต็มไปด้วยของที่ถ้าอยู่ในสนามเด็กเล่นทั่วไปคงถูกส่งตรงลงถังขยะ อย่างตาข่ายดักปลา ค้อน กระสอบทราย แต่ที่หนักกว่านั้นคือภาพที่เด็กตักน้ำใส่เรือที่คว่ำอยู่ เด็กอีกคนกำลังทุบเศษไม้ อีกสองคนเข็นรถเข็นที่มีเพื่อนนั่งอยู่ และอีกสองสามคนฉีกเศษกระดาษกรุผนังมาก่อกองไฟขนาดย่อม ซึ่งไม่มีกฎว่าต้องเตรียมดับไฟหรือมีผู้ใหญ่ไปสอน เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นคือเด็กๆ ได้เรียนรู้เองว่าจะจุดหรือดับอย่างไร และการห้ามปรามหากมีเพื่อนคนไหนจะมาทำให้ลุกลาม

ข้ามโลกมาที่เมลเบิร์น ออสเตรเลีย กับพื้นที่ในแนวคิดเดียวกันแต่มีการจัดให้ถาวรขึ้นเล็กน้อยอย่าง Skinners Adventure Playground ที่มีสไลเดอร์สร้างจากไม้ในแบบที่ไม่ซ้ำที่ไหนในโลกเพราะช่วยกันสร้างเองจากมือคนในชุมชนและทำจากวัสดุเหลือใช้หรือรีไซเคิลที่หาได้ นอกจากนี้ ยังมีช่องพื้นที่ต่างๆ ให้มุดลอดและปีนป่ายที่เด็กๆ เท่านั้นจึงจะเข้าไปผจญภัยได้ โดยมีผู้ดูแลอยู่ห่างๆ หรืออาจใกล้ชิดมากขึ้นสำหรับเด็กเล็ก

แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเข้าใจแนวคิดการเล่นแบบนี้ หรือสบายใจที่จะให้ลูกเข้าไปทำอะไรที่ดูเสี่ยงเกินไป ถ้าเทียบกับการเล่นบ่อทรายหรือสไลเดอร์ในสนามเด็กเล่นพื้นนุ่มๆ ทั่วไป แต่แท้จริงแล้วการบาดเจ็บมากที่สุดที่เกิดขึ้นในรูปแบบนี้คือ ข้อเท้าแพลง ซึ่งพ่อแม่หลายคนก็เปลี่ยนความคิดหลังเห็นว่าลูกๆ ได้เรียนรู้อะไรไปบ้าง หนึ่งในนั้นคือพ่อเลี้ยงเดี่ยวที่ยอมรับว่าแทบลมจับตอนที่หันไปเห็นลูกปีนอยู่บนต้นไม้ ในวันแรกที่พาลูกมาที่ Plas Madoc แต่เขาก็ได้เรียนรู้ว่า ลูกรู้จักต่อรองกับเพื่อนๆ ที่เชียร์ให้กระโดดว่าสูงไป เดี๋ยวจะเจ็บตัว นั่นแปลว่าเขาประเมินความเสี่ยงเองได้ และสนุกกับการกระโดดในจุดที่ต่ำลงมา หรือลูกคนเล็กที่มาเตือนเขาเองว่า พ่อจับเลื่อยใกล้ไปนะ ทั้งที่อายุเพียง 6 ขวบ พ่อคนนี้จึงเข้าใจว่า เด็กๆ เรียนรู้ได้มากกว่าที่เขากังวล

พื้นที่เล็กๆ ที่เด็กๆ ได้ประกอบสร้างสิ่งต่างๆ จากศูนย์ ในสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปได้ตลอดและไม่มีกฎกรอบบังคับ มีผลลัพธ์เป็นความสนุกและมีชีวิตชีวาของเด็กๆ ที่ได้ทำอะไรแปลกใหม่ พร้อมๆ กับเรียนรู้ทักษะชีวิต และการรับมือกับอันตรายที่ผู้ใหญ่ไม่กล้าให้ลอง

และอาจเป็นข้อพิสูจน์ว่าคำว่า ‘เล่น’ นั้นมีความหมายและทางเลือกอีกมากมายก็เป็นได้

เล่นสนุกคลุกขยะ สนามเด็กเล่นจากลานทิ้งของเก่า ‘Junk Playground’
Photo: Baltic Street Adventure Playground


ที่มา

บทความ “What the Nordics can teach us about having fun” จาก bbc.com (Online)

บทความ “Is this the perfect playground, full of junk?” จาก theguardian.com (Online)

บทความ “Skinners Adventure Playground South Melbourne” จาก tothotornot.com (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก