‘โจ๊ะมาโลลือหล่า’ และ ‘เส่คลีฟาร์ม’ โรงเรียนสาธิต(นอกระบบ)ของเด็กบนดอย

325 views
8 mins
November 1, 2023

          “มีเรื่องเล่าจากผู้เฒ่าผู้แก่เคยพูดเอาไว้ว่า ในอนาคตจะมีงูสีเทาบุกมาถึงหมู่บ้าน แล้วชีวิตชาวกะเหรี่ยงก็จะเปลี่ยนแปลงไปเพราะงูตัวนั้น ตอนนี้ก็เพิ่งจะเข้าใจและตีความได้ว่า ‘งูสีเทา’ น่าจะหมายถึง ‘ถนน’ เพราะว่าตั้งแต่ถนนตัดผ่าน วิถีชีวิตก็ไม่เหมือนเดิม”

          นี่คือคำบอกกล่าวจากหนุ่มปกาเกอะญอคนหนึ่งถึงความเชื่อของบรรพบุรุษซึ่งพ้องกับความเปลี่ยนแปลงของชุมชนบนที่สูงอย่างน่าประหลาด

          การหลั่งไหลของผู้มาใหม่ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิตสร้างผลกระทบต่อพื้นที่โดยทางตรงและทางอ้อม ยิ่งในปัจจุบันที่การเข้าถึงข้อมูลนอกชุมชนไม่ได้ยากเย็นเหมือนแต่ก่อน สัญญาณโทรศัพท์เริ่มขยายครอบคลุม ชุมชนชาติพันธุ์บางแห่งมีสมาชิกที่ ‘แอคทีฟ’ และ ‘ทันโลก’ ไม่ต่างจากประชากรในเมืองใหญ่ แต่ก็ยังมีเยาวชนอีกบางกลุ่มที่มีปัญหาในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน พวกเขากำลังค้นหาจุดสมดุลระหว่างวิถีชีวิตดั้งเดิมและสิ่งใหม่ที่มาจากภายนอก

          ความซับซ้อนของปัญหาเพิ่มขึ้น เมื่อบุคคลบางกลุ่มยังคงมีมุมมองว่าชุมชนชาติพันธุ์อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ยากไร้ และขาดแคลนสิ่งอุปโภคบริโภค นำมาซึ่งการระดมทุนให้ความช่วยเหลือในด้านต่างๆ  ขบวนคาราวานยาวเหยียดในฤดูหนาวที่มาพร้อมสิ่งของบริจาคซึ่งมีทั้งส่วนที่ใช้ได้ และส่วนที่กลายเป็นขยะทำให้คนข้างบนนั้นต้องหาทางกำจัดอย่างยากลำบาก

          “คนบนนี้ไม่ได้ต้องการเสื้อผ้า ของบริจาคมากมายขนาดนั้นหรอก แต่เราอยากได้ความช่วยเหลือในรูปแบบที่ทำให้เยาวชนรู้เท่าทันโลกภายนอก สามารถทำมาหากินเลี้ยงตัวเองได้”

          สิ่งที่ชุมชนเหล่านั้นต้องการมากที่สุด อาจจะไม่ใช่สิ่งของ เสื้อผ้า ตุ๊กตา ของเล่น ลูกบอลพลาสติก ดินสอ ปากกา บะหมี่สำเร็จรูป หรือปลากระป๋อง แต่เป็นความรู้ หรือทักษะ ที่ทำให้พวกเขาสามารถประกอบอาชีพในพื้นที่ได้ กำลังสำคัญของชุมชนอีกคนหนึ่งสะท้อนความคิดเห็น และกล่าวเสริมถึงปัญหาของการขาดความรู้และช่องทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรท้องถิ่น

          “อาจต้องเริ่มต้นจากการสอนให้เขา ‘รู้จักตัวเอง’ รู้เท่าทันสังคม และเอาตัวรอดได้ในทุกสภาวะ” ผู้ใหญ่ในชุมชนแสดงความห่วงใยที่มีต่อเด็กๆ แต่จะทำอย่างไรถึงจะพาชุมชนไปให้ถึงจุดนั้นอย่างเข้มแข็งและยั่งยืน The KOMMON ชวนมาดูตัวอย่างการดำเนินงานของ ศูนย์การศึกษา โจ๊ะมาโลลือหล่า (ที่ต่อยอดมาเป็น โจ๊ะIDEE) และ เส่คลีฟาร์ม ที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์ให้ฟัง

เรื่องเล่าจากดอยสูง

          ข้อมูลการสำรวจของกองสงเคราะห์ชาวเขา ร่วมกับสถาบันวิจัยชาวเขาและหน่วยงานอื่นๆ ในปี 2545 ระบุว่า มีประชากรชาวกะเหรี่ยงรวม 438,450 คน อาศัยอยู่ในเขตพื้นที่สูง 9 จังหวัดภาคเหนือ และ 6 จังหวัดภาคกลางที่มีพื้นที่ติดกับชายแดนตะวันตกของไทย หลังจากนั้นยังไม่ได้มีการสำรวจอย่างครอบคลุมอีก แค่คาดว่ามีจำนวนประชากรกะเหรี่ยงในประเทศไทยไม่ต่ำกว่าหนึ่งล้านคน ไม่นับรวมผู้ลี้ภัยและแรงงานข้ามชาติอีกหลายแสน

          วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงแบบดั้งเดิม ส่วนใหญ่มักตั้งถิ่นฐาน พึ่งพา และผูกพันกับธรรมชาติ มีการทำไร่หมุนเวียน ทำนา หาของป่า เพื่อดำรงชีพ ความห่างไกลจากเมืองที่มีความเจริญ และคุณภาพของเส้นทางคมนาคมเป็นข้อจำกัดในการเข้าถึงทรัพยากรทางการศึกษา บริการด้านสุขภาพ และโอกาสทางเศรษฐกิจ

          ตั้งแต่ปี 2530 เป็นต้นมา คนกะเหรี่ยงในประเทศไทยเริ่มเข้าสู่ระบบการศึกษา แต่โรงเรียนส่วนใหญ่ที่กระจายอยู่ตามหมู่บ้านมีการเรียนการสอนถึงระดับประถมศึกษา เด็กหลายคนยุติการเรียนไว้ที่ระดับประถมและออกมาทำงาน หากต้องการเรียนต่อ พวกเขาต้องเดินทางไปโรงเรียนขยายโอกาสในชุมชนใกล้เคียง หรือเข้าไปเรียนในเมือง ซึ่งทำให้เด็กกลุ่มนี้ต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป

          องค์กรและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนมักมีการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ในพื้นที่ชุมชนชาติพันธุ์อย่างสม่ำเสมอตามที่เรามักพบเห็นได้ในข่าว ไม่นับการลงพื้นที่เพื่อศึกษาวิจัยของสถาบันการศึกษาอีกหลายแห่ง แต่ปัญหาหลักของความช่วยเหลือจากภายนอกเหล่านั้นคือ การตอบปัญหาที่ไม่ตรงโจทย์และขาดความต่อเนื่อง หลายต่อหลายครั้งที่โครงการต่างๆ ไม่มีการติดตามผลหรือขยายผลต่อกับชาวบ้าน

          หนุ่มปกาเกอะญออีกคนหนึ่งเล่าถึงความช่วยเหลือจากภายนอกที่ชุมชนมักจะได้รับ “หน่วยงาน และองค์กรอิสระเข้ามาทำอะไรกับพื้นที่เยอะมาก แต่ไม่ต่อเนื่อง จบงานก็มีงานวิจัยให้หนึ่งเล่มแล้วก็ไป”

          พวกเขาไม่ได้ต้องการเพียงรูปเล่มวิจัย แต่ยังต้องการความรู้ในการสร้างอาชีพ รวมไปถึงการศึกษาที่ช่วยให้มีทักษะพื้นฐานในการทำงาน เช่น ภาษาอังกฤษ ดนตรี การพัฒนาผลิตภัณฑ์ รวมถึงความรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจ

          ชุมชนชาติพันธุ์แต่ละแห่งเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่แตกต่างกันไป บ้างเกิดภาวะสมองไหล คนรุ่นใหม่ละทิ้งถิ่นฐานลงไปทำงานในเมือง บางแห่งต้องเผชิญกับการเข้ามาของนายทุนและการท่องเที่ยว บ้างอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบเศรษฐกิจแบบเกษตร ต้องหาอาชีพใหม่เพื่อจุนเจือครอบครัวให้เพียงพอกับค่าใช้จ่าย แต่ละชุมชนจึงต้องมีการปรับตัวเพื่อตั้งรับสถานการณ์ หรือบางที่ก็ต้องการการจัดการในเชิงรุก นั่นแปลว่า กระบวนการเรียนรู้สำหรับเยาวชนชาติพันธุ์ต้องทำให้เขาสามารถประยุกต์ความรู้เข้ากับประเด็นทางสังคมในแต่ละพื้นที่ เรื่องราวต่อไปนี้จึงเป็นตัวอย่างของการลงมือทำในสิ่งที่พอจะทำได้ เพื่อไขปัญหาในพื้นที่ให้ตรงจุด  

ส่งเสริมการเรียนรู้และทักษะผ่านการทำโครงการ ฝึกคิดผ่านปัญหาและสถานการณ์จริง

          “เด็กในกลุ่มชาติพันธุ์มีความเปราะบาง ต้องใส่ใจมาก เราจัดการเรียนปกติแบบเด็กในเมืองไม่ได้ เพราะลึกๆ แล้ว พวกเขารู้สึกแปลกแยก ไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ซึ่งนั่นคือสิ่งที่โจ๊ะฯ พยายามสร้างให้พวกเขารู้สึกเป็นหนึ่งเดียว ได้เรียนรู้ว่าเขาเองก็มีคุณค่า และมีทางเลือกในชีวิตไม่แพ้คนอื่นๆ ในสังคมเหมือนกัน”

          ครูนิด – อรพินท์ กุศลรุ่งรัตน์ ผู้ก่อตั้งศูนย์การศึกษา โจ๊ะมาโลลือหล่า บ้านสบลาน อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ตอบคำถามเกี่ยวกับการจัดการศึกษาสำหรับเด็กในพื้นที่ห่างไกล ที่นี่คือหนึ่งในตัวอย่างการจัดการศึกษาแก่เยาวชนบนพื้นที่สูงที่ถูกกล่าวถึงบ่อยครั้ง

          ครูนิด เล่าต่อว่า ศูนย์ฯ เน้นกระบวนการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง ไม่ใช่แค่การท่องจำตามหนังสือ การเรียนการสอนถูกออกแบบให้สอดคล้องกับวัฒนธรรมและภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ใช้การเชื่อมโยงความรู้จากทฤษฎีสู่การปฏิบัติเพื่อเตรียมความพร้อมให้เด็กและเยาวชนสามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม โดยการเรียนการสอนมี 3 แนวทางผสมผสานกัน หนึ่งคือการเรียนรู้โดยใช้ชุมชนเป็นฐาน (Community-based Learning) ส่งเสริมให้ผู้เรียนศึกษา ทำความรู้จักคุณค่าของชุมชนที่ตนอาศัยอยู่อย่างลึกซึ้ง ต่อมาคือการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem-based Learning) ให้เด็กสำรวจชีวิตและชุมชนรอบตัวว่ามีปัญหาอะไรอยู่บ้าง และใช้สิ่งเหล่านั้นมาเป็นโจทย์ ซึ่งช่วยให้ผู้เรียนรู้จักแก้ปัญหาได้ในชีวิตจริง ไม่มองอุปสรรคเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจในชีวิตแต่มองเป็นโอกาส และสุดท้ายคือการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน (Project-based Learning) ผู้เรียนทุกคนจะต้องมีการทำโครงการของตัวเองโดยมีเพื่อนๆ เป็นผู้ช่วยในทีมสลับกันไป ซึ่งทำให้พวกเขาได้ทำความรู้จักตัวเองว่ามีความสนใจในเรื่องอะไร มีศักยภาพด้านไหน ขณะเดียวกันก็เป็นการฝึกกระบวนการทำงาน เด็กๆ จะได้เรียนรู้บทบาทการเป็นผู้นำ และเป็นผู้ตามที่ดีเมื่อไปช่วยในโครงการของเพื่อนๆ

ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
ห้องเรียนวิชาออกแบบบ้าน
Photo: ศูนย์การศึกษา โจ๊ะมาโลลือหล่า
ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
เด็กๆ ร่วมเรียนรู้การเพาะปลูกกับผู้มีประสบการณ์จริง
Photo: ศูนย์การศึกษา โจ๊ะมาโลลือหล่า

          ปัจจุบัน ศูนย์การศึกษา โจ๊ะมาโลลือหล่ามีเด็กระดับประถมเรียนอยู่เพียง 2 คน ทำให้ต้องปรับรูปแบบมาเป็นการเรียนแบบโฮมสคูล (Home School) สำหรับเด็กวัยมัธยม ครูนิดได้ปรับรูปแบบมาสู่การเรียนรู้ควบคู่ธุรกิจ โดยจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนชื่อว่า ‘บริษัทเพื่อสังคมโจ๊ะIDEE’ ซึ่งคำว่า โจ๊ะ ในภาษาปกาเกอะญอแปลว่าโรงเรียน ส่วน ID มาจากคำว่า Identity (เอกลักษณ์) ตัว E มาจากคำว่า Education (การศึกษา) และ E ตัวสุดท้ายคือ Environment (สิ่งแวดล้อม)

           “เราไม่ได้รับงบประมาณ จึงต้องพยายามพึ่งพาตนเอง ซึ่งสอดคล้องกับที่เราต้องจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ให้เด็กต้องพึ่งตัวเองเหมือนกัน เราเลยคิดทำกิจการประกอบการสังคม ต่อยอดจากภูมิปัญญาของพื้นที่ เช่น การทอผ้า ทำยาสมุนไพรพื้นบ้าน พอเด็กเรียนผ่านการทำโครงการ เขาก็ผลิตเอางานเหล่านั้นออกมาขายเป็นสินค้า มีขายทั้งทางออนไลน์บนเว็บไซต์ของเราเอง และนำไปขายเวลาที่เราไปร่วมงานกับเครือข่ายการเรียนรู้ต่างๆ เป็นช่องทางสร้างรายได้” ครูนิดกล่าว

ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
Photo: บรรยากาศการเรียนรู้และร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ของ โจ๊ะIDEE
Photo: JOA IDEE
ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
Photo: JOA IDEE
ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
ผลิตภัณฑ์ที่ชุมชนร่วมกันทำและบรรยากาศการออกร้านขายสินค้า
Photo: JOA IDEE

          ในอนาคตครูนิดยังมีแผนที่จะจัดรูปแบบเรียนรู้ใหม่ เพื่อขยายการเข้าถึงและเพิ่มโอกาสมีส่วนร่วมกับสังคม ด้วยการเรียนรู้แบบ ‘โรงเรียนเคลื่อนที่’ (Mobile School) และใช้การสื่อสารบนโลกออนไลน์เป็นหลัก อีกหนึ่งสิ่งที่ทาง โจ๊ะIDEE จะเพิ่มขึ้นมา คือระบบจัดการครูอาสา และการฝึกอบรมครู เพราะปัญหาหนึ่งของการเรียนการสอนในพื้นที่ห่างไกล คือ การขาดแคลนครู รวมถึงงบประมาณเงินเดือนครูที่ไม่เพียงพอ อีกทั้งครูประจำอาจทำให้ทั้งครูและเด็กขาดความสดใหม่ และไม่กระตือรือร้นเท่าที่ควร

          ครูนิดขยายความว่า โจ๊ะมาโลลือหล่าเองเคยมีครูอาสาสมัครมาช่วยสอนอยู่บ้างเป็นบางครั้งคราว แต่ขาดระบบการบริหารจัดการ ดังนั้น หากมีการฝึกอบรมให้แก่ครูด้วย อาสาสมัครก็จะได้รับประโยชน์ ขณะเดียวกันเด็กก็ได้รับความรู้ที่หลากหลายและมีคุณภาพ โดยยังคงยึดรูปแบบการเรียนรู้ 3 ฐานเป็นหลัก

          “กระบวนการ 3 ฐานนี้คือการวางรากฐานในชีวิตที่สำคัญให้แก่เด็ก ในการทำโครงการทุกครั้ง พวกเขาจะต้องตอบคำถามให้ได้ 3 ข้อก่อน ไม่ใช่ว่าเขาอยากทำอะไร หรือทำอย่างไรก็ได้นะ คำถามข้อที่หนึ่ง คือ ถ้าโครงการจบแล้ว ความรู้และทักษะอะไรที่เขาจะได้รับและคงอยู่กับเขาต่อไป ข้อสอง โครงการนี้จะมีประโยชน์อะไรบ้างกับคนที่เข้ามาทำงานร่วมกับเขา และคำถามข้อสาม โครงการนี้มีประโยชน์อะไรกับคนอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องหรือเปล่า ทั้งหมดนี้คือการสร้างคุณค่าของตัวเอง และสร้างจิตสำนึกต่อส่วนรวม พวกเขาต้องระลึกว่าไม่ว่าเขาทำอะไรจะมีผลต่อคนอื่นเสมอไม่ว่าจะเป็นชุมชนเล็ก หรือชุมชนใหญ่”

ลงสนามจริง ฝึกทักษะการสื่อความหมาย ในการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

          การพัฒนาศักยภาพตนเองของชาวชาติพันธุ์ อาจอยู่ในรูปของการทำงานไปพร้อมกับฝึกฝนทักษะก็ได้ ในบางหมู่บ้าน ชาวชาติพันธุ์รุ่นใหม่ผันตัวมาทำธุรกิจในบ้านเกิดและมองเห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นรอบตัว จึงลุกขึ้นมาจัดกิจกรรมส่งเสริมความรู้ด้านวิชาชีพแก่คนในชุมชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน เพื่อให้พวกเขาสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงและใช้ทรัพยากรในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์สูงสุด เคน-สิทธิพงษ์ ศิริวุฒิกานนท์ ชายหนุ่มปกาเกอะญอ ก็เป็นหนึ่งในนั้น

          เคน คือ เจ้าของกิจการเส่คลีฟาร์ม ที่พักแบบโฮมสเตย์ขนาดกะทัดรัดตั้งอยู่คู่ลำธารสายเล็ก มองเห็นทิวเขาเป็นฉากหลัง ท่ามกลางธรรมชาติที่สวยงามของอำเภอแม่วาง จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่อยู่ไม่ไกลจากดอยอินทนนท์ สถานที่ท่องเที่ยวซึ่งทั้งคนไทยและชาวต่างชาติต่างแวะมาเยี่ยมเยียนอย่างสม่ำเสมอ นอกจากกิจการบ้านพักและร้านกาแฟ เคนยังทำธุรกิจส่งออกเมล็ดกาแฟไปยังต่างประเทศ รวมถึงจัดกิจกรรมด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

          “คำว่า เส่คลี ในภาษาปกาเกอะญอแปลว่าเมล็ดพันธุ์ ผมตั้งใจใช้คำนี้เพื่อสื่อความหมายว่าที่นี่เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์ที่กำลังค่อยๆ เติบโตไปพร้อมกับสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลง เป็นเมล็ดพันธุ์ทั้งในเรื่องของความคิด วัฒนธรรม และวิถีชีวิต”

          ชุมชนชาติพันธุ์ในเชียงใหม่หลายแห่งเผชิญปัญหาการรุกรานของนายทุนในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนหมู่บ้าน ชาวบ้านต้องต้อนรับขับสู้ แต่ค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่กลับอยู่ที่บริษัทนำเที่ยวและที่พัก ชุมชนเป็นเหมือนกับแหล่งท่องเที่ยวที่แวะเข้ามาเพียงชั่วครู่แล้วจากไป รายได้ไม่ได้กระจายลงสู่พื้นที่เท่าที่ควร ชุมชนหลายแห่งจึงลุกขึ้นมาวางโมเดลการท่องเที่ยวโดยชุมชน (Community-based Tourism) แต่กว่าจะจัดการได้ลงตัว บางแห่งก็สูญเสียทรัพยากรไปไม่น้อย เยาวชนเองก็ต้องเผชิญกับวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะมรดกวัฒนธรรมถูกดัดแปลงให้เข้ากับการท่องเที่ยว เคนตระหนักถึงปัญหานี้ดี ถึงได้ทดลองทำในสิ่งที่คิดว่าจะเป็นประโยชน์ต่อเยาวชน

          ความตั้งใจของเคน คืออยากให้ธุรกิจเล็กๆ นี้ เป็นพื้นที่แลกเปลี่ยน เปิดโอกาสให้เยาวชนได้มาฝึกงาน ดูตัวอย่างกระบวนการ และเรียนรู้วิธีการบริหารจัดการธุรกิจท่องเที่ยวกับเขา ทั้งความรู้เรื่องกาแฟ การดูแลแขก การจัดทริปเดินป่า ขณะเดียวกันก็ให้ผู้อาวุโสในหมู่บ้านมาช่วยกันเป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาพื้นถิ่น เช่น ไม้ไผ่ที่ดีต้องตัดช่วงไหนถึงจะไม่มีแมลง เรื่องราวของต้นไม้แต่ละชนิด พืชสมุนไพร สูตรอาหารท้องถิ่นชาติพันธุ์ เป็นต้น วิธีนี้นอกจากจะเป็นการเชื่อมโยงคนภายในกับคนภายนอกชุมชนแล้ว ยังเป็นการช่วยให้คนต่างวัยในหมู่บ้านได้สื่อสารกันมากขึ้น

ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
Photo: Seclee Coffee
ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
เยาวชนที่มาร่วมเรียนรู้กิจกรรมสื่อความหมายผ่านการจัดทริป ซึ่งเป็นการปูพื้นฐานการท่องเที่ยวในชุมชนโดยเริ่มจากคนในชุมชน
Photo: Seclee Coffee

          เคนเล่าว่าวัยรุ่นหลายคนในหมู่บ้านที่ลงไปเรียนต่อในเมือง แล้วกลับมาบ้านในช่วงปิดภาคเรียน หรือคนที่เพิ่งเรียนจบ ส่วนใหญ่จะอยู่ในช่วง ‘ค้นหาตัวเอง’ หลายคนไม่สามารถปรับตัวได้ ประสบสภาวะหลงทางในจิตใจ และไม่รู้ว่าจะทำอะไรต่อไปดี เคนจึงต้องการใช้เส่คลีเป็นพื้นที่เตรียมความพร้อมและสอนเรื่องกระบวนการจัดการท่องเที่ยวและการสื่อความหมายโดยชุมชนอย่างยั่งยืนให้กับเด็กกลุ่มนี้

          “ใครไม่รู้จะไปไหน หรือไม่รู้จะทำอะไรให้มาหาผมได้เลย ผมพร้อมสอน มาเรียน มาทำงานกับผม ตอนนี้คนรุ่นใหม่ค่อยๆ ห่างไกลจากวิถีชีวิตดั้งเดิม รวมถึงความคิด ภูมิปัญญาก็หายไป หรือเรียกว่า ภาวะสมองไหล พวกเขาขาดความรู้เกี่ยวกับชุมชนของตัวเอง สำหรับผมการเรียนรู้อดีตก็เหมือนกับการยิงหนังสติ๊กที่เราต้องดึงยางไปข้างหลังก่อน ยิ่งดึงไปข้างหลังไกลเท่าไหร่ก็จะไปข้างหน้าได้ไกลขึ้น และเป็นการก้าวไปข้างหน้าในแบบที่พึ่งพาตัวเองได้ สามารถอยู่ที่ไหนก็ได้”

          แต่ใช่ว่ากระบวนการเหล่านี้จะเป็นไปอย่างราบรื่น ทั้งปัญหาการผูกขาดของกลุ่มนายทุนภายนอกที่เข้ามาทำธุรกิจและตักตวงทรัพยากรโดยที่ชาวบ้านไม่ได้รับผลประโยชน์เท่าที่ควร ความไม่เข้าใจของคนในพื้นที่หลายคนที่เริ่มจับธุรกิจท่องเที่ยวก็มักใช้การเลียนแบบ ลงทุนทำที่พัก แต่ขาดองค์ความรู้ในการพัฒนา สุดท้ายก็เป็นการจมทุน หรือบ้างก็ตัดพ้อว่ามีต้นทุนไม่ดีเทียบเท่าแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ซึ่งประเด็นนี้เป็นจุดที่เคนบอกว่า เขากำลังพยายามเพื่อให้ทุกคนเปลี่ยนมุมมอง

          “ถ้าเราแค่บอกให้ฟัง เขาอาจไม่เชื่อ ดังนั้นผมจึงพยายามทำทุกทางให้เห็นเป็นตัวอย่าง เปลี่ยนความคิดของเขา เมื่อก่อนเราตัดไม้ เราก็ขายไม้แค่นั้นจบ แต่จริงๆ ไม่ใช่ มันมีเรื่องราว มีวัฒนธรรมที่เราสามารถถ่ายทอดได้ จากนักล่าเราสามารถกลายมาเป็นนักเล่าเรื่องได้ ทรัพยากรแต่ละคนมีไม่เหมือนกัน แต่สิ่งสำคัญคือวิธีคิด ถ้ามีกระบวนคิดที่ดีเราก็จะพลิกแพลงได้”

ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
บรรยากาศกิจกรรมทริปกาแฟของเส่คลีที่ให้ผู้สนใจมาเรียนรู้กรรมวิธีการทำกาแฟตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำร่วมกับคนในชุมชน
Photo: Seclee Coffee
ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
Photo: Seclee Coffee

รู้จัก รู้คุณค่า ค้นพบตัวตนและเป้าหมายของชีวิต

          ความพยายามส่งเสริมการเรียนรู้ของโจ๊ะIDEE และเส่คลีนั้น แม้จะดูแตกต่างในเชิงวิธีการ แต่ทั้งสองแห่งมีจุดเชื่อมโยงที่เหมือนกันนั่นคือสร้างการตระหนักรู้คุณค่าของตนเอง จากประสบการณ์ของครูนิด คำตอบของคำถาม ‘อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องมอบให้กับเด็กๆ โดยเฉพาะเด็กกลุ่มชาติพันธุ์’ จึงไม่ใช่แค่การสอนให้พวกเขาอ่านออกเขียนได้เท่านั้น แต่ก้าวแรกที่สำคัญคือการสร้างความมั่นใจ

           “การรู้จักว่าตัวเองเป็นใครและอยู่ตรงไหน สำรวจว่าตนสนใจเรื่องอะไร และมีสิทธิ์ที่จะเลือก Self-esteem สำคัญมากนะ เพราะเด็กทุกวันนี้ เขาไม่รู้คุณค่าในตัวเอง ดังนั้น อันดับแรกเลยคือต้องให้เขามีความหวังก่อน เพราะตอนนี้ความหวังในชีวิตมันหาย หรือพอหวังก็เป็นสิ่งที่ไม่สอดคล้องกับตัวเองเพราะดูสื่อมากเกินไป กลายเป็นฝันลอยๆ หรือทำตามคนอื่นแบบไม่คิด สุดท้ายผิดหวัง” ครูนิดกล่าว พร้อมเสริมว่า การทำงานในพื้นที่ ไม่ได้ทำแค่กับเด็ก แต่ต้องทำงานกับคนทุกกลุ่ม ทุกวัย ผู้ใหญ่ก็ต้องการ Self-esteem ไม่ต่างกัน

ปลูกต้นกล้าความคิด ส่งเสริมทักษะเยาวชนชาติพันธุ์เท่าทันโลก
Photo: ศูนย์การศึกษา โจ๊ะมาโลลือหล่า

          คำตอบดังกล่าว ไม่ต่างจากเคนที่มองว่า หากเด็กชาติพันธุ์เหล่านี้ไม่รู้จักถึงข้อดีและคุณค่าที่ตัวเองมี เมื่อต้องออกไปเผชิญโลกภายนอก พวกเขาก็จะหลงทางได้ง่ายดาย เพราะถ้าเยาวชนมีความภูมิใจในภูมิหลังของตน พวกเขาจะกล้าก้าวออกไปค้นหาตัวเอง

          “ต้นกาแฟบ้านเราสายพันธุ์ที่แข็งแรงคือพันธุ์คาติมอร์ เพราะปลูกมานาน พัฒนาจนทนต่อโรค ไม่มีมอดไม่มีแมลง เช่นกัน ผมก็อยากให้เด็กๆ มีภูมิคุ้มกัน มีความคิด มีความเป็นตัวเอง พร้อมจะรับและสู้กับปัญหา คาดหวังว่าเขาจะต่อยอดไปได้เรื่อย ไปได้ไกลกว่าสิ่งที่เราทำ”

เรื่องเล่าพื้นที่เรียนรู้บนดอยสูง: โจ๊ะมาโลลือหล่า – เส่คลีฟาร์ม
Photo: Seclee Coffee

          นอกจากตัวอย่างข้างต้น ปัจจุบันมีกลุ่มผู้ประกอบการรุ่นใหม่อีกหลายคนที่มีความตั้งใจถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ในด้านต่างๆ ของตนให้แก่คนในชุมชน เพื่อพัฒนาทักษะการประกอบอาชีพและสืบสานภูมิปัญญาของท้องถิ่น ภายใต้แนวคิดของการเข้าใจตัวเอง และปรับตัวเข้ากับสังคมที่กำลังก้าวไปข้างหน้า การเรียนรู้ในและนอกระบบถูกปรับให้เข้าบริบทแต่ละพื้นที่เพราะความท้าทายก็แตกต่างกันไป เช่น ธานาผ้าทอ บ้านผาหมอน อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ ที่นี่เป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับผ้าพื้นถิ่น เปิดให้บุคคลทั่วไปที่สนใจได้มาเรียนรู้กรรมวิธีดั้งเดิม พร้อมกันกับฝึกอบรมให้คนในชุมชนเพื่อเป็นช่องทางเพิ่มพูนรายได้ ขณะเดียวกันก็มีการดำเนินโครงการร่วมกับโรงเรียนของหมู่บ้าน เพื่อถ่ายทอดภูมิปัญญาเกี่ยวกับการทอผ้าให้กับเยาวชนในโรงเรียน สืบทอดไว้ไม่ให้สูญหาย

          ชุมชนชาติพันธุ์อีกหลายแห่ง มีทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรมที่สมบูรณ์ และกำลังรอคอยชุดความรู้หรือทักษะจากภายนอก เพื่อนำมาต่อยอด ช่วยกันพัฒนาพื้นที่ด้วยตนเอง “ที่นาเกียนมีมะขามป้อมเยอะมาก เราก็เอามาแปรรูปตามความรู้ของเรา มีทั้งน้ำมะขามป้อม ชามะขามป้อม แต่ก็อยากได้ความรู้เรื่องแพ็กเกจจิง กับการทำการตลาดเพิ่มเติมด้วย ทำยังไงให้สะดุดใจผู้ซื้อ ทำยังไงถึงจะขนส่งลงไปขายได้แบบคุ้มทุน จะได้เอามาวางแผนกันต่อไป” สาวม้ง ภรรยาของชายหนุ่มชาวปกาเกอะญอ หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจมะขามป้อมของบ้านนาเกียนเอ่ยขึ้น

          “เราจะเอาอะไรยัดใส่พวงกุญแจเสื้อกะเหรี่ยงดี ถ้าใช้วัสดุธรรมชาติอย่างฟางก็ดูมีสตอรี แต่กลัวจะขึ้นรา เน่าง่าย แล้วมันก็ดูไม่พองฟูด้วย”

          “กระบอกไม้ไผ่ กับอุปกรณ์พวกนี้ จะเอาไปต่อยอดทำผลิตภัณฑ์ขายได้ยังไง บางทีก็คิดไม่ออก”

          อีกสองคำถามที่มาจากแกนนำชุมชนปกาเกอะญอใน ต. นาเกียน อ. อมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่แสดงให้เห็นว่า เขาไม่ได้รอคอยเสื้อผ้า ข้าวสาร อาหารแห้งเท่านั้น เขาพร้อมจะเรียนรู้และต่อสู้ เพียงแค่ต้องการหลักคิด ทักษะ และวิธีการแก้ปัญหาที่ต้องเผชิญ หรือหนทางสร้างโอกาสที่ควรจะได้

          เรื่องเล่าจากดอยสูงแต่ละแห่ง อาจแตกต่างกันไปในรายละเอียด แต่ทั้งหมดทั้งมวลสิ่งที่ผู้ใหญ่อยากสื่อสารกับเยาวชนคือ พวกเขาต้องเติบโตและแข็งแรงพอที่จะเข้าใจการเปลี่ยนแปลงและสังคมที่ซับซ้อน ไม่ด้อยคุณค่าตนเอง เพราะพวกเขามีศักยภาพที่จะออกแบบอนาคตโดยไม่ต้องรอพึ่งพิงความช่วยเหลือทางวัตถุ ไม่ทอดทิ้งทรัพยากรทางวัฒนธรรมในชุมชน และเลือกเรียนรู้ในสิ่งที่จะนำมาต่อยอดมรดกทางวัฒนธรรม อีกทั้งประกอบอาชีพได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน


ที่มา

เฟซบุ๊ก Seclee Farm (Online)

เฟซบุ๊ก ศูนย์การศึกษา โจ๊ะมาโลลือหล่า (Online)

บทความ “ปกาเกอะญอ” จาก ethnic-groups.sac.or.th (Online)

เว็บไซต์ JOAIDEE (Online)

ยุทธศักดิ์ ฉัตรแก้วนภานนท์ และ ศรันภัทร โชติมนกุล, การค้นหาต้นทุนทางวัฒนธรรม สังคม และสิ่งแวดล้อม สู่การสร้างอาชีพที่เหมาะสมชุมชนบ้านนาเกียน 3 หย่อมบ้าน ต.นาเกียน อ.อมก๋อย จ.เชียงใหม่, เชียงใหม่: สกสว.

Cover Photo: Seclee Coffee

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก