Internet of Things หรือ IoT คือการเชื่อมต่อเทคโนโลยีไวไฟเข้ากับวัตถุต่างๆ ที่อยู่ในชีวิตประจำวัน โดยควบคุมระบบทำงานด้วยการเชื่อมต่อข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ ดังนั้น IoT สามารถอยู่ที่ไหนก็ได้ ทั้งที่เป็นสถานที่และสิ่งของ ขอเพียงแค่มีสัญญาณไวไฟเชื่อมต่อถึงกันและมีอุปกรณ์ตรวจจับหรือเซ็นเซอร์ที่ใช้งานร่วมกัน
ศักยภาพของ IoT กำลังถูกนำมาใช้งานกับห้องสมุดมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น
ห้องสมุดที่มีระบบ RFID สามารถนำเทคโนโลยี IoT มาใช้กับชั้นวางหนังสือ เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถหาหนังสือเล่มที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว อยากหยิบหนังสือเล่มไหนก็ไม่ต้องเดินไล่หาจากตัวเลขข้างสันหนังสือ แต่สามารถเปิดแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟน แล้วเดินตามตำแหน่งที่ปรากฏ บรรณารักษ์ก็จะหมดปัญหาปวดหัวหากมีหนังสือวางสลับชั้น หรือยังไม่พร้อมนำขึ้นให้บริการบนชั้น
การติดตั้งเซ็นเซอร์จะช่วยติดตามพัสดุต่างๆ ของห้องสมุดที่ถูกเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับห้องสมุดยุคใหม่ที่มีความยืดหยุ่นในการจัดพื้นที่และเฟอร์นิเจอร์ซึ่งปรับเปลี่ยนไปตามกิจกรรมและความต้องการใช้งานของผู้ใช้บริการ โดยแอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนจะแสดงข้อมูลได้แบบเรียลไทม์ว่าสิ่งของต่างๆ ถูกเคลื่อนย้ายไปไว้ที่ใด
สมาร์ทโฟนของผู้ใช้บริการสามารถถูกตรวจจับผ่านสัญญาณไวไฟและบลูทูธ ห้องสมุดจึงสามารถส่งข้อมูลสำคัญเพื่อสื่อสารไปยังกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น แจ้งเตือนกิจกรรมที่กำลังมาถึง แจ้งรายการหนังสือมาใหม่ตามที่ผู้ใช้บริการแต่ละคนสนใจและกำลังมองหา
IoT สามารถติดตามรูปแบบเส้นทางของผู้ใช้บริการ ซึ่งจะทำให้ทราบว่าจุดใดเป็นพื้นที่ยอดนิยม จุดใดที่มีผู้ใช้บริการอยู่เป็นเวลานาน หรือจุดใดไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้งาน ข้อมูลเชิงพฤติกรรมเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการปรับปรุงการออกแบบพื้นที่ห้องสมุดให้มีประสิทธิภาพและตอบโจทย์ความต้องการผู้ใช้บริการมากขึ้น และแม่นยำมากยิ่งกว่าการใช้แบบสอบถามสำรวจเสียอีก
IoT สามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์อัคคีภัย เพื่อสั่งให้ทำงานอัตโนมัติเมื่อประสบเหตุ หรือมีการแจ้งเตือนอัตโนมัติไปยังหน่วยงานหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง เพื่อระงับเหตุร้ายได้ทันการณ์
IoT สามารถนำมาใช้เพื่อลดอัตราการใช้พลังงานในห้องสมุด เช่น ควบคุมการเปิดปิดไฟแบบอัจฉริยะ โดยระบบเซ็นเซอร์จะประเมินจากปริมาณแสงสว่างจากภายนอก หรือจำนวนผู้ใช้บริการบริเวณพื้นที่นั้นๆ
IoT และโดรน สามารถนำมาใช้จัดส่งหนังสือให้กับผู้ใช้บริการที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล ซึ่งมีการทดลองดำเนินการแล้วโดยแอมะซอน
ความเสี่ยงที่พึงคำนึงถึงเมื่อคิดจะนำ IoT มาใช้ในห้องสมุด ได้แก่ ความปลอดภัยและความเป็นส่วนตัวของข้อมูลผู้ใช้บริการ ต้นทุนโดยเปรียบเทียบทั้งในระยะสั้นและระยะยาว (หากไม่มีผลต่อการลดต้นทุนดำเนินงานในด้านใดเลย การลงทุนนำ IoT มาใช้ก็อาจไม่ใช่สิ่งไม่จำเป็น) และสุดท้ายคือการให้ความรู้แก่พนักงานที่จะเป็นผู้ใช้และดูแลเทคโนโลยีเหล่านี้
ที่มา
บทความ “IoT Technologies in Libraries” จาก princh.com (Online)