Hello Library เป็นบรรณฯ มันหนุก (จริงๆ นะ) พอดแคสต์บอกเล่าเบื้องหน้าเบื้องหลังห้องสมุด

1,727 views
5 mins
November 17, 2022

          พอดแคสต์ กลายเป็นสื่อที่ได้รับความนิยมในกลุ่มคนรุ่นใหม่ ด้วยลักษณะของสื่อที่อยู่ในรูปแบบเสียง เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ตบนหลากหลายแพลตฟอร์ม เข้าถึงได้ฟรี สามารถรับฟังได้ทุกที่ทุกเวลา พร้อมกับทำกิจกรรมอื่นๆ ไปด้วย ซึ่งถือว่าตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่เน้นเข้าถึงข้อมูลได้รวดเร็ว และไม่เสียเวลาในการทำกิจกรรมอย่างอื่นด้วย

          และด้วยแนวโน้มความนิยมของพอดแคสต์ที่มีมากขึ้นนี้เอง ทำให้หลายๆ ห้องสมุดได้ใช้พอดแคสต์ในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารของห้องสมุด ซึ่งผู้เขียนในฐานะบรรณารักษ์ห้องสมุด ก็ได้รับโจทย์ในการจัดทำพอดแคสต์ของห้องสมุดด้วยเช่นกัน

          จากการที่ผู้เขียนได้ศึกษาลักษณะพอดแคสต์ของห้องสมุดหลายๆ แห่งในประเทศไทย ได้เห็นว่าพอดแคสต์ในบริบทของห้องสมุด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นการแนะนำหนังสือที่น่าสนใจ การหยิบยกเกร็ดความรู้ต่างๆ มาเล่าสู่กันฟัง หรือการแจ้งข่าวสารประชาสัมพันธ์ต่างๆ

          ส่วนองค์ประกอบที่ทำให้พอดแคสต์นั้นมีความน่าสนใจมากขนาดไหน เริ่มตั้งแต่เทคนิคการเรียบเรียงบทพูด ถ่ายทอดผ่านน้ำเสียงและจังหวะที่ผ่านการฝึกซ้อมมาอย่างดี เพื่อให้สื่อเสียงมีความน่าสนใจ อาศัยเทคนิคการตัดต่อ ลำดับเนื้อหาให้มีความยาวพอประมาณ ที่ฟังแล้วไม่รู้สึกว่าตัดจบไวเกินไป หรือว่าเยิ่นเย้อเกินไป ในส่วนนี้ ผู้เขียนขอเล่าถึงพอสังเขป ไม่ลงรายละเอียดเชิงลึก เพราะสิ่งที่อยากนำเสนอสำหรับบทความนี้ อยู่ที่แนวคิดการทำพอดแคสต์ของห้องสมุดที่ผู้เขียนสังกัดอยู่ คือ สำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

          ผู้เขียนเริ่มต้นจัดทำ พอดแคสต์ ชุดแรกในปี 2564 ร่วมกับทีมสื่อสารองค์กรของห้องสมุด โดยใช้ชื่อเพลย์ลิสต์ว่า Hello Library ประกอบไปด้วย 10 ตอนย่อย เป็นความรู้ที่เกี่ยวกับห้องสมุดแบบกลางๆ ไม่ได้เจาะจงว่าต้องเป็นห้องสมุดของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่โดยตรง เช่น ที่มาของคำว่าห้องสมุด บทบาทการเป็นบรรณารักษ์ เรื่องราวของระบบค้นหาหนังสือ เหตุผลในการเขียนอ้างอิง รูปแบบการคัดลอกผลงานทางวิชาการ เป็นต้น เผยแพร่ผ่านช่องทางยูทูบเป็นเพลย์ลิสต์และแชร์ไปบนหน้าเพจของห้องสมุดเป็นรายสัปดาห์

Podcast – Hello Library: EP.1 ชวนย้อนรอยที่มาของคำว่าห้องสมุด

          หลังจากการจัดทำพอดแคสตในชุดแรก มีผู้รับชมทั้งสองช่องทางพอสมควร มีการแชร์ออกไปในหลายๆ ช่องทาง และได้รับข้อเสนอแนะว่า จากที่ฟังในบางตอนมีการพูดถึงบทบาทของบรรณารักษ์และห้องสมุด อยากให้ลองเล่าถึงเบื้องหลังการทำงานในห้องสมุดบ้าง ถือว่าเป็นข้อเสนอแนะที่น่าสนใจและท้าทายอยู่ไม่น้อย ว่าเราจะนำเสนอออกมาในรูปแบบไหน เพราะส่วนมากแล้วพอดแคสต์ของห้องสมุดจะนิยมนำเสนอเบื้องหน้าของห้องสมุดเป็นส่วนใหญ่

          ซึ่งจริงๆ แล้วผู้เขียนเองก็อยากถ่ายทอดเรื่องราวการทำงานในห้องสมุด โดยมีแรงบันดาลใจมาจากหนังสือชื่อว่า เพียงชายคนนี้เป็นอาจารย์พิเศษ ของคันฉัตร รังษีกาญจน์ส่อง เล่าเรื่องราวชีวิตการเป็นอาจารย์พิเศษในมหาวิทยาลัยตั้งแต่จุดเริ่มต้น ลักษณะการทำงาน ซึ่งมีทั้งเรื่องสนุก ดราม่าแบบครบรส และแน่นอนว่า การทำงานในอาชีพใดๆ ก็จะมีเรื่องเล่าที่น่าสนใจในอาชีพนั้นเสมอ การเป็นบรรณารักษ์ก็เช่นกัน

          เมื่อมีแรงบันดาลใจประกอบกับความต้องการของผู้รับชม จึงเกิดเป็นพอดแคสต์ชุดที่สอง คือ เป็นบรรณฯ มันหนุก (จริงๆ น้า) มาพร้อมกับสโลแกนที่ว่า รวมเรื่องราวการทำงานของบรรณารักษ์ยุคใหม่ บางเรื่องก็ม่วน บางเรื่องก็มึน (เจ้า) ตอนที่อัดสปอตเสียงชื่อเพลย์ลิสต์กับสโลแกน ผู้เขียนพูดภาษากลางแบบมีน้ำเสียงภาษาเหนือนิดหน่อย อย่างเช่น คำว่า ก็ ก็พูดเป็น ก่ ส่วนคำว่า ม่วน ก็คือ สนุกนั่นเอง เป็นความตั้งใจสอดแทรกเอกลักษณ์ให้คนที่รับฟังรู้ได้ทันทีว่า เป็นห้องสมุดที่อยู่ทางภาคเหนือนะเจ้า

          กลุ่มเป้าหมายของพอดแคสต์ชุดนี้คือ ผู้สนใจทั่วไป ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใช้บริการห้องสมุด อาจจะเป็นคนทำงานห้องสมุด ที่อยากฟังและแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในห้องสมุด หรือเป็นผู้ใช้บริการที่สนใจอยากรู้เบื้องหลังการทำงานในห้องสมุด ที่ปกติแล้วไม่ค่อยจะเผยแพร่ออกสู่สาธารณะกันเท่าไรนัก จึงถือเป็นโอกาสดีที่จะได้ถ่ายทอดวิถีการเป็นบรรณารักษ์และงานในห้องสมุดไว้เป็นความรู้สำหรับทุกๆ คนที่เข้ามาฟัง

          การจัดทำพอดแคสต์ชุดที่สองเริ่มต้นขึ้นในช่วงต้นปี 2565 โดยผู้เขียนและทีมสื่อสารองค์กรได้ช่วยกันปรับปรุงองค์ประกอบต่างๆ ในการจัดทำ (ตามที่กล่าวมาก่อนหน้านั้น) ให้ดีขึ้น เพราะเริ่มมีประสบการณ์มากขึ้น หากเทียบกับการจัดทำในชุดแรก ที่ถือว่าเป็นครั้งแรกของบทบาทการเป็นพอดแคสเตอร์ ประกอบไปด้วย 10 ตอนย่อยเช่นเดิม ผู้เขียนขอสรุปชื่อตอนและเนื้อหาคร่าวๆ ไว้ดังนี้

  • Introduction: Librarian to Podcaster เล่าย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของบทบาทใหม่ของบรรณารักษ์สู่การเป็นพอดแคสเตอร์
  • มัดรวมคำถามสุดแปลก แจกความสงสัยให้เธอช่วยตอบ รวมคำถามแปลกที่คาดไม่ถึงว่าจะมีคนถาม เกิดขึ้นระหว่างการให้บริการตอบคำถามช่วยค้นคว้า
  • บรรณารักษ์กับการฝึกอบรม สอนสนุก งานชุกเลยทีเดียว เล่าถึงการจัดกิจกรรมฝึกอบรมและการเป็นวิทยากรรับเชิญตามคณะ สาขาวิชาต่างๆ ในมหาวิทยาลัย
  • คอร์สอบรมใหม่…ใครหนอช่างคิด เจาะลึกที่มาของโปรแกรมฝึกอบรมใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์กระแสสังคมและสถานการณ์ปัจจุบัน ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
  • Librarian WOW + พี่พาน้องท่องห้องสมุด สานสัมพันธ์ระหว่างหน่วยงาน เล่าถึงการจัดกิจกรรมต้อนรับนักศึกษาใหม่ร่วมกันของห้องสมุดและกองพัฒนานักศึกษาในปี 2562
  • We’re on cloud รวมเทคโนโลยีที่ทำให้ “เรา” ทำงานด้วยกันได้ พูดถึงการทำงานร่วมกันของบุคลากรในห้องสมุดโดยใช้เทคโนโลยี ในช่วงสถานการณ์ COVID-19
  • แชร์ประสบการณ์ นำเสนองานเวทีวิชาการครั้งแรก มันก็จะ…หน่อยๆ ชวนคุยประสบการณ์การนำเสนอผลงานทางวิชาการ โดยมีแขกรับเชิญเป็นบรรณารักษ์ที่มีประสบการณ์การนำเสนอในหลายเวที
  • น้องม่วนใจ๋กับความเป็นไปของเราชาวบรรณฯ พูดถึงที่มาของมาสคอตสาวเหนือสุดน่ารักของห้องสมุดที่มีนามว่า น้องม่วนใจ๋ ที่สะท้อนถึงภาพลักษณ์ของห้องสมุด
  • เกิดทันมั้ย รวมไอเทมห้องสมุดยุค 90 นำเสนอเครื่องมือและอุปกรณ์การให้บริการในห้องสมุดสมัยก่อน ซึ่งบางอย่างได้เลิกใช้แล้ว แต่ยังเก็บไว้เป็นที่ระลึกและความทรงจำในห้องสมุด
  • ส่งท้าย เป็นบรรณฯ มันหนุกจริงๆ นะ สรุปปิดท้าย บอกเล่าความรู้สึกเบื้องหลังการทำพอดแคสต์ ชุดนี้
Podcast – เป็นบรรณฯ มันหนุก: EP.1 Introduction Librarian to Podcaster

          จากการสรุปข้างต้น จะเห็นได้ว่าพอดแคสต์ เป็นบรรณฯ มันหนุก มีเนื้อหาที่หลากหลาย นอกจากประสบการณ์การให้บริการ เจาะลึกการทำงานเบื้องหลัง ที่มาของบริการต่างๆ ยังมีเรื่องเล่าของอุปกรณ์เก่าแก่ มาสคอตของห้องสมุด ที่อาจไม่มีใครพูดถึงมาก่อน 

          อย่างไรก็ตาม การทำพอดแคสต์ชุดนี้ มีการกล่าวถึงเหตุการณ์ระหว่างการให้บริการผู้ใช้ บางประเด็นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ทำให้ผู้เขียนต้องระมัดระวังในการนำเสนอเป็นพิเศษ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการระบุตัวตนของผู้ถูกกล่าวถึงอย่างชัดเจน

          ซึ่งหลังจากที่เผยแพร่พอดแคสต์ “เป็นบรรณฯ มันหนุก” ได้รับเสียงตอบรับจากผู้รับฟังเป็นอย่างดี หลายคนให้ความเห็นว่า ชอบการเล่าเรื่องเบื้องหลังการทำงานลักษณะนี้ เป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ที่ไม่เคยรู้เกี่ยวกับการทำงานห้องสมุดมาก่อน ได้รู้ถึงบทบาทบรรณารักษ์ในยุคใหม่ที่เปลี่ยนไปจากเดิม แทบจะลบภาพจำบรรณารักษ์ในสมัยก่อนไปได้เลย นอกจากนี้ยังได้รับความรู้และบันเทิงไปพร้อมกันด้วย ถือว่าบรรลุเป้าหมายที่ผู้เขียนได้ตั้งไว้สำหรับการจัดทำพอดแคสต์ชุดนี้ได้เป็นอย่างดี

          แต่สิ่งที่ผู้รับฟังพอดแคสต์ ให้ความเห็นตรงกันคือ มีการประชาสัมพันธ์ที่น้อยเกินไป ทำให้มีผู้เข้าถึงไม่มากนักและอยู่ในวงที่จำกัด ในครั้งต่อไปจะต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหา เทคนิคการนำเสนอ และการเผยแพร่ควบคู่กันไปด้วย เพื่อส่งต่อสื่อออกไปให้ถึงผู้รับข้อมูลได้มากที่สุด

          ส่วนหัวข้อหลักที่จะจัดทำพอดแคสต์ชุดต่อไปนั้น ยังอยู่ระหว่างการวางแผนการทำงาน เพื่อส่งมอบเนื้อหาสาระที่เป็นประโยชน์ ประสบการณ์การฟังพอดแคสต์ ที่ดีที่สุดให้กับผู้ฟัง ไม่ว่าจะเป็นผู้ใช้บริการห้องสมุด ผู้ปฏิบัติงานห้องสมุด หรือผู้สนใจทั่วไป

          สำหรับผู้อ่านที่สนใจอยากติดตามฟังพอดแคสต์เต็มรูปแบบ สามารถรับฟังได้ที่พอดแคสต์ “Hello Library” และ “เป็นบรรณฯ มันหนุก” ทางช่อง YouTube ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

PDPA Icon

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก