ชุมชนแต่ละแห่ง ก็เป็นเหมือนภาชนะที่บรรจุเรื่องราวความทรงจำเอาไว้มากมาย ทั้งมิติเชิงประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม สถาปัตยกรรม และวิถีชีวิต การท่องเที่ยวแบบทั่วไปอาจทำให้ผู้มาเยือนรู้จักสถานที่แห่งนั้นแบบพอสังเขป แต่ถ้าอยากจะเข้าถึงตัวตนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ก็อาจต้องใช้เวลาเดินเท้าไปตามตรอกซอกซอยต่างๆ แล้วพูดคุยกับผู้คนในชุมชน
ย่านลาครอส เมืองวิสคอนซิน สหรัฐอเมริกา มีโครงการสนับสนุนให้นักท่องเที่ยวและคนในท้องถิ่นสัมผัสประสบการณ์การเรียนรู้ที่มีชีวิตชีวาและมีความหมาย เข้าถึงประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า (Oral History) ได้ง่ายๆ แบบไม่ต้องพึ่งพามัคคุเทศก์ เพียงเดินเท้าท่องชุมชนไปพบป้าย ‘Hear, Here’ ก็สามารถโทรเข้าไปตามเบอร์ที่ระบุ เพื่อรับฟังเสียงของผู้คนในย่านนี้บอกเล่าชีวิตของตนในแง่มุมที่ไม่เคยถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์กระแสหลัก
“เรารู้จักประวัติของคนมีชื่อเสียงในเมือง แต่เรากลับไม่รู้เรื่องราวชีวิตประจำวันของผู้คนในชุมชนของเรา โครงการ ‘Hear, Here’ บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพื้นที่ที่เราเดินผ่านทุกวัน อาคารอันแสนธรรมดา และซอกหลืบหรือต้นไม้นอกสายตา หากเราได้ยินเรื่องราวเหล่านี้ ก็จะสามารถเปลี่ยนความคิดที่มีต่อพื้นที่และชุมชนโดยรวม” นี่คือที่มาของโครงการที่ถูกกล่าวไว้ในเว็บไซต์ Hear, Here La Crosse
Hear, Here เป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-ลาครอส (University of Wisconsin-La Crosse) และห้องสมุดประชาชนลาครอส (La Crosse Public Library) เดิมเป็นส่วนหนึ่งของวิชาเอกประวัติศาสตร์สาธารณะและนโยบาย และวิชาเอกการถ่ายภาพ ซึ่งทดลองทำโครงการชุมชน โดยเปิดให้ผู้คนได้โทรเข้ามาบอกเล่าเรื่องราวของตนเอง เนื้อหาที่ตรงกับวัตถุประสงค์ของหลักสูตรจะถูกบันทึกไว้ด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์
ปัจจุบัน มีการเก็บรวบรวมและบันทึกเสียงของผู้คนย่านลาครอสไว้แล้วจำนวน 69 คน เช่น นักเรียนจากตะวันออกกลาง คนผิวดำ กวี LGBTQ+ พนักงานร้านขายของชำ แรงงานในโรงบ่มไวน์ ผู้อพยพชาวเวียดนามซึ่งเคยอาศัยอยู่ในค่ายพักพิงที่ประเทศไทย ฯลฯ ข้อมูลอันทรงคุณค่าไม่ได้ถูกเก็บไว้ในรูปแบบจดหมายเหตุในห้องสมุดเพียงอย่างเดียว โครงการนี้ได้ปักหมุดเรื่องราวไว้ตามจุดต่างๆ ของเมืองเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงง่ายขึ้น รวมทั้งช่วยสร้างสำนึกการมีส่วนร่วมทางสังคมและการไม่แบ่งแยกกีดกัน
“ฉันคิดว่าทุกคนควรจะตระหนักว่า ในเมืองนี้มีคนต้องนอนอยู่นอกอาคารบ้านเรือน ในสภาพอากาศหนาวเย็นตลอดทั้งปี แขวนเสื้อผ้าไว้บนตะปูขึ้นสนิมใต้สะพาน ซุกตัวอยู่ในถุงนอนเก่าสกปรก นั่นคือทรัพย์สินทั้งหมดที่มี และพวกเขาก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเรา” นี่เป็นตัวอย่างเรื่องเล่าจากปลายสายของ โทนิ แอชเชอร์ ผู้อำนวยการศูนย์ศิลปะ Pump House ซึ่งยินดีเปิดให้บริการแก่คนไร้บ้านโดยไม่เลือกปฏิบัติ
เส้นทางท่องเที่ยวแบบเดินเท้าใช้เวลาเพียงไม่เกิน 2 ชั่วโมง มีจุดปักหมุดให้แวะฟังทุกๆ 15 นาที และเผื่อเวลาสำหรับรับประทานอาหารตามอัธยาศัยในชุมชนหรือสวนสาธารณะ นอกจากนี้ยังมีการพัฒนากิจกรรมให้สอดคล้องกับหลักสูตรสำหรับนักเรียนชั้นต่างๆ สร้างโอกาสในการเรียนรู้สังคมใกล้ตัวแบบที่ไม่มีในตำราเรียน
ปัจจุบัน Hear, Here เป็นโมเดลที่ชุมชนในประเทศใดก็สามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้ แต่การดำเนินงานแต่ละแห่งจะประสบความสำเร็จหรือไม่ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ความเหมาะสมของตำแหน่งที่ตั้งจุดปักหมุด การเลือกเรื่องราวที่มาจากประสบการณ์ตรงของผู้เล่า สะท้อนประสบการณ์ของคนชายขอบหรือคนที่ไม่ได้รับความสนใจจากสังคม รวมทั้งการจัดหาแหล่งทุนในท้องถิ่นเพื่อสนับสนุนโครงการ
รับชมบรรยากาศการเดินเท้าท่องชุมชนของโครงการ Hear, Here ย่านลาครอส ได้ที่ hearherelacrosse.org
ที่มา
เว็บไซต์ Hear Here (Online)
บทความ “Walking tours celebrate latest Hear, Here additions” จาก explorelacrosse.com (Online)