มนุษย์สามารถรับรู้ได้ดีที่สุดผ่านประสาทสัมผัสในการมองเห็น โลกของความรู้ซึ่งเปลี่ยนจากกระดาษมาเป็นสื่อดิจิทัลจึงเอื้อต่อการเติบโตของคอนเทนต์ที่มีลักษณะเป็นภาพ จึงไม่น่าแปลกใจที่อาชีพ ‘คนสร้างภาพ’ จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งช่างถ่ายภาพ นักออกแบบกราฟิกและแอนิเมชัน
บริษัทจัดหางานแห่งหนึ่งในสหรัฐอเมริกาสำรวจพบว่า อาชีพที่มีรายได้เฉลี่ยต่อปีสูงสุดคือนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล (Data Scientist) ซึ่งรวมถึงนักนำเสนอข้อมูลด้วยภาพ (Data Visualizer) เป็นอาชีพที่กำเนิดขึ้นมาจากการบุกเบิกงานของ ฮานส์ โรสลิ่ง (Hans Rosling) ศาสตราจารย์ด้านการแพทย์และสถิติศาสตร์ชาวสวีเดน ผู้ที่เผยให้เห็นถึงความสนุกของตัวเลขสถิติและความจริงที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังข้อมูลมหาศาล
ฮานส์มีเทคนิคการนำเสนอข้อมูลแตกต่างจากนักสถิติทั่วไปซึ่งอยู่ในโลกของตัวเลขและตารางอันซับซ้อน แต่เขาพยายามหาวิธีอธิบายมันอย่างง่ายๆ ด้วยสื่อชนิดต่างๆ และเทคโนโลยีภาพสามมิติ ผลงานอันน่าทึ่งของเขาคือการบอกเล่าเรื่องราวของประชากร 200 ประเทศทั่วโลกในช่วง 200 ปี ด้วยข้อมูลสถิติกว่า 120,000 ตัวเลขจาก UN และการศึกษาภาคสนามเพิ่มเติม ประมวลออกมาเป็นกราฟิกให้คนทั่วไปสามารถเข้าใจในเวลาเพียง 4-5 นาที
ฮานส์ และอูล่า ลูกชายของเขาซึ่งเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้อำนวยการมูลนิธิ Gapminder ได้สะท้อนบทเรียนสำคัญจากประสบการณ์การทำงานว่า บ่อยครั้งที่ความเห็นของมวลชนแย่เสียยิ่งกว่าการเดาสุ่ม พวกเขาได้เริ่มโครงการทดลองสนุกๆ โดยสร้างแบบสอบถามวัดความเข้าใจพื้นฐานเกี่ยวกับสังคมโลก เช่น
- ผู้หญิงในโลกนี้ได้รับการศึกษาเฉลี่ย 3 ปี 5 ปี หรือ 7 ปี?
- ปริมาณผู้เสียชีวิตจากภัยธรรมชาติในศตวรรษที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คงที่ หรือลดลงครึ่งหนึ่ง?
- ใน 20 ปีมานี้คนที่ยากจนแบบไม่มีอันจะกินเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว คงที่ หรือลดลงครึ่งหนึ่ง?
- เด็กทั่วโลกได้รับวัคซีน 20 เปอร์เซ็นต์ 50 เปอร์เซ็นต์ หรือ 80 เปอร์เซ็นต์?
ผลปรากฏว่า ชาวสวีเดน และผู้ทรงคุณวุฒิในมหาวิทยาลัย รวมทั้งสื่อมวลชนของสหรัฐ ยุโรป และสวีเดน ตอบคำถามเหล่านี้ได้ถูกต้องน้อยกว่าลิงชิมแปนซีที่อ่านหนังสือไม่ออกเสียอีก!!!
ฮานส์กับอูล่าอธิบายปรากฏการณ์นี้ว่ามีสาเหตุมาจากอคติส่วนบุคคล บวกกับข้อมูลที่ล้าสมัย และอคติที่เกิดขึ้นใหม่ ซึ่งสอดคล้องกับสัญชาตญาณของมนุษย์ที่อาศัยความกลัวเป็นแรงผลักดันในการวิวัฒนาการ การรับรู้แบบฝังหัวที่ผิดพลาดมีอย่างน้อย 4 เรื่องคือ หนึ่ง เชื่อว่าทุกสิ่งจะต้องแย่ลง สอง เชื่อว่าช่องว่างระหว่างคนจนและคนรวยห่างกันมากขึ้นเรื่อยๆ สาม เชื่อว่าประเทศที่เศรษฐกิจดีเป็นปัจจัยให้ประชากรมีความเป็นอยู่ที่ดี และสี่ เมื่อคนเรารับรู้สิ่งที่ตรงกับความกลัวของตัวเอง เช่น แผ่นดินไหว ฉลาม คนต่างศาสนา ผู้ก่อการร้าย ก็มักจะใส่สีใส่ไข่จนมันน่ากลัวกว่าที่มันเป็น
เมื่อเป็นเช่นนั้น หากมนุษย์ยึดถือในกฎแห่งความเป็นกลางมากยิ่งขึ้นก็จะเปลี่ยนโลกการรับรู้ให้ตรงกับความเป็นจริงมากขึ้น มันเป็นเรื่องจำเป็นเพราะตราบใดที่เรายังไม่รู้ว่าโลกนี้เป็นอย่างไร ก็ไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะคาดเดาถึงเรื่องในอนาคตให้ถูกต้องแม่นยำ
ในขณะเดียวกัน แม้ว่าโลกจะไม่ได้แย่มากเท่าที่เราคิด แต่ก็ยังจำเป็นต้องได้รับการพัฒนามากยิ่งขึ้นอีก เพื่อให้เป็นโลกที่ดีที่สุดสำหรับทุกๆ คนหรือมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
ดังที่ฮานส์ได้ตั้งข้อสังเกตให้เห็นว่า การให้การศึกษาแก่ผู้หญิงเป็นปัจจัยที่จะส่งผลโดยตรงต่อการยกระดับคุณภาพชีวิตคนในอีก 10-20 ปีถัดไป เห็นได้ชัดเจนจากอัตราการตายของทารกที่ลดลงแปรผกผันกับระยะเวลาและระดับการศึกษาของผู้หญิงที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แม้ว่าปัจจุบันผู้หญิงในโลกจะได้รับการศึกษาในจำนวนปีที่เกือบเท่าผู้ชาย แต่ก็ยังมีความจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
ฮานส์ โรสลิ่ง ได้รับการคัดเลือกจากนิตยสารไทม์ ให้เป็นหนึ่งในร้อยบุคคลผู้ทรงอิทธิพลของโลกในปี 2012 เขาเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2017 ด้วยโรคมะเร็งในวัย 68 ปี
รวมคลิปบรรยาย TED Talk
ที่มา
วิดีโอ “The good news of the decade? We’re winning the war against child mortality” จาก ted.com (Online)
วิดีโอ “How not to be ignorant about the world” จาก ted.com (Online)