พิพิธภัณฑ์กวานฟู่ (Guanfu Museum) พิพิธภัณฑ์ย่านชานเมืองปักกิ่ง ประเทศจีน ค้นพบกลยุทธ์การตลาดแบบสร้างสรรค์โดยบังเอิญ ด้วยการใช้ ‘แมวกวานฟู่’ หรือเจ้าเหมียวที่เข้ามาอาศัยในบริเวณพิพิธภัณฑ์เป็นจุดขาย พร้อมจัดแจงหน้าที่ให้แต่ละตัวเสร็จสรรพ ไม่ต่างกับพนักงานคนหนึ่ง
ว่ากันว่า ที่นี่น่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งเดียวในโลกที่แต่งตั้ง ‘แมว’ ให้เป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ ยังไม่นับเหล่าภัณฑารักษ์แมวอีกกว่า 30 ตัว ซึ่งมีบทบาทแตกต่างกันไปตามบุคลิกและนิสัย เช่น ‘หม่า เตียวเถียว’ แมวแถบสีดำ-เทา มีหน้าที่เดินตรวจตรางานจำหน่ายตั๋ว หรือ ‘ฮวาง เชียงเชียง’ แมวขาวอัธยาศัยดี รับหน้าที่เป็นหัวหน้าฝ่ายปฏิคม คอยรับแขกในอาคารไม้ที่เต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์โบราณ
นี่คือกลยุทธ์การตลาดที่เปลี่ยนให้พิพิธภัณฑ์ที่ครั้งหนึ่งเคยเงียบเหงา กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีกลุ่มวัยรุ่นและครอบครัวมาเยือนไม่ขาดสาย ผู้ที่ชื่นชอบการถ่ายภาพ สามารถเข้าไปในห้องส่วนตัวแล้วใช้เวลากับแมวนางแบบที่โพสต์ท่าอย่างไม่รู้เบื่อ เด็กๆ สามารถเล่นกับแมวทุกตัวอย่างใกล้ชิด โดยไม่ต้องกังวลเรื่องอันตราย
ไฮไลท์สำคัญคือช่วงเวลาเที่ยงวัน แมวทุกตัวจะมารวมตัวกันที่ลานดิน เรียงแถวกินอาหารในจานเซรามิกฝีมือศิลปินชั้นปรมาจารย์ ส่วนช่วงเวลาอื่น บรรดาแมวมักเดินอวดโฉมไปรอบๆ บ้างก็พักผ่อนในอิริยาบถสบายๆ บนสะพานที่แขวนอยู่ระหว่างต้นไม้ใหญ่
ทุกวันนี้ ‘แมวกวานฟู่’ กลายเป็นมาสคอตประจำพิพิธภัณฑ์ที่คนรุ่นใหม่ชื่นชอบ โดยพิพิธภัณฑ์ได้ดัดแปลงภาพจิตกรรมสมัยโบราณ ด้วยการเปลี่ยนรูปมนุษย์ให้กลายเป็นแมว พร้อมจัดทำตุ๊กตา เคสโทรศัพท์มือถือ และของที่ระลึกให้ทาสแมวได้จับจอง นอกจากนี้ยังตีพิมพ์หนังสือหลายประเภทที่มีแมวเป็นตัวดำเนินเรื่อง เช่น หนังสือแนะนำวัตถุโบราณ หรือชุดหนังสือการ์ตูนด้านศิลปะวัฒนธรรมสำหรับเด็กประถมศึกษา
“ทุกวันนี้ผู้คนดูเหมือนสนิทสนมกัน แต่จริงๆ แล้วในใจกลับห่างเหิน ทว่าในโลกของแมว ความรักไม่มีพรมแดน และมันปฏิบัติต่อแขกทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน” หม่า เว่ยตู ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์ กล่าวถึงสายสัมพันธ์สุดพิเศษที่แมวหลากชีวิตนำมาสู่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้
สำหรับประเทศจีน การมีแมวจรจัดเดินเตร่อยู่ทั่วพิพิธภัณฑ์ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ นอกจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ พิพิธภัณฑ์อื่นๆ ก็มีเจ้าเหมียวคอยประจำการอยู่เช่นกัน เช่นพิพิธภัณฑ์ในพระราชวังปักกิ่ง มี ‘แมวข้าราชการ’ ประมาณ 200 ตัว อยู่อาศัยมาหลายชั่วอายุ หน้าที่หลักของพวกมันคือการช่วยปกป้องสถาปัตยกรรมไม้ที่ใหญ่ที่สุดในโลกจากศัตรูตัวฉกาจอย่างหนู โดยได้รับอาหารจากนักท่องเที่ยวเป็นรางวัล
ช่วงหลายปีมานี้ พิพิธภัณฑ์ในจีนนับว่ามีความเปลี่ยนแปลงหลายด้านที่น่าสนใจ หนึ่งในนั้นคือการเปลี่ยนวิธีคิดและวิธีการนำเสนอใหม่ๆ ให้คนเข้าถึงได้ง่ายขึ้น มีความเป็นมิตรขึ้น ต่างจากเมื่อก่อนที่พิพิธภัณฑ์มีสถานะไม่ต่างจาก ‘วัด’ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยร่องรอยประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ยากที่จะจับต้องได้
ที่มา
บทความ “Museums playing with China’s youth subcultures: from animal influencers to dancing relics” จาก museumnext.com (Online)
บทความ “A Museum Opened by a Primary School Drop-Out Filled With Antiques and… Cats?” จาก thebeijinger.com (Online)