ท่ามกลางความพลุกพล่านของย่านธุรกิจในกรุงไนโรบี เมืองหลวงแห่งเคนยา มีอาคารทรงยุโรปที่สร้างจากหินบลูสโตนสะท้อนรูปแบบสถาปัตยกรรมยุโรปตั้งตระหง่าน ที่นี่คือห้องสมุดอนุสรณ์แมคมิลแลน (McMillan Memorial Library)
ห้องสมุดนี้เปิดให้บริการในปี 1931 สร้างโดยเลดี้ ลูซี แมคมิลแลน (Lady Lucie McMillan) เพื่อรำลึกถึงสามีผู้ล่วงลับ เซอร์ วิลเลียม นอร์ททรัป แมคมิลแลน (Sir William Northrup McMillan) นักผจญภัย และนักธุรกิจชาวอเมริกันผู้มั่งคั่งซึ่งเข้ามาตั้งถิ่นฐานในเคนยา
ด้วยความที่ตั้งอยู่ในฝั่งตะวันตก (Westlands) ของไนโรบี ซึ่งเป็นย่านที่อยู่อาศัยของชาวยุโรปและอเมริกา แยกห่างจากฝั่งตะวันออก (Eastlands) ซึ่งเป็นแหล่งที่พำนักของชาวพื้นเมืองโดยสิ้นเชิง ห้องสมุดแห่งนี้จึงรองรับการใช้งานของคนผิวขาวโดยเฉพาะ เมื่อเกิดการสลายตัวของลัทธิอาณานิคม อาคารโอ่อ่าแห่งนี้ก็ถูกทอดทิ้งและทรุดโทรมลง
จนกระทั่งปี 2012 แองเจลา วาชูกา (Angela Wachuka) เจ้าของสำนักพิมพ์ และ วานจิรู คอยนานเก (Wanjiru Koinange) นักเขียนชาวเคนยา ที่กำลังหาสถานที่จัดงานเทศกาลหนังสือได้มาสะดุดตากับที่นี่เข้า “เรารู้สึกเหมือนกับได้ก้าวเข้ามาสู่แคปซูลเวลา เพราะแม้พื้นที่ต่างๆ ของไนโรบีจะเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปอย่างมากแต่ห้องสมุดยังคงเดิม” วาชูกากล่าว
ต่อมาไม่นานนัก คอยนานเก ได้ร่วมโครงการ Commonwealth Writers ที่มุ่งสร้างแรงบันดาลใจ และเชื่อมโยงนักเขียนจากทั่วโลกเข้าด้วยกัน เธอตัดสินใจนำเสนอเรื่องราวของห้องสมุดอนุสรณ์แมคมิลแลน ที่บอกเล่าโดยบรรณารักษ์ไปจนถึงสมาชิกชุมชนในละแวกใกล้เคียง กิจกรรมดังกล่าวต่อยอดไปสู่การสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ เกิดการต่อตั้ง บุ๊กบังค์ทรัสต์ (Book Bunk Trust) ที่มีเป้าหมายคือการฟื้นฟูห้องสมุดขึ้นในที่สุด
“สิ่งแรกที่เราทำคือสำรวจความคิดเห็นจากชุมชนว่า ห้องสมุดที่ให้บริการพวกเขาได้ดีที่สุดควรเป็นอย่างไร” วาชูกากล่าว และเสริมว่างานของเราง่ายมากเพราะทุกคนพร้อมจะบอกเราว่าต้องการอะไร ไม่ว่าจะเป็นอาหารฟรี ศิลปะ พื้นที่สำหรับการเล่นสนุก หรือการสอนพิเศษ บุ๊กบังค์รับฟังและใช้ข้อมูลเชิงลึกเหล่านี้เป็นพิมพ์เขียวสำหรับการดำเนินโครงการร่วมกัน
อีกโจทย์สำคัญในการฟื้นฟูห้องสมุดคือ เอกสารสำคัญในคอลเลกชันล้วนสะท้อนมุมมองของเจ้าอาณานิคม เช่น เอกสารทางการของรัฐบาล บันทึก ประกาศ รูปภาพที่ว่าด้วยการเดินทางล่าสัตว์ของคนขาว หากมีเรื่องเกี่ยวกับคนพื้นเมืองเคนยา ก็มักว่าด้วยข้อมูลทางมานุษยวิทยา การเล่าเรื่องของผู้ตั้งถิ่นฐานจากภายนอก แต่กลับไม่มีเรื่องเล่าของผู้คนท้องถิ่นเลย
ทีมงานบุ๊กบังค์จึงริเริ่มโครงการที่เรียกว่า ‘Missing Bits’ เพื่อรวบรวมข้อมูลของชาวเคนยา โดยเชิญผู้คนมาร่วมบันทึกเรื่องราวผ่านการนำเอกสารเก่า ภาพถ่าย อัดคลิปพอดแคสต์เล่าประสบการณ์ วาชูกากล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการบันทึกชีวิตประจำวันของคนพื้นเมือง เพื่อทำให้ที่นี่กลับไปเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนอย่างแท้จริง
ดร.จอยซ์ ไนย์โร (Dr. Joyce Nyairo) นักวิจัยและนักวิชาการด้านวัฒนธรรมชาวเคนยาเคยกล่าวไว้ในพอดแคสต์ของบุ๊กบังค์ว่า “หนึ่งในความผิดพลาดที่ชัดเจนที่สุดในการสร้างประเทศเคนยา ไม่ใช่การไร้ความทรงจำ แต่เป็นการจงใจลบเลือนความทรงจำเหล่านั้นอย่างเป็นทางการต่างหาก”
ถึงจะเดินหน้าบันทึกเรื่องราวในพื้นที่อย่างขันแข็ง ข้อมูลที่มีอยู่แต่เดิมในห้องสมุดก็ไม่ได้ถูกละเลย ทีมงานแปลงเอกสารโบราณรวมถึงหนังสือที่เก็บรักษาไว้ในห้องสมุดอนุสรณ์แมคมิลแลนให้เป็นฐานข้อมูลดิจิทัลขนาดใหญ่ ภายในเวลาเก้าเดือน กองทัพนักศึกษาฝึกงาน 30 คนของบุ๊กบังค์ได้แปลงหนังสือรูปเล่มเป็นหนังสือดิจิทัลถึงกว่า 140,000 เล่ม
นอกจากนี้ ทีมงานยังจัดงานเทศกาลหนังสืออย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างเครือข่ายและสนับสนุนระบบนิเวศหนังสือและการอ่านให้เกิดขึ้นในไนโรบี ในปี 2022 พวกเขาได้รับหนังสือมากกว่า 9,000 เล่ม และจัดกิจกรรมสาธารณะมากกว่า 80 รายการ โดยมีผู้ใหญ่และเด็กๆ เข้าร่วมมากกว่า 5,000 คน มีผู้ใช้ห้องสมุดมากกว่า 41,000 คน และอีกกว่า 750,000 คนเชื่อมต่อกับบุ๊กบังค์ผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
นอกจากห้องสมุดอนุสรณ์แมคมิลแลนแล้ว บุ๊กบังค์ยังปรับปรุงห้องสมุดอื่นๆ ในเมืองไนโรบี ทีมงานประกาศ ‘รายการหนังสือที่ต้องการ’ เพื่อให้บุคคลและองค์กรต่างๆ สามารถเลือกซื้อในร้านหนังสือท้องถิ่นและนำมาบริจาคให้กับห้องสมุด อีกทั้ง องค์กรการกุศล Book Aid International เพื่อการพัฒนาห้องสมุดและบริจาคหนังสือระดับนานาชาติของสหราชอาณาจักรก็ได้ร่วมมือกับบุ๊กบังค์เพื่อจัดหาคอลเลกชันหนังสือร่วมสมัย
บุ๊กบังค์ใช้คำว่า ‘Palace for People’ ซึ่งแปลว่า พระราชวังสำหรับประชาชน และคำว่า ‘Ubuntu’ ในภาษาสวาฮีลีซึ่งแปลว่า ‘มนุษยชาติ’ เพื่อสะท้อนแนวคิดหลักของห้องสมุดแห่งนี้ นั่นคือการเชื่อมโยงประสบการณ์ร่วมกันของมนุษย์ ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพในการใช้พื้นที่และภาษา รวมถึงควรได้รับบริการและการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน ไม่มีการแบ่งแยกชนชั้น และกีดกันประวัติศาสตร์ท้องถิ่นอีกต่อไป
ที่มา
เว็บไซต์ Book Bunk (Online)
บทความ “Reclaiming One’s Stories: Book Bunk Reinvents Nairobi’s Public Libraries” จาก myriadusa.org (Online)
บทความ “Nairobi’s formerly ‘white-only’ libraries are now the centre of Kenya’s literary renaissance” จาก gal-dem.com (Online)
บทความ “Public libraries become ‘Palaces for the People’ in Nairobi” จาก sigrid-rausing-trust.org (Online)
บทความ “Reclaiming Public Libraries For The People Of Nairobi” จาก theurbanactivist.com (Online)
บทความ “Small-scale digitisation of endangered Nairobi City Council minutes and gazette archive collection from 1920-1950 at the McMillan Memorial Library, Nairobi (Kenya)” จาก eap.bl.uk (Online)
บทความ “Turning Nairobi’s Public Libraries Into ‘Palaces for the People’” จาก nytimes.com (Online)