The KOMMON
TK Park website
No Result
View All Result
The KOMMON
TK Park website
No Result
View All Result
The KOMMON
No Result
View All Result
 
Read
Common WORLD
‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Common WORLD
  • Common WORLD

‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก

322 views

 8 mins

4 MINS

October 4, 2022

Last updated - November 2, 2022

          หากพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงที่จัดแสดงวัตถุโบราณ งานศิลป์ หรือนำเสนอคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างแข็งทื่อไร้ชั้นเชิง ก็อาจจะดูน่าเบื่อหน่ายสำหรับใครหลายคน แต่พิพิธภัณฑ์ยุคใหม่พยายามสลัดภาพลักษณ์แบบเดิมๆ ด้วยการริเริ่มกลวิธีที่แตกต่างออกไป อีกหนึ่งบทบาทที่สามารถทำได้ คือการสนับสนุนให้ศิลปะเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์วัฒนธรรม มิใช่เป็นผู้ยืนมองงานศิลปะเพียงอย่างเดียว

          GES-2 ลบภาพจำของแหล่งเรียนรู้ในรัสเซียที่มักเงียบขรึมไร้ชีวิตชีวา โดยเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกๆ ของประเทศ ที่บูรณาการกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมหลายประเภทไว้ในอาคารเดียวกัน ที่นี่ยังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมบนเกาะกลางแม่น้ำใจกลางกรุงมอสโก ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นหมุดหมายที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้าไปอยู่อาศัย ทำงาน หรือเดินทางไปท่องเที่ยว

          เป้าหมายหนึ่งของของพิพิธภัณฑ์ GES-2 คือการยกเพดานผู้รับชมให้มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะแทรกเนื้อหาเสียดสีสังคมลงไปให้ขบคิดบ้าง แต่ภัณฑารักษ์ก็ย้ำจุดยืนอันมั่นคงว่า ที่นี่คือ ‘บ้านวัฒนธรรม’ ไม่ใช่ ‘บ้านการเมือง’ เรื่องราวที่นำเสนอล้วนเป็นไปเพื่อการสนับสนุนงานศิลปะโดยแท้จริง ไม่ได้ตั้งใจจะอิงดราม่าการเมืองแต่อย่างใด

ปลุกชีพโรงไฟฟ้าเก่า สู่พื้นที่ศิลปะมีชีวิต

          GES-2 เป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ในกรุงมอสโกซึ่งใช้พลังจากถ่านหิน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1907 เพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าให้ระบบรถรางโดยเฉพาะ โรงไฟฟ้าตั้งอยู่บนเกาะ ‘Red October’ กลางแม่น้ำมอสควา ซึ่งถูกขนานนามว่า ‘อาณาจักรแห่งไวน์และนาเกลือ’ รูปลักษณ์ภายนอกของโรงไฟฟ้าดูสวยงามคล้ายวิหารทางศาสนาเสียมากกว่าอาคารอุตสาหกรรม ที่นี่ยังเป็นชุดชมทิวทัศน์ของเมืองมายาวนานกว่า 100 ปี

          หลังจาก GES-2 ถูกปลดประจำการและทิ้งร้างตั้งแต่ปี 2006 โรงไฟฟ้าเก่าก็ถูกขายให้กับมูลนิธิ V-A-C ซึ่งก่อตั้งโดยนักธุรกิจด้านพลังงานที่ร่ำรวยเป็นอันดับสี่ในรัสเซีย และมีบทบาทสำคัญด้านการสนับสนุนโครงการศิลปะร่วมสมัยทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมสัญชาติอิตาเลียน เรนโซ เปียโน (Renzo Piano) บูรณะอาคารโรงไฟฟ้าเก่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมแนวใหม่ โดยยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกแบบนีโอรัสเซียในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ควบคู่กับการคำนึงถึงความร่วมสมัย

          GES-2 เริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2021 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รายล้อมไปด้วยแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมอีกหลายแห่ง ทั้งโรงงานขนมปังกรอบที่ถูกปรับปรุงให้เป็นศูนย์รวมผู้ประกอบการสตาร์ทอัป สถาบันสเตรลกา (Strelka) ซึ่งเป็นห้องแล็บทดลองนวัตกรรมและแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับเมือง โรงละครเก่าแก่ยูดานิก (Udarnik) ซึ่งถูกบูรณะใหม่และมีบทบาทด้านการวิจัยประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ด้านจักรกลในวัฒนธรรมป๊อป (Muzey Vosstaniya Mashin) พิพิธภัณฑ์ในอพาร์ทเมนต์ที่นำเสนอวิถีชีวิตชนชั้นสูงในยุคสตาลิน (Dom na nabierieżnoj) และยังมีคาเฟ่ ร้านอาหาร และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจมากมาย

‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé
‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

ศิลปะเป็นสมบัติของปวงชน หาใช่ของคนบางชนชั้น

          พิพิธภัณฑ์ GES-2 มีจุดยืนในการสนับสนุนให้ศิลปะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจับต้องได้ ไม่ใช่เรื่องผูกขาดของปัญญาชนหรือชนชั้นสูงเท่านั้น โดยมองว่าสาธารณชนสามารถเป็นพันธมิตรในกระบวนการผลิตวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์ควรเป็นพื้นที่ซึ่งมีผู้ชมเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ยึดชิ้นงานศิลปะเป็นศูนย์กลาง

House of Culture GES-2

          แรงบันดาลใจในการสร้างพื้นที่จัดแสดงศิลปะสาธารณะมาจาก ‘Houses of Culture’ พื้นที่ส่งเสริมการอภิปรายและกิจกรรมทางศิลปะที่สร้างคุณค่าทางสังคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นปัจจัยส่งเสริมให้สหภาพโซเวียตเผยแพร่ค่านิยมและอุดมการณ์ไปทั่วสาธารณรัฐที่กระจัดกระจายและมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม

          เทเรซา ไอโรซี มาวิกา (Teresa Iarocci Mavica) ภัณฑารักษ์เชื้อสายรัสเซีย-อิตาเลียน ผู้ร่วมก่อตั้ง GES-2  กล่าวว่า “ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกำลังมองหาวิธีการทำงานแบบใหม่ แต่เรากลับพบมันในรูปแบบเก่าของรัสเซีย Houses of Culture เป็นสถานที่สำหรับงานอดิเรกและแบ่งปันความรู้ซึ่งทุกคนดูแลกันและกัน”

พื้นที่ศิลปะสาธารณะ ‘Houses of Culture’

เทคโนโลยีล้ำสมัย ฟื้นลมหายใจให้อาคารเก่าแก่

          การบูรณะอาคารโรงไฟฟ้าที่มีอายุนับร้อยปีให้กลับมาเจิดจรัสอีกครั้งอาศัยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ตั้งแต่การใช้พอยต์คลาวด์ (Point Cloud) หรือเลเซอร์สแกนโครงสร้างอาคารแบบสามมิติ เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และทำโมเดลอาคาร

          ความเปิดกว้างของอาคารถือเป็นหัวใจสำคัญของ GES-2 ผู้ออกแบบได้ถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวอย่างทรงพลังด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาเดิมให้เป็นกระจกเคลือบทั้งหมด วัสดุกระจกช่วยให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้าสู่แกลเลอรีอย่างสมดุล และช่วยสร้างพื้นที่แบบเปิดซึ่งให้ความรู้สึกเชื้อเชิญพร้อมต้อนรับผู้คน

‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé
‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

          รัสเซียมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่าศูนย์องศาและถูกปกคลุมด้วยหิมะเป็นเวลาถึง 6 เดือน สภาพภูมิอากาศจึงเป็นปัจจัยท้าทายในการออกแบบ โถงกระจกสูงขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นเรือนกระจกที่ให้แสงส่องผ่านเวลากลางวันและกักเก็บความอบอุ่นไว้ ใต้หลังคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยละลายหิมะ และยังมีแนวขดลวดที่ส่งผ่านความร้อนเข้าไปยังอาคารเมื่ออุณหภูมิลดลงต่ำกว่าลบ 6 องศา

          ทั้งนี้ การออกแบบพิพิธภัณฑ์ GES-2 ยังคำนึงถึงความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ปล่องไฟอิฐที่เคยปล่อยมลพิษทั้ง 4 ปล่อง ถูกบูรณะใหม่ให้เป็นปล่องเหล็กสีฟ้าสูง 200 ฟุตที่นำอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาในอาคาร และมีการปลูกต้นเบิร์ชหลายร้อยต้นภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์

‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

รวมมิตรพื้นที่วัฒนธรรมทุกชนิดไว้ที่นี่ที่เดียว

          GES-2 มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 20,000 ตารางเมตร เป็นแหล่งรวมศิลปะแบบสหวิทยาการ เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีฟังก์ชันการใช้งานแบ่งออกเป็น 4 โซน คือ โซนต้อนรับ ตั้งอยู่ใจกลางอาคาร มีไว้สำหรับการจองตั๋ว ปฐมนิเทศ และจำหน่ายสินค้า โซนพลเมือง ประกอบด้วยลานกิจกรรมกลางแจ้งซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิตบนท้องถนน และจัตุรัสในร่มสำหรับจัดกิจกรรมด้านศิลปะ โซนนิทรรศการ ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะทุกแขนง และ โซนการศึกษา เน้นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตและมีสำนักศิลปศาสตร์ที่มุ่งสร้างภัณฑารักษ์ นักวิจารณ์ และนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่

          ทุกวันมีการฉายภาพยนตร์ซึ่งได้รับการคัดสรรเป็นอย่างดี ทั้งแนวคลาสสิกที่ถูกมองข้ามและภาพยนตร์เชิงทดลองจากทั่วโลก ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ฉายในภาษาต้นฉบับพร้อมคำบรรยาย บางเรื่องมีคำอธิบายด้วยเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา โรงภาพยนตร์มีความจุ 290 ที่นั่ง และใช้อุปกรณ์ดิจิทัลระดับมืออาชีพ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบทางลาดและที่นั่งพิเศษสำหรับผู้พิการ

          สำหรับผู้ต้องการค้นคว้าความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัย GES-2 มีห้องสมุดซึ่งจัดหาคอลเลกชันเกี่ยวกับศิลปะ รวมทั้งศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะ เช่น ปรัชญาตะวันออก กวีนิพนธ์ นิยาย ชีววิทยา ฟิสิกส์ และโหราศาสตร์

          ในอาคารมีสนามเด็กเล่นและพื้นที่ทำกิจกรรมที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เพื่อรองรับผู้เข้าชมที่เป็นเด็ก บรรยากาศถูกเนรมิตให้ดูเหมือนป่ามหัศจรรย์ มีเวิร์กชอปให้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติ ทั้งงานจากวัสดุดินเหนียว ไม้ กระดาษ และผ้า

          ที่นี่ยังเป็นชุมชนศิลปินนานาชาติ ศิลปินที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนทั้งที่พัก เอกสารการอนุญาตทำงาน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งสามารถใช้งานเครื่องมือทันสมัยสำหรับพัฒนางานศิลปะทั้งด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิมและแบบดิจิทัล อาทิ เครื่องทอผ้าดิจิทัล TC2 เครื่องแรกของรัสเซีย แขนกล KUKA สำหรับผลิตงานพิมพ์ 3 มิติ เครื่องพิมพ์ Colenta สำหรับการพิมพ์ภาพถ่ายขนาดใหญ่ และเครื่องถ่ายเอกสาร A2 Riso พื้นที่ทำงานของศิลปินมีลักษณะเป็น Co-working Space ซึ่งเอื้อให้ศิลปินได้มีปฏิสัมพันธ์หรือสร้างสรรค์งานร่วมกัน

          ผู้เข้าชม GES-2 ซึ่งอาจใช้เวลาอยู่ที่นี่ทั้งวัน สามารถนั่งรับประทานอาหารไปพร้อมกับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายแห่ง แต่ละเมนูเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดในท้องถิ่น สูตรอาหารผสมผสานระหว่างขนบแบบดั้งเดิมและรสชาติใหม่ๆ ผ่านการปรุงโดยใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืน อาหารจึงไม่เพียงทำให้อิ่มท้อง แต่เป็นประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่นำความสุขมาให้

ColLab พื้นที่สำหรับสร้างสรรค์ผลงานภายใน GES-2
‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

ศิลปะ การวิจารณ์ และเรื่องต้องห้าม

          เป้าหมายของของ GES-2 ไม่ใช่แค่การเสพสุนทรียะจากงานศิลปะ แต่เป็นการยกเพดานผู้รับชมให้มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ดังที่ ฟรานเซสโก มานาคอดา (Francesco Manacorda) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ได้กล่าวว่า “เราต้องการพัฒนากระบวนการที่ทำให้ผู้เยี่ยมชมสามารถประเมินค่าและทำความเข้าใจงานศิลปะที่จัดแสดงด้วยตนเอง ซึ่งหมายถึงการพัฒนาวิจารณญาณของพวกเขา”

          ตัวอย่างนิทรรศการที่กระตุ้นให้เกิดการอภิปรายเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม เช่น ‘Santa Barbara – A Living Sculpture’ ศิลปะแสดงสด (Performance Art) ที่นำเค้าโครงมาจากละครโทรทัศน์อันโด่งดังเรื่อง ‘Santa Barbara’ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่ปี 1992-2002 เรื่องนี้นำเสนอภาพของทุนนิยมซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวรัสเซียในสมัยนั้น ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมและชีวิตความเป็นอยู่ ส่วนนิทรรศการที่มีชื่อว่า ‘To Moscow! To Moscow! To Moscow!’ กล่าวถึงสถานการณ์ของรัสเซียหลังยุคโซเวียตและความสัมพันธ์ที่พลิกผันกับตะวันตก และประติมากรรมเป่าลมที่ล้อเลียนการแสดงออกถึงความสูงส่งของชาวอเมริกัน

Santa Barbara – A Living Sculpture โดย Ragnar Kjartansson

          แม้ว่าศิลปะและกิจกรรมใน GES-2 จะมีเนื้อหาที่เสียดสีอยู่บ้าง แต่ก็มีความพยายามที่จะไม่ให้ล้ำเส้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ภัณฑารักษ์ให้ความเห็นว่า “ฉันอาศัยอยู่ในประเทศนี้มา 32 ปีแล้ว และความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกก็มีความขัดแย้งกันมาตลอด ฉันไม่คิดว่าสถานการณ์ในวันนี้จะแตกต่างไปจากเดิม และสิ่งนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจของมูลนิธิฯ”

          สอดคล้องกับความเห็นของผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ที่ให้ความเห็นเรื่องการแทรกแซงของรัฐบาลว่า “มันไม่ใช่การเซ็นเซอร์แต่เป็นการจัดการกับบริบท ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ …เราเป็นบ้านของวัฒนธรรม ไม่ใช่บ้านของการเมือง ฉันไม่ได้มาอยู่ตรงนี้เพื่อล้มรัฐบาลหรือเคลื่อนไหวโดยตรง ฉันมาที่นี่เพื่อสนับสนุนเรื่องศิลปะ”

          พิพิธภัณฑ์ที่มีอุดมการณ์เชิดชูสามัญชนและมีความฝันจะโกอินเตอร์อย่าง GES-2 ไม่เร็วก็ช้าย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามว่า จะดำรงอยู่อย่างสง่างามได้อย่างไรหากปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องอำนาจ ความถูกต้องชอบธรรม ความขัดแย้ง หรือสงคราม ในเมื่อมันเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ (เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยแห่งอื่นๆ เช่น M+ ของฮ่องกง ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจากมีแรงกดดันให้ถอดงานศิลปะของอ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ด้วยเหตุผลว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง) จุดยืนนี้อาจจะเผยคำตอบในตัวเองแล้วว่า GES-2 จะสามารถสื่อสารถึงคุณค่าของศิลปะที่มีต่อมนุษย์และสังคม ให้ไปไกลยังโลกสากลได้จริงหรือไม่

‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

ที่มา

บทความ “A New Art Center Challenges the Rules in Moscow” จาก artnews.com (Online)

บทความ “GES 2 House of Culture / Renzo Piano Building Workshop” จาก archdaily.com (Online)

บทความ “GES-2 (Moscow)” จาก wikipedia.org (Online)

บทความ “GES-2 Is Moscow’s Newest Museum (Just Don’t Call It That)” จาก frieze.com (Online)

บทความ “GES-2: Renso Piano Transform a former power plant into an open art destination in Moscow” จาก archipanic.com (Online)

บทความ “Reimagining a 1900s power station as an open arts centre” จาก arup.com (Online)

บทความ “Soft Power Station: Can Moscow’s GES-2 Navigate a New Cold War?” จาก artreview.com (Online)

เว็บไซต์ V-A-C (Online)

Cover Photo: Ted.ns, CC BY-SA 4.0 via Wikimedia Commons

Tags: พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศพื้นที่การเรียนรู้

เรื่องโดย

321
VIEWS
ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม เรื่อง

คุณแม่ลูกอ่อน ผู้สนใจประเด็นด้านการศึกษา พร้อมแหวกว่ายในทะเลข้อมูลในทุกๆ เรื่องที่อยากรู้ ชอบเลนส์โบราณและการถ่ายภาพ

          หากพิพิธภัณฑ์เป็นเพียงที่จัดแสดงวัตถุโบราณ งานศิลป์ หรือนำเสนอคุณค่าทางประวัติศาสตร์อย่างแข็งทื่อไร้ชั้นเชิง ก็อาจจะดูน่าเบื่อหน่ายสำหรับใครหลายคน แต่พิพิธภัณฑ์ยุคใหม่พยายามสลัดภาพลักษณ์แบบเดิมๆ ด้วยการริเริ่มกลวิธีที่แตกต่างออกไป อีกหนึ่งบทบาทที่สามารถทำได้ คือการสนับสนุนให้ศิลปะเป็นประสบการณ์ที่ทุกคนเข้าถึงได้ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งกระตุ้นให้ผู้คนมีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์วัฒนธรรม มิใช่เป็นผู้ยืนมองงานศิลปะเพียงอย่างเดียว

          GES-2 ลบภาพจำของแหล่งเรียนรู้ในรัสเซียที่มักเงียบขรึมไร้ชีวิตชีวา โดยเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกๆ ของประเทศ ที่บูรณาการกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมหลายประเภทไว้ในอาคารเดียวกัน ที่นี่ยังเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของระบบนิเวศการเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมบนเกาะกลางแม่น้ำใจกลางกรุงมอสโก ซึ่งคาดว่าจะกลายเป็นหมุดหมายที่ดึงดูดคนรุ่นใหม่ให้เข้าไปอยู่อาศัย ทำงาน หรือเดินทางไปท่องเที่ยว

          เป้าหมายหนึ่งของของพิพิธภัณฑ์ GES-2 คือการยกเพดานผู้รับชมให้มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง จึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะแทรกเนื้อหาเสียดสีสังคมลงไปให้ขบคิดบ้าง แต่ภัณฑารักษ์ก็ย้ำจุดยืนอันมั่นคงว่า ที่นี่คือ ‘บ้านวัฒนธรรม’ ไม่ใช่ ‘บ้านการเมือง’ เรื่องราวที่นำเสนอล้วนเป็นไปเพื่อการสนับสนุนงานศิลปะโดยแท้จริง ไม่ได้ตั้งใจจะอิงดราม่าการเมืองแต่อย่างใด

ปลุกชีพโรงไฟฟ้าเก่า สู่พื้นที่ศิลปะมีชีวิต

          GES-2 เป็นโรงไฟฟ้าแห่งที่ 2 ในกรุงมอสโกซึ่งใช้พลังจากถ่านหิน ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 1907 เพื่อป้อนกระแสไฟฟ้าให้ระบบรถรางโดยเฉพาะ โรงไฟฟ้าตั้งอยู่บนเกาะ ‘Red October’ กลางแม่น้ำมอสควา ซึ่งถูกขนานนามว่า ‘อาณาจักรแห่งไวน์และนาเกลือ’ รูปลักษณ์ภายนอกของโรงไฟฟ้าดูสวยงามคล้ายวิหารทางศาสนาเสียมากกว่าอาคารอุตสาหกรรม ที่นี่ยังเป็นชุดชมทิวทัศน์ของเมืองมายาวนานกว่า 100 ปี

          หลังจาก GES-2 ถูกปลดประจำการและทิ้งร้างตั้งแต่ปี 2006 โรงไฟฟ้าเก่าก็ถูกขายให้กับมูลนิธิ V-A-C ซึ่งก่อตั้งโดยนักธุรกิจด้านพลังงานที่ร่ำรวยเป็นอันดับสี่ในรัสเซีย และมีบทบาทสำคัญด้านการสนับสนุนโครงการศิลปะร่วมสมัยทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ มูลนิธิฯ ได้ร่วมกับบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมสัญชาติอิตาเลียน เรนโซ เปียโน (Renzo Piano) บูรณะอาคารโรงไฟฟ้าเก่าให้เป็นแหล่งเรียนรู้ศิลปวัฒนธรรมแนวใหม่ โดยยังคงรักษารูปแบบสถาปัตยกรรมภายนอกแบบนีโอรัสเซียในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ควบคู่กับการคำนึงถึงความร่วมสมัย

          GES-2 เริ่มเปิดให้บริการเมื่อเดือนธันวาคม 2021 พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รายล้อมไปด้วยแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปวัฒนธรรมอีกหลายแห่ง ทั้งโรงงานขนมปังกรอบที่ถูกปรับปรุงให้เป็นศูนย์รวมผู้ประกอบการสตาร์ทอัป สถาบันสเตรลกา (Strelka) ซึ่งเป็นห้องแล็บทดลองนวัตกรรมและแนวทางแก้ปัญหาเกี่ยวกับเมือง โรงละครเก่าแก่ยูดานิก (Udarnik) ซึ่งถูกบูรณะใหม่และมีบทบาทด้านการวิจัยประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ด้านจักรกลในวัฒนธรรมป๊อป (Muzey Vosstaniya Mashin) พิพิธภัณฑ์ในอพาร์ทเมนต์ที่นำเสนอวิถีชีวิตชนชั้นสูงในยุคสตาลิน (Dom na nabierieżnoj) และยังมีคาเฟ่ ร้านอาหาร และแหล่งพักผ่อนหย่อนใจมากมาย

‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé
‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

ศิลปะเป็นสมบัติของปวงชน หาใช่ของคนบางชนชั้น

          พิพิธภัณฑ์ GES-2 มีจุดยืนในการสนับสนุนให้ศิลปะเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถจับต้องได้ ไม่ใช่เรื่องผูกขาดของปัญญาชนหรือชนชั้นสูงเท่านั้น โดยมองว่าสาธารณชนสามารถเป็นพันธมิตรในกระบวนการผลิตวัฒนธรรม และพิพิธภัณฑ์ควรเป็นพื้นที่ซึ่งมีผู้ชมเป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่ยึดชิ้นงานศิลปะเป็นศูนย์กลาง

House of Culture GES-2

          แรงบันดาลใจในการสร้างพื้นที่จัดแสดงศิลปะสาธารณะมาจาก ‘Houses of Culture’ พื้นที่ส่งเสริมการอภิปรายและกิจกรรมทางศิลปะที่สร้างคุณค่าทางสังคมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ในอดีตพื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นปัจจัยส่งเสริมให้สหภาพโซเวียตเผยแพร่ค่านิยมและอุดมการณ์ไปทั่วสาธารณรัฐที่กระจัดกระจายและมีผู้คนหลากหลายเชื้อชาติวัฒนธรรม

          เทเรซา ไอโรซี มาวิกา (Teresa Iarocci Mavica) ภัณฑารักษ์เชื้อสายรัสเซีย-อิตาเลียน ผู้ร่วมก่อตั้ง GES-2  กล่าวว่า “ในขณะที่พิพิธภัณฑ์ทั่วโลกกำลังมองหาวิธีการทำงานแบบใหม่ แต่เรากลับพบมันในรูปแบบเก่าของรัสเซีย Houses of Culture เป็นสถานที่สำหรับงานอดิเรกและแบ่งปันความรู้ซึ่งทุกคนดูแลกันและกัน”

พื้นที่ศิลปะสาธารณะ ‘Houses of Culture’

เทคโนโลยีล้ำสมัย ฟื้นลมหายใจให้อาคารเก่าแก่

          การบูรณะอาคารโรงไฟฟ้าที่มีอายุนับร้อยปีให้กลับมาเจิดจรัสอีกครั้งอาศัยเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย ตั้งแต่การใช้พอยต์คลาวด์ (Point Cloud) หรือเลเซอร์สแกนโครงสร้างอาคารแบบสามมิติ เพื่อเป็นข้อมูลในการวิเคราะห์และทำโมเดลอาคาร

          ความเปิดกว้างของอาคารถือเป็นหัวใจสำคัญของ GES-2 ผู้ออกแบบได้ถ่ายทอดแนวคิดดังกล่าวอย่างทรงพลังด้วยการเปลี่ยนโครงสร้างหลังคาเดิมให้เป็นกระจกเคลือบทั้งหมด วัสดุกระจกช่วยให้แสงธรรมชาติส่องผ่านเข้าสู่แกลเลอรีอย่างสมดุล และช่วยสร้างพื้นที่แบบเปิดซึ่งให้ความรู้สึกเชื้อเชิญพร้อมต้อนรับผู้คน

‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé
‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

          รัสเซียมีอุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีต่ำกว่าศูนย์องศาและถูกปกคลุมด้วยหิมะเป็นเวลาถึง 6 เดือน สภาพภูมิอากาศจึงเป็นปัจจัยท้าทายในการออกแบบ โถงกระจกสูงขนาดใหญ่ทำหน้าที่เป็นเรือนกระจกที่ให้แสงส่องผ่านเวลากลางวันและกักเก็บความอบอุ่นไว้ ใต้หลังคาติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์เพื่อช่วยละลายหิมะ และยังมีแนวขดลวดที่ส่งผ่านความร้อนเข้าไปยังอาคารเมื่ออุณหภูมิลดลงต่ำกว่าลบ 6 องศา

          ทั้งนี้ การออกแบบพิพิธภัณฑ์ GES-2 ยังคำนึงถึงความยั่งยืนด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ปล่องไฟอิฐที่เคยปล่อยมลพิษทั้ง 4 ปล่อง ถูกบูรณะใหม่ให้เป็นปล่องเหล็กสีฟ้าสูง 200 ฟุตที่นำอากาศบริสุทธิ์จากภายนอกเข้ามาในอาคาร และมีการปลูกต้นเบิร์ชหลายร้อยต้นภายในบริเวณพิพิธภัณฑ์

‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

รวมมิตรพื้นที่วัฒนธรรมทุกชนิดไว้ที่นี่ที่เดียว

          GES-2 มีพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 20,000 ตารางเมตร เป็นแหล่งรวมศิลปะแบบสหวิทยาการ เพื่อให้ผู้คนสามารถเข้าถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมที่หลากหลาย มีฟังก์ชันการใช้งานแบ่งออกเป็น 4 โซน คือ โซนต้อนรับ ตั้งอยู่ใจกลางอาคาร มีไว้สำหรับการจองตั๋ว ปฐมนิเทศ และจำหน่ายสินค้า โซนพลเมือง ประกอบด้วยลานกิจกรรมกลางแจ้งซึ่งเชื่อมโยงกับชีวิตบนท้องถนน และจัตุรัสในร่มสำหรับจัดกิจกรรมด้านศิลปะ โซนนิทรรศการ ซึ่งจัดแสดงผลงานศิลปะทุกแขนง และ โซนการศึกษา เน้นเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิตและมีสำนักศิลปศาสตร์ที่มุ่งสร้างภัณฑารักษ์ นักวิจารณ์ และนักประวัติศาสตร์รุ่นใหม่

          ทุกวันมีการฉายภาพยนตร์ซึ่งได้รับการคัดสรรเป็นอย่างดี ทั้งแนวคลาสสิกที่ถูกมองข้ามและภาพยนตร์เชิงทดลองจากทั่วโลก ภาพยนตร์ส่วนใหญ่ฉายในภาษาต้นฉบับพร้อมคำบรรยาย บางเรื่องมีคำอธิบายด้วยเสียงสำหรับผู้พิการทางสายตา โรงภาพยนตร์มีความจุ 290 ที่นั่ง และใช้อุปกรณ์ดิจิทัลระดับมืออาชีพ นอกจากนี้ยังมีการออกแบบทางลาดและที่นั่งพิเศษสำหรับผู้พิการ

          สำหรับผู้ต้องการค้นคว้าความรู้ด้านศิลปะร่วมสมัย GES-2 มีห้องสมุดซึ่งจัดหาคอลเลกชันเกี่ยวกับศิลปะ รวมทั้งศาสตร์สาขาอื่นๆ ที่มีอิทธิพลต่องานศิลปะ เช่น ปรัชญาตะวันออก กวีนิพนธ์ นิยาย ชีววิทยา ฟิสิกส์ และโหราศาสตร์

          ในอาคารมีสนามเด็กเล่นและพื้นที่ทำกิจกรรมที่กระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ เพื่อรองรับผู้เข้าชมที่เป็นเด็ก บรรยากาศถูกเนรมิตให้ดูเหมือนป่ามหัศจรรย์ มีเวิร์กชอปให้เด็กๆ ได้ลงมือปฏิบัติ ทั้งงานจากวัสดุดินเหนียว ไม้ กระดาษ และผ้า

          ที่นี่ยังเป็นชุมชนศิลปินนานาชาติ ศิลปินที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมโครงการจะได้รับการสนับสนุนทั้งที่พัก เอกสารการอนุญาตทำงาน ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน รวมทั้งสามารถใช้งานเครื่องมือทันสมัยสำหรับพัฒนางานศิลปะทั้งด้วยเทคนิคแบบดั้งเดิมและแบบดิจิทัล อาทิ เครื่องทอผ้าดิจิทัล TC2 เครื่องแรกของรัสเซีย แขนกล KUKA สำหรับผลิตงานพิมพ์ 3 มิติ เครื่องพิมพ์ Colenta สำหรับการพิมพ์ภาพถ่ายขนาดใหญ่ และเครื่องถ่ายเอกสาร A2 Riso พื้นที่ทำงานของศิลปินมีลักษณะเป็น Co-working Space ซึ่งเอื้อให้ศิลปินได้มีปฏิสัมพันธ์หรือสร้างสรรค์งานร่วมกัน

          ผู้เข้าชม GES-2 ซึ่งอาจใช้เวลาอยู่ที่นี่ทั้งวัน สามารถนั่งรับประทานอาหารไปพร้อมกับแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่ร้านอาหารและร้านกาแฟหลายแห่ง แต่ละเมนูเลือกสรรวัตถุดิบที่ดีที่สุดในท้องถิ่น สูตรอาหารผสมผสานระหว่างขนบแบบดั้งเดิมและรสชาติใหม่ๆ ผ่านการปรุงโดยใช้เทคโนโลยีที่ยั่งยืน อาหารจึงไม่เพียงทำให้อิ่มท้อง แต่เป็นประสบการณ์ทางวัฒนธรรมที่นำความสุขมาให้

ColLab พื้นที่สำหรับสร้างสรรค์ผลงานภายใน GES-2
‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

ศิลปะ การวิจารณ์ และเรื่องต้องห้าม

          เป้าหมายของของ GES-2 ไม่ใช่แค่การเสพสุนทรียะจากงานศิลปะ แต่เป็นการยกเพดานผู้รับชมให้มีความคิดอ่านเป็นของตัวเอง ดังที่ ฟรานเซสโก มานาคอดา (Francesco Manacorda) ผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ ได้กล่าวว่า “เราต้องการพัฒนากระบวนการที่ทำให้ผู้เยี่ยมชมสามารถประเมินค่าและทำความเข้าใจงานศิลปะที่จัดแสดงด้วยตนเอง ซึ่งหมายถึงการพัฒนาวิจารณญาณของพวกเขา”

          ตัวอย่างนิทรรศการที่กระตุ้นให้เกิดการอภิปรายเรื่องประวัติศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม เช่น ‘Santa Barbara – A Living Sculpture’ ศิลปะแสดงสด (Performance Art) ที่นำเค้าโครงมาจากละครโทรทัศน์อันโด่งดังเรื่อง ‘Santa Barbara’ ซึ่งออกอากาศตั้งแต่ปี 1992-2002 เรื่องนี้นำเสนอภาพของทุนนิยมซึ่งมีอิทธิพลต่อชาวรัสเซียในสมัยนั้น ทั้งเสื้อผ้าหน้าผมและชีวิตความเป็นอยู่ ส่วนนิทรรศการที่มีชื่อว่า ‘To Moscow! To Moscow! To Moscow!’ กล่าวถึงสถานการณ์ของรัสเซียหลังยุคโซเวียตและความสัมพันธ์ที่พลิกผันกับตะวันตก และประติมากรรมเป่าลมที่ล้อเลียนการแสดงออกถึงความสูงส่งของชาวอเมริกัน

Santa Barbara – A Living Sculpture โดย Ragnar Kjartansson

          แม้ว่าศิลปะและกิจกรรมใน GES-2 จะมีเนื้อหาที่เสียดสีอยู่บ้าง แต่ก็มีความพยายามที่จะไม่ให้ล้ำเส้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการเมืองซึ่งเป็นเรื่องที่อ่อนไหว ภัณฑารักษ์ให้ความเห็นว่า “ฉันอาศัยอยู่ในประเทศนี้มา 32 ปีแล้ว และความสัมพันธ์ระหว่างรัสเซียกับตะวันตกก็มีความขัดแย้งกันมาตลอด ฉันไม่คิดว่าสถานการณ์ในวันนี้จะแตกต่างไปจากเดิม และสิ่งนี้ก็ไม่เกี่ยวข้องกับภารกิจของมูลนิธิฯ”

          สอดคล้องกับความเห็นของผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ที่ให้ความเห็นเรื่องการแทรกแซงของรัฐบาลว่า “มันไม่ใช่การเซ็นเซอร์แต่เป็นการจัดการกับบริบท ไม่ต่างจากที่เกิดขึ้นในประเทศอื่นๆ …เราเป็นบ้านของวัฒนธรรม ไม่ใช่บ้านของการเมือง ฉันไม่ได้มาอยู่ตรงนี้เพื่อล้มรัฐบาลหรือเคลื่อนไหวโดยตรง ฉันมาที่นี่เพื่อสนับสนุนเรื่องศิลปะ”

          พิพิธภัณฑ์ที่มีอุดมการณ์เชิดชูสามัญชนและมีความฝันจะโกอินเตอร์อย่าง GES-2 ไม่เร็วก็ช้าย่อมเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกตั้งคำถามว่า จะดำรงอยู่อย่างสง่างามได้อย่างไรหากปฏิเสธที่จะพูดถึงเรื่องอำนาจ ความถูกต้องชอบธรรม ความขัดแย้ง หรือสงคราม ในเมื่อมันเป็นส่วนหนึ่งของมนุษยชาติที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญ (เช่นเดียวกับพิพิธภัณฑ์ร่วมสมัยแห่งอื่นๆ เช่น M+ ของฮ่องกง ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างกว้างขวางหลังจากมีแรงกดดันให้ถอดงานศิลปะของอ้าย เว่ยเว่ย (Ai Weiwei) ด้วยเหตุผลว่าเป็นภัยต่อความมั่นคง) จุดยืนนี้อาจจะเผยคำตอบในตัวเองแล้วว่า GES-2 จะสามารถสื่อสารถึงคุณค่าของศิลปะที่มีต่อมนุษย์และสังคม ให้ไปไกลยังโลกสากลได้จริงหรือไม่

‘GES-2’ ศิลปะ วัฒนธรรม การเมือง กับความทะเยอทะยานเทียบชั้นพิพิธภัณฑ์โลก
Photo: Michel Denancé

ที่มา

บทความ “A New Art Center Challenges the Rules in Moscow” จาก artnews.com (Online)

บทความ “GES 2 House of Culture / Renzo Piano Building Workshop” จาก archdaily.com (Online)

บทความ “GES-2 (Moscow)” จาก wikipedia.org (Online)

บทความ “GES-2 Is Moscow’s Newest Museum (Just Don’t Call It That)” จาก frieze.com (Online)

บทความ “GES-2: Renso Piano Transform a former power plant into an open art destination in Moscow” จาก archipanic.com (Online)

บทความ “Reimagining a 1900s power station as an open arts centre” จาก arup.com (Online)

บทความ “Soft Power Station: Can Moscow’s GES-2 Navigate a New Cold War?” จาก artreview.com (Online)

เว็บไซต์ V-A-C (Online)

Cover Photo: Ted.ns, CC BY-SA 4.0 via Wikimedia Commons

Tags: พิพิธภัณฑ์ต่างประเทศพื้นที่การเรียนรู้

ทัศนีย์ แซ่ลิ้ม เรื่อง

คุณแม่ลูกอ่อน ผู้สนใจประเด็นด้านการศึกษา พร้อมแหวกว่ายในทะเลข้อมูลในทุกๆ เรื่องที่อยากรู้ ชอบเลนส์โบราณและการถ่ายภาพ

Related Posts

‘Big Lunch’ ยิ่งกิน ยิ่งใกล้ สานสายใยชุมชนด้วยมื้อพิเศษแสนอร่อย
Common WORLD

‘Big Lunch’ ยิ่งกิน ยิ่งใกล้ สานสายใยชุมชนด้วยอาหารมื้อพิเศษ

January 25, 2023
69
เพิ่มประสิทธิภาพงาน บริการให้โดนใจ เทคโนโลยีช่วยห้องสมุดได้
Common WORLD

เทคโนโลยีห้องสมุด มีไว้เพื่อแก้ปัญหางานบริการ สร้างประสบการณ์เชิงบวกกับผู้ใช้

January 19, 2023
565
รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก
Common WORLD

รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก

January 18, 2023
2.3k

Related Posts

‘Big Lunch’ ยิ่งกิน ยิ่งใกล้ สานสายใยชุมชนด้วยมื้อพิเศษแสนอร่อย
Common WORLD

‘Big Lunch’ ยิ่งกิน ยิ่งใกล้ สานสายใยชุมชนด้วยอาหารมื้อพิเศษ

January 25, 2023
69
เพิ่มประสิทธิภาพงาน บริการให้โดนใจ เทคโนโลยีช่วยห้องสมุดได้
Common WORLD

เทคโนโลยีห้องสมุด มีไว้เพื่อแก้ปัญหางานบริการ สร้างประสบการณ์เชิงบวกกับผู้ใช้

January 19, 2023
565
รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก
Common WORLD

รื้อมรดกความคิดอาณานิคมในห้องเรียนวรรณกรรมโลก

January 18, 2023
2.3k
ABOUT
SITE MAP
PRIVACY POLICY
CONTACT
Facebook-f
Youtube
Soundcloud
icon-tkpark

Copyright 2021 © All rights Reserved. by TK Park

  • READ
    • ALL
    • Common WORLD
    • Common VIEW
    • Common ROOM
    • Book of Commons
    • Common INFO
  • PODCAST
    • ALL
    • readWORLD
    • Coming to Talk
    • Read Around
    • WanderingBook
    • Knowledge Exchange
  • VIDEO
    • ALL
    • TK Forum
    • TK Common
    • TK Spark
  • UNCOMMON
    • ALL
    • Common ROOM
    • Common INFO
    • Common EXPERIENCE
    • Common SENSE

© 2021 The KOMMON by TK Park.

Welcome Back!

Login to your account below

Forgotten Password?

Retrieve your password

Please enter your username or email address to reset your password.

Log In

Add New Playlist

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

ตั้งค่า อนุญาต
Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก
Privacy Preferences
https://www.thekommon.co/network/cache/breeze-minification/js/breeze_2aba20493abd4ead358dd2fbe6fd0866.js