แม้จะมีศาสตร์ในการพยากรณ์อนาคตที่ซับซ้อนมากแค่ไหน แต่ก็ไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ได้ว่าในวันข้างหน้าโลกใบนี้จะเป็นอย่างไร สิ่งที่พอจะคาดการณ์ได้แน่ๆ คือโลกจะเต็มไปด้วยปัญหาและความท้าทาย ซึ่งชนรุ่นหลังต้องรับมือด้วยความเหนื่อยยากมากขึ้นทุกทีๆ
เรื่องราวอนาคตมักถูกพูดถึงราวกับว่ามันมีเพียงหนึ่งเดียว แต่ที่จริงแล้วทุกคนสามารถจินตนาการถึงอนาคตได้หลากหลายรูปแบบ เมื่อไม่นานมานี้ องค์การยูเนสโกได้ขับเคลื่อนเรื่องการพัฒนา ‘Futures Literacy’ หรือทักษะที่ช่วยให้ผู้คนเข้าใจอนาคตได้ดีขึ้น แนวคิดดังกล่าวไม่ได้เน้นเพียงเรื่องเนื้อหาความรู้ แต่ให้ความสำคัญกับพลังจินตนาการ และความสามารถในการเตรียมตัวเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลง ทุกคนสามารถฝึกฝนและเรียนรู้ทักษะนี้ ไม่ต่างจากการพัฒนาความสามารถด้านการอ่านออกเขียนได้
ตัวอย่างแหล่งเรียนรู้ด้าน Futures Literacy ที่มีความโดดเด่นในระดับสากล คือ ‘Futurium’ ในเมืองเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ซึ่งถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ‘บ้านแห่งอนาคต’ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อตั้งโดยความร่วมมือระหว่างกระทรวงศึกษาธิการ สถาบันต่างๆ ทั้งด้านการวิจัย วิทยาศาสตร์ นวัตกรรม และศิลปะ กระบวนการเรียนรู้ครอบคลุมการสำรวจอนาคต ทั้งที่น่าจะเป็น ควรจะเป็น และอยากให้เป็น
เนื้อหาทั้งหมดได้รับการพัฒนาอย่างเข้มข้นโดยทีมนักวิทยาศาสตร์ แล้วสื่อสารผ่านการเรียนรู้ที่สนุกและเร้าพลังทางความคิด นิทรรศการแบ่งเป็นประเด็นสำคัญ 5 ประการที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของทุกคน ได้แก่ อาหาร สุขภาพ พลังงาน การทำงาน และวิถีชีวิตคนเมือง สารพัดคำถามแปลกประหลาดถูกหยิบยกขึ้นมาเพื่อถามหาความเป็นไปได้และกระตุ้นให้อยากหาคำตอบ เช่น เมื่อไหร่สมาร์ทโฟนจะถูกพัฒนาจนตกหลุมรักมนุษย์ พลังงานไฟฟ้าจะมาจากดวงจันทร์ได้หรือไม่ มนุษย์ยังมีความลับอะไรอีกบ้าง ฯลฯ
หนึ่งในพื้นที่ไฮไลต์คือ Futurium Lab พื้นที่เรียนรู้สำหรับการทดลอง ทดสอบ และประดิษฐ์ ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้เข้าชมได้พัฒนาผลงานต้นแบบด้วยเครื่องพิมพ์สามมิติ เข้าร่วมทีม Hackathon หรือทดลองนวัตกรรมด้านอาหารในครัว มีการจัดแสดงสิ่งประดิษฐ์ล้ำสมัย เช่น หุ่นยนต์ช่วยพิมพ์ คอมพิวเตอร์แต่งเพลง ดอกไม้ประดิษฐ์ที่ส่งตรงจากโลกอนาคต และการสร้างวัสดุชีวภาพใหม่จากสาหร่ายและเชื้อรา
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมส่งเสริมให้ผู้คนมาร่วมพูดคุยถึงอนาคต เช่นเมื่อเร็วๆ นี้ มีการจัดฉายสารคดีและสนทนาเรื่อง “How to Kill the Cloud” ว่าด้วยประเด็นขัดแย้งทางจริยธรรมของโครงการวิศวกรรมด้านภูมิอากาศ ภายใต้เงื่อนไขทางการเมืองและสังคมที่ซับซ้อน การเสวนาเกี่ยวกับเมืองสีเขียวซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับมนุษย์ในเชิงกายภาพเท่านั้น แต่ยังมีผลโดยตรงต่ออารมณ์และความรู้สึกของผู้คน ทั้งนี้ ในวันอาทิตย์มีกิจกรรมสำหรับเด็กและครอบครัวโดยเฉพาะ รวมทั้งมีโปรแกรมทัศนศึกษาหรือเวิร์กชอปตามความสนใจของกลุ่มนักเรียน
คุณค่าที่อยู่เบื้องหลังพิพิธภัณฑ์ Futurium ที่ล้ำสมัยคือ การไม่เพิกเฉยต่อความเป็นไปของสังคมในอนาคต หรือยอมจำนนต่อชะตากรรมโดยไม่ลุกขึ้นมาทำอะไรเลย ทุกอย่างล้วนเป็นไปตามกฎแห่งการกระทำ เราทุกคนต่างต้องรับผิดชอบ และสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการเลือกกำหนดอนาคตให้ดีกว่าเดิม ต่อไปการเรียนรู้ไม่ว่าจะในหรือนอกระบบโรงเรียน ระดับอุดมศึกษาหรือก่อนอุดมศึกษา ก็จะให้ความสำคัญกับ Futures Literacy มากยิ่งขึ้น ท้ายที่สุดแล้วมีแต่ความสำนึกเช่นนี้เท่านั้น โลกของเราจึงจะไม่เดินเข้าสู่เส้นทางแห่งหายนะ ดังที่ปรากฏในภาพยนตร์หรือวรรณกรรมหลายเรื่อง
ที่มา
เว็บไซต์ Futurium (Online)
บทความ “House of tomorrow: Berlin’s Futurium museum to host guests again” จาก dailysabah.com (Online)
บทความ “Futurium” จาก de.wikipedia.org (Online)
บทความ “Berlin’s Futurium Shines a Sophisticated Light into a Drab Corner of the City” จาก metropolismag.com (Online)
บทความ “The Fantastic Futurium” จาก berlinunwrapped.com (Online)
บทความ “What Is ‘Futures Literacy’ and Why Is It Important? | by Nicklas Larsen | FARSIGHT” จาก medium.com (Online)
บทความ “จุฬาฯ หนุน Futures Literacy ทักษะอนาคตเพื่อสร้างปัจจุบันที่ดีกว่า” จาก chula.ac.th (Online)