“ผืนป่าในนอร์เวย์กำลังเจริญเติบโต อีก 100 ปีข้างหน้า มันจะกลายเป็นหนังสือที่รวบรวมผลงานของนักเขียน ที่ต้นฉบับถูกส่งไปเก็บไว้ทุกปี ไม่เคยเผยแพร่ที่ใด ปี 2114 งานเขียนเหล่านี้จะถูกพิมพ์ลงบนกระดาษจากต้นไม้ที่ปลูก เพื่อให้ผู้คนในอีกศตวรรษหนึ่งได้อ่าน”
ข้อความนี้ปรากฏอยู่ในหน้าแรกของเว็บไซต์ Future Library หรือห้องสมุดแห่งอนาคต โปรเจกต์ปลูกป่า Nordmarka ทางตอนเหนือของกรุงออสโล ประเทศนอร์เวย์ ของเคท แพทเทอร์สัน (Kate Paterson) ศิลปินชาวไอริช เพื่อนำกระดาษที่ได้จากการปลูกต้นไม้ 1,000 ต้น มาพิมพ์ต้นฉบับของเหล่านักเขียนชื่อดัง ไม่ว่าจะเป็นมาร์กาเรต แอตวูด (Margaret Atwood) นักเขียนและกวีนิพนธ์ชาวอเมริกันเจ้าของผลงาน The Handmaid’s Tale ซึ่งเป็นนักเขียนคนแรกที่เข้าร่วมโปรเจกต์ โอเชี่ยน หว่อง (Ocean Vuong) กวีและนักเขียนชาวเวียดนาม-อเมริกัน หรือ เดวิด มิทเชล (David Mitchell) นักเขียนเจ้าของนวนิยายเลื่องชื่อ Cloud Atlas
มีเพียงแค่ชื่อผลงานเท่านั้นที่จะถูกเปิดเผย อีกราว 91 ปี นักอ่านถึงจะมีโอกาสได้อ่านงานของนักเขียนที่อาจจะเสียชีวิตไปแล้ว!
ต้นฉบับของทุกคนถูกเก็บไว้เป็นความลับในห้องสงัด (Silent Room) ที่ประกอบไปด้วยลิ้นชักไม้นับร้อย ในห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา (Deichman Bjørvika) เมืองออสโล ห้องนี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อเดือนมิถุนายนปีที่แล้ว โดยหันหน้าไปทางผืนป่าที่ปลูกอนาคตของห้องสมุดเอาไว้ ห้องเล็กๆ แต่อบอุ่นต้อนรับผู้มาเยือนด้วยโครงสร้างคราฟต์ที่ทำจากไม้กว่า 16,000 ชิ้น
ทุกๆ ปี ลิ้นชักจะถูกเติมด้วยต้นฉบับจากนักเขียน 1 ปี 1 เรื่อง 100 ปี 100 เรื่อง พร้อมได้รับการดูแลให้ปลอดภัยไร้การเสื่อมสลาย มีการดีไซน์จัดแสง และเก็บรักษาผลงานให้อยู่ยาวนาน ผู้คนสามารถเดินชมและตีความการดำรงอยู่ของห้องสมุดในเวลานี้และในอนาคตได้เสมอ อีกทั้งยังสามารถเดินสำรวจป่าได้ตลอดเวลาว่าต้นสนเติบโตไปถึงไหนแล้ว
Future Library คือโปรเจกต์แห่งอนาคตที่พร้อมส่งมอบการเรียนรู้เกี่ยวกับ การอ่าน ห้องสมุด วรรณกรรม สิ่งแวดล้อม ภาวะโลกรวน และธรรมชาติ ผ่านพื้นที่สาธารณะ โปรเจกต์นี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทุน Future Library Trust เทศบาลเมืองออสโล และโปรเจกต์ศิลปะเพื่อสาธารณะ Slow Space โดยห้องสมุดไดค์มัน บยอร์วิกา
สัญญา 100 ปี คือการสัญญาว่าเมืองออสโลพร้อมทุ่มเทให้กับการพัฒนาศิลปะ รักษาสิ่งแวดล้อม ชุมชน รวมไปถึงภาษา ห้องสมุดแห่งอนาคตถูกดีไซน์มาเพื่อสะท้อนความมุ่งหวังของมนุษยชาติในการปกปักรักษาภาษาเขียนให้ยั่งยืนข้ามช่วงอายุขัย เป็นของขวัญที่จะมอบให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป อีกทั้งยังกระตุ้นให้เกิดสำนึกทางสิ่งแวดล้อม ตั้งคำถามต่ออนาคตของการอ่าน และเชื่อมโยงสถานที่ในโลกจริงเข้ากับความงดงามของจินตนาการ
“ในช่วงเวลา 8 ปี ตั้งแต่การก่อตั้งโปรเจกต์ วิกฤตโรคระบาด ความกังวลที่มีต่อวิกฤตภาวะโลกรวนและสงครามในยูเครนก็เพิ่มมากขึ้น ภารกิจที่จะมอบความหวังให้อนาคต จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนขึ้นตามไปด้วย” มิทเชลและสยอน (Sjón) นักเขียนชาวไอซ์แลนด์ กล่าว และสยอนยังบอกต่อว่าเส้นทางของการปลูกป่าในออสโล ยังเปรียบได้กับการอุปมาว่าวรรณกรรมทำงานอย่างไร มันเป็นการทำงานของคนรุ่นต่างๆ และความวิเศษของโปรเจกต์นี้ ก็คือเคททำให้คอนเซปต์ใหญ่ๆ อย่างเรื่อง ‘เวลา’ และ ‘จักรวาล’ เป็นที่ประจักษ์และเข้าใจได้
ทุกๆ ฤดูใบไม้ผลิ จะมีการจัดพิธีกรรมพิเศษในป่าเพื่อมอบต้นฉบับอย่างเป็นทางการจากนักเขียน ซึ่งเป็นกิจกรรมฟรี ใครสามารถเข้าร่วมก็ได้ นักเขียนจะเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมถามคำถามในห้องสมุดสาธารณะแห่งใหม่ ไดค์มัน บยอร์วิกา ซึ่งเป็นกิจกรรมที่จะดำเนินต่อไปเรื่อยๆ ถูกส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น
“ผมรู้สึกว่านี่คือโปรเจกต์ที่มีวิสัยทัศน์ เป็นการมองโลกในแง่ดี ที่ดื้อด้านและงดงามเป็นอย่างมาก ถ้ามีใครเริ่มโปรเจกต์แบบนี้ตั้งแต่ปี 1914 แทนที่จะเป็นปี 2014 ตอนนี้โปรเจกต์ก็จะจบลงแล้ว ลองคิดถึงนักเขียนที่จะเข้าร่วมสิ ทั้งเจมส์ จอยซ์ เจมส์ บาววิน หรือยูดอรา เวลตี้เลยนะ!” มิทเชลกล่าว
ในแง่ของการคิดค้นเรียนรู้ การปลูกป่าเพื่อใช้เป็นกระดาษเพื่อพิมพ์วรรณกรรม จัดกิจกรรมการอ่านทุกปี สร้างห้องสมุดเพื่อเก็บหลักฐานไว้ให้คนรุ่นหลัง เดิมพันกับอนาคตและคนอ่านที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นใคร จึงถือเป็นอีกหนึ่งการทดลองทั้งเชิงนามธรรมและรูปธรรม นำมาสู่การตั้งคำถามต่อโลก ว่าปีนี้ต้นไม้เป็นอย่างไร ศิลปวรรณกรรมเป็นอย่างไร ห้องสมุดมีคนให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน
และอาจไปไกลถึงประเด็นเรื่องความเปราะบางทางภาษา เช่น ในอีก 100 ปี จะยังมีคนพูดภาษาใดภาษาหนึ่งอยู่อีกไหม ใครจะมาเป็นผู้แปลได้บ้าง หรืองานเขียนของบางคนจะยังมีคนอ่านอยู่อีกไหม
ที่มา
บทความ “‘You’ll have to die to get these texts’: Ocean Vuong’s next manuscript to be unveiled in 2114” จาก theguardian.com (Online)
บทความ “Future Library opens secret archive of unseen texts in Oslo | Future Library” จาก theguardian.com (Online)
เว็บไซต์ Future Library (Online)
เว็บไซต์ Katie Paterson (Online)