ในที่สุด เจอร์รี่ เฟียลกา (Gerry Fialka) ผู้กำกับภาพยนตร์แนวทดลองจากรัฐแคลิฟอร์เนีย ก็นำพาสมาชิกบุ๊กคลับ บุกตะลุยอ่านหนังสือเล่มหนาเรื่อง ‘Finnegans Wake’ มาจนถึงหน้าสุดท้ายได้ ในช่วงปลายปี 2023 ใช้เวลาทั้งสิ้น 28 ปี ซึ่งนานกว่าเวลาที่เจมส์ จอยซ์ (James Joyce) ใช้ในการสร้างสรรค์ผลงานชิ้นนี้ขึ้นมาเสียอีก
เฟียลกาก่อตั้งบุ๊กคลับนี้ในปี 1995 โดยนัดพบกันทุกๆ เดือนตามห้องสมุดเพื่อร่วมกันอ่าน Finnegans Wake ครั้งละ 2 หน้า ก่อนที่จะค่อยๆ ลดจำนวนการอ่านลงเหลือเพียงหน้าเดียวในระยะหลังด้วยความยากของเนื้อหา ไม่น่าแปลกใจที่ใช้เวลานานขนาดนี้ในการอ่านหนังสือเพียงหนึ่งเล่ม
สมาชิกที่ร่วมอ่านด้วยกันมามีความมุ่งมั่นและเป้าหมายที่ชัดเจน แม้ในช่วงที่ต้องกักตัวระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังนัดหมายกันอ่านผ่านระบบ Zoom บรูซ วูดไซด์ (Bruce Woodside) หนึ่งในผู้เข้าร่วมบุ๊กคลับตั้งแต่ช่วงปีแรกๆ ยอมรับว่าเคยห่างหายไปนานเกือบ 20 ปี ก่อนที่จะกลับมาร่วมอ่านต่อจนจบในวัยหลังเกษียณพร้อมกับเพื่อนร่วมคลับ ตัวเขาเองนั้นอ่าน เลิกอ่าน และกลับมาอ่านหนังสือเล่มนี้ใหม่ วนไปมาอยู่หลายครั้ง ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นและยังไม่ได้เข้าร่วมบุ๊กคลับกับเฟียลกาด้วยซ้ำ
“มันเป็นหนังสือยาว 628 หน้าที่ดูคล้ายกับว่าจะเต็มไปด้วยข้อความที่พิมพ์ผิด เต็มไปด้วยความเพ้อฝัน จินตนาการ” วูดไซด์อธิบาย ในช่วงเวลาที่เขาไม่ได้กลับมาอ่านหนังสือร่วมกับเพื่อนๆ ในคลับ เขาเคยเข้าร่วมบุ๊กคลับอื่นๆ บ้างเป็นบางครั้ง แต่พบว่าไม่มีคลับไหนที่ให้บรรยากาศสนุกสนานและเต็มไปด้วยความคิดเห็นที่ เฉียบคมเหมือนกับคลับของเฟียลกาเลย
หนังสือของ เจมส์ จอยซ์ ขึ้นชื่อลือชาในเรื่องความอ่านยากอยู่แล้ว แต่ Finnegans Wake เป็นเล่มที่อ่านยากขึ้นไปอีกระดับ ความยากไม่ได้อยู่ที่พล็อตเรื่องเท่านั้น แต่อยู่ที่คำศัพท์มากมายที่ผู้เขียนคิดขึ้นมาเอง ทำให้หนังสือเล่มนี้คล้ายกับจะเต็มไปด้วยข้อความไร้สาระ ไร้ความหมาย บางประโยคก็ไม่ได้ประกอบด้วยประธาน กริยา กรรม แบบตรงไปตรงมา หลักฐานที่เห็นชัดเจนก็คือ แค่เปิดเรื่องขึ้นมาก็เริ่มต้นที่กลางประโยคเสียแล้ว
Finnegans Wake จึงเป็นหนังสือที่หากใครไม่ชอบก็ไม่อยากจะหยิบขึ้นมาอ่านอีกครั้ง แต่ถ้าใครชอบก็จะรู้สึกว่าเป็นชิ้นงานศิลปะทรงคุณค่าชิ้นหนึ่ง
บุ๊กคลับของเฟียลกา เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดบุ๊กคลับแห่งอื่นๆ ตามมา ยกตัวอย่างเช่น ปีเตอร์ ควอดริโน (Peter Quadrino) ซึ่งเข้าร่วมเป็นสมาชิกในปี 2008 เขาเต็มใจที่จะขับรถนานถึง 3 ชั่วโมงจากซานดิเอโกเพื่อมาร่วมอ่าน เพราะหาคนที่จะพูดคุยกันรู้เรื่องได้น้อยมาก เมื่อต้องย้ายไปที่รัฐเท็กซัสในปี 2011 เขาถึงกับก่อตั้งบุ๊กคลับขึ้นมาเพื่ออ่านหนังสือเล่มนี้โดยเฉพาะ จนถึงตอนนี้ผ่านมาแล้ว 12 ปี ยังอ่านไปได้เพียงครึ่งเล่ม
ในวันที่อ่านมาถึงหน้าสุดท้าย เฟียลกาบอกให้สมาชิกทุกคนหายใจเข้าลึกๆ ข่มความใจหาย และร่วมกันท่องบทกวีเพื่อเป็นเกียรติแก่หนังสือเล่มนี้พร้อมกัน แต่มันจะไม่ใช่การพบปะกันครั้งสุดท้ายของแฟนหนังสือแน่นอน เฟียลกายืนยัน
“ใครบอกว่าเราอ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ประโยคสุดท้ายของเรื่องมีแค่ครึ่งเดียว มันย้อนกลับไปบรรจบกับประโยคแรกต่างหาก เนื้อหาของหนังสือเล่มนี้วนเป็นวงกลม คุณจะไม่มีวันอ่านจบ”
จริงดังที่เฟียลกากล่าวเอาไว้ ประโยคสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ที่ถูกตัดเหลือเพียงครึ่งแรก สามารถบรรจบกับประโยคเปิดของเรื่องที่มีเพียงครึ่งหลังได้แบบพอดิบพอดี
“[ประโยคสุดท้าย] A way a lone a last a loved a long the [ประโยคเปิด] riverrun, past Eve and Adam’s, from swerve of shore to bend of bay, brings us by a commodius vicus of recirculation back to Howth Castle and Environs.”
เดือนต่อมา บุ๊กคลับของเฟียลกาย้อนกลับไปอ่าน Finnegans Wake ที่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง “ไม่มีเล่มอื่นอีกแล้ว” เฟียลกาประกาศ “บุ๊กคลับของเราจะอ่านแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวเท่านั้นแหละ”
มาพิสูจน์กันว่าหนังสือเล่มนี้อ่านยากจริงหรือไม่ ทดลองอ่านบางส่วนของ Finnegans Wake ฉบับภาษาอังกฤษ ที่มีเชิงอรรถอธิบายคำศัพท์ชวนฉงนของ เจมส์ จอยซ์ ได้ที่ http://finwake.com/1024chapter1/1024finn1.htm
ที่มา
บทความ “‘It never ends’: the book club that spent 28 years reading Finnegans Wake” จาก theguardian.com (Online)
บทความ “A Book Club Took 28 Years to Read ‘Finnegans Wake.’ Now, It’s Starting Over.” จาก nytimes.com (Online)