เคยสงสัยกันไหมว่า หนังสือที่คุณกำลังถืออยู่ในมือ ใช้ทรัพยากรธรรมชาติและปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่สิ่งแวดล้อมมากน้อยเพียงใด ?
แต่ละปีมีหนังสือกระดาษทั่วโลกถูกตีพิมพ์ราว 700 ล้านเล่ม นับเป็นอุตสาหกรรมใหญ่เป็นอันดับสามที่ก่อให้เกิดภาวะเรือนกระจก เฉพาะที่สหรัฐอเมริกาแห่งเดียวมีการตัดต้นไม้เพื่อนำมาทำกระดาษมากถึงปีละ 32 ล้านตัน และก่อคาร์บอนไดออกไซด์ 40 ล้านตัน
มีงานวิจัยที่ศึกษาวัฏจักรชีวิต (Life Cycle) ของหนังสือ พบว่าในแต่ละกระบวนการผลิตมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จำแนกเป็นส่วนของวัสดุ 49.4% การออกแบบ 9.6% การทำเพลต 19.3% การกระจายหนังสือ 16.4% บรรจุภัณฑ์ 3.2% การพิมพ์ 0.4%
ในช่วงเวลาที่นานาชาติกำลังผลักดันแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียน และของเสียเหลือศูนย์ (Zero Waste) ทำให้หลายสำนักพิมพ์เริ่มหันมาทบทวนถึงเรื่องความยั่งยืนและ Carbon Footprint ในกระบวนการผลิตอย่างจริงจัง ตัวอย่างเช่น
สำนักพิมพ์ Random House ตั้งเป้าหมายว่าภายในปี 2030 จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากกิจกรรมการผลิตหนังสือให้เป็นศูนย์ (carbon neutrality) ตั้งแต่การใช้กระดาษรีไซเคิลในการพิมพ์หนังสือ การตัดฉากหรือรายละเอียดที่ไม่จำเป็นออกไปจากเนื้อเรื่อง การนำโครงเรื่องหนังสือที่ขายดีไปต่อยอดเป็นหนังสือเล่มต่อๆ ไป การสร้างอาคารสำนักพิมพ์ที่ได้รับมาตรฐาน LEED Platinum ซึ่งเป็นมาตรฐานของอาคารอนุรักษ์พลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ไปจนถึงการให้ความสำคัญกับการทำการตลาดออนไลน์ และลดการจัดกิจกรรมโปรโมตหนังสือที่สิ้นเปลือง เป็นต้น
ด้านสำนักพิมพ์ Macmillan ลดการปล่อยคาร์บอนให้เป็นศูนย์ได้สำเร็จในปี 2017 สามารถใช้พลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนในการผลิต 100% มีการชดเชยคาร์บอนเครดิต (Carbon Offsets) โดยการสนับสนุนการฟื้นฟูป่าในบราซิล ปานามา ซิมบับเว อินโดนีเซีย และอีกหลายประเทศ
บริษัท HP Publishing Solutions ซึ่งมีส่วนในกระบวนการจัดพิมพ์หนังสือ ได้เสนอทางออกให้กับสำนักพิมพ์และผู้บริโภค โดยใช้แนวทาง ‘Printing to order’ หรือจัดพิมพ์ตามความต้องการในการสั่งซื้อหนังสือ โดยมองว่าแหล่งที่ตั้งของโรงพิมพ์ที่อยู่ไกลจากผู้ซื้อ ทำให้เกิดการปล่อยคาร์บอนจำนวนมาก ในขณะที่แนวทางใหม่จะสามารถช่วยลดการขนส่ง การบริหารจัดการ การจัดเก็บ และการทำลายหนังสือกรณีที่ขายไม่ออก
ในอีกด้านหนึ่ง ก็เกิดกระแสการสนับสนุนการอ่านแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งสามารถช่วยลดปริมาณกระดาษในฐานะ ตัวการที่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ แต่เมื่อพิจารณาลึกลงไป ใช่ว่าการอ่านแบบอิเล็กทรอนิกส์จะไม่ก่อให้เกิดมลพิษเลย เพราะการชาร์จกระแสไฟฟ้า การผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหลาย ล้วนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทั้งสิ้น ดังนั้นสิ่งที่น่าจับตาต่อจากนี้ คือสำนักพิมพ์ต่างๆ จะมีนวัตกรรมหรือแนวทางในการผลิตหนังสือแบบไหน ภายใต้เงื่อนไขที่เคารพต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด
ที่มา
บทความ “Eco-publishing Handbook: the Container Is Important Too” จาก lab.cccb.org (Online)
บทความ “ECO-PUBLISHING” จาก herothailand.com (Online)
บทความ “An Eco-Friendly Approach to Publishing: Close-up on HP Publishing Solutions” จาก publishersweekly.com (Online)
บทความ “Book Publishers Go Green To Reduce Their Carbon Footprint” จาก greenmatters.com (Online)