ถอดรหัสความสำเร็จ ‘Dokk1’ ต้นแบบห้องสมุดประชาชนแห่งศตวรรษที่ 21

838 views
8 mins
October 31, 2021

          ห้องสมุด Dokk1 เป็นห้องสมุดหลักแห่งใหม่ของเมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก เปิดทำการอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2015 และนับแต่นั้นเป็นต้นมา ห้องสมุดก็ประสบความสำเร็จอย่างมหาศาลในแง่จำนวนผู้ใช้บริการและเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ การันตีด้วยการคว้ารางวัลห้องสมุดยอดเยี่ยมประจำปี (Public Library of the Year Award) ในปี 2016 โดยสหพันธ์นานาชาติแห่งสถาบันและสมาคมห้องสมุด (IFLA)

          แม้เมืองอาร์ฮุสมีประชากรเพียง 3.3 แสนคน แต่ห้องสมุด Dokk1 สามารถดึงดูดผู้ใช้บริการได้ถึง 1.3 ล้านคนต่อปี ได้รับเสียงตอบรับที่ดีเยี่ยมจากประชาชน นักท่องเที่ยว นักวิจารณ์จากนานาประเทศ และผู้คนในแวดวงห้องสมุด

          การออกแบบพื้นที่และการให้บริการของห้องสมุด Dokk1 กินระยะเวลายาวนานหลายปี โดยได้นำการคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดมาใช้ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้มีส่วนร่วมและช่วยกันคิดหาทางออกให้กับปัญหา

          รอล์ฟ เฮเพล (Rolf Hapel) ผู้อำนวยการงานบริการประชาชนและห้องสมุด Dokk1 และอดีตกรรมการที่ปรึกษาโครงการ Global Libraries ของมูลนิธิบิลแอนด์เมลินดาเกตส์ กล่าวว่า ความท้าทายของห้องสมุดคือการมองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างห้องสมุดกับชีวิตผู้คน แม้ว่ายุคสมัยจะเปลี่ยนแปลงไป แต่ห้องสมุดยังเป็นองค์กรที่น่าเชื่อถือและจำเป็นต้องรักษาไว้ ทว่าจะไม่ใช่สถานที่สำหรับเข้าไปเพื่อค้นหาความรู้เพียงอย่างเดียว แต่เป็นสถานที่สำหรับให้ผู้คนได้พบปะ ทดลอง และใช้สมอง

          วิธีคิดดังกล่าว นำไปสู่โมเดลการพัฒนาพื้นที่ของห้องสมุด (ทั้งกายภาพและดิจิทัล) ของเดนมาร์กเพื่อการเรียนรู้ ที่เรียกว่า ‘แบบจำลองจัตวากาศ’ หรือ Four Spaces Model ประกอบด้วยพื้นที่ 4 ประเภท ได้แก่ พื้นที่เพื่อสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration space) พื้นที่เพื่อการเรียนรู้ (learning space) พื้นที่เพื่อการพบปะสังสรรค์ (meeting space) และพื้นที่เพื่อการแสดงออก (performance space) โดยโมเดลนี้พัฒนามาจากการทบทวนประสบการณ์ของห้องสมุดทั้งระดับชาติและนานาชาติ ก่อนนำไปประยุกต์ใช้และกลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของห้องสมุดทั่วประเทศเดนมาร์ก

           ในบทความชิ้นนี้ The KOMMON พาไปถอดบทเรียนความสำเร็จของ Dokk1 ในฐานะที่เป็นต้นแบบของห้องสมุดประชาชนที่ตอบโจทย์วิถีชีวิตผู้คนยุคใหม่ เช่นเดียวกับการเป็นพื้นที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

การมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการ

          หนึ่งในองค์ประกอบสำคัญที่ส่งผลต่อความสำเร็จของ Dokk1 คือการมีส่วนร่วมของผู้ใช้บริการ โดยก่อนที่สภาเมือง (City Council) จะตัดสินใจสร้างห้องสมุดหลักแห่งใหม่ในเมืองอาร์ฮุสในปี 2003 มีความพยายามทำให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมและเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการ สองปีก่อนหน้านั้นผู้บริหารห้องสมุดได้แต่งตั้ง ‘คณะกรรมการวิสัยทัศน์’ เพื่อกำหนดวิสัยทัศน์ให้กับห้องสมุดแห่งใหม่ ประกอบด้วยบุคคลที่มีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งด้านสถาปัตยกรรม ห้องสมุด เทคโนโลยีสารสนเทศ และพลวัตด้านวัฒนธรรม โดยทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษาให้กับผู้อำนวยการห้องสมุด และเป็นแกนนำในการพัฒนาเอกสารแสดงวิสัยทัศน์ฉบับแรกสำหรับห้องสมุดแห่งใหม่

          หลังการตัดสินใจสร้างห้องสมุด ได้มีการปรับโครงสร้างคณะกรรมการวิสัยทัศน์ จนนำไปสู่การแต่งตั้งคณะที่ปรึกษา 2 ชุด ได้แก่ คณะที่ปรึกษาเชิงกลยุทธ์ (Strategic Advisory Board) ซึ่งให้คำปรึกษาแก่นายกเทศมนตรีด้านวัฒนธรรมแห่งเมืองอาร์ฮุส ในเรื่องความคืบหน้าการพัฒนาและการก่อสร้าง อีกชุดหนึ่งคือคณะไอเดีย (Idea Group) ซึ่งให้คำปรึกษาแก่ผู้อำนวยการห้องสมุด องค์คณะทั้ง 2 ชุดเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการสร้างเครือข่าย โดยมีเป้าหมายเพื่อเผยแพร่แนวคิดการสร้างห้องสมุดแห่งใหม่ในชุมชนท้องถิ่น

          นอกจากนี้ ยังมีการใช้กลยุทธ์อีกหลายอย่างในการดึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้ใช้บริการ ให้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาแนวคิดและแผนการดำเนินงาน ตั้งแต่การสัมภาษณ์แบบกลุ่ม การประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสนอความคิดให้แก่ผู้มีอำนาจตัดสินใจ การอภิปรายบริเวณจัตุรัสเมือง การให้ผู้ใช้บริการที่มีความเป็นผู้นำมีส่วนร่วมในฐานะหุ้นส่วน การให้เด็กคาดการณ์อนาคตของห้องสมุด และการออกแบบประเภทอื่นที่ขับเคลื่อนโดยผู้ใช้บริการ

Dokk1
Photo : Dokk1

วัฒนธรรมเมกเกอร์ และชุมชนสตาร์ทอัพ

          ไม่กี่ปีมานี้คำศัพท์ ‘making’ และ ‘hacking’ มีความหมายที่กว้างกว่าเดิม แนวโน้มดังกล่าวให้คุณค่ากับอิสรภาพ การใช้ซ้ำทรัพยากร การแบ่งปันเครื่องมือและองค์ความรู้ ที่สำคัญที่สุดคือท่าทีอันเอื้อเฟื้อต่อกันในการช่วยเหลือและแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ความเคลื่อนไหวนี้ส่งผลอย่างยิ่งต่อห้องสมุดประชาชนในหลายประเทศ สำหรับประเทศเดนมาร์ก มีการผนวกเรื่องนี้ไว้ในยุทธศาสตร์เดนมาร์กว่าด้วยเรื่องห้องสมุดประชาชน (Danish strategy for public libraries) จัดทำโดยกระทรวงวัฒนธรรม

          ในยุคที่การเผยแพร่ความรู้เกิดขึ้นในรูปแบบดิจิทัลและโลกออนไลน์มากขึ้น ประชาชนมิได้เป็นเพียงผู้บริโภคสินค้าวัฒนธรรม แต่ยังเป็นผู้ผลิตเนื้อหาและผู้รังสรรค์วัฒนธรรมด้วย ผ่านการส่งเสริมและการจัดกิจกรรมต่างๆ เช่น แฮกเกอร์สเปซ หรืองานเมกเกอร์แฟร์ ซึ่งจัดโดยความร่วมมือของหุ้นส่วนที่มากความสามารถและองค์กรพัฒนาเอกชน โดยห้องสมุดมีบทบาทสำคัญในฐานะปัจจัยที่ช่วยเร่งการพัฒนาโครงการ การแลกเปลี่ยนความคิด และการสร้างเครือข่ายในภาคประชาสังคม       

          กรอบความคิดที่เชื่อมโยงกับ making และ hacking นี้ ได้นำพวกเราไปสู่การทำงานอย่างหนักกับชุมชนสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นธุรกิจที่สร้างระบบนิเวศฐานรากให้กับเมือง มีการจัดงานอีเวนต์ให้สตาร์ทอัพได้มีโอกาสปรึกษาผู้เชี่ยวชาญและผู้ประกอบการ รวมทั้งได้พบปะ business angels ซึ่งช่วยเป็นพี่เลี้ยงและให้การสนับสนุนพวกเขา ด้วยแนวทางดังกล่าว ผู้มีศักยภาพในการลงทุนจะได้เสวนากับบุคคลที่กำลังเริ่มต้นสร้างธุรกิจและอยู่ในระยะที่มีแนวโน้มเติบโต (growth layer) และได้พบปะกับบริษัท ผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ ที่น่าสนใจ

          กิจกรรมดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการขยายเครือข่าย และการสร้างจิตสำนึกด้านการมีส่วนร่วมและเป็นเจ้าขององค์กรให้กับพลเมืองในอาร์ฮุส ขณะเดียวกับก็เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งในกระบวนการทางการเมืองท้องถิ่น การวางแผนเชิงกายภาพ และการพัฒนาบริการสาธารณะ ในประเทศเดนมาร์กและอีกหลายประเทศ

          บทบาทของห้องสมุดมีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการพัฒนาดังกล่าว ในฐานะพื้นที่เชิงกายภาพในอุดมคติ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ถือว่าห้องสมุดเป็นสถาบันที่ไม่มุ่งผลเชิงพาณิชย์และเป็นกลาง เชื่อมโยงอย่างแนบแน่นกับภาคประชาสังคม รวมทั้งให้ความสำคัญกับค่านิยมการแบ่งปัน การสานเสวนาที่เป็นประชาธิปไตย เสรีภาพในการพูดและการคิด และสิทธิเสมอภาคสำหรับทุกผู้ทุกนาม

          ปัจจุบัน ห้องสมุดในหลายประเทศเริ่มให้ความสำคัญกับบทบาทที่ว่านี้มากขึ้น โดยปรับตัวเองให้เป็นตัวกลางและช่องทางสำหรับกระบวนการมีส่วนร่วม ส่งเสริมการตัดสินใจ โดยมีประชาชนเป็นผู้ร่วมรังสรรค์และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ

Dokk1
Photo : Dokk1

การเป็นหุ้นส่วน

          ห้องสมุด Dokk1 มีพื้นฐานมาจากแนวความคิดการเป็นศาลาประชาคม กล่าวคือให้บริการอาคารและพื้นที่สำหรับจัดกิจกรรมต่างๆ อย่างอิสระ โดยกิจกรรมเหล่านั้นไม่จำเป็นต้องดำเนินการโดยห้องสมุดเท่านั้น แต่สามารถดำเนินการโดยหน่วยงานบริการประชาชนและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง

          ในเชิงหลักการแล้ว ศาลาประชาคมประกอบด้วยองค์ประกอบหลัก 3 ประการ ได้แก่ 1) ภาคประชาสังคม ซึ่งมีส่วนร่วมด้วยความสมัครใจในรูปแบบต่างๆ เช่น ร้านกาแฟสำหรับนั่งทำการบ้าน หอจดหมายเหตุและบันทึกประวัติศาสตร์ท้องถิ่น และการเป็นหุ้นส่วนกับอาสาสมัครในภาคสังคม 2) ห้องสมุด ซึ่งดำเนินการกิจกรรมต่างๆ เช่น การให้ยืมและการใช้สื่อภายในอาคาร การให้คำปรึกษา จัดอีเวนต์และกิจกรรมเสวนา การให้ยืมอุปกรณ์ และบริการอื่นๆ ด้วยการเป็นหุ้นส่วนกับทั้งภาคเอกชนและภาครัฐ 3) หน่วยบริการประชาชน เป็นหน่วยงานของภาครัฐซึ่งดำเนินการโดยยึดแนวคิดการให้บริการตนเอง  

          ด้วยความเข้าใจว่าห้องสมุดเชิงกายภาพ เป็นส่วนหนึ่งขององค์ประกอบดังกล่าว และกิจกรรมต่างๆ เป็นเหมือนโครงสร้างที่เชื่อมต่อกัน สิ่งที่เกิดขึ้นคือการประกอบโครงสร้างในรูปแบบใหม่ ด้วยการเพิ่มโครงสร้างและการสร้างสถาบันใหม่เพื่อจัดการกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคต โดยยังมีพื้นที่ที่จัดสรรไว้เพื่อให้บริการห้องสมุดแบบดั้งเดิม เช่น การให้ยืมหนังสือ การจัดอบรมและกิจกรรมเชิงวัฒนธรรม

          อย่างไรก็ตาม กิจกรรมส่วนใหญ่ดำเนินไปตามความต้องการของพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง ชุมชนท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชน สมาคมในท้องถิ่น และหน่วยบริการภาครัฐ ดังนั้น กิจกรรมที่เป็นหัวใจสำคัญซึ่งดำเนินการในช่วงสองปีก่อนการเปิดตัว Dokk1 คือการกำหนด ‘ว่าที่หุ้นส่วน’ ห้องสมุดภายในเมือง

          คำถามที่เกิดขึ้นคือ องค์กรใดจะสนใจปฏิบัติงานร่วมกับ Dokk1 และการผสานพลังระหว่าง Dokk1 กับองค์กรเหล่านั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทั้งสองฝ่ายได้อย่างไร หนึ่งในคำแนะนำหลักถูกระบุไว้ในยุทธศาสตร์เดนมาร์กว่าด้วยเรื่องห้องสมุดประชาชน คือการสร้างหุ้นส่วนกับองค์กรพัฒนาเอกชน สมาคม สถาบันการศึกษา รวมทั้งหน่วยบริการภาครัฐและองค์กรอื่นๆ ที่ไม่มุ่งผลเชิงพาณิชย์

          หัวใจสำคัญของโมเดลนี้ คือการดำเนินการต่างๆ ต้องปราศจากผลประโยชน์ในรูปเม็ดเงิน หุ้นส่วนทั้งหลายรับหน้าที่ป้อนเนื้อหาและผู้ดำเนินการให้โครงการหรืองานอีเวนต์ ส่วนห้องสมุดรับผิดชอบด้านพื้นที่ การนำชม และให้บริการ โดยในปี 2018 Dokk1 มีหุ้นส่วนกว่า 130 ราย มีโครงการที่หุ้นส่วนร่วมดำเนินงานคิดเป็นร้อยละ 60 (ราว 140 โครงการต่อเดือน) ปริมาณงานอีเวนต์และกิจกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น ณ Dokk1 และบรรดาห้องสมุดสาขาในเมืองอาร์ฮุส มีมากกว่า 2,000 ครั้งต่อปี

          จากที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่ามีการใช้ห้องสมุดเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจกรรมซึ่งได้รับการสนับสนุนจากหุ้นส่วน และหุ้นส่วนได้รับประโยชน์ตอบกลับในรูปการเข้าถึงสาธารณชนผ่านโครงการและสิ่งอำนวยความสะดวกของพวกเรา ดังนั้น การเป็นหุ้นส่วนจึงเป็นโอกาสสำหรับสร้างสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายต่างก็ได้รับประโยชน์ (win-win situation) ห้องสมุดที่มีทรัพยากรจำกัดจะสามารถจัดกิจกรรมด้านวัฒนธรรมและกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ที่ครบถ้วนได้ ขณะเดียวกัน หุ้นส่วนที่ไม่มุ่งผลเชิงพาณิชย์จะเข้าถึงสาธารณชนและได้ประโยชน์จากการใช้งานพื้นที่ห้องสมุด ประการสำคัญคือสาธารณชนได้รับประสบการณ์และการเรียนรู้ภายในห้องสมุดเพิ่มขึ้นอย่างอเนกอนันต์

Dook1
Photo : Dook1

การทดลองและโครงการพัฒนา

          ทีมงานของ Dokk1 ได้พัฒนากลยุทธ์การสร้างนวัตกรรม จากระเบียบวิธีวิทยาที่เรียกว่า ‘ห่วงโซ่การสร้างนวัตกรรมเจ็ดประการ’ (Seven Circles of Innovation) โดยการออกประกาศเชิญชวนให้บุคลากรนำเสนอบริการใหม่ๆ ในฤดูใบไม้ผลิของทุกปี

          บุคลากรที่มีแนวคิดและข้อเสนอแนะ จะเขียนข้อเสนอโครงการโดยย่อให้คณะผู้บริหารห้องสมุดพิจารณา โดยบุคลากรที่เป็นเจ้าของโครงการที่โดดเด่น จะได้รับคำเชิญให้นำเสนอแนวคิดของตนต่อผู้บริหาร หากโครงการได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการต่อ เจ้าของโครงการจะได้รับการยกเว้นจากการปฏิบัติหน้าที่อื่นเป็นช่วงระยะเวลาหนึ่งตามแต่กำหนด เพื่อพัฒนาแนวคิดหรือดำเนินโครงการต่อไป

          ในส่วนของบประมาณ ผู้บริหารได้จัดสรรเงินก้อนหนึ่ง (ประมาณ 65,000 ยูโร) เป็นเงินก้นถุงสำหรับโครงการ ควบคู่ไปกับการระดมเงินทุนจากภายนอก วิธีการนี้ทำให้ห้องสมุดสามารถระดมเงินทุนได้ราวห้าแสนถึงหนึ่งล้านยูโรต่อปี สำหรับใช้ในการพัฒนาบริการที่เกี่ยวเนื่องกับหุ้นส่วน

          ปี 2017 ห้องสมุดในเมืองอาร์ฮุสได้ดำเนินการและนำเสนอโครงการพัฒนาหลายร้อยโครงการ เช่น หลักสูตรการเรียนรู้ดิจิทัลเบื้องต้น (Digital ABC) ซึ่งบุคลากรห้องสมุดพัฒนาร่วมกับคณาจารย์จากโรงเรียนมัธยมในท้องถิ่น เป้าหมายของหลักสูตรนี้คือเพื่อสอนคนหนุ่มสาวให้สามารถเข้าถึงบริการดิจิทัลสาธารณะได้ ปัจจุบันหลักสูตรดังกล่าวถูกนำไปใช้สอนทั่วประเทศเดนมาร์ก ตัวอย่างที่สองคือชั้นอินเตอร์แอคทีฟ (interactive floor) ซึ่งเริ่มต้นจากการเป็นแนวคิดโครงการ แต่ในที่สุดได้รับการพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำไปขายให้กับหน่วยงานอื่น อีกหนึ่งตัวอย่างคือโครงการโอเพนซอร์สชื่อว่า ‘TING’ ซึ่งเริ่มต้นจากจุดประสงค์ที่ต้องการพัฒนาโปรแกรม open API (Application Program Interface) มาใช้กับระบบห้องสมุด แต่สุดท้ายได้รับการพัฒนาจนเป็นระบบหลักของห้องสมุดดิจิทัลแห่งประเทศเดนมาร์ก (Danish Digital Library) ทำให้ห้องสมุดของเทศบาลทั่วประเทศทำงานประสานกันได้ เป็นต้น

          ผลจากกการนำเสนอโครงการดังที่กล่าวมา ทำให้บุคลากรห้องสมุดจำนวนมากได้มีส่วนร่วมในหนึ่งหรือหลายโครงการ โดยพวกเขาไม่เพียงได้เรียนรู้เนื้อหาของกิจกรรมเท่านั้น แต่ยังได้เรียนรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานข้ามขอบเขตจำกัด การทำงานร่วมกับหุ้นส่วนและผู้ประกอบการภายนอกห้องสมุด การทำให้เป้าหมายโครงการประสบความสำเร็จ การสื่อสารกับหน่วยงานภายนอกองค์กร และการแสวงหาองค์ความรู้ในมิติอื่นๆ ที่ทรงคุณค่า

          ท้ายที่สุดแล้ว กระบวนการดังกล่าวจะทำให้เกิดการสร้างชุมชนแห่งการปฏิบัติ (communities of practice) ภายในสถานที่ทำงาน สร้างวัฒนธรรมแห่งการเปลี่ยนแปลง และจุดประกายให้เกิดการสร้างนวัตกรรมทั่วทั้งองค์กร โดยทั้งสองปรากฏการณ์ได้อุบัติขึ้นแล้วในเมืองอาร์ฮุส

Dokk1
Photo : Dokk1

เด็กและการเล่นเป็นเรื่องสำคัญ

           การสร้างสถานที่พิเศษสำหรับเด็กและครอบครัว ผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของพลเมืองและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่ Dokk1 ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก มีการออกแบบพื้นที่ที่ส่งเสริมการเล่น การเรียนรู้ และประสบการณ์ร่วมสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ไล่ตั้งแต่การสร้างพื้นที่พิเศษภายในอาคารเพื่อรองรับกิจกรรม ให้บริการสื่อ คำปรึกษา และสิ่งอำนวยความสะดวก โดยมีเด็กและครอบครัวเป็นกลุ่มเป้าหมายหลัก

           ความพยายามดังกล่าว ก่อให้เกิดพื้นที่ที่ประกอบด้วยฉากอเนกประสงค์ พื้นที่แบบปิดสำหรับการเล่นที่ใช้เสียง ถนนแห่งเกม ห้องแล็บสำหรับเด็ก ห้องแล็บสำหรับเด็กก่อนวัยรุ่น พื้นที่เล่นสำหรับเด็กวัยหัดเดิน ตู้เสื้อผ้าสำหรับแปลงโฉม พื้นที่โถงพักผ่อนสำหรับเด็กและครอบครัว พื้นที่สำหรับจอดรถเข็นเด็ก ห้องรับประทานอาหาร และห้องมิดชิดสำหรับการให้นมบุตร โดยพื้นที่ทั้งหมดนี้ถูกเสริมด้วยทรัพยากรหนังสือแบบดั้งเดิมภายในห้องสมุด

           เช่นเดียวกับพื้นที่ส่วนอื่นของห้องสมุด พื้นที่สำหรับเด็กและครอบครัวเหล่านี้สามารถยืดหยุ่นเปลี่ยนแปลงได้หลายรูปแบบ มีกิจกรรมจำนวนมากที่ดำเนินการร่วมกับหุ้นส่วน เช่น โรงเรียนประถมศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชนด้านวัฒนธรรมเด็ก และหน่วยงานด้านสุขภาพเด็ก

Dokk1
Photo : Dokk1

ห้องสมุดของประชาชน เพื่อประชาชน

          ในการวางแผนและการตกแต่งพื้นที่ภายในอาคาร เกิดขึ้นภายใต้ฐานคิดที่ว่า อาคารเป็นสมบัติของชุมชน พลเมืองเป็นเจ้าของห้องสมุดที่แท้จริง มิใช่บุคลากรห้องสมุดหรือนักการเมือง มีการออกแบบที่มุ่งเน้นการรักษาสมดุลระหว่างเฟอร์นิเจอร์แบบถาวรและแบบปรับเปลี่ยนได้ และความสมดุลระหว่างพื้นที่แบบเปิดและพื้นที่ที่กำหนดการใช้งานไว้แล้วล่วงหน้า

          ผู้ใช้บริการสามารถจัดพื้นที่ด้วยตนเองโดยไม่ฝ่าฝืนกฎระเบียบหรือทำให้เฟอร์นิเจอร์เสียหาย ในโอกาสหนึ่ง พื้นที่แบบเปิดอาจเสริมด้วยโต๊ะและเก้าอี้ และจัดเป็นสถานที่สำหรับการประชุมเชิงปฏิบัติการ ในอีกโอกาสหนึ่ง พื้นที่นั้นอาจเสริมด้วยหมอนและโต๊ะกลางสำหรับชั่วโมงเล่านิทาน ในบางโอกาส พื้นที่นั้นอาจถูกใช้เพื่อจัดนิทรรศการหรือจัดเป็นพื้นที่สำหรับเมกเกอร์ และอีกโอกาสหนึ่ง พื้นที่นั้นอาจเป็นเพียงพื้นที่เปิดโล่งซึ่งมีโอกาสปรับเปลี่ยนเพื่อใช้งานได้ไม่มีที่สิ้นสุด

          หากพิจารณาว่ามนุษย์เป็นปัจจัยที่ไม่เปลี่ยนแปลง ห้องสมุดยุคใหม่จะต้องมุ่งให้อาคารเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกิจกรรมของมนุษย์ โดยเป็นพื้นที่ซึ่งไม่อัดแน่นด้วยชั้นวางหนังสืออีกต่อไป แต่ควรมีสิ่งที่เรียกว่า ‘โอเอซิส’ ระหว่างชั้นวางหนังสือ คือพื้นที่เล็กๆ ประกอบด้วยเก้าอี้มีพนักวางแขนคุณภาพดีสองสามตัว กับโต๊ะขนาดเล็กอีกหนึ่งตัว ควรมีเวทีและฉากในพื้นที่แบบเปิดสำหรับการจัดการแสดง ควรเพิ่มพื้นที่แบบเปิดและลดพื้นที่แบบปิดและพื้นที่แบบกึ่งปิด ควรมีห้องประชุมและห้องเรียนจำนวนมาก และควรมีคอกสำหรับอ่านหนังสือซึ่งผู้ใช้บริการสามารถสำรองที่นั่งด้วยตนเองทางเว็บไซต์

Photo : Dokk1

          องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างที่มักถูกมองข้าม สำหรับการสร้างประสบการณ์ให้ผู้ใช้บริการได้รับความสะดวกสบายคือเรื่องเสียง ความเงียบสงัดในห้องสมุดแบบดั้งเดิมอาจสร้างบรรยากาศที่สงบ แต่ก็อาจสร้างความรู้สึกหม่นหมองและเข้มงวด รวมทั้งกระตุ้นการตรวจตราซึ่งกันและกันหากเกิดสิ่งรบกวนแม้เพียงเล็กน้อย กลยุทธ์ที่ดีกว่าการกำหนดนโยบายงดใช้เสียงในทุกพื้นที่ คือการจำกัดการใช้เสียงเฉพาะภายในพื้นที่แบบปิดและพื้นที่เก็บเสียง

          Dokk1 เป็นอาคารขนาดมหึมา มีพื้นที่ทั้งหมด 30,000 ตารางเมตร โดย 18,500 ตารางเมตรเป็นพื้นที่ห้องสมุดและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบริการประชาชน อาคารมีลักษณะภายนอกที่ค่อนข้างดิบและแปลกตา แต่ก็กลมกลืนกับภูมิทัศน์ของเมืองและท่าเรือ นอกจากนี้ ยังมีการตกแต่งด้านในอาคารด้วยคอนกรีต กระจก และโลหะจำนวนมาก

          หัวใจสำคัญในการออกแบบ คือระบบการจัดการโดยรวมของอาคาร ต้องได้รับการสรรค์สร้างให้เข้ากับผู้ใช้บริการ นั่นคือมนุษย์ ระบบบริหารจัดการอาคารจะต้องถูกสื่อสารผ่านการจัดลำดับห้องและพื้นที่ ซึ่งคำนึงถึงความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์เป็นหลัก การจัดลำดับพื้นที่และการเผยแพร่เนื้อหาให้ตอบสนองความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ มีการพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศมากขึ้น โดยป้อนข้อมูลให้ผู้ใช้บริการผ่านทั้งทางโซเชียลมีเดีย และใช้ช่องทางดิจิทัลที่ทันสมัย ซึ่งถูกพัฒนาด้วยระบบโอเพนซอร์สและสามารถแสดงบนจอภาพดิจิทัลจำนวนมากภายใน Dokk1

          การตกแต่งพื้นที่ภายในของ Dokk1 จึงสอดคล้องกับทั้งความต้องการพื้นฐานของมนุษย์และโลกยุคดิจิทัล ด้วยการพิจารณาอาคารห้องสมุดในเชิงกายภาพว่าเป็นกลุ่มพื้นที่อเนกประสงค์ที่เชื่อมโยงกัน ให้บริการกับชุมชนท้องถิ่นในการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต สร้างประสบการณ์เชิงวัฒนธรรม และเสริมสร้างความร่วมมือกับชุมชน แทนที่จะเป็นสถานที่สำหรับจัดเก็บและเผยแพร่ข้อมูลซึ่งมีรูปแบบจำกัดอย่างในอดีต

Photo credit : Dokk1
Photo : Dokk1


ที่มา

สรุปประเด็นจาก “การตั้งมาตรฐานใหม่สำหรับห้องสมุดประชาชน – ห้องสมุด Dokk1 แห่งเมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก” (Setting new standards for public libraries – Dokk1 in Aarhus, Denmark) บทความประกอบการบรรยายและวีดิทัศน์การบรรยาย เรื่อง “A New Tale of the Public Library in the Networked Society” ในงานประชุมวิชาการ TK Forum 2018 โดย รอล์ฟ เฮเพล (Rolf Hapel) ผู้อำนวยการงานบริการประชาชนและห้องสมุดแห่งเมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก


เผยแพร่ครั้งแรก  มีนาคม 2561
เผยแพร่ซ้ำ  กรกฎาคม 2561 (ปรับปรุงแก้ไขใหม่ในปี 2564 สำหรับเว็บไซต์ The KOMMON)
พิมพ์รวมเล่มในหนังสือ กล่อง (2561)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก