Digital Humanities การปรับตัวของมนุษยศาสตร์ในกระแสเทคโนโลยี

1,615 views
6 mins
June 19, 2023

          ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีกระแสข่าวเกี่ยวกับการเติบโตอย่างรวดเร็วของสาขาวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในขณะที่หลักสูตรในสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์กลับถูกมองว่ามีความสำคัญลดลงในวงการการศึกษา สถิติจำนวนผู้เรียนสาขาปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ รวมถึงภาษาต่างประเทศลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะผู้เรียนเกิดข้อกังขาถึงรายได้และความมั่นคงทางอาชีพในอนาคต

          บัณฑิตด้านภาษาจะสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานกับผู้คนจำนวนมากได้อย่างไร ในเมื่อความสามารถที่มีไม่ใช่ข้อได้เปรียบอีกต่อไป ใครๆ ก็สื่อสารภาษาต่างประเทศได้ อีกทั้งยังมีซอฟต์แวร์ช่วยแปลภาษา และ AI ซึ่งมีศักยภาพในการสร้างเนื้อหาประเภทต่างๆ ส่วนการเรียนสาขาปรัชญา ศาสนา หรือประวัติศาสตร์ ก็เอื้อต่อการทำงานในสายวิชาการมากกว่าวิชาชีพทั่วไป

          หนทางข้างหน้าของมนุษยศาสตร์อาจดูเหมือนมีแต่ความมืดมน ทว่าในขณะเดียวกันก็เกิดความรู้ใหม่ที่บูรณาการข้ามสาขา อย่าง ‘มนุษยศาสตร์ดิจิทัล’ (Digital Humanities) ซึ่งเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของการเรียนและการทำงานที่กว้างขวางหลากหลาย ความรู้ดังกล่าวไม่ใช่เพียงการฝึกทักษะคอมพิวเตอร์ให้ผู้เรียนด้านภาษา วรรณกรรม ปรัชญา หรือประวัติศาสตร์ แต่เป็นการสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้มีกระบวนทัศน์แบบผสมผสานระหว่างมนุษยศาสตร์และวิทยาการคอมพิวเตอร์ไว้ในคนเดียวกันอย่างลงตัว

มนุษยศาสตร์กำลังจะตาย?

          พื้นฐานของมนุษยศาสตร์ คือวิชาความรู้ว่าด้วยความคิดของมนุษย์ ซึ่งรู้จักใช้เหตุผลและพัฒนาตนเองให้มีจิตใจสูงส่งดีงาม จุดหมายปลายทางคือการทำความเข้าใจชีวิตมนุษย์เพื่อการดำรงอยู่อย่างมีคุณค่าและมีความหมาย วิชาที่เกี่ยวข้อง เช่น ภาษา ปรัชญา ศาสนา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม วรรณคดี ฯลฯ

          ในยุคปัจจุบันซึ่งเต็มไปด้วยแรงกดดันด้านเศรษฐกิจและสังคม มนุษยศาสตร์กำลังเผชิญความสั่นคลอน  สถิติของสหรัฐอเมริกาบ่งชี้ว่า นับตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเมื่อปี 2018 นักศึกษาเลือกเรียนสาขามนุษยศาสตร์น้อยลง เพราะต้องการโอกาสได้งานทำหรือรายได้ที่สูงกว่า แม้ต่อมาภายหลังเศรษฐกิจจะฟื้นฟู นักศึกษาก็ไม่ได้กลับมาเรียนสาขาวิชาภาษา ประวัติศาสตร์ และศิลปศาสตร์แขนงอื่นๆ แต่นิยมหันไปเลือกเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ การแพทย์ หรือการพยาบาล ปริมาณผู้เรียนจบด้านมนุษยศาสตร์จึงลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 29 ในปี 2012 เหลือร้อยละ 16 ในปี 2020

          อย่างไรก็ตาม เบนจามิน ชมิดต์ (Benjamin Schmidt) นักประวัติศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยนอร์ทอีสเทิร์น สหรัฐอเมริกา กล่าวว่า “การยอมรับว่ามนุษยศาสตร์อยู่ในภาวะวิกฤต ไม่ได้หมายความว่าศาสตร์สาขานี้กำลังสูญพันธุ์ แต่อาจมีพื้นที่ให้ยืนน้อยลง มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องตัดสินใจว่า จะกำหนดรูปแบบใหม่ให้มนุษยศาสตร์อย่างไร”

ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘มนุษยศาสตร์’ และ ‘เทคโนโลยี’

          มนุษยศาสตร์มักถูกวิจารณ์ว่า เป็นการศึกษาที่มีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลขนาดเล็ก เช่นการอ่านตัวบทหนังสือเพียงเล่มเดียวแล้วนำมาวิเคราะห์ และไม่ค่อยมุ่งอ้างผลวิจัยไปใช้ทั่วไป (Generalization) เทคโนโลยีดิจิทัลที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นได้เข้ามาช่วยเพิ่มขีดความสามารถการจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลด้านมนุษยศาสตร์ ในระดับกว้างและลึกอย่างไม่เคยมีมาก่อน การนำข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) มาใช้ ช่วยให้ค้นหาข้อมูลดิจิทัลจำนวนมหาศาลได้อย่างมีประสิทธิภาพและสะดวกรวดเร็ว อาทิ เอกสาร หนังสือ รูปภาพ เสียง และภาพยนตร์ เมื่อนำข้อมูลมาจัดการอย่างเป็นระบบทำให้เกิดสารสนเทศที่มีประโยชน์และมูลค่า

          รองศาสตราจารย์ ดร. ทรงพันธ์ เจิมประยงค์ อาจารย์ภาควิชาบรรณารักษศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย​ หัวหน้าแผนงานวิจัยวิถีดิจิทัลในมนุษยศาสตร์สู่การพัฒนากำลังมนุษย์อย่างยั่งยืน​ ซึ่งได้รับทุนสนับสนุนจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) เล่าถึงพัฒนาการของ ‘มนุษยศาสตร์ดิจิทัล’ ไว้ว่า ในระยะแรกถูกเรียกว่า Humanities Computing ซึ่งเป็นการนำรูปแบบการประมวลผลทางดิจิทัลมาช่วยศึกษาด้านมนุษยศาสตร์ ข้อมูลจำนวนมากถูกแปลงให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล และเกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีการสร้างความรู้ ในช่วงเดียวกันนี้ก็เกิดห้องสมุดดิจิทัลที่ให้บริการอีบุ๊ก เพลง​ วิดีโอ ภาพยนตร์ เว็บไซต์​ รวมไปถึงวิดีโอเกม

          เมื่อมีผู้สนใจมากขึ้นและเกิดการถกเถียงถึงความเป็นมนุษย์ในโลกเทคโนโลยี จึงมีการปรับชื่อเรียกการศึกษาแขนงนี้ Digital Humanities เพื่อเน้นความเป็นมนุษยศาสตร์และคุณค่าของความเป็นมนุษย์มากขึ้น​ การศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์ดิจิทัลจึงเริ่มเปิดรับมุมมองที่นอกเหนือไปจากการนำเทคโนโลยีในฐานะเครื่องมือหรือวิธีมาใช้ในการศึกษาหัวข้อทางมนุษยศาสตร์​ เช่น​ การวิพากษ์การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการศึกษาทางมนุษยศาสตร์​​ (เช่น​ ซอฟท์แวร์ใน​ อัลกอริทึม​หรือกลไกเชิงระบบ)​ ​ ​ อิทธิพลของเทคโนโลยีที่ส่งผลต่อการให้คุณค่าความเป็นมนุษย์​ (เช่น การสร้างตัวตนในโลกออนไลน์ หรือพฤติกรรมการอ่านออนไลน์)​ รวมไปถึงการนำระเบียบวิธีทางมนุษยศาสตร์​ เช่น​ การอ่านระยะใกล้​ (Close Reading) ซึ่งให้ความสำคัญกับแง่มุมและแนวคิดที่ไม่ใช่กระแสหลัก มาใช้กับข้อมูลมนุษยศาสตร์ที่อยู่ในรูปดิจิทัล​แทนการวิเคราะห์ทางสถิติเพื่อนำเสนอ​ “ความเป็นส่วนใหญ่” ของข้อมูล​ เป็นต้น

          มนุษยศาสตร์และเทคโนโลยีอาจดูเหมือนเป็นศาสตร์คนละขั้ว แต่จริงๆ แล้วสามารถพึ่งพากัน ดังจะเห็นได้ว่าคุณลักษณะที่คนในโลกดิจิทัลให้ความสำคัญเป็นสิ่งซึ่งนักมนุษยศาสตร์ถกเถียงกันมานานแล้ว เช่น การใช้ความคิดเชิงตรรกะเหตุผล การมีความคิดสร้างสรรค์ การเรียนรู้และต่อยอด การคิดเชิงซับซ้อน การต่อรอง รวมทั้งคุณค่าด้านคุณธรรม จริยธรรม ขนบ ธรรมเนียม ประเพณี และ สุนทรียศาสตร์

Digital Humanaities การปรับตัวของมนุษยศาสตร์ในกระแสเทคโนโลยี
รองศาสตราจารย์ ดร. ทรงพันธ์ เจิมประยงค์
Photo: ชลิดา​ อนุรัตน์

มนุษยศาสตร์ดิจิทัลทำอะไรได้บ้าง

          เมื่อมองถึงความเชื่อมโยงระหว่างมนุษยศาสตร์ดิจิทัลกับโลกของการทำงาน อาจารย์ทรงพันธ์มองว่า มนุษยศาสตร์ดิจิทัลไม่ได้เฉพาะเจาะจงเพื่องานอาชีพใดโดยเฉพาะ แต่เป็นการทำงาน Project- based แบบบูรณาการยิ่งขึ้น เช่น แต่เดิมผู้ที่ทำงานด้านห้องสมุด หอจดหมายเหตุ หรือพิพิธภัณฑ์ อาจสนใจเพียงว่าจะจัดเก็บสารสนเทศและนำออกมาให้บริการอย่างไร แต่มนุษยศาสตร์ดิจิทัลช่วยต่อยอดว่า เมื่อมีสารสนเทศแล้วจะนำมาประมวลผลได้อย่างไรบ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ส่วนผู้สนใจภาษาศาสตร์ก็อาจเรียนรู้ต่อยอดจนกลายเป็นผู้พัฒนา AI ด้านภาษา หรือผู้ทำงานด้านวัฒนธรรมก็อาจทำหน้าที่วิเคราะห์ข้อมูลด้านวัฒนธรรม

          เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว ผู้มีความรู้ด้านมนุษยศาสตร์ดิจิทัลอาจจะมีแต้มต่อดีกว่า หากสามารถใช้เครื่องมือได้หลากหลายเพื่อทำความเข้าใจบริบทต่างๆ และก้าวข้ามไปทำงานในสายงานอื่นได้มากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าผู้มีความรู้ด้านมนุษยศาสตร์เพียงอย่างเดียวนั้นด้อยว่า เพราะงานศึกษาทางมนุษยศาสตร์จำนวนมากก็เป็นเรื่องไม่เกี่ยวข้องกับดิจิทัล

          “ข้อดีของความรู้มนุษยศาสตร์คือมันคลาสสิก ไม่เหมือนความรู้บางสาขาที่ Outdate ได้ ในขณะเดียวกันก็มีข้อวิพากษ์ใหม่เกิดขึ้นเรื่อยๆ ผู้มีทักษะมนุษยศาสตร์แบบเดิมมีความได้เปรียบตรงมีความรู้ลึก แต่หากคุณอยากเข้าไปสู่วงสนทนาที่มีเรื่องดิจิทัลอยู่ก็ต้องศึกษาเพิ่ม ซึ่งมนุษยศาสตร์ฝั่งดิจิทัลยังมีดีมานด์สูงมาก”

          วิชาชีพที่เปิดกว้างสำหรับผู้เรียนด้านมนุษยศาสตร์ดิจิทัล เช่น นักออกแบบเว็บไซต์ นักพัฒนาสารสนเทศ นักข่าวเชิงข้อมูล (Data Journalist) นักออกแบบประสบการณ์ (UX/UI) ผู้จัดทำสิ่งพิมพ์ดิจิทัล วิศวกรรมซอฟต์แวร์ ผู้ให้บริการจดหมายเหตุดิจิทัล เจ้าหน้าที่ด้านมรดกวัฒนธรรมดิจิทัล นักประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ และนักพัฒนามัลติมีเดีย เป็นต้น

Digital Humanities การปรับตัวของมนุษยศาสตร์ในกระแสเทคโนโลยี
กระบวนการการทำงานของ Data Journalist ซึ่งเป็นหนึ่งในอีกหลายอาชีพที่ผู้เรียนมนุษยศาสตร์ดิจิทัลสามารถเลือกทำงานได้: เริ่มต้นด้วยการรวบรวมข้อมูลที่กระจายอยู่ตามแหล่งต่างๆ ถัดมาคือการคัดกรองและจัดระเบียบ เพื่อเตรียมพร้อมสู่การทำข้อมูลให้น่าสนใจด้วย Visualize และนำเสนอสู่ผู้อ่านโดยผูกโยงกับเรื่องราว

          ตัวอย่างโครงการซึ่งประยุกต์ใช้มนุษยศาสตร์ดิจิทัลเพื่อการทำงานที่สร้างผลกระทบทางสังคมในวงกว้าง เช่น เมื่อปี 2016 กลุ่ม Visual Librarian ในสหรัฐอเมริกา ใช้ตารางแบบอินเทอร์แอคทีฟ นำเสนอข้อมูลเชิงภาพ (Data Visualization) ช่วยให้พลเมืองทำความเข้าใจทัศนะของตนที่มีต่อผู้ชิงตำแหน่งประธานาธิบดี โครงการจัดทำแผนที่ชุมชนชาวยิว ของห้องสมุดมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA Library) ใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อกู้คืนและเก็บรักษาเอกสารทางประวัติศาสตร์ วิเคราะห์เชื่อมโยง และนำเสนอแผนที่ในหลากหลายมิติ

Digital Humanities การปรับตัวของมนุษยศาสตร์ในกระแสเทคโนโลยี
Photo: Visual Librarian

          แม้แต่เรื่องความรู้สึกของมนุษย์ที่วัดและจับต้องยาก ก็สามารถใช้มนุษยศาสตร์ดิจิทัลช่วยทำความเข้าใจ ดังเช่นงานศึกษาของมหาวิทยาลัยเวอร์มอนต์ ทำเหมืองข้อมูล (Data Mining) จากเพลงและบล็อกจำนวนมหาศาลในอินเทอร์เน็ต แล้วพัฒนาเป็นเครื่องมือวัดระดับความสุขของผู้คน ทีมวิจัยนี้ยังศึกษาเกี่ยวกับการแยกแยะข่าวปลอมออกจากข่าวจริง และความสัมพันธ์ระหว่างข้อความโซเชียลมีเดียกับการทำนายวิกฤตเศรษฐกิจ

          “มนุษยศาสตร์ดิจิทัล เปลี่ยนธรรมชาติงานของนักมนุษยศาสตร์ ทำให้นักวิชาการ บรรณารักษ์ นักจดหมายเหตุ และภัณฑารักษ์ ทำงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับสาธารณะมากขึ้น พวกเขาไม่เพียงเขียนหนังสือ แต่สามารถสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ สำหรับทุกคน” เทรเวอร์ โอเวนส์ หัวหน้าฝ่ายการจัดการเนื้อหาดิจิทัลคนแรกของหอสมุดรัฐสภาอเมริกัน กล่าว

มนุษยศาสตร์ดิจิทัล จากเทศสู่ไทย

          ในต่างประเทศ มหาวิทยาลัยหลายแห่งได้พัฒนาหลักสูตร หรือเปิดกลุ่มวิชาเอก วิชาโท ด้านมนุษยศาสตร์ดิจิทัล เพื่อผลิตบัณฑิตซึ่งมีทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ เข้าใจสังคมและวัฒนธรรม รวมทั้งวิเคราะห์ทางดิจิทัลที่ซับซ้อน มักประกอบด้วยกลุ่มวิชาความรู้พื้นฐานของศาสตร์และวิชาสายเทคโนโลยี เช่น ทฤษฎีและแนวคิด ระบบคอมพิวเตอร์ การเขียนโปรแกรม การพัฒนาฐานข้อมูล เครื่องมือดิจิทัล และวิธีวิทยาการวิจัย ในขณะเดียวกันก็มีวิชาด้านมนุษยศาสตร์ให้เลือกเรียนตามความสนใจเฉพาะทาง เช่น โบราณคดี คติชนวิทยา ประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ ปรัชญา การเมือง ศาสนา ภาษาต่างประเทศ และสังคมวิทยา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหลักสูตรออนไลน์ระยะสั้นใน MOOCs ซึ่งคนทั่วไปที่สนใจก็สามารถเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องมือดิจิทัลเพื่อจัดการข้อมูลในการทำงานหรือชีวิตประจำวัน

          สำหรับประเทศไทย ยังไม่มีสถาบันการศึกษาที่มอบปริญญาทางด้านสาขามนุษยศาสตร์ดิจิทัลโดยตรง ส่วนใหญ่มักเป็นการพัฒนารายวิชาที่มีการบูรณาการกันระหว่างด้านมนุษยศาสตร์ ศิลปกรรมศาสตร์ โบราณคดี วิทยาการคอมพิวเตอร์ และสื่อดิจิทัล ในกรณี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดสอนวิชาโทด้านเทคโนโลยีภาษาและสารสนเทศ มุ่งเน้นพัฒนากำลังคนที่มีความรู้และทักษะทางด้านภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์​ รวมถึงการเปิดวิชาโทมนุษยศาสตร์ดิจิทัลที่นิสิตสามารถเลือกเรียนรายวิชาจากหลากหลายภาควิชาที่เกี่ยวข้องกับมนุษยศาสตร์ดิจิทัล​ มหาวิทยาลัยขอนแก่น มีการจัดตั้งกลุ่มวิจัยด้านมนุษยศาสตร์ดิจิทัล ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับนักวิชาการด้านสารสนเทศศาสตร์​และมนุษยศาสตร์เชิงวัฒนธรรม เป็นต้น

          นอกเหนือจากการเรียนการสอนหรือวิจัยในมหาวิทยาลัยแล้ว ประเทศไทยยังมีความเคลื่อนไหวของหน่วยงานด้านศิลปวัฒนธรรมและเทคโนโลยี เช่น ห้องสมุดดิจิทัลวัชรญาณ ซึ่งจัดทำโดยเอกชน มีการนำเอกสารมาดัดแปลงเพื่อให้คอมพิวเตอร์สามารถอ่านและประมวลผลเนื้อหาได้ (Machine Readable Format) นอกจากนี้ยังมีอีกหลายหน่วยงานที่จัดเก็บหรือดิจิไทซ์ข้อมูล รวมทั้งจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ

          อาจารย์ทรงพันธ์ มองว่าสิ่งสำคัญซึ่งยังขาดหายไป คือยุทธศาสตร์ด้านการทำงานวัฒนธรรมเชิงดิจิทัล ทำให้ข้อมูลดิจิทัลที่มีอยู่ในตอนนี้กระจัดกระจายและไม่มีทิศทาง มีการสร้างคอลเลกชันดิจิทัลมากมายตามแต่ความสนใจหรือความพร้อมของแต่ละหน่วยงาน แต่ไม่มีเป้าหมายในการนำไปต่อยอด กล่าวคือ ข้อมูลจากห้องสมุดดิจิทัลสามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการค้นหาข้อมูลในระดับบรรณานุกรม แต่ยังไม่เพียงพอสำหรับการนำไปวิเคราะห์ของนักมนุษยศาสตร์

          ข้อจำกัดอีกประการหนึ่งคือ ประเทศไทยยังขาดวัฒนธรรมแบบเปิด มีการทำข้อมูลดิจิทัลแต่มักเป็นข้อมูลปิดที่ใช้เฉพาะในองค์กรเท่านั้น ทว่าการทำงานมนุษยศาสตร์ดิจิทัลซึ่งมีความซับซ้อน ไม่สามารถทำได้โดยคนคนเดียว แต่ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างคนหลายศาสตร์ที่มีความรู้และความเชี่ยวชาญหลากหลาย วัฒนธรรมแบบเปิดเป็นกลไกสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลจากหลากหลายแหล่ง​ ซึ่งทำให้การศึกษาทางด้านมนุษยศาสตร์ดิจิทัลมีความน่าสนใจ​มากขึ้น​และสามารถเข้าถึงได้ง่ายขึ้น​ นำไปสู่การเผยแพร่​ วิพากษ์และต่อยอดความรู้ทางด้านมนุษยศาสตร์ดำเนินไปได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด 


ที่มา

บทความ “‘มนุษยศาสตร์’ วิชาที่กำลังจะสูญหาย? จำเป็นอยู่ไหม เมื่อตลาดไม่ต้องการ” จาก prachatai.com  (Online)

บทความ “Careers for Digital Humanities Graduates: Digital Humanities at UCC” จาก ucc.ie (Online)

บทความ “The number of college graduates in the humanities drops for the eighth consecutive year” จาก amacad.org (Online)

บทความ “What Is Digital Humanities?” จาก whatisdigitalhumanities.com (Online)

บทความ “เกือบครึ่งของชาวอเมริกันที่เรียนสาขาวิชามนุษยศาสตร์และศิลปศาสตร์ ‘เสียใจ’ ที่เลือกเรียน และตัวเลขผู้เรียนกำลังน้อยลงเรื่อยๆ สวนทางสาย STEM ที่เพิ่มขึ้น” จาก thestandard.co (Online)

บทความ “มนุษยศาสตร์: ปัญหาและความท้าทายของการศึกษา” จาก tci-thaijo.org (Online)

บทความ “มนุษยศาสตร์ดิจิทัลคืออะไร” จาก arts.chula.ac.th (Online)

วิดีโอ “การพึ่งพากันระหว่างมนุษยศาสตร์และเทคโนโลยีดิจิทัล: บริบทของมนุษยศาสตร์ดิจิทัลไทย” (Online)

เว็บไซต์ Harvard University (Online)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก