คิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) พัฒนาห้องสมุดให้สะดุดใจผู้ใช้บริการ

11 views
July 20, 2021

ไม่มีใครสามารถตอบได้ว่าห้องสมุดที่ดีที่สุดควรจะเป็นอย่างไร เพราะห้องสมุดที่ดีของแต่ละสังคมย่อมขึ้นอยู่กับบริบทและศักยภาพในการตอบสนองต่อความต้องการของผู้คนและชุมชนทั้งในปัจจุบันและอนาคต หนึ่งในแนวทางที่จะช่วยพัฒนาห้องสมุดให้ตอบโจทย์ตรงความต้องการที่แท้จริงของผู้ใช้ คือการคิดเชิงออกแบบ

‘การคิดเชิงออกแบบ’ (design thinking) เป็นกระบวนการทำความเข้าใจความต้องการของผู้ใช้บริการและสร้างการมีส่วนร่วม ด้วยวิธีวิทยาที่มี ‘คนเป็นศูนย์กลาง’ ควบคู่ไปกับความเป็นวิทยาศาสตร์ที่สามารถพิสูจน์ได้เชิงประจักษ์

การคิดเชิงออกแบบสำหรับห้องสมุด เป็นขั้นตอนที่ออกแบบการแก้ปัญหาห้องสมุดอย่างมีความหมาย โดยคำนึงถึงจุดร่วมระหว่างปัจจัยด้านความต้องการของผู้คน ความเหมาะสมทางการเงิน และความเป็นไปได้ในเชิงปฏิบัติ เป็นกระบวนการที่เชื่อมั่นในศักยภาพของการสร้างสรรค์ การวิเคราะห์สถานการณ์ และการเปลี่ยนแนวคิดไปสู่รูปธรรม

ผู้ที่จะนำการคิดเชิงออกแบบไปปฏิบัติจำเป็นต้องมีทัศนะเหมือนนักออกแบบ คือมิใช่เพียงรู้ว่าจะวาดรูปได้อย่างไร แต่พร้อมทำความเข้าใจสิ่งที่ไม่รู้ และกล้าเผชิญกับความไม่ชัดเจนได้อย่างสร้างสรรค์ ทัศนะแบบนักออกแบบจะช่วยให้สามารถมองเห็นโอกาสที่แฝงอยู่ในปัญหา และมีความมั่นใจที่จะหาทางออกด้วยวิธีที่ต่างจากคนทั่วไป หรือเป็นแนวทางที่คนอื่นไม่กล้าเลือก เมื่อใดก็ตามที่ความคิดถูกเปลี่ยนผ่านจนสามารถนำต้นแบบไปใช้ปฏิบัติจริง นั่นหมายความว่าความคิดเหล่านั้นได้ส่งผลกระทบในระดับองค์กร และก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบขึ้นแล้ว

ขั้นตอนหรือกระบวนการคิดเชิงออกแบบสำหรับห้องสมุด ประกอบด้วยพลวัต 4 ขั้นตอนหลัก ได้แก่

การสร้างแรงบันดาลใจ (inspiration) การสร้างทางออกที่มีความหมายให้กับห้องสมุดเริ่มต้นด้วยการหาแรงบันดาลใจจากโลกรอบตัว และทำความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงความต้องการของผู้คน กระบวนการในขั้นตอนนี้ประกอบด้วยการรับฟัง การสังเกต และการเปิดกว้างสำหรับสิ่งที่ไม่ได้คาดหมายไว้ สิ่งที่ควรจะเตรียมพร้อมก็คือ การเสริมพลังบุคลากรของห้องสมุดให้มีประสบการณ์และมุมมองใหม่ๆ

การก่อร่างความคิด (ideation) เป็นระยะที่เปลี่ยนผ่านจากการค้นคว้าไปสู่การมองภาพเชิงปฏิบัติ ซึ่งจะกลายเป็นการออกแบบที่จับต้องได้ การพัฒนาความคิดจะช่วยกำหนดขอบเขตการออกแบบ การระดมสมองจะช่วยให้เกิดความคิดมหาศาล ท้ายที่สุดแล้วความคิดดังกล่าวจะถูกกลั่นกรองและเปลี่ยนเป็นสิ่งที่เป็นรูปธรรม ซึ่งห้องสมุดสามารถนำไปทดลองใช้ได้ในโลกความเป็นจริง

การทวนซ้ำ (iteration) คือการนำความคิดมาพัฒนาโดยอยู่บนพื้นฐานของเสียงสะท้อนกลับจากผู้ใช้บริการ ความคิดในครั้งแรกอาจใช่หรือไม่ใช่ความคิดที่ดีที่สุด ห้องสมุดจะต้องนำความคิดต้นแบบไปทดลองใช้เสียก่อน แล้วรวบรวมผลตอบกลับจากผู้ใช้บริการ และนำมาปรับปรุงพัฒนาความคิดให้ดียิ่งขึ้น กระบวนการคิดเชิงออกแบบมิได้ดำเนินไปเป็นเส้นตรง เมื่อดำเนินการไประยะหนึ่งแล้วอาจพบว่า มีความจำเป็นต้องย้อนกลับไปที่กระบวนการก่อนหน้าเพื่อพัฒนาความคิด ประสบการณ์หรือมุมมอง แล้วเข้าสู่ขั้นตอนทดสอบซ้ำแล้วซ้ำอีกก็ได้

การนำต้นแบบไปใช้ปฏิบัติจริง (getting to scale) เป็นการทำกิจกรรมนำร่องขนาดเล็ก (mini pilot) ไปใช้ในบริบทใหม่ที่มีความหลากหลาย ด้วยการยกระดับการทดลองให้กลายเป็นการประยุกต์ใช้ แต่ไม่ได้หมายความว่าการพัฒนาความคิดจะเสร็จสิ้นลงที่จุดนี้ ห้องสมุดสามารถเรียนรู้ คิดปรับปรุง และเอาใจใส่โครงการที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งวางแผนกลยุทธ์ระยะยาว ห้องสมุดที่ริเริ่มต้นแบบควรมีการถ่ายทอดบทเรียนจากประสบการณ์ทำงาน แบ่งปันให้กับผู้ที่สนใจกระบวนการคิดเชิงออกแบบสำหรับห้องสมุด เพื่อช่วยกันแก้ไขจุดอ่อนและต่อยอดจุดแข็งที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในหลายบริบท ซึ่งสุดท้ายแล้วก็คือการขยายผลต้นแบบให้กระจายไปอย่างกว้างขวางนั่นเอง

ผู้สนใจแนวคิดและเทคนิคการคิดเชิงออกแบบสำหรับห้องสมุด สามารถอ่านคู่มือ Design Thinking for Libraries: A Toolkit for Patron-Centered Design (ดาวน์โหลดฟรี ไฟล์ PDF ความยาว 121 หน้า ภาษาอังกฤษ) ซึ่งจัดทำโดยบริษัท IDEO ผู้ริเริ่มแนวคิดและแนวปฏิบัติ Design Thinking โดยความร่วมมือกับห้องสมุดประชาชนชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา และห้องสมุดประชาชนเมืองอาร์ฮุส ประเทศเดนมาร์ก ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิบิลล์และเมลินดาเกตส์ aakb.dk

และดาวน์โหลดฉบับสรุปย่อภาษาไทย ความยาว 8 หน้า แปลโดย ผศ.ดร. สมศักดิ์ ศรีบริสุทธิ์สกุล ได้ที่ designthinkingforlibraries.com

ติดตามข้อมูลข่าวสารความรู้เกี่ยวกับการคิดเชิงออกแบบสำหรับห้องสมุด ที่ designthinkingforlibraries.com

การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) พัฒนาห้องสมุดให้สะดุดใจผู้ใช้บริการ
Photo: DESIGN THINKING FOR LIBRARIES


ที่มา

เว็บไซต์ Design Thinking for Libraries (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก