“โรคระบาดกระตุ้นเตือนให้เราคิดถึงการสูญเสียมากขึ้น เราต่างก็เข้าใจว่าทุกคนจะต้องตาย แต่การพูดเรื่องความตายกลับเป็นเรื่องน่าอึดอัด เราไม่รู้จะเริ่มต้นคุยกับคนที่กำลังเศร้าโศกอย่างไร และไม่มีใครคิดวางแผนเกี่ยวกับการตาย ในสังคมของเราความตายเป็นเรื่องต้องห้ามยิ่งกว่าเรื่องเพศเสียอีก”
ความเห็นของหัวหน้าฝ่ายบริการด้านวัฒนธรรมของห้องสมุดเรดบริดจ์ กรุงลอนดอน สอดคล้องกับผลสำรวจที่พบว่าชาวอังกฤษเกือบ 80% เห็นว่าการพูดถึงความตายเป็นเรื่องยาก และการไม่สามารถระบายความรู้สึกทุกข์โศกออกมาให้ใครฟัง ส่งผลเสียต่อสุขภาพจิตอย่างรุนแรง
ห้องสมุดประชาชนเรดบริดจ์ ได้ริเริ่ม ‘ห้องสมุดความตายด้านบวก’ (Death Positive Libraries) สร้างพื้นที่ปลอดภัยในชุมชน ให้ผู้คนสามารถพูดคุยเรื่องความตายได้อย่างสบายใจและไม่รู้สึกโดดเดี่ยว โดยเน้นการใช้วรรณกรรม ศิลปะ และภาพยนตร์ เป็นสื่อกลางจุดประเด็นการเปิดอกสนทนาในเรื่องที่ละเอียดอ่อน
ห้องสมุดจัดคอลเลกชันหนังสือว่าด้วยความตายแยกไว้โดยเฉพาะและติดป้ายชัดเจนสะดุดตา มีการประดับตกแต่งห้องสมุดให้สอดคล้องกับกิจกรรมที่จัดขึ้นในแต่ละช่วง บางครั้งให้ความรู้สึกวังเวงและโศกเศร้า แต่บางครั้งกลับมีบรรยากาศที่สนุกสนาน มีสีสัน และก่อให้เกิดรอยยิ้มได้ เช่น คอนเสิร์ต และงานปาร์ตี้
ห้องสมุดความตายด้านบวกเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ ‘ความรักหลังความตาย’ ซึ่งเป็นการวิจัยร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยนอร์ทัมเบรียกับห้องสมุดประชาชน 3 แห่ง ในอังกฤษ วัตถุประสงค์เพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้เก็บรักษาความรัก ความทรงจำ และประสบการณ์อันล้ำค่า ซึ่งสามารถคงอยู่แม้ว่าตัวเราหรือคนที่รักตายจากโลกนี้ไปแล้ว
ในมุมหนึ่งของห้องสมุดติดตั้งซุ้มตกแต่งด้วยผ้าสีขาวราวกับงานศพ มีโต๊ะเก้าอี้สำหรับนั่งสนทนาถึงสิ่งที่แต่ละคนอยากให้เกิดขึ้นหลังการตาย มี ‘ตั๋วแห่งความตาย’ รอให้เลือกหลายสิบรูปแบบทั้งแบบธรรมดาและไม่ธรรมดา แต่พลังของเทคโนโลยีกำลังจะทำให้เป็นไปได้ในอนาคต เช่น การนำเถ้ากระดูกไปสร้างเป็นวัตถุแห่งความทรงจำโดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ การแปลงศพให้เป็นพลังงานไฟฟ้า การสวมเสื้อผ้าฝ้ายที่มีสปอร์เห็ดราให้ผู้ตายเพื่อการย่อยสลายที่ง่ายขึ้น การถ่ายโอนความคิดของมนุษย์ไปเก็บไว้ในหุ่นยนต์ ฯลฯ
ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 การให้บริการห้องสมุดความตายด้านบวกจำเป็นต้องเปลี่ยนจากพื้นที่กายภาพไปเป็นพื้นที่ดิจิทัล เช่น การจัด ‘คาเฟ่แห่งความตาย’ พื้นที่แบ่งปันประสบการณ์ ความหวัง และความกลัว เกี่ยวกับการสูญเสีย ในปี 2020 เพียงปีเดียว มีผู้คนร่วมพูดคุยและทำกิจกรรมออนไลน์มากกว่า 5,000 คน กว่า 60% ของผู้เข้าร่วมระบุว่า พวกเขารู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะพูดถึงความตายในห้องสมุด กิจกรรมนี้ทำให้เห็นว่า ห้องสมุดสามารถมีบทบาทเป็นพื้นที่ทางสังคมสำหรับการพูดคุยเรื่องราวที่ละเอียดอ่อน และช่วยเยียวยาจิตใจที่บอบช้ำในสถานการณ์อันวิกฤต
ผู้ที่ต้องการทดลองตีตั๋วแห่งความตาย สามารถร่วมกิจกรรมได้ง่ายๆ ผ่านช่องทางออนไลน์ ที่ลิงก์ https://afterlifetickets.co.uk/
ที่มา
เว็บไซต์ Love After Death (Online)
บทความ “Death positive libraries: A national framework” จาก librariesconnected.org.uk (Online)
บทความ “The Death Positive Library” จาก visionrcl.org.uk (Online)
บทความ “UK libraries become ‘death positive’ with books and art on dying” จาก theguardian.com (Online)