อาร์. เดวิด แลนเคส (R. David Lankes) อาจารย์ประจำและกรรมการบริหารคณะสารสนเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาท์แคโรไลนา มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในฐานะนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาห้องสมุดและวิชาชีพบรรณารักษ์ เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการโครงการห้องสมุดและสารสนเทศศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยซีราคิวส์ ล่าสุดในปีนี้ (2021) เขาพึ่งจะได้รับรางวัล Isadore Gilbert Mudge จากสมาคมห้องสมุดอเมริกัน ก่อนหน้านั้นในปี 2016 ได้รับรางวัล Ken Haycock ด้านการส่งเสริมวิชาชีพบรรณารักษ์ และหนังสือ The Atlas of New Librarianship ที่เขาเป็นผู้เขียนได้รับรางวัลหนังสือยอดเยี่ยม ABC-CLIO/Greenwood เมื่อปี 2012 ในสาขาวรรณกรรมห้องสมุด
แลนเคสเคยให้ความเห็นไว้นานแล้วว่า บทบาทของบรรณารักษ์กำลังวิวัฒน์ไปสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘ผู้อำนวยให้เกิดการสนทนาพูดคุย’ ซึ่งจะก่อให้เกิดปฏิสัมพันธ์กับชุมชนและเป็นผู้สนับสนุนความต้องการข้อมูลข่าวสารและการเรียนรู้ของคนแต่ละคน
“ห้องสมุดจำเป็นต้องมีอะไรที่มากกว่าหนังสือ เพราะเวลานี้เด็กกำลัง ‘อ่าน’ กันจริงๆ มากกว่าที่ได้เคยอ่านมาก่อน แต่สิ่งที่พวกเขาอ่านเป็นมากกว่าหนังสือ เช่นเว็บไซต์และเกมออนไลน์…
“คนจำนวนมากมักจะมองห้องสมุดในฐานะที่เป็นสถานที่เพื่อการเข้าถึงและบริโภคสารสนเทศเท่านั้น ไม่ใช่สถานที่เพื่อการสื่อสารพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ ดังนั้นห้องสมุดควรจะปรับบทบาทสถานที่ให้เกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่มีการติดต่อสัมพันธ์กันหรือการสื่อสารพูดคุยกันให้มากขึ้น”
เขากล่าวว่า ถ้าหากเรามีมุมมองต่อ ‘บรรณารักษ์’ ว่าเป็นเพียงผู้รวบรวมและดูแลจัดระบบหนังสือซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้ทางกายภาพเท่านั้น ความต้องการบรรณารักษ์ก็คงจะลดน้อยลงในโลกที่เป็นจริง เนื่องจากจำนวนห้องสมุดมีแนวโน้มลดลง แต่ถ้าเรามองการเปลี่ยนแปลงในโลกดิจิทัลซึ่งมีข้อมูลสารสนเทศจำนวนมหาศาลที่จำเป็นต้องถูกจัดการและจัดระบบให้สามารถสืบค้นง่าย ก็เท่ากับว่ามีห้องสมุดกำลังเปิดใหม่อีกหลายแห่ง นั่นหมายความว่าความต้องการบรรณารักษ์จะต้องเพิ่มขึ้น
ในภาวะที่ข้อมูลสารสนเทศจำนวนมากไหลเวียนผ่านทางออนไลน์ ห้องสมุดดั้งเดิมกำลังสูญเสียบทบาทฐานะที่เป็นผู้ให้บริการสารสนเทศ แต่บทบาทของบรรณารักษ์กลับจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นกว่าที่เคยเป็นมา
“ผมให้ความสนใจหลักอยู่ที่บรรณารักษ์ ไม่ใช่ห้องสมุด เพราะว่า ‘คน’ ต่างหากล่ะที่เป็นผู้สร้างบางสิ่งให้เกิดขึ้น ผมทำนายว่าในอนาคตจะเหลือห้องสมุดน้อยลง แต่บรรณารักษ์ยุคใหม่จะเพิ่มมากขึ้น ในขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวกหรือบริการทั้งหลายกำลังเกิดการเปลี่ยนผ่าน ห้องสมุดกายภาพจะกลายเป็นสถานที่ที่ซึ่งชุมชนได้มาพบปะสนทนาและรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนความคิดกัน พื้นที่ที่บรรณารักษ์ทำงานจะเป็นแค่สถานที่ซึ่งเรียบง่ายแค่พอมีที่ให้นั่ง ส่วนสื่ออิเล็กทรอนิกส์คือสิ่งปกติซึ่งมีไว้ให้ผู้ใช้บริการได้ใช้ค้นคว้าและอ่าน”
แลนเคสมองว่าการเปลี่ยนแปลงไปสู่ยุคดิจิทัลเป็นผลดีต่อผู้ใช้บริการห้องสมุด แต่ทัศนะที่มีต่อบทบาทภารกิจของห้องสมุดจะต้องเปลี่ยนไปด้วย
“ถ้าคุณพิจารณาห้องสมุดในฐานะที่เป็นแหล่งเก็บหนังสือเล่ม นับวันมันก็มีแต่จะเพิ่มมากขึ้นจนแออัดและถูกยัดไว้จนเต็มชั้น นั่นเป็นภาพที่น่าขนลุก แต่เรื่องพวกนี้กลับไม่มีใครขบคิดใส่ใจเอาเป็นธุระ ในทางกลับกัน มันจะวิเศษสักแค่ไหนถ้าคุณพิจารณาภารกิจของห้องสมุดในฐานะที่เป็นแหล่งเพิ่มพูนความรู้ให้แก่ชุมชน โดยเชื่อว่าคนสามารถสร้างความรู้ได้ด้วยตัวเอง ยิ่งมีสารสนเทศมากขึ้นและเข้าถึงได้อย่างสะดวกหรือมีช่องทางหลากหลายเท่าไหร่ ก็จะยิ่งดีมากขึ้นกับการสร้างความรู้ ซึ่งก็มีเพียงห้องสมุดเสมือนในโลกดิจิทัลเท่านั้นเองที่สามารถตอบสนองบทบาทภารกิจแบบนี้ และตอบโจทย์ความต้องการสารสนเทศและการสร้างความรู้ของผู้คนได้”
ที่มา
บทความ “Futurist interviews librarian futurist David Lankes” จาก wfs.org (Online)
บทความ “The Atlas of New Librarianship” จาก davidlankes.org (Online)