วีดิทัศน์ Creating Great Spaces for Learning บรรยายโดย แอนดรูว์ แฮร์ริสัน (Andrew Harrison) กรรมการบริษัท Spaces that Work และศาสตราจารย์ปฏิบัติวิชาชีพ มหาวิทยาลัยแห่งเวลส์ ทรินิตี้ เซนต์ เดวิด บันทึกในโอกาสการประชุมวิชาการประจำปี 2561 (TK Forum 2018) หัวข้อ “Creating Better Library: The Unfinished Knowledge”
ปัจจุบันคือยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง ปัจจัยแรกที่ส่งผลกระทบกับห้องสมุดคือการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี มีผลสำรวจว่า ตั้งแต่ปี 2009-2015 ชาวอเมริกันเข้าห้องสมุดลดลงจาก 36 ล้านคน เหลือเพียง 19 ล้านคน สัดส่วนผู้ใช้บริการที่เป็นนักเรียนลดลงถึง 72% ส่วนยอดการยืมคืนหนังสือก็ลดลงมากเช่นเดียวกัน จนนักวิเคราะห์หลายคนคาดการณ์ว่าในไม่ช้าห้องสมุดน่าจะสูญสิ้นและถูกแทนที่ด้วยโลกดิจิทัล ในอีกด้านหนึ่ง รูปแบบการเรียนรู้ของคนรุ่นใหม่ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่ในห้องเรียนสี่เหลี่ยมเท่านั้น ห้องสมุดจึงต้องเรียนรู้เรื่องการใช้พื้นที่และนวัตกรรมการให้บริการใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา
ในกรณีของห้องสมุดในสถาบันอุดมศึกษา จำเป็นต้องพิจารณาว่าในอนาคตจะมีสิ่งใดบ้างที่ส่งผลกระทบต่อมหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยจะมีบทบาทในการเปลี่ยนแปลงหรือช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมได้อย่างไร พื้นที่การเรียนรู้ในรูปแบบดั้งเดิมมักมีลักษณะเฉพาะเจาะจงตามแต่ละสาขาวิชา และมุ่งเน้นประโยชน์ด้านการเรียนและแสวงหาความรู้เป็นหลัก แต่ปัจจุบันห้องสมุดมีแนวโน้มเปลี่ยนเป็นพื้นที่อเนกประสงค์ (Multi-function) ที่ใช้ประโยชน์ได้หลากหลาย มิได้เน้นตอบสนองความต้องการของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และจะเป็นสถานที่สำหรับการพบปะทางสังคมด้วย
ห้องสมุดจำเป็นต้องเข้าใจพฤติกรรมของคนรุ่นใหม่และมีพื้นที่หลายแบบ ทั้งพื้นที่สำหรับนั่งทำงานเงียบๆ เพราะผู้ใช้บริการบางคนชอบใช้ความคิดตามลำพัง พื้นที่ที่สามารถใช้เสียงดังเพื่อทำกิจกรรมต่างๆ พื้นที่ขนาดใหญ่สำหรับให้ผู้ใช้บริการได้รวมกลุ่มกันและนำเสนอผลงานหรือถกเถียงแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พื้นที่สำหรับทำงานสร้างสรรค์และลงมือทำ รวมทั้งสนับสนุนการเรียนรู้แบบสหสาขาวิชาและการเรียนรู้แบบร่วมมือกัน โดยจัดสรรพื้นที่ที่มีปฏิสัมพันธ์ค่อนข้างสูงและพื้นที่ที่มีปฏิสัมพันธ์ต่ำออกจากกัน
ปัจจุบันพื้นที่แต่ละลักษณะจำเป็นต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยสนับสนุนการเรียนรู้อย่างเหมาะสม พื้นที่สำหรับการอ่านอาจไม่ต้องการอะไรที่ซับซ้อน แค่เพียงมีโต๊ะเก้าอี้และแสงสว่างที่เพียงพอ แต่พื้นที่ที่มีวัตถุประสงค์ด้านอื่น อาจต้องการกระดาน จอ เครื่องฉาย หากห้องสมุดไม่มีบริการ wi-fi ให้ผู้ใช้บริการเชื่อมต่อแบบไร้สายย่อมเป็นอุปสรรคต่อการเรียนรู้ เพราะคนรุ่นใหม่ต่างก็พกพาอุปกรณ์อัจฉริยะเป็นของตัวเองเพื่อแสวงหาความรู้และสื่อสาร
หากกล่าวถึง “ภูมิทัศน์ของโลกการเรียนรู้” อาจจำแนกพื้นที่ออกเป็น 3 ประเภท เพื่อให้มองเห็นถึงการใช้งานที่เป็นอยู่จริงในปัจจุบันและโอกาสในการปรับเปลี่ยนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น กล่าวคือมหาวิทยาลัยมักมีสัดส่วนพื้นที่การเรียนรู้แบบเฉพาะเจาะจงค่อนข้างมาก เช่น ห้องทดลองต่างๆ ทว่าพื้นที่เหล่านี้มีการใช้งานเพียง 8-12% เท่านั้น ส่วนพื้นที่สำหรับการเรียนรู้อย่างเป็นทางการมักถูกใช้งานเพียง 20% ส่วนพื้นที่ที่ดูเหมือนไร้ประโยชน์ เช่น ระเบียง หรือทางเดิน มีสัดส่วนพื้นที่มากยิ่งกว่าห้องเรียน โจทย์ที่ท้าทายมหาวิทยาลัยก็คือ การใช้ประโยชน์จากพื้นที่ที่ยังใช้งานไม่เต็มศักยภาพ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดด้านการเรียนรู้
แอนดรูว์ แฮร์ริสัน ยกตัวอย่างการบริหารจัดการพื้นที่การเรียนรู้ที่น่าสนใจ ซึ่งมีลักษณะการใช้งานพื้นที่แตกต่างไปจากสถาบันการศึกษาทั่วไป เช่น โรงเรียนวิตตร้า (Vittra Telefonplan) และห้องเรียนในมหาวิทยาลัยเมลเบิร์น (University of Melbourne Learning Lab) ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งออกแบบพื้นที่การเรียนรู้ให้มีลักษณะเหมือนสตูดิโอ มีความความยืดหยุ่นสูง ใช้งานได้หลายฟังก์ชั่น กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้แบบแอคทีฟและแบ่งปันความรู้ระหว่างกัน ส่วนห้องเรียนของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (D School, Stanford University) ก็ไม่ใช่ห้องบรรยาย แต่เหมือนเป็นห้องทดลองและทำโปรเจกต์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีเดลฟท์ (TU Delft) ประเทศเนเธอร์แลนด์ ได้ปรับพื้นที่ว่างระหว่างตึก 2 หลัง โดยสร้างหลังคาเชื่อมจนเกิดเป็นพื้นที่การเรียนรู้อีกแห่งหนึ่ง
ในพื้นที่การเรียนรู้ดังกล่าวผู้เรียนแต่ละคนสามารถเรียนรู้พร้อมกันหรือไม่พร้อมกันก็ได้ มหาวิทยาลัยจำเป็นต้องเล็งเห็นว่า จะนำเทคโนโลยีมาใช้อย่างไร เพื่อเชื่อมโยงพื้นที่ต่างๆ และผู้เรียนจำนวนมากให้เกิดปฏิสัมพันธ์และการแลกเปลี่ยนความคิดกัน รวมทั้งหาหนทางจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับการเรียนรู้ไว้ในโลกออนไลน์ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก เท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลา
ห้องสมุดในอนาคตจะเปลี่ยนจากศูนย์การเรียนรู้แบบดั้งเดิม กลายเป็นชุมชนเล็กๆ ที่ผู้เรียนได้พบปะกัน พวกเขาสามารถนั่งตรงไหนก็ได้ ทำอะไรตรงไหนก็ได้ พื้นที่อเนกประสงค์จะกลายเป็นพื้นที่ยอดนิยมของผู้ใช้บริการ ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดแรงไคน์บราวน์ (Rankine Brown Library) ของมหาวิทยาลัยวิกตอเรีย ประเทศนิวซีแลนด์ ซึ่งเปลี่ยนระเบียงให้กลายเป็นพื้นที่แห่งการเรียนรู้ ส่วนกำแพงเป็นพื้นที่ให้ผู้ใช้บริการเขียนอะไรลงไปก็ได้ ห้องสมุดหลายแห่งมีทรัพยากรหนังสือจำนวนนับล้านเล่ม เช่น ห้องสมุดอเล็กซานเดรีย (Library of Alexandria) ประเทศอียิปต์ และห้องสมุดแห่งใหม่ที่กาตาร์ ก็ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลมาผนวกกับการให้บริการในพื้นที่กายภาพได้เป็นอย่างดี