‘Cooking with Yao’ ฉลาดกินเพื่ออยู่ ฉลาดรู้เรื่องกิน

14 views
October 27, 2022

ทุกวันนี้การสั่งอาหารผ่านฟู้ดเดลิเวอรีอาจกลายเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนคุ้นชิน แต่หากลองถอยออกมาดูจำนวนพลาสติกหรือบรรจุภัณฑ์ที่เราสั่งอาหาร คือขยะที่เพิ่มขึ้นจำนวนมหาศาล

เยา – เยาวดี ชูคง ผู้ขับเคลื่อนเรื่องความมั่นคงทางอาหารมานานเริ่มเห็นปัญหาเหล่านี้มากขึ้น เลยตัดสินใจสร้างพื้นที่การเรียนรู้ Cooking with Yao ที่จังหวัดเชียงใหม่ และชวนทุกคนหันมาทำอาหารกินเองแบบง่ายๆ ที่ได้เรียนรู้เรื่องอาหารแบบลงลึก ทั้งผลิตผลตามฤดูกาล ความมั่นคงทางอาหาร Food Waste และการกินที่ดี

ที่นี่ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ตั้งแต่การพาไปเดินตลาด เลือกซื้อผักปลา ลองชิมเครื่องปรุง ลงมือจับตะหลิว และนั่งพูดคุยถึงปัญหาที่เป็นอุปสรรคในการทำอาหารเพื่อชวนหาทางออกร่วมกันแบบเข้าใจ

นอกจากนี้เยายังออกแบบให้ผู้เรียนมาพักค้างคืนอย่างจริงจัง เพราะเธอเชื่อว่าการสอนทำอาหารเพียง 2-3 ชั่วโมง ไม่ทำให้เกิดการเรียนรู้มากนักนอกจากสูตรอาหารที่ได้กลับไป พื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้จึงไม่ได้เป็นโรงเรียนสอนทำอาหารที่ทุกคนจบไปเป็นเชฟ แต่คือการมานอนค้างพักผ่อน เหมือนไปนอนบ้านเพื่อนและชวนทำอาหารกินกัน

ซึ่งพื้นที่การเรียนรู้แห่งนี้นอกจากจะสอนให้ทำอาหารได้อร่อยต่างจากการเปิดยูทูบดูคอร์สสอนทำอาหารแล้ว ยังอัดแน่นด้วยวิธีคิดและทัศนคติเรื่องอาหารอย่างใส่ใจโลกและดีต่อตัวเองไปพร้อมกัน

‘Cooking with Yao’ ฉลาดกินเพื่ออยู่ ฉลาดรู้เพื่อกิน
Photo: Cooking with Yao

สอนทำอาหารที่เริ่มจากชิมความต่างของเครื่องปรุง

วิชาทำอาหารที่ Cooking with Yao ไม่ได้ชวนทุกคนมาจดสูตรอาหารรสเด็ด แต่จะพามาเรียนรู้อาหารขั้นพื้นฐาน เริ่มตั้งแต่ทำความเข้าใจอาหาร ที่มีลักษณะเฉพาะตัวและวิธีใช้ที่แตกต่างเพื่อให้ได้รสชาติที่ดีที่สุดออกมา

เยาจะหยิบเครื่องปรุงหลากหลายแบบ น้ำปลาจากหลากหลายพื้นที่ เกลือหลากหลายแหล่ง น้ำตาล กะทิ เนื้อสัตว์ ทุกอย่างจะคัดสรรมาจากชุมชนเท่านั้น และที่สำคัญก็คือ เยาเลือกซื้อของที่มีในพื้นที่เป็นหลัก เลือกวัตถุดิบตามฤดูกาล ซึ่งเยาบอกว่าพืชผักตามฤดูกาลจะได้รสชาติที่ดีที่สุด แถมไม่ต้องพึ่งสารเคมี การเข้าเรียนคลาสนี้จึงช่วยให้เข้าใจอาหารที่เกี่ยวโยงกับชีวิตของเราและธรรมชาติด้วย

หลังจากชิมเครื่องปรุงและวัตถุดิบนานา สัมผัสรสชาติที่เป็นธรรมชาติแล้ว เยายังชวนเรียนรู้วิธีการใช้เครื่องครัวถ้วยชามรามไห ว่าแต่ละประเภทใช้ทำกับข้าวอะไร การหยิบจับมีดต้องทำอย่างไร ซึ่งการใช้อุปกรณ์อย่างถูกต้องก็เป็นเทคนิคทำอาหารอร่อยแบบไม่ต้องพึ่งสูตรลับสูตรเด็ด

คลาสเรียนแห่งนี้จึงไม่ได้แจกสูตรมากมาย แต่เป็นการเรียนรู้ เข้าใจธรรมชาติของอาหาร และสนุกไปกับการหยิบนั่นผสมนี่ด้วยวัตถุดิบใกล้ตัวและใช้รสชาติดั้งเดิมของวัตถุดิบมาช่วยทำให้เมนูอาหารแต่ละมื้ออร่อยแบบไม่ต้องพึ่งพาของวิเศษใดๆ

‘Cooking with Yao’ ฉลาดกินเพื่ออยู่ ฉลาดรู้เพื่อกิน
Photo: Cooking with Yao

พาเดินตลาดในชุมชนที่เต็มไปด้วยผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์

หลังจากได้ลองดม ลองชิม ลองใช้วัตุดิบที่เยาจัดเตรียมไว้ให้ ในช่วงวันท้ายๆ ของคลาส เยาจะชวนทุกคนไปจ่ายตลาด ซึ่งในพื้นที่การเรียนรู้ของเยานั้นอยู่ใกล้กับตลาดชุมชนที่มีแต่ผลิตผลจากชาวบ้านที่ไม่พึ่งพาสารเคมีใดๆ แถมยังเป็นพืชผักตามฤดูกาลที่หาซื้อง่าย ไหนจะเนื้อสัตว์ที่เยาบอกว่าที่นี่เลี้ยงแบบปล่อยตามธรรมชาติ ทำให้รสสัมผัสดีและแตกต่างจากสัตว์ในฟาร์มแน่นอน

ในวันที่เดินตลาด ทุกคนจะได้ลับสมองประลองฝีมือหลังจากผ่านช่วงฝึกฝนการชิมเครื่องปรุงและวัตถุดิบในวันแรกๆ ได้ลองหยิบจับเลือกผัก ได้ลองซื้อเครื่องปรุงแบบที่ชอบติดไม้ติดมือกลับบ้าน ซึ่งจะทำให้ความรู้สึกของการเดินตลาดเปลี่ยนแปลงไป เพราะตลาดเป็นพื้นที่การเรียนรู้ชั้นดีให้ทุกคนได้เหมือนกัน

และหากใครกลับไปแล้วคิดถึงเหล่าวัตถุดิบออร์แกนิกเหล่านี้ เยายังส่งต่อข้อมูลร้านขายสินค้าดีมีคุณภาพใกล้บ้านของแต่ละคนให้ด้วย

‘Cooking with Yao’ ฉลาดกินเพื่ออยู่ ฉลาดรู้เพื่อกิน
Photo: Cooking with Yao

เข้าคลาสเรียนอื่นๆ จากคนที่มาเรียนทำอาหาร ตั้งแต่โยคะ ถึงวิ่งออกกำลังกาย

แม้จะเป็นพื้นที่การเรียนรู้เรื่องอาหาร แต่เยาอยากให้ที่นี่เป็นมากกว่าคลาสเรียน นั่นคือการมาพักผ่อนไปพร้อมกัน ดังนั้นการจัดกระบวนการเรียนรู้จึงไม่ได้มีตารางแน่นจนอึดอัด แต่ยังพาทุกคนค่อยๆ หายใจ ค่อยๆ ซึมซับธรรมชาติ นั่งมองท้องฟ้า หรือคุยกับเพื่อนร่วมคลาสแบบสนุกๆ

ในขณะเดียวกันคนที่มาเรียนก็พกความชอบความสนใจติดตัวกันมา จนเกิดเป็นคลาสเรียนแลกเปลี่ยนกันเองที่ไม่ได้มีเฉพาะเรื่องอาหาร ไม่ว่าจะคลาสชวนกันโยคะ คลาสชวนกันฝึกหายใจ คลาสชวนกันไปวิ่ง และอีกมากมายที่กลายเป็นห้องเรียนที่ไม่ว่าใครก็เป็นคนสอนได้

‘Cooking with Yao’ ฉลาดกินเพื่ออยู่ ฉลาดรู้เพื่อกิน
Photo: Cooking with Yao

เรียนรู้ชีวิตที่หลากหลายผ่านวงสนทนาสบายๆ ยามค่ำคืน

นอกจากการเรียนรู้เรื่องทักษะต่างๆ การเรียนรู้ชีวิตกันและกันก็เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ที่นี่ให้ความสำคัญ เยาเชื่อว่าการได้เห็นความหลากหลายจะสอนให้ทุกคนเข้าอกเข้าใจกัน และเกิดเป็นคอมมูนิตี้ที่คอยช่วยเหลือกันและกันเสมอ ซึ่งเป็นภาพที่เยาอยากเห็น

ในทุกค่ำคืนจึงมีวงคุยแลกเปลี่ยนปัญหาหรือประสบการณ์ชีวิต บางคนเป็นคุณหมอที่มาเรียนทำอาหารเพราะอยากเอาความรู้เรื่องอาหารที่ดีกลับไปแนะนำคนไข้ได้ บางคนเป็นอินฟลูเอนเซอร์ที่อยากขับเคลื่อนเรื่องอาหารที่ดีสำหรับคนเมือง

มากไปกว่านั้นวงคุยนี้ยังช่วยแก้ปัญหาให้กันและกัน เช่น บางคนอาจจะไม่เคยถูกชมเวลาทำอาหารให้ที่บ้านรับประทาน ก็เลยฝังใจและกลัวการทำอาหาร บางคนมีชีวิตที่เร่งรีบในทุกวันจนไม่สามารถทำอาหารกินเองได้ สุดท้ายก็หลีกเลี่ยงการสั่งอาหารเดลิเวอรีไม่ได้ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เมื่อถูกเล่าออกมา คนอื่นๆ ก็จะช่วยแลกเปลี่ยนวิธีการหรือมองหาทางออกให้กันและกัน

‘Cooking with Yao’ ฉลาดกินเพื่ออยู่ ฉลาดรู้เพื่อกิน
Photo: Cooking with Yao

ให้เวลากับคนเรียนและแก้ปัญหาไปด้วยกัน สิ่งที่เยาได้เรียนรู้จากการสร้างพื้นที่

ตั้งแต่วันที่ตั้งคำถามว่าอะไรคือเหตุผลให้คนเลือกสั่งเดลิเวอรีมากกว่าทำกินเองที่บ้าน จนกระทั่งเปิดบ้านเป็นพื้นที่การเรียนรู้เรื่องอาหาร เยาเองก็ได้เรียนรู้ผ่านการพบปะพูดคุยกับคนหลากหลายแบบ และมองเห็นความแตกต่างหลากหลาย

“ทุกครั้งที่สอน เราก็ได้เรียนรู้ไปด้วยทุกครั้ง เรียนรู้วิถีชีวิตของคนในแต่ละแบบ เข้าใจคนหลากหลายแบบ เช่นข้อจำกัดที่ทำให้คนกรุงเทพฯ เลือกซื้อข้าวกินมากกว่าทำเอง ก็เป็นสิ่งที่เราได้เรียนรู้และกลายเป็นไม่พยายามไปบังคับเขา แต่ชวนหาทางออกด้วยกันแทน”

ซึ่งการค้นพบเรื่องเหล่านี้ทำให้เยาได้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ที่เข้าอกเข้าใจคนเรียนมากขึ้น และชวนกันหาทางออกมากกว่าจะผลักไสคนเรียนออกไป คลาสเรียนเล็กๆ แห่งนี้จึงค่อยๆ ขยายเป็นชุมชนคนที่เข้าใจเรื่องความมั่นคงทางอาหาร

เยายังเน้นย้ำว่าการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ต้องให้เวลากับคนเรียนมากๆ ให้เขาได้ซึบซับบรรยากาศและบทสนทนาที่เกิดขึ้น ไม่ใช่การเปิดคลาสเวลาสั้นๆ แต่คนเรียนไม่ได้อะไรกลับไป เยามองว่าพื้นที่การเรียนรู้ต้องไม่ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ดีจนกลายเป็นประสบการณ์ฝังใจจนคนไม่กล้าเรียนรู้อีก

‘Cooking with Yao’ ฉลาดกินเพื่ออยู่ ฉลาดรู้เพื่อกิน
Photo: Cooking with Yao


Tiny Space, Big Learning โดย ili.U คอนเทนต์ซีรีส์จากเพจที่สนใจ Conscious Lifestyle ชวนไปสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ขนาดเล็กที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ทั่วประเทศ ใส่ใจเรื่องการศึกษาในแบบฉบับของตัวเอง และพยายามขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปจากห้องเรียนที่เคยชิน พื้นที่เหล่านี้มีอะไรให้เรียนรู้ แล้วคนทำได้บทเรียนก้อนใหญ่อะไรจากการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน หลังจากนี้พบกันได้ทุกวันพฤหัสที่ 3 และ 4 ของเดือน

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก