CONVERSTATION เซฟโซนที่คอยเซฟใจ ให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวรุ่น

19 views
May 26, 2022

ช่วงวัยรุ่น ทุกคนก็อาจจะเคยสงสัยว่า อะไรคือความเป็นเรา เราชอบอะไร ถนัดอะไร เก่งอะไรกันแน่ และจนตอนนี้ หลายคนก็อาจจะยังไม่เจอคำตอบเลยด้วยซ้ำ คงจะดีถ้ามีพื้นที่ปลอดภัยคอยรองรับให้ได้ค้นหาตัวเอง ไปพร้อมกับการเรียนรู้ในสิ่งที่อาจจะชอบแต่ยังไม่เคยทำ

พื้นที่นั้นมีอยู่จริง ที่ Converstation: Public Co-learning space บ้านไม้หลังเล็กๆ ใจกลางย่านเมืองเก่ายมจินดา จังหวัดระยอง ที่เคยเป็นพื้นที่จัดนิทรรศการขององค์กร ‘ระยองพัฒนาเมือง’ ถูกเปลี่ยนมาเป็น Public Learning Space ที่ภายในตกแต่งด้วยโทนสีเหลืองสดใส เติมพลังให้ทั้งคนที่เข้ามาในพื้นที่และชุมชนบริเวณนั้นได้รู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น

เมื่อตั้งอยู่ใจกลางเมือง และแวดล้อมไปด้วยหลากหลายโรงเรียน ผู้คนที่แวะเวียนมาจึงเป็นทั้งวัยเรียนที่กำลังมองหากิจกรรมทำ ตามหาความเป็นตัวเอง หรือสนใจประเด็นทางสังคมและอยากหาพื้นที่พูดคุยแลกเปลี่ยน หรือวัยเพิ่งเรียนจบและเพิ่งก้าวสู่โลกการทำงานที่อาจเหนื่อยล้าและอยากหาพื้นที่พักผ่อนหรือเปิดประสบการณ์การเรียนรู้ใหม่ๆ ที่ไม่น่าเบื่อ

ที่แห่งนี้ออกตัวว่าเป็น ‘พื้นที่เซฟโซน-เซฟใจ’ ให้ทุกคนที่อยากเรียนรู้และค้นหาตัวตนไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ภายใต้คอนเซปต์ Co-learning space เป็นการเรียนรู้ที่ทุกคนเลือกประสบการณ์ที่พวกเขาชอบได้ ไม่ว่าจะเป็นนั่งเล็กเชอร์ เล่นผ่านอุปกรณ์ทดลอง เรียนผ่านเกม แลกเปลี่ยนผ่านหนัง หรือตั้งวงดีเบต เสวนากัน ใจความจึงเป็นการมา ‘ลอง’ เรียนรู้ร่วมกันแบบไม่มีการจำกัดช่วงอายุใดๆ

คนไปใช้พื้นที่ได้เรียนรู้อะไร แล้วคนสร้างพื้นที่ได้เรียนรู้อะไร ไปดูกัน

Converstation เซฟโซนที่คอยเซฟใจ ให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวรุ่น

Conversation about ‘Converstation’

สารตั้งต้นที่ทำให้ Converstation เกิดขึ้น คือการที่ ปอนด์ – ชนสรณ์ เฉียบเอี่ยมเชาน์ นักออกแบบกระบวนการเรียนรู้ และผู้ก่อตั้ง Converstation ได้คลุกคลีพูดคุยกับเด็กๆ หลายช่วงวัย ก่อนจะพบว่าไม่ค่อยมีที่พื้นที่ปลอดภัยให้พวกเขาได้เป็นตัวของตัวเอง เลยอยากก่อตั้งโรงเรียนที่ไม่ทำให้เด็กๆ ต้องสูญเสียการเป็นตัวเองไป สถานที่แห่งนี้เลยมีความตั้งใจอันแรงกล้าว่า อยากต้อนรับคนที่มีเรื่องที่อยากรู้แต่ไม่มีคนซัพพอร์ต หรือแม้แต่คนที่ยังสับสนกับชีวิตว่าอยากทำอะไรก็ลองมาค้นหาตัวเองที่นี่ได้แบบไม่ต้องกลัวผิดพลาด

คำว่า ‘เรียนรู้’ ของที่นี่ ไม่ได้มีเพียงแค่การมานั่งฟังเล็กเชอร์ ที่บางคนอาจจะเบือนหน้าหนี แต่ยังมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลผ่านประสบการณ์หลายๆ แบบ ไม่ว่าจะดูหนัง เล่นดนตรี เบลนด์ชา อ่านหนังสือ หรือส่องนิทรรศการ โดยแกนกลางของทุกกิจกรรมคือการมาตั้งวงจับเข่าคุยกันว่ารู้สึกยังไงบ้าง สังเกตเห็นอะไรบ้าง เจออะไรบ้าง ผ่านเครื่องมือกิจกรรมที่หลากหลายเพื่อพักผ่อนหรือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ต่างๆ

เป็นที่มาที่ไปที่ทำให้ ‘การสนทนา’ สำคัญกับพื้นที่แห่งนี้มากๆ (ถึงขั้นกลายเป็นชื่อร้าน) เพราะปอนด์เชื่อว่า การเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากบทสนทนา และบทสนทนาจะนำไปสู่การแก้ปัญหาได้จริงๆ โดยที่มีทุกคนอยู่ในนั้น ไม่ใช่ความเห็นของใครฝ่ายเดียว Converstation จึงเป็นทั้งพื้นที่เรียนรู้ พื้นที่สนับสนุนความฝัน พื้นที่ตรงกลางให้คนมาถกเถียง และพื้นที่อันก่อให้เกิดบทสนทนาใหม่ๆ ที่จะนำไปสู่อนาคตใหม่ๆ ด้วยกัน

Converstation เซฟโซนที่คอยเซฟใจ ให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวรุ่น

สนทนาผ่าน ‘เวิร์กชอป’ ดูแลใจเยาวรุ่นที่เคว้งคว้าง

เรียนก็ต้องเรียน คณะที่จะไปต่อก็ต้องเลือก ตัวเองชอบอะไรก็ยังไม่แน่ใจ แถมยังรู้สึกกดดันตลอดเวลาจนเสียน้ำตากันบ่อยๆ คำพูดว่า “เป็นวัยรุ่นมันเหนื่อย” จึงเป็นความในใจของวัยรุ่นไทยมากมาย

ที่นี่เลยมีเวิร์กชอปสำคัญเป็นประจำทุกปี คือ The Connector หยิบเอาปัญหาวัยรุ่นมาเรียงร้อยใหม่ ผ่านคีย์เวิร์ดสำคัญคือ ‘เข้าใจตัวเอง เข้าใจคนอื่น เข้าใจโลก’ ที่ช่วยตั้งแกนตัวตนของตัวเอง แล้วเชื่อมโยงเข้ากับสังคมและโลกใบนี้

ในเวิร์กชอป ทุกคนจะได้ลองสำรวจตัวเองแบบจริงใจ ขุดลงไปถึงความต้องการของตัวเองที่อยู่ในก้นบึ้ง พอเริ่มมองเห็นตัวเองมากขึ้น ก็เดินทางกันต่อด้วยการลองฟังชีวิตคนอื่นบ้างผ่าน Deep Listening ฝึกทักษะตั้งใจฟังเพื่อเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) ซึ่งไปต่อถึงเรื่องการลดอคติต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นอคติทางเพศ อคติทางเชื้อชาติ อคติต่อช่วงวัย อคติต่อความยากจน และอีกมากมาย

ทั้งหมดนี้เป็นประสบการณ์ที่ทำให้หลายคนเสียน้ำตาให้กับตัวเองที่หล่นหาย บางคนก็เพิ่งระลึกได้ว่าที่ผ่านมาไม่เคยใจดีกับตัวเองและคนรอบข้างเลย หรือแม้แต่บางคนก็ได้เห็นว่าการมีอคติต่างๆ ในใจมันทำร้ายคนอื่นแค่ไหน

และได้เห็นว่า ทุกคนต่างเชื่อมโยงกับบางสิ่งบางอย่างตลอดเวลา เช่นการหยิบหลอดมาใช้ดื่มน้ำหนึ่งครั้ง อาจส่งผลกับสัตว์ทะเลมากมาย ความรู้สึกเชื่อมโยงเหล่านี้จะทำให้คนที่เข้ามาเรียนรู้ได้เห็นว่าพวกเขาไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลกใบนี้ แต่ทุกการกระทำส่งผลต่อสภาพแวดล้อมรอบตัวทั้งหมด

ซึ่งการเชื่อมโยงเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นหากไม่มีการเรียนรู้ผ่านบทสนทนาในเวิร์กชอป และคงเป็นการเรียนรู้ที่หาได้ยากในห้องเรียนไทย

Converstation เซฟโซนที่คอยเซฟใจ ให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวรุ่น

สนทนาผ่าน นิทรรศการ ‘ทัช’ ปัญหาสังคม ที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้

แม้จัดนิทรรศการเล็กๆ บนผนังขนาดความยาวไม่เกิน 5 เมตร แต่ก็สร้างการเรียนรู้ได้มหาศาล เพราะ Converstation หยิบ จับ ปรับ แต่ง ให้เล่าเรื่องประเด็นทางสังคมไปพร้อมๆ กับชวนทุกคนมาออกความเห็นกันได้ โดยในแต่ละเดือน นิทรรศการจะปรับเปลี่ยนธีมของคอนเทนต์ไปตามเหตุการณ์ในสังคมที่สำคัญ

เช่น ในเดือนมีนาคม เกิดเหตุการณ์น้ำมันรั่วที่ จ.ระยอง Converstation ก็หยิบเอาเรื่องมลพิษมาขยายต่อด้วยการแสดงให้เห็นว่ามลภาวะที่ส่งผลต่อสภาพแวดล้อมเป็นยังไง ผ่านป้ายเขียนลายมือและสิ่งของง่ายๆ และยังมีกระดาษที่ว่างเปล่ารอให้ผู้ชมนิทรรศการมาช่วยกันแชร์วิธีแก้ปัญหาที่อาจจะเป็นการส่งเสียงไปถึงรัฐ หรือการสร้างความตระหนักรู้ถึงบริษัทเอกชนที่ควรมีส่วนรับผิดชอบ หรือกระทั่งวิธีสร้าง conscious lifestyle ที่ทุกคนเองสามารถทำได้เช่น ซื้อเสื้อผ้ามือสอง ลดใช้หลอด และอีกสารพัดวิธี

เรื่องเล่าต่างๆ ในนิทรรศการไม่ได้จบแค่บนกำแพง แต่ยังส่งไม้ต่อไปยังภาพยนตร์ที่เอามาฉายในพื้นที่ หรือ Book Club ที่หยิบจับเอาหนังสือเกี่ยวกับประเด็นนั้นๆ มาสร้างบทสนทนาต่อเนื่อง

นิทรรศการที่ Converstation จึงเป็นเหมือนจุดเล็กๆ (แต่สำคัญมากๆ) ที่ให้คนในชุมชนและนักเรียนที่ผ่านไปมาได้เข้ามาเรียนรู้ประเด็นทางสังคมมากขึ้น และไม่ใช่แค่มาเพื่อรับข้อมูล แต่คือการแลกเปลี่ยนบทสนทนาเพื่อหาทางไปต่อ หรืออย่างน้อยที่สุด หากได้เข้ามาสัมผัสนิทรรศการก็อาจได้แรงบันดาลใจกลับไป

Converstation เซฟโซนที่คอยเซฟใจ ให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวรุ่น

สนทนาผ่านบอร์ดเกม ที่ทุกการเล่น แปลงร่างเป็นการเรียนรู้ได้

ที่ Converstation ยังหยิบบอร์ดเกมมาเป็นอีกหนึ่งประสบการณ์การเรียนรู้ ซึ่งจะมีทีมงานคอยเล่นเป็นเพื่อน ไปพร้อมๆ กับชวนตั้งคำถามให้ได้เกิดการพูดคุยต่อยอดจากเกม

ยกตัวอย่าง หากลองหยิบบอร์ดเกมชื่อ Modern Art ที่ว่าด้วยการแข่งกันประมูลงานศิลปะมาเล่น ผู้เล่นก็จะได้เรียนรู้ทั้งกลไกการประมูลงานศิลปะ กลไกตลาด หลักเศรษฐศาสตร์ ไปพร้อมๆ กับรู้จักงานศิลปะของศิลปินหลายๆ คนที่อยู่ในเกม แถมการเล่นนี้ยังต้องใช้ตรรกะมาคำนวณในการเลือกซื้องานศิลปะ และวาทศิลป์ในการโน้มน้าวกันเล็กน้อย

Converstation ตั้งใจและตั้งตัวให้สเปซในบ้านเก่าเล็กๆ แห่งนี้เป็น ‘พื้นที่รวบรวมเกม’ ที่ไม่ว่าจะเป็นเกมแบบไหน ก็ใช้เป็นสื่อกลางในการพูดคุยเรียนรู้กันได้หมด

Converstation เซฟโซนที่คอยเซฟใจ ให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวรุ่น

สนทนาผ่าน Wall of sharing กำแพงที่ให้เธอมา ‘แชร์ความเป็นตัวเอง’

เพราะเป็นพื้นที่ที่อยากสนับสนุนให้ทุกคนได้ลองเป็นตัวของตัวเอง ทำสิ่งที่ตัวเองชอบ และสนับสนุนความฝัน ที่นี่เลยมีกำแพงให้ทุกคนมาแชร์ความเป็นตัวเอง แปะผลงานที่อยากป่าวประกาศให้โลกรู้ได้แบบฟรีๆ ไม่ว่าจะภาพวาด ภาพถ่าย บทกวี เรื่องสั้นสักเรื่อง หรือของประดิดประดอยที่ทำเอง ซึ่งก็มีวัยรุ่นที่มาแปะผลงานที่ผนังแห่งนี้ และถูกชักชวนไปทำ NFT อย่างจริงจังด้วย

Converstation เซฟโซนที่คอยเซฟใจ ให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวรุ่น

พื้นที่เล็กๆ แต่คนทำพื้นที่ได้เกิดการเรียนรู้แบบใหญ่มาก

เพราะการสร้างพื้นที่การเรียนรู้ไม่ได้มีแต่คนที่เข้ามาใช้พื้นที่เท่านั้นที่ได้อะไรกลับไป แต่คนที่สร้างพื้นที่เอง ก็ได้เกิดการเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน และนี่คือบทเรียนของ ‘ปอนด์’ หลังจากเปิด Converstation มาเป็นเวลากว่า 6 เดือน

“เราต้องเป็นพื้นที่ปลอดภัยให้ได้ เพราะที่นี่เกิดมาเพื่อเป็นพื้นที่ตรงกลางในการพูดคุยที่เราจะได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากผู้คนที่อาจเห็นด้วยหรือเห็นต่าง การออกแบบพื้นที่ตรงกลางให้รู้สึกปลอดภัยและคุยได้ จึงสำคัญกับการสร้างพื้นที่การเรียนรู้มากๆ ถ้าไม่เป็นมิตร เขาก็คงไม่กล้าแชร์ความเป็นตัวเอง แต่จะสร้างความเป็นมิตรได้ยังไง ทีมงานของเราก็ต้องเป็นคนที่รับฟังเก่ง ฟังเยอะๆ เพื่อให้คนที่เข้ามาไม่รู้สึกถูกปฏิเสธแม้จะเป็นความเห็นต่าง แล้วพอคนที่เข้ามาเห็นพื้นที่ตรงนี้ปลอดภัย มันจะกลายเป็นพื้นที่ที่เราใช้ชวนคุยเพื่อแก้ปัญหาแบบที่ทุกคนมีส่วนร่วมได้”

นอกจากนี้ยังมีเรื่องการอยู่ได้ด้วยตัวเอง ที่ปอนด์ค้นพบว่า การทำงานเพื่อสาธารณะไม่จำเป็นต้องหล่อเลี้ยงตัวเองด้วยวิธีแบบสังคมสงเคราะห์เพียงอย่างเดียว ไม่เช่นนั้นคนทำอาจหมดแรง หรือหมดเงินไปก่อน และไม่อาจอยู่แก้ปัญหาไปในระยะยาวได้ การทำธุรกิจร้านกาแฟควบคู่ไปกับการทำงานเพื่อสังคมจึงไม่ได้เป็นเรื่องผิด เพียงแค่ต้องเลือกทำธุรกิจที่คำนึงว่าทุกคนจะเข้าถึงได้ไปพร้อมๆ กัน

ก่อนที่ปอนด์จะทิ้งท้ายถึงสิ่งสำคัญที่สุดที่ช่วยตอกย้ำความเชื่อของเขา นั่นก็คือการสร้างพื้นที่ที่ตัวคนสร้างเองรู้สึกร่วมไปกับมันก่อน แล้วจากนั้น พื้นที่ก็จะช่วยดึงคนที่อินเรื่องเดียวกันให้ตามมา จนกลายเป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ขนาดย่อมอย่างที่ตัวเขาตั้งใจไว้

“อยากให้เอาความเป็นตัวเองใส่ไปให้สุด แล้วเดี๋ยวจะมีคนที่สนใจเรื่องเดียวกับเรามาร่วมสนทนาเอง พอเราตั้งต้นให้พื้นที่นี้เป็นที่ที่แม้แต่เราก็รู้สึกปลอดภัยที่จะเป็นตัวเอง คนอื่นๆ ก็น่าจะรู้สึกแบบเดียวกับเราเหมือนกัน”

Converstation เซฟโซนที่คอยเซฟใจ ให้การเรียนรู้นอกห้องเรียนของเยาวรุ่น


Tiny Space, Big Learning โดย ili.U คอนเทนต์ซีรีส์จากเพจที่สนใจ Conscious Lifestyle ชวนไปสำรวจพื้นที่การเรียนรู้ขนาดเล็กที่เกิดจากคนตัวเล็กๆ ทั่วประเทศ ใส่ใจเรื่องการศึกษาในแบบฉบับของตัวเอง และพยายามขยายขอบเขตการเรียนรู้ไปจากห้องเรียนที่เคยชิน พื้นที่เหล่านี้มีอะไรให้เรียนรู้ แล้วคนทำได้บทเรียนก้อนใหญ่อะไรจากการสร้างการเรียนรู้นอกห้องเรียน ติดตามได้ทุกวันพฤหัสที่ 2 และ 4 ของเดือน

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก