‘เทพตำนานซีซิฟ’ หรือ ‘Le Mythe de Sisyphe’ ของอัลแบรฺต์ กามูส์ สำนวนแปลโดย วิภาดา กิตติโกวิท ขึ้นต้นประโยคแรกของหนังสือว่า
“ปัญหาทางปรัชญาที่สำคัญจริงๆ มีเพียงปัญหาเดียว นั่นคือ การฆ่าตัวตาย การตัดสินว่าชีวิตมีค่าหรือไม่มีค่าพอที่จะอยู่นั้น คือการตอบคำถามพื้นฐานทางปรัชญา”
ความตายเป็นคำถามใหญ่โต (Big Question) ที่มนุษย์พยายามหาคำตอบมาเนิ่นนานว่ามันคืออะไร สิ่งใดดำรงอยู่หลังความตาย หรือถ้ามีดวงวิญญาณ มันจะเดินทางไปสู่แห่งไหน และอีกมากมาย ความตายเป็นประสบการณ์ที่เกิดขึ้นกับมนุษย์ได้เพียงครั้งเดียวและไม่เคยมีใครกลับมาบอกเล่าได้ นักคิด นักปรัชญาจึงคิดว่าหนทางเดียวที่พอจะทำความเข้าใจความตายได้ก็คือการทำความเข้าใจชีวิตเพราะมันคือสองด้านของเหรียญเดียวกัน
ในแง่วิวัฒนาการ สิ่งมีชีวิตถูกสร้างมาเพื่อดำรงเผ่าพันธุ์ต่อ ในแง่จิตวิทยา การสูญเสียตัวตนและการดำรงอยู่เป็นภัยพิบัติขั้นหายนะของสิ่งมีชีวิตที่มีจิตสำนึกเกี่ยวกับตัวตนเช่นมนุษย์พยายามหลบเลี่ยง การเลือกจบชีวิตตนเองจึงเป็นความขัดแย้งรุนแรงพอๆ กับเป็นปริศนา
หนังสือ ‘บริการสุดท้ายแด่ผู้ตาย เก็บกวาดความแตกสลายของชีวิต’ บอกเล่าประสบการณ์อาชีพของคิมวัน (Kim Wan) ผู้ทำอาชีพทำความสะอาดพิเศษหรือนักเก็บกวาดความตาย (Death Cleaner) เป็นหนังสือที่ไม่เหมาะกับคนผนังหัวใจบางและมีบาดแผล เรื่องราวส่วนใหญ่เล่าถึงกรณีคนที่ฆ่าตัวตายกับคนที่ตายอย่างโดดเดี่ยวลำพังในเกาหลีใต้ ทั้งสองกรณีต่างเกิดจากการแตกสลายบางอย่างในชีวิตและไม่สามารถกอบกู้คืน
อาชีพนักเก็บกวาดความตายหรือบางทีก็ใช้คำว่านักเก็บกวาดที่เกิดเหตุ (Trauma Cleaner) ซึ่งน่าจะตรงกับความเป็นจริงมากกว่า พยายามกูเกิลแล้วแต่ไม่พบว่ามีคนทำอาชีพนี้ในไทย ใกล้เคียงที่สุดน่าจะเป็นสัปเหร่อ แต่ลักษณะการทำงานก็ต่างกันมาก
สำหรับสังคมไทยที่ไม่คุ้นเคยกับอาชีพนี้และอินไปกับซีรีส์เกาหลี ‘Move to Heaven’ นักเก็บกวาดที่เกิดเหตุดูจะเป็นอาชีพที่น่าสนใจ น่าค้นหา หรือแม้กระทั่งดูโรแมนติกหน่อยๆ แต่หากประสบการณ์ของคิมวัน ก็อาจเปลี่ยนใจและตระหนักว่ามันไม่ง่ายอย่างที่เห็นในซีรีส์
งานส่วนใหญ่ของคิมวัน เป็นการทำความสะอาดสถานที่ที่มีคนตายเพียงลำพัง สองคน ทั้งครอบครัว รวมไปถึงซากแมวที่ตายเพราะน้ำมือมนุษย์หรือจากอุบัติเหตุ ด้วยความเคยชิน จมูกของคิมวันว่องไวเป็นพิเศษกับกลิ่นของความตาย เขาสามารถบอกได้ว่าน่าจะมีแมวตายอยู่ในช่องระบายอากาศของอาคาร แต่ต่อให้ทำงานนี้มานาน เขาก็ยังรู้สึกไม่คุ้นเคยกับกลิ่นนี้สักที
(คนที่ไม่เคยได้กลิ่นความตายของมนุษย์นึกไม่ออกว่าเป็นอย่างไร ทั้งยังยากที่จะอธิบายสิ่งนามธรรมอย่างกลิ่นออกมาเป็นภาษาที่เข้าใจได้ ต้นปี 2548 หลังเหตุการณ์สึนามิไม่นาน ผมลงไปทำข่าวที่เขาหลัก ขณะผ่านวัดแห่งหนึ่งที่ใช้เป็นแหล่งรวบรวมศพผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ‘กลิ่นความตาย’ ก็โชยออกมาจนทุกวันนี้ก็ยังไม่ลืม)
ทำไมคนคนหนึ่งจึงเลือกจบชีวิตหรือมันไม่มีค่าพอจะอยู่ต่อ แล้วมันช่วยตอบคำถามของกามูส์ได้หรือไม่ ผมเองก็ไม่รู้ แต่ผมเชื่อว่าทุกการฆ่าตัวตายมักผ่านการตระเตรียมก่อนทั้งนั้น บ่อยครั้งก็ทิ้งข้อความบางอย่างที่ยากจะเข้าใจ ทว่า มันคงมีความหมายพิเศษบางอย่างก่อนลมหายใจสุดท้ายจะขาดห้วง
คิมวันถูกเรียกให้ไปเก็บกวาดห้องสตูดิโอที่ผู้หญิงคนหนึ่งผูกคอตายในห้องน้ำ ขณะที่ห้องสตูดิโอกางเต็นท์ อุปกรณ์แคมป์ปิง และเครื่องดื่ม ไม่มีใครรู้ว่าเธอนั่งจิบเบียร์หน้าเต็นท์ก่อนจบชีวิตหรือไม่
ผู้หญิงอีกคนที่ฆ่าตัวตายด้วยการจุดเตารมแก๊สตัวเอง เธอปิดทุกช่องรูในห้องพักไม่ให้อากาศเข้ามาและไม่ให้ควันจากเตาออกไป ก่อนจะจุดไฟ จัดการแยกของที่ต้องการทิ้ง และขยะทุกอย่างไว้เรียบร้อยเหมือนไม่ต้องการให้ตนเองเป็นภาระของใคร
“ถุงแยกขยะเต็มไปด้วยกระดาษห่อที่แกะออกจากถ่านหินและถุงยาหลายสิบถุงที่น่าจะได้จากโรงพยาบาล มุมของรูปถ่ายที่แกะออกจากอัลบั้มรูปและกรอบรูปจำนวนมากทิ่มถุงขยะราวกับกลายเป็นใบเลื่อยแหลมคมที่แทงทะลุถุง ถุงขยะนั่นคงเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอได้จัดการไว้ก่อนตาย ผมรู้สึกราวกับว่าเรื่องราวที่เธอไม่เคยได้เล่า เหตุการณ์ที่เต็มไปด้วยการถอนหายใจและความสิ้นหวัง ถูกบรรจุลงถุงเล็กๆ ทั้งอย่างนั้น”
ผู้ชายคนหนึ่งผูกคอตายเพื่อหนีความยากจนที่ไล่ต้อนชีวิตเขาจนไม่เหลือที่ยืน คิมวันเขียนว่า “ผู้มีอาชีพทำความสะอาดมีความสามารถในการหากลิ่นของความขาดแคลน” สิ่งเดียวที่ชายคนนี้มีอยู่ล้นเหลือเฟือฟายคือใบแจ้งหนี้ต่างๆ
ในสังคมไทย ข้อมูลจากศูนย์เฝ้าระวังการฆ่าตัวตาย โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นราชนครินทร์ ปรับปรุงวันที่ 6 พฤศจิกายน 2565 ระบุว่า ตั้งแต่ปี 2562 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จของประเทศไทยสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและเกินกว่าค่าเป้าหมายวิสัยทัศน์กรมสุขภาพจิต ระยะ 3 ปี (พ.ศ.2563-2565) ซึ่งกำหนดอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จไม่เกิน 6.3 ต่อแสนประชากร ล่าสุดปี 2564 อัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จยังเพิ่มสูงขึ้นเป็น 7.38 ต่อแสนประชากร
แม้ว่าเหตุปัจจัยของการฆ่าตัวตายมีความซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงเป็นพลวัตตามห้วงเวลา แต่จากการติดตามวิเคราะห์ข้อมูลและสังเกตการฆ่าตัวตายในคนไทยพบว่า การฆ่าตัวตายในบุคคลแต่ละครั้ง จะเกิดขึ้นเมื่อมีครบ 5 เงื่อนไขสำคัญ ได้แก่ 1) บุคคลนั้นต้องมีปัจจัยเสี่ยง (Risk Factors) ที่โน้มนำให้ฆ่าตัวตายได้มากกว่าคนทั่วไป 2) มีสิ่งกระตุ้น (Trigger) หรือปัจจัยกระตุ้น (Precipitating Factors) ให้คิดและกระทำฆ่าตัวตาย 3) เข้าถึงวัสดุอุปกรณ์และสถานที่ที่ใช้ฆ่าตัวตายได้ง่ายหรือด่านกั้นล้มเหลว 4) การเฝ้าระวังป้องกันล้มเหลว และ 5) บุคคลนั้นมีปัจจัยปกป้อง (Protective Factors) ที่อ่อนแอ
นอกจากนั้นยังมีการเสียชีวิตตามลำพังที่ไม่ใช่การฆ่าตัวตาย แต่เกิดจากการเจ็บป่วยหรือโรคชรา ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่พบได้บ่อยในญี่ปุ่นและเกาหลีที่มีประชากรผู้สูงอายุจำนวนมาก จนมีชื่อเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า โคโดคุชิ ไม่มีเครื่องการันตีว่าสังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์ของไทยจะไม่เกิดสิ่งนี้ในอนาคต
นักจิตวิทยาที่ศึกษาเรื่องการฆ่าตัวตายเคยกล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ช่วยรั้งคนไม่ใช้จบชีวิตคือ connection ถ้าคนคนหนึ่งยังรู้สึกเชื่อมโยงกับบางสิ่งบนโลกนี้ เขาจะอยู่เพื่อมัน มีคนที่ไม่ยอมฆ่าตัวตายเพราะเป็นห่วงกระต่ายที่เลี้ยงไว้
ผมเชื่อว่ามีเชือกสองเส้นฉุดรั้งไม่ให้มนุษย์ปลิดชีพตัวเอง เส้นหนึ่งชื่อว่า ‘เยื่อใย’ หรือก็คือ connection อีกเส้นถูกเรียกว่า ‘ความหวัง’ ถ้าเส้นใดเส้นหนึ่งขาด ยังมีความเป็นไปได้ที่จะประคองผ่าน รอให้เส้นที่ขาดถักทอขึ้นใหม่ แต่ถ้าทั้งสองเส้นขาดพร้อมกัน…ก็คงเหมือนเจ้าของเรื่องราวในหนังสือ
เสี่ยงมากขึ้นอีกในกรณีที่เชือกสองเส้นของบางคนฟั่นเกลียวเป็นเส้นเดียว
เรื่องเล่าของคิมวัน ผู้จากไปส่วนใหญ่คือผู้ที่เชือกทั้งสองเส้นขาดสิ้นแล้ว ในระหว่างช่วงเวลาแห่งการตัดสินใจ ไปกับอยู่ ไม่มีสถานการณ์ใดแทรกแซงได้ทันท่วงที เหลือแค่คราบเลือดและสิ่งขับถ่ายที่ซากสิ่งมีชีวิตปลดปล่อยออกมาให้ผู้เขียนตามไปเก็บกวาด
‘เยื่อใย’ ค่อนข้างเป็นเรื่องส่วนบุคคล ‘ความหวัง’ เกี่ยวพันกับสังคมมากกว่า แต่ทั้งสองเส้นพันเกี่ยวกัน ถ้าความหวังถูกกระชากตึงเจียนขาด มันรั้งเยื่อใยให้เครียดเขม็งได้ และเป็นได้ในทางกลับกัน เราสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีได้ แล้วปล่อยเป็นหน้าที่ปัจเจกเป็นผู้ถักสานเยื่อใย
เราสร้างความหวังให้ตัวเองได้เช่นกัน แต่รัฐก็มีหน้าที่ต้องสร้างด้วย ความหวังมักเชื่อมโยงสู่อนาคต เราสร้างอนาคตตามลำพังได้ แต่ยากเย็น ถ้ารัฐทำหน้าที่ดูแลประชาชน มันก็ง่ายขึ้น
‘สิ้นหวัง’ หน้าตาเป็นอย่างไร? อาจคล้ายๆ ซีซิฟ มันคือการรับรู้อย่างขมขื่นว่าไม่ว่าจะทำอะไรในวันนี้หรือพรุ่งนี้ ชีวิตจะไม่มีวันดีขึ้น ทุกการกระทำล้วนไร้ความหมายเหมือนการเข็นก้อนหินสู่ยอดเขา ปล่อยตก แล้วทำซ้ำซากชั่วนิรันดร์
กามูส์ปิดท้ายหนังสือ ‘ตำนานเทพซีซิฟ’ ว่า “เราจำต้องเชื่อว่า ซีซิฟมีความสุข”
‘จำต้องเชื่อ’ กับ ‘หลอกตัวเอง’ เหมือนกันหรือไม่? กามูส์คงต้องการให้แสงสว่างบางอย่างแก่คนอ่านไว้ยึดเหนี่ยว
เหนืออื่นใด มีมุมที่ต้องให้กำลังใจ ถ้าคุณตื่นมาใช้ชีวิตด้วยหัวใจแตกร้าวทุกวัน เข็นหินขึ้นเขาและเฝ้าดูมันร่วงหล่นได้ทุกวัน…โปรดยอมรับกับตัวเองว่าคุณแข็งแกร่งมากเหลือเกิน ช่วงเวลาระหว่างนี้ไปจนถึงวันที่เชือกสองเส้นขาด จะสั้นหรือยาวแค่ไหน มันก็ไม่อาจเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงนี้ได้
เมื่อการทำความเข้าใจความตายคือการทำความเข้าใจชีวิตเพราะมันเป็นสองด้านของเหรียญเดียวกัน เราย่อมสามารถทำความเข้าใจชีวิตจากการตายของผู้อื่น
ส่วนจะเข้าใจอย่างไร? เป็นคำถามปลายเปิดที่ไม่มีใครตอบแทนคุณได้