เคยมีการคาดการณ์กันว่าเมื่อเข้าสู่ยุคดิจิทัล ร้านหนังสืออิสระทั่วโลกอาจถึงคราวต้องล้มหายตายจาก แต่ไม่กี่ปีมานี้ กลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในหลายประเทศ ร้านหนังสืออิสระยังคงเป็นที่นิยมของคนในปัจจุบัน เพราะเสน่ห์และเอกลักษณ์เฉพาะที่เป็นไปตามตัวตนของเจ้าของร้าน รวมทั้งการมีปฏิสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างร้านและนักอ่าน
แม้จุดแข็งและช่องทางการขายหลักจะอยู่ที่หน้าร้าน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าช่องทางออนไลน์ก็สามารถช่วยเพิ่มโอกาสการขายได้อีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ มีสถิติว่า ในสหรัฐอเมริกามีร้านหนังสืออิสระประมาณ 2,000 ร้าน แต่มีเพียง 150 ร้านเท่านั้นที่พร้อมและมีศักยภาพในการขายออนไลน์ ช่องว่างนี้จึงเป็นที่มาของการสร้างแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ ‘Bookshop.org’ เพื่อทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างผู้อ่านกับร้านหนังสืออิสระในโลกดิจิทัล
Bookshop เกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2020 ซึ่งหลายประเทศมีการล็อกดาวน์ และธุรกิจร้านหนังสือต่างก็หยุดชะงักกันถ้วนหน้า ผู้ก่อตั้งคือ แอนดี ฮันเตอร์ (Andy Hunter) โปรแกรมเมอร์และเจ้าของสำนักพิมพ์ Electric Literature เขายังเป็นผู้ริเริ่มเว็บไซต์ Literary Hub ซึ่งเป็นพื้นที่พูดคุยออนไลน์ว่าด้วยเรื่องหนังสือและวรรณกรรม
“Bookshop ต้องการให้ผู้จำหน่ายหนังสืออิสระสามารถแข่งขันกับ Amazon และขจัดอุปสรรคทั้งหมด เมื่อผ่านพ้นวิกฤตการแพร่ระบาด ร้านค้าจะแข็งแกร่งขึ้น เพราะพวกเขาได้เรียนรู้วิธีขายหนังสือออนไลน์อย่างรวดเร็ว และพร้อมสำหรับการอยู่รอดในอนาคต” ฮันเตอร์ กล่าว
ร้านหนังสือที่เป็นพาร์ตเนอร์กับ Bookshop จะได้รับส่วนแบ่ง 30% ของราคาปก โดยแพลตฟอร์มจะรับหน้าที่เป็นหน้าร้านออนไลน์ ประสานลูกค้า และจัดส่งหนังสือ นอกจากนี้ กำไรส่วนหนึ่งจะถูกเก็บไว้เป็นกองทุนสนับสนุนร้านหนังสืออิสระ แล้วแจกจ่ายให้ร้านค้าพาร์ตเนอร์ทุก 6 เดือน
ในปีแรกมีร้านหนังสือวางจำหน่ายหนังสือในแพลตฟอร์ม Bookshop มากกว่า 1,000 แห่ง บางวันมีลูกค้าเข้ามาเลือกหนังสือทาง Bookshop สูงถึง 1 ล้านคน และมียอดขายกว่าสิบล้านดอลลาร์สหรัฐในปีนั้น ลูกค้าราว 78% เป็นผู้ที่เคยซื้อหนังสือจาก Amazon เป็นประจำ ปัจจุบัน Bookshop ได้ขยายฐานลูกค้าครอบคลุมทั้งในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสเปน
เสียงตอบรับที่มีต่อ Bookshop เป็นไปในหลากหลายทิศทาง ทั้งที่มองว่าแพลตฟอร์มนี้เข้ามาในจังหวะพอเหมาะพอดีที่ร้านหนังสือกำลังเผชิญวิกฤต และยอดขายออนไลน์ได้ช่วยพยุงกิจการให้อยู่รอดต่อไปได้ ในขณะที่บางร้านมองว่าส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับยังน้อยเกินไป แม้ไม่ขาดทุนแต่ก็ไม่เพียงพอสำหรับหล่อเลี้ยงร้านในระยะยาว นอกจากนี้ ยังอาจสร้างความเข้าใจผิดให้ลูกค้าว่า การซื้อหนังสือผ่าน Bookshop เป็นช่องทางช่วยสนับสนุนร้านอิสระ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วการซื้อกับร้านโดยตรงช่วยให้ร้านได้กำไรมากกว่า รวมทั้งหนังสือในแพลตฟอร์มยังขาดความหลากหลาย ซึ่งอาจไม่สามารถสร้างความพึงพอใจให้แก่ผู้ซื้อได้เท่าที่ควร
ก้าวต่อไปของร้านหนังสืออิสระยังคงมีความท้าทายอีกหลายด้านที่ต้องฝ่าฟัน แต่อย่างน้อยสถานการณ์ ณ ตอนนี้ก็สะท้อนให้เห็นว่านักอ่านและสังคมได้มองเห็นถึงคุณค่าที่แท้จริงของร้านหนังสือ กลไกสนับสนุนที่เหมาะสมไม่ว่าโดยภาครัฐหรือเอกชน จะช่วยให้ร้านสามารถดำรงอยู่ได้และนักอ่านมีทางเลือกมากขึ้น
ที่มา
เว็บไซต์ (Online)
บทความ “” จาก theguardian.com (Online)
บทความ “” จาก stripe.com (Online)
บทความ “” จาก newstatesman.com (Online)
บทความ “” จาก sm-thaipublishing.com (Online)
บทความ “” จาก welcometothejungle.com (Online)