สัปดาห์หนังสือต้องห้าม ใครห้าม? ห้ามอะไร? ทำไมห้าม?
สัปดาห์หนังสือต้องห้าม เป็นงานรณรงค์ที่จัดขึ้นเป็นประจำทุกปีตั้งแต่ปี 1982 ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกันยายน ริเริ่มโดยสมาคมห้องสมุดอเมริกัน (American Library Association – ALA) และองค์การนิรโทษกรรมสากล (Amnesty International) เพื่อแสดงจุดยืนด้านเสรีภาพในการอ่าน และตระหนักถึงความจำเป็นในการปกป้องหนังสือที่มีเนื้อหาขัดกับมุมมองแบบอนุรักษนิยมจารีตหรือทัศนะที่คนทั่วไปไม่ยอมรับ และมีการเก็บรักษาหนังสือเหล่านั้นเพื่อให้ผู้ที่ต้องการอ่านสามารถเข้าถึงได้ นับตั้งแต่การจัดงานครั้งแรกเป็นต้นมา ผู้จัดได้รวบรวมหนังสือที่โรงเรียน ห้องสมุด หรือร้านหนังสือพิจารณาแล้วว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสมเอาไว้นับหมื่นเล่ม
สาเหตุที่หนังสือเหล่านี้ถูกจำกัดการเผยแพร่ เพราะมีเนื้อหาที่สั่นคลอนความปกติของสังคม ท้าทายความคิดความเชื่อตามขนบจารีต นำเสนอด้านมืดหรือสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ หรือกระทบต่อผู้มีอำนาจ เช่น ประเด็นเกี่ยวกับเพศที่สาม การเหยียดสีผิว การข่มขืน การใช้ถ้อยคำหยาบคาย ยาเสพติด การฆ่าตัวตาย การใช้ความรุนแรง ทัศนคติทางการเมืองและศาสนา เรื่องลามก เรื่องเวทมนตร์ลี้ลับ
ในปี 2011 ผู้จัดงานได้ขยายขอบข่ายเรื่องเสรีภาพในการอ่านไปสู่โลกอินเทอร์เน็ต โดยกำหนดให้วันพุธของสัปดาห์หนังสือต้องห้ามเป็นวันการรับรู้เว็บไซต์ต้องห้าม (Banned Websites Awareness Day) ทั้งนี้มีผลสำรวจของสมาคมบรรณารักษ์ห้องสมุดโรงเรียนอเมริกัน (American Association of School Librarians – AASL) ระบุว่า โรงเรียนกว่า 94% ใช้ซอฟต์แวร์ในการกลั่นกรองเนื้อหาเว็บไซต์ โดยมีการบล็อกโซเชียลมีเดียถึง 88% บล็อกการแชท 74% บล็อกเกม 69% บล็อกเว็บไซต์ที่ให้บริการวิดีโอ (เช่น ยูทูบ) 66% ในขณะที่ AASL เชื่อว่าการส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับนักเรียนในศตวรรษที่ 21 แต่หลายโรงเรียนก็เข้มงวดจนถึงขั้นปฏิบัติไปไกลเกินกว่าข้อเรียกร้องในสนธิสัญญาว่าด้วยการปกป้องเด็กจากอินเทอร์เน็ต
งานสัปดาห์หนังสือต้องห้ามมิได้เป็นเพียงการเชิญชวนให้เหล่านักอ่านมาทำความรู้จักกับหนังสือที่ถูกสังคมปฏิเสธ แต่ยังเรียกร้องเสรีภาพทางปัญญาให้กับห้องสมุด โรงเรียน และร้านหนังสือ และเตือนให้เห็นถึงภัยของอำนาจสั่งการที่คอยกำหนดทิศทางสารสนเทศในสังคมที่ยึดมั่นในหลักการเสรีภาพ
โดยปกติทุกปีที่ยังไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด ห้องสมุดต่างๆ จะร่วมกันจัดกิจกรรม อาทิ ออกร้านขายหนังสือ นิทรรศการ กิจกรรมสนทนากับนักเขียน การประกวดเขียนบทความ กิจกรรม ‘อ่านออกเสียง’ ประโยคที่ชื่นชอบจากหนังสือต้องห้าม
องค์การนิรโทษกรรมสากลยังใช้โอกาสนี้ในการเคลื่อนไหวเรื่องการปกป้องบุคคลซึ่งเขียน ตีพิมพ์ หรืออ่านหนังสือต้องห้าม โดยให้ข้อมูลว่าในแต่ละปีทั่วโลกมีคนที่ถูกสังหาร จำคุก หรือคุกคามในรูปแบบต่างๆ จากอำนาจรัฐ และกระตุ้นให้สังคมหันมาสนใจช่วยเหลือคนเหล่านั้นด้วยการแจ้งข้อมูลให้กับหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนที่ประจำอยู่ในประเทศต่างๆ รวมทั้งมีการจัดนิทรรศการประวัติและสถานะปัจจุบันของนักเขียนที่กำลังถูกคุกคามอยู่ในหลายประเทศ เช่น อาเซอร์ไบจาน จีน คิวบา อียิปต์ แกมเบีย อิหร่าน เมียนมา รัสเซีย และศรีลังกา
อย่างไรก็ตาม สัปดาห์หนังสือต้องห้ามก็ถูกวิจารณ์โต้แย้งทั้งจากสื่อมวลชนและผู้บริหารบางรายของ ALA ซึ่งเป็นองค์กรผู้จัดงานนี้เอง อาทิ เจฟฟ์ จาโคบี (Jeff Jacoby) คอลัมนิสต์จากบอสตันโกลบ (Boston Globe) มองว่า “รายชื่อหนังสือของสัปดาห์หนังสือต้องห้าม เป็นหนังสือทั่วไปที่พ่อแม่พิจารณาแล้วเห็นว่ามีเนื้อหาไม่เหมาะสม เพราะมีความรุนแรง ส่อไปในทางเพศ มีคำหยาบคาย หรือไม่เหมาะสมกับวัย แต่ก็ไม่ใช่หนังสือที่ถูกกำจัดออกไปจากท้องตลาด”
เจสซามิน เวสต์ (Jessamyn West) อดีตที่ปรึกษา ALA กล่าวว่า “ประเด็นที่นำเสนอในงานเป็นเรื่องที่รับรู้กันอยู่แล้ว นั่นคือมีหนังสือจำนวนหนึ่งที่พ่อแม่เห็นว่าลูกไม่ควรอ่าน ส่วนการเซ็นเซอร์หนังสือก่อนนำออกไปให้บริการก็เป็นเรื่องยากสำหรับบรรณารักษ์ และเป็นคนละเรื่องกับการจำกัดการตัดสินใจในการเลือกซื้อหนังสือเข้าห้องสมุด”
ดัก อาร์เชอร์ (Doug Archer) บรรณารักษ์และอดีตผู้บริหารของ ALA ให้ความเห็นว่า “รายชื่อหนังสือดังกล่าวถูกคัดค้าน แต่ไม่เคยถูกสั่งห้าม แม้ว่าหนังสือเหล่านี้จะถูกดึงออกไปจากการให้บริการในห้องสมุด แต่ก็ยังสามารถหาซื้อได้ตามร้านหนังสือ รัฐบาลก็ไม่เคยออกประกาศห้ามอ่าน การเซ็นเซอร์จึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง มันเป็นเพราะห้องสมุดและบรรณารักษ์ปรารถนาดีจึงได้ลิดรอนเสรีภาพในการอ่าน นั่นแปลว่าพวกเรากำลังไม่ซื่อสัตย์หรือเปล่า? ไม่เลย… พวกเราเพียงแค่ทำหน้าที่ของเรา”
สัปดาห์หนังสือต้องห้ามปีนี้ จัดขึ้นระหว่างวันที่ 26 กันยายน ถึง 2 ตุลาคม และมีการประกาศรายชื่อ ‘10 หนังสือท้าให้อ่าน’ หรือ Top Ten Most Challenged Books 2020 ล่วงหน้าถึง 6 เดือน ไว้ให้นักอ่านได้ลุยอ่านอุ่นเครื่องก่อนถึงวันงานจริง
สนใจรายชื่อ Top Ten Most Challenged Books ปีล่าสุดและปีที่ผ่านๆ มา โปรดดู ala.org
ที่มา
เว็บไซต์ Banned Books Week (Online)
บทความ “Banned Books Week” จาก wikipedia.org (Online)