The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา

653 views
6 mins
July 14, 2023

          ย้อนเวลากลับไปเมื่อประมาณ 180 ปีที่แล้ว เป็นยุครุ่งเรืองของการศึกษาค้นคว้าด้านธรรมชาติวิทยา ชาร์ลส์ ดาร์วิน ล่องเรือเดินทางไปยังหลายทวีปทั่วโลก เขาเพียรพูดคุยกับผู้คน สังเกตและจดบันทึก รวมทั้งเก็บตัวอย่างพืช สัตว์ และแร่ชนิดต่างๆ มากมาย จนในที่สุดนำไปสู่การปฏิวัติความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับที่มาของสิ่งมีชีวิต ว่าไม่ได้มาจาก ‘ผู้ทรงสร้าง’ แต่เป็นเรื่อง ‘วิวัฒนาการ’ ซึ่งสัมพันธ์กับกฎการคัดสรรของธรรมชาติ

          ด้วยความกังวลว่าจะเกิดกระแสการคัดค้านที่รุนแรง ดาร์วิน ตัดสินใจเผยแพร่ทฤษฎีของเขาภายหลังจากการค้นพบถึง 20 ปี ความสั่นสะเทือนไม่เพียงเกิดขึ้นในยุโรป เมื่อแนวคิดของเขาเดินทางข้ามทวีปไปถึงสหรัฐอเมริกา ก็ได้เกิดการโต้แย้งอย่างกว้างขวางในหมู่นักวิทยาศาสตร์รวมทั้งนักการศึกษา ซึ่งมีทั้งฝั่งที่เปิดรับความรู้ใหม่และฝั่งที่เคร่งศาสนา ขณะนั้นบางรัฐมีกฎหมายว่า “ทฤษฎีใดๆ ที่ปฏิเสธเรื่องราวการสร้างอันศักดิ์สิทธิ์ ตามที่สอนในคัมภีร์ไบเบิลถือเป็นอาชญากรรม” กว่าทฤษฎีวิวัฒนาการจะได้รับการยอมรับในแผ่นดินอเมริกาก็ใช้เวลาหลายสิบปี

          ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้นเอง พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา (The American Museum of Natural History) ในนครนิวยอร์กได้ก่อตั้งขึ้น ซึ่งมีส่วนในการปูทางความรู้ด้านธรรมชาติและวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ไปสู่สาธารณชน พิพิธภัณฑ์แห่งนี้รวบรวมวัตถุทางธรรมชาติจากทั่วโลก ปัจจุบันเป็นสถาบันความรู้ชั้นนำระดับนานาชาติ ซึ่งดึงดูดผู้เยี่ยมชมกว่า 5 ล้านครั้งต่อปี อีกทั้งทำงานอย่างใกล้ชิดกับโรงเรียน และบ่มเพาะนักวิทยาศาสตร์รุ่นใหม่ที่มีศักยภาพอีกด้วย

The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
Photo: ajay_suresh, CC BY 2.0, via Flickr

คลังทรัพยากรขนาดมหึมา ค้นคว้าเรียนรู้โลกและธรรมชาติ

          พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา ก่อตั้งเมื่อปี 1874 โดย อัลเบิร์ต เอส. บิกมอร์ นักธรรมชาติวิทยา ซึ่งเล็งเห็นว่านิวยอร์กควรมีพิพิธภัณฑ์เฉพาะทางด้านธรรมชาติเช่นเดียวกับในยุโรป เพื่อค้นหา ตีความ และเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมของมนุษย์ โลกธรรมชาติ และจักรวาล เขาเดินสายโน้มน้าวผู้มีชื่อเสียงและอิทธิพลในสังคม จนได้พื้นที่ทำเลทองผืนใหญ่ข้างสวนสาธารณะเซ็นทรัลพาร์คกว่า 232,000 ตารางเมตร มีการระดมทุนสนับสนุนการก่อสร้าง รวมทั้งเสาะหาวัตถุจากบรรดานักวิทยาศาสตร์และนักสะสม

          ปัจจุบัน ที่นี่มีอาคารเชื่อมต่อกันทั้งหมด 25 หลัง ทว่าเมื่อเปรียบเทียบกับวัตถุที่มีการรวบรวมอย่างต่อเนื่องกว่า 34 ล้านชิ้น ก็ยังนับว่าน้อยนิด เพราะสามารถนำมาหมุนเวียนจัดแสดงเพียง 3% ของสิ่งที่มีทั้งหมด นิทรรศการออกเป็นโซนต่างๆ เช่น โซนศิลปวัฒนธรรมของแต่ละทวีป โซนสัตว์ทะเล โซนกำเนิดของโลก โซนแร่ธาตุ โซนวิวัฒนาการมนุษย์ เป็นต้น

          วัตถุที่เป็นเหมือนไอคอนหรือภาพจำของพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกาก็คือ โครงกระดูกไทรันโนซอรัส ซึ่งปรากฏในภาพยนตร์เรื่อง Night at the Museum เรื่องราวสุดพิศวงเมื่อซากสัตว์ต่างๆ กลับมีชีวิตขึ้นมาหลังพระอาทิตย์ตกดิน นอกจากนี้ยังมี โมเดลวาฬสีน้ำเงิน ขนาดเท่าตัวจริง จำลองมาจากซากวาฬเพศเมียที่พบนอกชายฝั่งทางตอนใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ เมื่อปี 1925 ซึ่งสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครรู้จักธรรมชาติของพวกมัน

          คลังวัตถุขนาดมหึมานอกจากมีคุณค่าในเชิงวิชาการแล้ว ยังช่วยสร้างความตระหนักถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์ซึ่งเป็นส่วนเล็กๆ ของโลกอันกว้างใหญ่ไพศาล ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์ระมัดระวังเป็นพิเศษในการนำเสนอเรื่องราวประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ไม่ให้ตกอยู่ภายใต้มุมมองแบบลัทธิล่าอาณานิคมหรือลัทธิจักรวรรดินิยม และเคารพต่อผู้คนทุกหมู่เหล่า

The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
Photo: Aditya Vyas on Unsplash
The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
Photo: D. Finnin/© AMNH

เรียนรู้แบบไม่เน้นดูบอร์ด

          ในการคิดค้นกลวิธีนำเสนอนิทรรศการแต่ละเรื่อง ให้ดึงดูดความสนใจและปลุกความใฝ่รู้ของผู้เยี่ยมชม พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา มีหน่วยย่อยที่ชื่อว่า AMNH Exhibitions Lab ทำหน้าที่บูรณาการความรู้วิทยาศาสตร์ใหม่ๆ กับงานศิลปะเสมือนจริงและการนำเสนอด้วยมัลติมีเดีย รวมทั้งผลิตสื่อและซอฟต์แวร์ด้านวิทยาศาสตร์ นิทรรศการต่างๆ ไม่ได้อัดแน่นไปด้วยตัวอักษร แต่ชวนมอง เข้าใจง่าย และน่าประทับใจ ทีมงานที่อยู่เบื้องหลังนิทรรศการอันตระการตา ประกอบด้วยศิลปิน นักเขียน นักออกแบบ และโปรแกรมเมอร์กว่า 60 คน

The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
การแสดงท้องฟ้าจำลอง Worlds Beyond Earth
Photo: © AMNH
The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
การแสดงท้องฟ้าจำลองที่ร่วมผลิตโดยนักดาราศาสตร์และศิลปินผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์เสมือนจริง
Photo: D. Finnin/© AMNH

          นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา ยังให้ความสำคัญกับการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ให้กับคนทุกช่วงวัย สำหรับเด็กเล็กก่อนวัยเรียน กิจกรรมมักเน้นสร้างความอยากรู้อยากเห็นและกระตุ้นการออกสำรวจธรรมชาติ โดยออกแบบให้เด็กๆ สามารถเรียนรู้ร่วมกับผู้ปกครองหรือผู้สูงอายุในครอบครัว กิจกรรมมักใช้พื้นที่บริเวณโถงแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (Hall of Biodiversity) และโถงมหาสมุทรแห่งชีวิต (Milstein Hall of Ocean Life)

The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
Photo: Alvaro Keding/© AMNH

          สำหรับ วัยรุ่น พิพิธภัณฑ์ได้ผลิตสื่อการสอนชีววิทยา ซึ่งสามารถใช้ในโรงเรียนหรือเรียนรู้ด้วยตนเอง มีหลักสูตร ‘โลกของเรา เสียงของเรา อนาคตของเรา’ เพื่อบ่มเบาะเยาวชนให้เป็นนักกิจกรรมทางสังคมด้านปัญหาสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ พิพิธภัณฑ์ยังเปิดรับนักเรียนในท้องถิ่นให้เข้ามาฝึกงาน หรือทำวิจัยโดยมีนักวิทยาศาสตร์คอยช่วยให้คำแนะนำ ส่วน ผู้ใหญ่ สามารถเข้าร่วมกิจกรรมการบรรยายหรือเวิร์กชอปต่างๆ ซึ่งมีความยากง่ายหลายระดับ

ครั้งแรกในอเมริกา มอบปริญญาในนามพิพิธภัณฑ์

          อาจฟังดูเป็นเรื่องแปลกที่พิพิธภัณฑ์จะสวมบทบาทเหมือนมหาวิทยาลัย ในการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอก แต่เรื่องนี้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ ณ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา ที่นี่มีความพร้อมด้านทรัพยากรการเรียนรู้ ทั้งคอลเลกชันที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ห้องสมุดที่มีหนังสือเฉพาะทางกว่า 550,000 เล่ม และนักวิทยาศาสตร์ที่มีความสามารถระดับนานาชาติ

          สำนักบัณฑิตศึกษาริชาร์ด กิลเดอร์ (Richard Gilder Graduate School) ก่อตั้งขึ้นเมื่อ ปี 2006 เปิดสอนหลักสูตรปริญญาเอกสาขาชีววิทยาเปรียบเทียบ และต่อมาเปิดหลักสูตรมหาบัณฑิตสาขาการสอนวิทยาศาสตร์โลก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนครูวิทยาศาสตร์ที่มีคุณภาพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโรงเรียนในนิวยอร์กและพื้นที่ใกล้เคียง สืบเนื่องกันนี้ ยังมีโครงการครูวิทยาศาสตร์ในพำนัก (MAT Earth Science Residency) เป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับว่าที่ครูวิทยาศาสตร์ ให้มีโอกาสสัมผัสประสบการณ์ในโรงเรียนพันธมิตรหลายแห่ง เป็นเวลา 15 เดือน ก่อนเข้าสู่วิชาชีพอย่างเต็มตัว

หลักสูตรการสอนวิทยาศาสตร์

           “ในช่วงเวลาแห่งความผันผวนและไม่แน่นอน อาจไม่มีอะไรสำคัญไปกว่าการสอนให้เยาวชนกระหายใฝ่รู้ และมองเห็นความพิศวงเกี่ยวกับโลกรอบตัวเรา เพื่อให้เกิดความหวังบนพื้นฐานของเหตุผล ความจริง การเรียนรู้ และการค้นพบ… เราภูมิใจที่ได้ส่งนักวิทยาศาสตร์รุ่นเยาว์และครูวิทยาศาสตร์ออกไปสู่โลกซึ่งกำลังต้องการความเชี่ยวชาญ ทักษะ ความคิดสร้างสรรค์ และพลัง มากกว่าที่เคยเป็นมา” เอลเลน วี ฟุตเตอร์ ประธานพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา กล่าว

The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
พิธีประสาทปริญญาบัตรใต้ท้องวาฬ ณ โถงมหาสมุทรแห่งชีวิต (Milstein Hall of Ocean Life)
Photo: D. Finnin/© AMNH

‘Richard Gilder Center’ อาคารหลังใหม่ จุดประกายความกระหายใฝ่รู้

          เมื่อปี 2023 พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติอเมริกา เพิ่งเปิดให้บริการอาคารใหม่เอี่ยม ชื่อว่า ‘ศูนย์ริชาร์ด กิลเดอร์ เพื่อวิทยาศาสตร์ การศึกษา และนวัตกรรม’ (Richard Gilder Center for Science, Education and Innovation) เน้นรองรับการทำงานด้านส่งเสริมการศึกษาวิทยาศาสตร์ในระบบโรงเรียน รวมทั้งสนับสนุนการเรียนรู้ของครอบครัวและผู้ใหญ่

          พื้นที่ต่างๆ ในอาคารประกอบด้วยโซนการเรียนรู้ของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย โซนเตรียมความพร้อมสำหรับอุดมศึกษาและอาชีพ และ โซนการเรียนรู้สำหรับครูและนักการศึกษา ห้องเรียนเหล่านี้เชื่อมโยงการทำงานของพิพิธภัณฑ์กับการส่งเสริมการเรียนรู้ด้าน STEM ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการศึกษาของชาติ เนื้อหามีความเข้มข้นและเท่าทันความรู้วิทยาศาสตร์ที่เกิดใหม่อยู่เสมอ พร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกที่ทันสมัยอย่างครบครัน

The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
ห้องแล็บสำหรับเรียนวิทยาศาสตร์
Photo: Alvaro Keding/© AMNH

          อาคารนี้ยังมีห้องสมุดและคอมเพล็กซ์ซึ่งเปิดให้บริการผู้เยี่ยมชมทั่วไป โซนซึ่งเป็นที่นิยมสำหรับครอบครัว คือ พิพิธภัณฑ์แมลง (Susan and Peter J. Solomon Insectarium) นำเสนอความสำคัญของเหล่าสัตว์ตัวจิ๋วที่มีอิทธิพลต่อความอยู่รอดของโลกและมนุษย์ ผู้เยี่ยมชมจะได้เรียนรู้ระบบนิเวศของแมลง บทบาทของพวกมันในการผสมเกสรพืช การกระจายเมล็ดพันธุ์ และการเติมอากาศในดิน รวมทั้งการทำเกษตรกรรมของมนุษย์ ทั้งนี้ มีการออกแบบเนื้อหาผสานกับการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยในรูปแบบนิทรรศการอินเทอร์แอคทีฟ และหากผู้เยี่ยมชมอยากสัมผัสแมลงที่มีชีวิตอยู่จริงๆ ก็สามารถเข้าไปในโถงผีเสื้อ (Davis Family Butterfly Vivarium) เพื่อชื่นชมความงามและเฝ้าดูวงจรชีวิตอย่างใกล้ชิด

The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
ห้องสมุดภายในอาคาร Richard Gilder Center
Photo: Alvaro Keding/© AMNH
The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
ระยะการฟักตัวของดักแด้
Photo: Alvaro Keding/© AMNH
The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
เด็กๆ และการเรียนรู้เกี่ยวกับผีเสื้อ
Photo: Denis Finnin/© AMNH

          ศูนย์ริชาร์ด กิลเดอร์ ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น ‘อาคารใหม่ที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในนิวยอร์ก’ ด้วยรูปทรงไม่เหมือนใคร ดูคล้ายกับแคนยอนสีขาวอมชมพู โถงภายในเลียนแบบสัณฐานทางธรณีวิทยา ซึ่งมีรูพรุนจากการกัดกร่อนของกระแสน้ำและกระแสลม ผู้เยี่ยมชมสามารถลัดเลาะผ่านช่องคดโค้งน้อยใหญ่เพื่อเข้าสู่นิทรรศการต่างๆ และห้องเรียน มีการจัดแสดงคอลเลกชันทางวิทยาศาสตร์จากพื้นสูงขึ้นไปจรดเพดาน รวมทั้งนิทรรศการที่สร้างประสบการณ์เสมือนจริง หัวข้อ ‘Invisible Worlds’ แสดงให้เห็นว่าทุกชีวิตบนโลกเชื่อมโยงกันอย่างไร

          จีนน์ แก็ง (Jeanne Gang) สถาปนิกผู้ออกแบบ กล่าวว่า “แรงปรารถนาในการสำรวจและค้นพบ คือสัญลักษณ์ของวิทยาศาสตร์และเป็นส่วนสำคัญของชีวิตมนุษย์ เมื่อคุณก้าวเข้าสู่ ศูนย์ริชาร์ด กิลเดอร์ จะรู้สึกประหลาดใจทันที คุณสามารถเลือกชมนิทรรศการต่างๆ โดยเปลี่ยนไปมาตามความสนใจ อาคารเชิญชวนให้คุณเดินทางสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้น จุดประกายความอยากรู้อยากเห็น ค้นพบสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่งและความรู้ภายใน”

The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
Photo: Alvaro Keding/© AMNH
The American Museum of Natural History เพชรยอดมงกุฎแห่งพิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา
Photo: Alvaro Keding/© AMNH


ที่มา

บทความ “Behind the Scenes of Science Museums” จาก artsandculture.google.com (Online)

บทความ “Darwin in America The evolution debate in the United States” จาก pewresearch.org (Online)

บทความ “Richard Gilder Center for Science, Education, and Innovation at the American Museum of Natural History” จาก studiogang.com (Online)

บทความ “The Museum’s Richard Gilder School Confers Ph.D. and MAT Degrees” จาก thecitylife.org (Online)

เว็บไซต์ The American Museum of Natural History (Online)

Cover Photo: Alvaro Keding/© AMNH

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก