Active Learning นั้นอันที่จริงคือ วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบ Maker

29 views
August 18, 2021

Maker Movement หรือกระแสความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนที่นิยมสร้างสรรค์หรือซ่อมแซมสิ่งของต่างๆ เองโดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เป็นปรากฏการณ์ที่ผุดขึ้นและแพร่หลายในสหรัฐอเมริกามานานกว่าสิบปี วิถีของเมกเกอร์แตกหน่อมาจากวัฒนธรรม DIY (Do it by yourself) หรือ ‘อยากได้ต้องทำเอง’ ซึ่งฝังรากอยู่แล้วในสังคมชนชั้นกลางของอเมริกา แสดงออกถึงความเป็นตัวตนของตนเองผ่านงานอดิเรกและข้าวของที่ทำขึ้นเพื่อใช้ในชีวิตประจำวัน

เมกเกอร์หมายถึงคนที่มีจินตนาการ มีความคิดสร้างสรรค์ แล้วลงมือสร้างผลงานนั้นออกมา จึงมีคุณค่าอย่างเด่นชัดในมิติทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นผู้เล่นหรือตัวแสดงที่เอื้อต่อการผลักดันเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมและความสร้างสรรค์ ก่อให้เกิดอาชีพใหม่ๆ และเพิ่มโอกาสในการเป็นผู้ประกอบการของคนรุ่นใหม่ หากมองในมิติทางการศึกษา สังคมของเมกเกอร์ยังเป็นรูปธรรมสำคัญของชุมชนแห่งการเรียนรู้ เน้นเรียนรู้ด้วยประสบการณ์และการลงมือทำ ซึ่งแนวคิดนี้ถูกพูดถึงกันมานานหลายสิบปีแต่ก็เกิดขึ้นจริงไม่มากนักในรั้วโรงเรียน

Maker Culture หรือ ‘วัฒนธรรมทำเอง’ เป็นกระแสที่โดดเด่นที่สุดกระแสหนึ่งในยุคเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งฐานคิดที่สำคัญคือ การลองทำ โดยยังไม่มองไปที่ข้อจำกัดหรือปัญหา หากผิดพลาดก็หาทางแก้ไข หากมีความรู้ไม่พอก็อ่านหนังสือหรือพูดคุยกับคนที่รู้จริง เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีลักษณะแลกเปลี่ยนแบ่งปันความรู้ให้แก่กันและกัน

Maker Space คือสถานที่ที่ผู้คนซึ่งมีความสนใจเดียวกัน เข้ามาร่วมแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ หรือทำโครงงานร่วมกันให้เกิดขึ้นจริง ภายใต้สิ่งแวดล้อมที่มีความพร้อมสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือ วัสดุ อุปกรณ์ เครื่องไม้เครื่องมือของวิชาชีพนั้นๆ และอาจมีผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาคอยให้คำแนะนำ

ในต่างประเทศ เมกเกอร์สเปซมีหลายลักษณะ ทั้งที่ตั้งอยู่ในห้องสมุด หน่วยงาน หรือโรงเรียนขนาดใหญ่ บางแห่งที่มีความยืดหยุ่นมากพอก็ใช้เป็นสถานที่สำหรับให้ทุกคนในชุมชนได้มีโอกาสเข้าถึงและใช้งานเครื่องมือต่างๆ ซึ่งมีราคาสูง โดยอาจเรียกเก็บค่าบริการและค่าวัสดุสิ้นเปลืองในราคาสมเหตุสมผล ส่วนบางแห่งก็ทำโดยเอกชนเพื่อเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ มีการอบรมการใช้เครื่องมือก่อนให้เช่าพื้นที่และอุปกรณ์ รวมทั้งอาจมีการจัดหลักสูตรอบรมเฉพาะทางเพื่อสร้างชิ้นงาน

ในประเทศไทย เมกเกอร์สเปซที่โดดเด่นมีจำนวนไม่น้อย เช่น FabCafé และ Enjoy Maker Space ส่วนความสนใจเรื่องเมกเกอร์ สะท้อนให้เห็นได้จากการจัดงาน Bangkok Mini Maker Faire ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2559 และขยับมาสู่งาน Maker Faire Bangkok อย่างเต็มตัวในปี พ.ศ. 2561 เป็นงานประจำปีที่บรรดาเมกเกอร์ไทยเข้าร่วมแสดงผลงานการประดิษฐ์คิดค้นกันอย่างคึกคักและนำเสนอนวัตกรรมที่น่าตื่นตาตื่นใจ ครั้งล่าสุดจัดขึ้นต้นปี 2563 กระทั่งเกิดวิกฤตไวรัสโควิดเป็นเหตุให้ยังไม่สามารถจัดงานได้อีกในปีนี้

โรงเรียนและเมกเกอร์สเปซมีจุดร่วมที่เหมือนกันอย่างหนึ่งในเรื่องกระบวนการเรียนรู้ คือ Learning by doing และ Active Learning ซึ่งเมกเกอร์สเปซสามารถช่วยเติมเต็มมิติที่ยังขาดหายไปในโรงเรียนได้ ยิ่งในเวลานี้เนื้อหาการเรียนที่สำคัญคือกลุ่มวิชา STEM (Science, Technology, Engineering and Mathematics) เมกเกอร์สเปซก็ยิ่งเป็นสิ่งที่เหมาะเจาะกับวิชาเรียนสำหรับอนาคต เพราะทำให้นักเรียนมีโอกาสได้ลงมือปฏิบัติจริงจากสิ่งที่เรียนจากตำรา สอดคล้องกับทฤษฎี Constructionism ที่เชื่อว่า ความรู้และสติปัญญานั้นมีอยู่ในตัวคนทุกคน การสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้ผู้เรียนได้ค้นหาคำตอบและปฏิบัติเอง เป็นวิธีการเรียนรู้ที่จะก่อให้เกิดความหมายต่อผู้เรียนและมีผลต่อโครงสร้างความรู้ในสมองมากที่สุด

การเรียนรู้แบบเมกเกอร์ กระตุ้นศักยภาพและการมีส่วนร่วมของผู้เรียน เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่มีอิสระและอยู่ในสภาพแวดล้อมทางสังคมที่เปิดกว้างยิ่งกว่าห้องเรียน นำไปสู่การขบคิดประเด็นปัญหาที่มีชีวิตชีวาและสร้างความกระตือรือร้นได้มากกว่า เป็นการเรียนรู้แบบเครือข่ายที่ไม่เป็นทางการ มีพี่เลี้ยงที่เป็นผู้เชี่ยวชาญคอยให้คำแนะนำ ไม่ใช่ผู้สอน เป็นการเรียนรู้แบบแบ่งปันในลักษณะยิ่งให้ยิ่งเกิดการเรียนรู้ สามารถล้มเหลวได้โดยไม่ถูกลงโทษหรือไม่เสียคะแนน มีความสนุกเป็นแรงจูงใจ อีกทั้งยังเป็นกระบวนการเรียนรู้ที่เติมเต็มตัวตนให้กับผู้เรียน เพราะทุกคนสามารถเลือกลงมือทำงานที่ตนเองสนใจใฝ่รู้ และลองผิดลองถูกจนกระทั่งออกมาเป็นผลงานรูปธรรม

การเรียนรู้แบบเมกเกอร์นั้นเป็น Active Learning โดยตัวของมันเอง และช่วยส่งเสริมทักษะจำเป็นของศตวรรษที่ 21 เพราะได้รวมเอาการคิดวิเคราะห์ การคิดแก้ปัญหา การร่วมมือ การรู้จักผ่อนหนักผ่อนเบา และความสามารถในการสร้างนวัตกรรม เข้าไว้ด้วยกัน แต่ก็ขึ้นอยู่กับตัวของผู้เรียนเองด้วยที่จะต้องมีใจรัก (passion) มีความพยายามและความอยากที่จะลงมือสร้างสรรค์สิ่งใหม่ด้วยตนเอง

Active Learning นั้นอันที่จริงคือ วัฒนธรรมการเรียนรู้แบบ Maker


ที่มา

บทความ “Maker Space พื้นที่การเรียนรู้แนวใหม่” จาก tkpark.or.th (Online)

บทความ “Maker Space แหล่งเรียนรู้ของนักสร้างนวัตกรรม” จาก tkpark.or.th (Online)

บทความ “กระบวนการเรียนรู้และสร้างนวัตกรรมด้วยการทดลองทำ” จาก tkpark.or.th (Online)

บทความ “อยากส่งเสริม Active Learning ต้องสนับสนุนให้มี Maker Space” จาก tkpark.or.th (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก