ประวัติศาสตร์ของวิทยาศาสตร์ เส้นทางการปลดแอกจากความไม่รู้

1,170 views
5 mins
March 23, 2021

          ในฐานะเด็กที่จบ ม.ปลาย สายวิทย์-คณิต (เมื่อนานมาแล้ว) ทั้งสองเป็นวิชาที่อยู่พ้นไปจากความเข้าใจของผมโดยสิ้นเชิง รูปภาพพันธะเคมี สมการการเคลื่อนที่ อัตราเร่ง และอื่นๆ เป็นอีกภาษาหนึ่งที่มีไวยากรณ์เฉพาะ แต่ลึกๆ แล้วผมก็รู้ตัวว่าเป็นคนสนใจวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะในแง่ประวัติศาสตร์ความคิดของมนุษยชาติ

          วิทยาศาสตร์ (ของตะวันตก) เริ่มต้นเมื่อใด?

          มันเริ่มประมาณ 600 ปีก่อนคริสตกาล เมื่อเธลีส (สะกดตามหนังสือ บางคนอาจรู้จักในชื่อธาเลส) บอกว่า น้ำ คือธาตุหลักของทุกสิ่ง แล้วก็มีคนอื่นไม่เห็นด้วยกับเขาและเสนอว่า ไฟต่างหากคือธาตุหลัก บ้างก็ว่าอากาศ บ้างก็ว่าประกอบด้วยสิ่งที่เล็กที่สุดที่ไม่อาจแบ่งแยกได้อีกคืออะตอม วัดด้วยความรู้ที่เรามี ณ ปัจจุบัน ไม่แปลกหากเราจะขบขันอาการมโนของคนเหล่านี้

          แต่หากมองด้วยสายตาของคนเมื่อ 2,000 กว่าปีก่อน สิ่งนี้คือการปฏิวัติ เพราะเป็นความพยายามแรกๆ ของมนุษย์ที่จะอธิบายโลกรอบตัวโดยไม่พึ่งพิงฤทธานุภาพของเทพเจ้าหรือปกรณัมใดๆ

          ‘วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์การไขความจริงแห่งสรรพสิ่ง’ (A Little History of Science) เป็นหนังสือที่เล่าเรื่องราวความอุตสาหะของมนุษย์ที่ต้องการรู้ว่า ‘ความจริง’ คืออะไร

          วิลเลียม บายนัม (William Bynum) วางโครงสร้างของหนังสือส่วนหนึ่งโดยเรียงตามลำดับเวลาก็จริง แต่ไม่ใช่การเล่าแบบตำราประวัติศาสตร์ เขาเล่าผ่านบุคคลที่มีบทบาทสำคัญ ผ่านตำนาน ผ่านการปฏิวัติทางความคิด ครอบคลุมหลากหลายสาขาของวิทยาศาสตร์ ไม่ว่าจะเป็นบรรพชีวิตวิทยา เลือด เครื่องยนต์ จนถึงกำเนิดจักรวาล

          ก็จริงว่ากระบวนการทางวิทยาศาสตร์มีความสำคัญ มันทำให้วิทยาศาสตร์มีความหนักแน่นน่าเชื่อถือ ถึงกระนั้น สิ่งที่ทำให้วิทยาศาสตร์เติบโตกลับน่าจะเป็นการหักล้างเสียมากกว่า

          คาร์ล ป็อปเปอร์ นักปรัชญาชาวออสเตรีย เขียนหนังสือเล่มหนึ่งเมื่อนานมาแล้วชื่อว่า The Logic of Scientific Discovery นำเสนอความคิดว่า เราไม่สามารถพิสูจน์กฎทางวิทยาศาสตร์ว่าถูกต้องสมบูรณ์ได้เพราะมันอยู่เหนือประสบการณ์ของเรา สิ่งที่เราพอทำได้คือการพยายามพิสูจน์ว่ามันผิด และกฎหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ใดที่อ้างว่าไม่มีทางผิดพลาด นั่นย่อมไม่ใช่วิทยาศาสตร์

          เรื่องราวในหนังสือจึงเต็มไปด้วยการหักล้างทฤษฎีก่อนหน้า ยกตัวอย่างเช่นทฤษฎีธาตุทั้งสี่ของอริสโตเติ้ลที่กล่าวว่า ดิน น้ำ ลม ไฟ เป็นส่วนประกอบของวัตถุรอบตัว โรเบิร์ต บอยล์ ผู้มีชีวิตในช่วงศตวรรษที่ 17 กลับพยายามพิสูจน์หักล้างทฤษฎีของอริสโตเติ้ลที่ครอบงำโลกตะวันตกมากกว่าพันปี ทำให้เกิดวิชาเคมีแบบใหม่ที่หลุดพ้นจากร่มเงานักปรัชญากรีกคนนี้

          หรือแบบจำลองเอกภพของปโตเลมีที่จัดวางโลก ณ ศูนย์กลางจักรวาลมีดาวเคราะห์และดาวฤกษ์ต่างๆ โคจรรอบพิภพของมนุษย์ มันสอดคล้องกับความนึกคิดถึงความยิ่งใหญ่ของเรา ผู้ที่พระเจ้าสร้างขึ้นเพื่อครอบครองสรรพสิ่ง ศาสนจักรโรมันคาทอลิกหยิบยืมแนวคิดของปโตเลมีเป็นของตนและห้ามมิให้ใครล่วงละเมิด ความอยากรู้ความจริงและขบถมีทุกยุคสมัยในประวัติศาสตร์ นิโคลัส โคเพอร์นิคัส ศึกษา ค้นคว้า สังเกต และสร้างแบบจำลองที่มีดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลาง ไม่ใช่โลก มนุษย์จึงถูกผลักออกจากศูนย์กลางจักรวาลและเป็นเพียงดาวบริวารเล็กๆ ดวงหนึ่งในระบบสุริยะ

          ใครที่รับรู้เรื่องราวยุโรปยุคกลางคงทราบว่า มันคือช่วงเวลาที่ถูกเรียกอย่างแดกดันว่ายุคมืด เมื่อศาสนจักรเข้าควบคุมองค์ความรู้ไม่ให้ออกนอกลู่นอกรอยจากคัมภีร์ไบเบิ้ลและพระสันตะปาปา กว่าวิทยาศาสตร์จะเดินทางมาถึงจุดที่ทำให้เรามีสมาร์ทโฟนใช้ต้องฝ่าฟันอุปสรรคและสังเวยชีวิตไปพอสมควร

          ผมไม่ใช่คนที่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์คือคำตอบเดียวในการค้นหาความจริง แน่นอนล่ะว่าการค้นหาความจริงเกี่ยวกับโลกและจักรวาล เคมีและชีววิทยา ควอนตัมและทฤษฎีสตริง ต้องอาศัยวิทยาศาสตร์เป็นแนวหน้า ถ้าเราต้องการให้ราษฎรกล้าตั้งคำถาม หักล้างความคิด ทฤษฎี ความเชื่อที่ดำรงอยู่ในสังคม วิทยาศาสตร์ยิ่งมีความจำเป็น

          ทำไม?

          เพราะสังคมไทยเอ่อล้นด้วยความคิด ทฤษฎี ความเชื่อที่ไม่สามารถพิสูจน์ว่าผิดได้ หนักหนายิ่งกว่าคือห้ามพิสูจน์ว่าผิด ซ้ำหลายกรณียังถูกบังคับให้บอกว่าถูก ถูก และถูก ประหนึ่งว่าเรายังคงพักพิงในยุคมืด

          ‘วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์การไขความจริงแห่งสรรพสิ่ง’ แง่หนึ่งคือประวัติศาสตร์การปลดแอกจากความไม่รู้ของมนุษยชาติ การหักล้าง ตั้งคำถาม การยืนยันว่าจะยังไม่เชื่อจนกว่าจะได้พิสูจน์ การแสวงหาเสรีภาพในการค้นหาความจริง

          วิทยาศาสตร์เดินทางมาไกลนับจากธาลีสและยังมีหนทางที่ไกลยิ่งกว่าให้ไปต่อ

         แล้วอะไรที่ผมคาดหวัง…เรียกว่าความทะเยอทะยานน่าจะเหมาะกว่า ทะเยอทะยานว่าหนังสือเล่มนี้และวิทยาศาสตร์จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลายชิ้นที่พาเราออกจากยุคมืด

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก