5 วิธีจัดการหนังสือปลดระวางจากห้องสมุดให้เกิดคุณค่าสูงสุด

203 views
January 30, 2023

หนังสือแต่ละเล่มที่ให้บริการในห้องสมุดมีวัฏจักรชีวิตสั้นบ้างยาวบ้าง สุดท้ายแล้วก็ต้องถึงวาระอำลานักอ่าน ถูกปลดระวางออกจากห้องสมุด เพื่อเปิดทางให้เกิดการหมุนเวียนหนังสือเล่มใหม่ได้เข้ามาบริการบนพื้นที่ชั้นหนังสือซึ่งมีจำกัด

หนึ่งในบทบาทของบรรณารักษ์คือ การประเมินคุณค่าของหนังสือแต่ละเล่ม ว่าควรนำออกจากระบบการให้บริการแล้วหรือยัง เกณฑ์โดยทั่วไป เช่น มีสภาพเก่าหรือชำรุดเกินกว่าจะสามารถซ่อมแซม ซื้อเล่มใหม่มาแทนคุ้มค่ากว่า มีข้อมูลหรือเนื้อหาตกยุค หรือไม่ค่อยมีใครนำไปอ่าน รวมทั้งการพิจารณาถึงการเก็บหนังสือบางเล่มไว้เป็นทรัพยากรหายาก ซึ่งต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ

ทั้งนี้ การบริหารจัดการหนังสือดังกล่าวให้เกิดคุณค่า สามารถทำได้หลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับปัจจัยของตัวเล่มหนังสือและกฎระเบียบของห้องสมุดแต่ละแห่ง

นอกจากการนำเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลกระดาษ ห้องสมุดหลายแห่งยังมีไอเดียนำหนังสือเหล่านั้นไปสร้างสรรค์ประโยชน์ต่อ ลองมาดูกันว่าหลังจากหมดหน้าที่บนชั้นวางหนังสือแล้ว หนังสือยังสร้างคุณค่าให้กับโลกการอ่านอย่างไรได้อีก

5 วิธีจัดการหนังสือปลดระวางจากห้องสมุดให้เกิดคุณค่าสูงสุด
Photo: Darwin Vegher on Unsplash

นำไปบริจาค

หากหนังสือยังสามารถใช้งานได้ ห้องสมุดอาจนำไปบริจาคให้กับองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ห้องสมุดชุมชน เรือนจำ โรงพยาบาล หรือโรงเรียน ตัวอย่างองค์กรระหว่างประเทศที่มีชื่อเสียงด้านบริหารจัดการหนังสือมือสอง เช่น Better World Books ซึ่งหาบ้านใหม่ให้กับหนังสือมาแล้วกว่า 200 ล้านเล่ม เพื่อนำกำไรไปใช้สนับสนุนกองทุนการรู้หนังสือ และพัฒนาห้องสมุดในประเทศยากไร้ทั่วโลก ส่วนที่ประเทศไทย ก็มีโครงการอ่านสร้างชาติ โดยมูลนิธิกระจกเงา ซึ่งมีการคัดแยกและจัดหมวดหมู่หนังสือที่ได้รับบริจาคอย่างเป็นระบบ แล้วส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายในการรับหนังสือ เช่น ห้องสมุดโรงเรียน ห้องสมุดชุมชน กลุ่มองค์กรชาวบ้าน เด็กและเยาวชนผู้ขาดโอกาสในการเข้าถึงหนังสือ โดยออกแบบระบบให้ผู้รับมีสิทธิ์เลือกหนังสือที่ตนต้องการอ่านจริงๆ

5 วิธีจัดการหนังสือปลดระวางจากห้องสมุดให้เกิดคุณค่าสูงสุด
Photo: Better World Books

เปิดร้านหนังสือในห้องสมุด

อีกหนึ่งทางออกในการบริหารจัดการหนังสือมือสองซึ่งนิยมอย่างกว้างขวางในอเมริกาและยุโรปมายาวนาน คือการก่อตั้งร้านหนังสือ ‘Friends of the Library’ ไว้ในห้องสมุด องค์กรนี้ประกอบด้วยอาสาสมัครทำหน้าที่ช่วยเหลืองานในห้องสมุด รวมถึงนำหนังสือที่ปลดระวางแล้วไปจำหน่าย ในสหรัฐอเมริกามักมีการตั้งราคาหนังสือเท่าๆ กัน คือเล่มละ 5 ดอลลาร์

ตัวอย่างเช่น ร้านหนังสือของห้องสมุดลาฟาแยตต์ (Lafayette Library) จัดจำหน่ายหนังสือมือสองสภาพดีมาตั้งแต่ปี 1967 ปัจจุบันมีหนังสือกว่า 150 หมวดหมู่ จำนวนกว่า 20,000 เล่ม จำหน่ายทั้งในหน้าร้านและผ่าน Amazon ประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือ ห้องสมุดมีเงินทุนเพิ่มสำหรับซื้อหนังสือใหม่หรือใช้สำหรับจัดกิจกรรมส่งเสริมการอ่าน ส่วนนักอ่านก็ได้หนังสือสภาพดีในราคาย่อมเยากลับไปอ่านที่บ้าน

ทั้งนี้ ในกรณีห้องสมุดประชาชนในสหราชอาณาจักรมีข้อกำหนดว่า หนังสือที่จะสามารถนำไปจำหน่ายต้องจัดซื้อมาโดยงบประมาณของรัฐเท่านั้น ถ้าเป็นหนังสือที่มีผู้อื่นบริจาคให้แก่ห้องสมุด จะมีสถานะเป็นของขวัญของกำนัลซึ่งไม่สามารถนำไปแสวงหากำไรต่อได้

5 วิธีจัดการหนังสือปลดระวางจากห้องสมุดให้เกิดคุณค่าสูงสุด
Photo: Friends Corner Book Shop | Lafayette CA

จัดกิจกรรมขายหนังสือมือสอง

สำหรับประเทศไทย การนำหนังสือปลดระวางจากห้องสมุดไปวางขายอาจเป็นโมเดลที่ไม่ค่อยพบเห็นบ่อยครั้งนัก ตัวอย่างเช่น ห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ ซึ่งจัดกิจกรรมขายหนังสือมือสองต่อเนื่องมาแล้วหลายปี ด้วยราคาเริ่มต้น 20 บาท กระแสตอบรับจากผู้อ่านเป็นไปในทิศทางที่ดี เช่น หนังสือมีสภาพดี และราคาคุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาหน้าปก ส่วนห้องสมุดมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยเคยปลดหนังสือนับหมื่นเล่ม เมื่อปี 2561 โดยตั้งราคาเล่มละ 5 บาท แต่มีผู้ซื้อไม่มากเท่าที่ควร

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้เคยมีเสียงวิพากษ์จากบรรณารักษ์ถึงกรณีที่ห้องสมุดมหาวิทยาลัยนำหนังสือไปขายต่อ ว่าควรพิจารณาถึงทางออกอื่นๆ เช่น นำไปบริจาคให้กับหน่วยงานที่ต้องการซึ่งยังมีอีกมาก นำไปแลกเปลี่ยนกับห้องสมุดแห่งอื่นเพื่อให้เกิดความหลากหลายของทรัพยากร หรือแจ้งรายชื่อไปยังหอสมุดแห่งชาติ ซึ่งหากเป็นเล่มที่ยังไม่มีในหอสมุดก็ควรจัดส่งไปเก็บไว้ในฐานะคลังปัญญาของชาติ

5 วิธีจัดการหนังสือปลดระวางจากห้องสมุดให้เกิดคุณค่าสูงสุด
Photo: Neilson Hays Library

ใช้เป็นสื่อประชาสัมพันธ์การอ่าน

หนังสือที่เก่าแล้วทั้งจากบ้านเรือนและห้องสมุด ยังสามารถนำไปสร้างสรรค์เป็นสื่อการสอนหรือสื่อประชาสัมพันธ์การอ่าน เช่น ‘เสาหนังสือ’ ซึ่งสร้างขึ้นจากหนังสือที่ชำรุดหรือเสื่อมคุณภาพ เพื่อใช้สอนเกี่ยวกับการออกแบบปกและรูปเล่ม เสาหนังสือเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 2555 ในห้องเรียนวิชาบรรณาธิการศึกษา มหาวิทยาลัยบูรพา บางแสน แล้วย้ายไปสร้างใหม่ที่คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี 2560 ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย จังหวัดสงขลา

หนังสือเกือบ 1 พันเล่มซึ่งถูกจัดเรียงอย่างสวยงามได้กลายเป็นจุดดึงดูดความสนใจของนักอ่านและนักท่องเที่ยว โดยสามารถมองเห็นจากระยะไกล หนังสือเหล่านี้ยังช่วยห่อหุ้มเสากลางอาคารเก่าแก่ ซึ่งเป็นจุดล่อแหลมที่อาจถูกชนหรือกระแทกได้ง่าย

5 วิธีจัดการหนังสือปลดระวางจากห้องสมุดให้เกิดคุณค่าสูงสุด
Photo: ห้องสมุด ยับ เอี่ยน ฉ่อย

สร้างสรรค์เป็นงานศิลปะ

เมื่อปี 2016 ที่เมืองโทรอนโต ประเทศแคนาดา ท้องถนนสายหลักของเมืองท่วมท้นไปด้วยหนังสือนับหมื่นเล่มที่ได้มาจากการบริจาค งานศิลปะยามค่ำคืน ‘แม่น้ำหนังสือ’ ไม่เพียงดูมีเสน่ห์น่าหลงใหล แต่ยังเป็นเหมือนห้องสมุดกลางแจ้งที่รอคอยนักอ่านให้มาเลือกหยิบหนังสือที่สนใจกลับบ้าน ก่อนหน้านี้มันเคยถูกจัดแสดงในมาดริด เมลเบิร์น และนิวยอร์ก

“ปกติแล้วพื้นที่ในเมืองถูกสงวนไว้สำหรับความเร่งรีบ มลพิษ และเสียงรบกวน มันได้ถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่สำหรับความเงียบ ความสงบ และการอยู่ร่วมกัน ท่ามกลางแสงสว่างไสวนุ่มนวล…หนังสือได้ตั้งอยู่ตรงนั้นเป็นเวลา 1 คืนเพื่อผู้ที่ต้องการนำไปใช้ สุดท้ายแล้วรถยนต์ก็จะกลับมายึดครองพื้นที่เช่นเดิม แต่สำหรับผู้คนที่เดินผ่านถนนในคืนนั้น ความทรงจำที่มีต่อหนังสือจะช่วยเปลี่ยนความสัมพันธ์ระหว่างพวกเขากับสภาพแวดล้อมเหล่านี้” ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน กล่าว

5 วิธีจัดการหนังสือปลดระวางจากห้องสมุดให้เกิดคุณค่าสูงสุด
Photo: Luzinterruptus


ที่มา

เว็บไซต์ Awful Library Books (Online)

เว็บไซต์ โครงการอ่านสร้างชาติ มูลนิธิกระจกเงา (Online)

เฟซบุ๊ก Makut Onrudee (Online)

บทความ “Friends of the Lafayette Library and Learning Center” จาก lllcf.org (Online)

บทความ “How to Recycle Books in 2024: A Complete Guide” จาก bookscouter.com (Online)

บทความ “ยับ เอี่ยน ฉ่อย จากโกดังข้าว สู่ห้องสมุดมีชีวิตประจำสงขลา ที่เต็มไปด้วยความสนุก(opens in a new tab)” จาก readthecloud.co (Online)

บทความ “10,000 Books Create a Literary River on the Streets of Toronto” จาก mymodernmet.com (Online)

บทความ “Why do libraries sell books?” จาก online-literature.com (Online)

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก