101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 09 องค์กรจะแย่ ถ้าให้ความสำคัญแค่ ‘ความเป็นเลิศด้านปฏิบัติการ’
‘ความเป็นเลิศด้านปฏิบัติการ’ (Operational Excellence) หรือ การบริหารจัดการให้ระบบการทำงานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดและตอบสนองความต้องการของลูกค้า คือปัจจัยที่จะกระตุ้นให้องค์กรพัฒนาการทำงานอย่างต่อเนื่อง แต่หลายๆ องค์กรมักให้ความสำคัญกับการผลิตสินค้าให้ได้ในราคาถูกเสียมากกว่า แม้ว่าการลดต้นทุนการผลิตจะทำให้องค์กรได้กำไรเพียงในระยะสั้น หากยังยึดมั่นกับการทำงานแบบเดิมๆ องค์กรคงไม่สามารถผลิตสินค้าใหม่ๆ ที่คุณภาพดีขึ้นได้ในราคาที่ต่ำลงกว่าที่เป็นอยู่ เช่นเดียวกับการจะประดิษฐ์หลอดไฟได้สำเร็จก็ไม่ได้ต่อยอดมาจากการพัฒนาปรับปรุงเทียนไขอย่างต่อเนื่อง
เทคโนโลยีใหม่ กฎหมายหรือข้อบังคับใหม่ คู่แข่งใหม่ และแผนธุรกิจแนวใหม่ จะทำให้การทำงานรูปแบบเดิมล้าสมัยไปในที่สุด ถึงแม้ ‘ความเป็นเลิศด้านปฏิบัติการ’ ทำให้ธุรกิจของคุณได้กำไรในวันนี้ แต่สิ่งที่จะทำให้คุณได้ผลกำไรในวันข้างหน้าคือ ‘ความเป็นเลิศด้านการสร้างนวัตกรรม’ (Innovation Excellence)
ถนนเส้นเดิมไม่อาจพาไปสู่จุดหมายปลายทางที่แตกต่างได้ แล้วเราจะพบเส้นทางสายใหม่ได้อย่างไร?
สตีฟ จอบส์ กล่าวไว้ในแคมเปญ ❝ Think Different ❞ ของ Apple ในปี 1997 ว่า
❝ ในองค์กรจะมีคนกลุ่มหนึ่งที่ดูเหมือนคนบ้า คนที่ไม่เข้าพวก จอมพยศ ตัวปัญหา ทำตัวเหมือนกับตะปูหัวกลมที่ตอกลงไปในรูสี่เหลี่ยม เป็นพวกที่คิดแตกต่างจากชาวบ้าน คนพวกนี้จะไม่ชอบกฎระเบียบและกฎเกณฑ์ทางสังคม
คุณโต้แย้งคำพูดของเขาได้ คุณเห็นต่างได้ คุณจะสรรเสริญหรือนินทาเขาก็ได้ แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่ควรทำ คือมองข้ามคนกลุ่มนี้ เพราะเขาคือคนที่จะผลักดันมนุษยชาติไปสู่อนาคต ใครๆ อาจมองว่าพวกเขาคือคนบ้า แต่เราควรมองว่านี่คืออัจฉริยะ เพราะคนที่กล้าพอที่จะคิดว่าตัวเองสามารถเปลี่ยนโลกได้ คือคนที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงได้จริงๆ ❞
ในองค์กรหนึ่ง คุณจำเป็นจะต้องมีทั้ง ‘ความเป็นเลิศด้านปฏิบัติการ’ และ ‘ความเป็นเลิศด้านการสร้างนวัตกรรม’ ทั้งสองสิ่งเปรียบเหมือนพี่น้องกัน
ดังนั้น จงลองเปิดใจฟังคนที่ไม่เข้าพวก จอมพยศ ตัวปัญหาในองค์กรของคุณและในโลกใบนี้
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen