101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 08 สถานการณ์แบบไหนที่ไม่จำเป็นต้องใช้นวัตกรรม
นวัตกรรม เป็นสิ่งที่คนกล่าวถึงอย่างแพร่หลายเสียจนคุณอาจจะคิดว่า มันคือเครื่องมือที่เหมาะสมกับทุกองค์กร ในฐานะนวัตกรคนหนึ่ง ผมรู้อยู่เต็มอกว่า…ไม่ใช่เลย
หากเปรียบเทียบการสร้างนวัตกรรมกับการเดินทางในยุคโบราณ การสำรวจอาจล้มเหลวด้วยเหตุผลหลายๆ ประการ บางครั้งเป็นเพราะอุปสรรคด้านสิ่งแวดล้อม เช่น จอห์น แฟรงคลิน นายทหารเรือและนักสำรวจชาวสหราชอาณาจักร ที่เดินทางผ่าน ‘เส้นทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ’ (Northwest Passage) ที่เชื่อมมหาสมุทรแอตแลนติกและแปซิฟิก เขาเดินทางลัดเลาะผ่านกลุ่มเกาะอาร์กติกแคนาดา จนเรือติดน้ำแข็งไม่สามารถเดินทางต่อได้ ทั้งกัปตันและลูกเรือเสียชีวิตจากความหนาวเย็น ขาดแคลนอาหารและวิตามิน ในเวลาต่อมา
นักเดินทางบางคน พบกับความล้มเหลวเพราะไม่มีการเตรียมการอย่างถี่ถ้วน หรือขาดประสบการณ์ในการเดินทาง ซาโลมอน ออกัสต์ อังเดร ออกเดินทางสู่ขั้วโลกเหนือด้วยบอลลูนไฮโดรเจนพร้อมกับเพื่อนอีก 2 คนในปี 1897 และเสียชีวิตด้วยสาเหตุที่ยังคลุมเครือ อาจเป็นเพราะสภาพร่างกายที่ย่ำแย่ หรือติดโรคระบาดจากอาหาร (เนื้อหมีขั้วโลก) ที่รับประทานเข้าไป ก็เป็นไปได้ทั้งคู่
การเดินทางสำรวจในบางครั้งไม่ประสบความสำเร็จเพราะอุปกรณ์ที่นักเดินทางนำไปด้วยเกิดขัดข้องขึ้นมา เช่น ยานอวกาศ โซยุซ 1 ของสหภาพโซเวียตที่เกิดโศกนาฏกรรมในปี 1967 อุปกรณ์หลายชิ้นในยานอวกาศไม่ทำงาน โดยเฉพาะร่มชูชีพซึ่งจำเป็นต้องใช้ในการลงจอด ทำให้นักบินอวกาศที่ชื่อ คามารอฟ เสียชีวิตในระหว่างการปฏิบัติหน้าที่
ในปี 1970 ถังออกซิเจนบนยานอะพอลโล 13 ระเบิด แต่โชคดีที่หน่วยกู้ภัยสามารถพานักบินอวกาศทั้ง 3 คนกลับลงมาบนพื้นโลกได้โดยปลอดภัย
ความล้มเหลวในบางครั้ง เกิดจากการขาดผู้นำที่ดีหรือขาดความสมัครสมานสามัคคีในทีม เช่นกรณีของ ชาร์ลส์ ฟรานซิส ฮอลล์ ที่ถูกหนึ่งในลูกเรือวางยาพิษในปี 1871 ระหว่างการเดินทางสำรวจขั้วโลกเหนือ
จากการเดินทางที่สำเร็จและล้มเหลวในอดีต เราสามารถสรุปเป็นประเด็นได้ว่า เมื่อไหร่ที่ควร หรือไม่ควรใช้กระบวนการสร้างนวัตกรรม
สถานการณ์ 20 แบบ ที่องค์กรไม่ควรริเริ่มการสร้างนวัตกรรม
- เมื่อมั่นใจแล้วว่าตลาดจะไม่มีทางเปลี่ยนแปลงในรอบ 5 ปีนี้
- เมื่อลูกค้ามีความอนุรักษนิยมมากกว่าองค์กรของคุณ
- เมื่อการดำเนินการแบบเดิมยังไปต่อได้อีกหลายปี
- เมื่อแบรนด์และสายการผลิต ยังสร้างรายได้และผลกำไร
- เมื่อคุณไม่ได้รับเงินทุนและกำลังคนอย่างพอเพียงในการออกแบบนวัตกรรม
- เมื่อองค์กรอยู่ในสภาวะวิกฤต
- เมื่อองค์กรกำลังทำงานแบบเต็มศักยภาพแล้ว ในการตอบสนองความต้องการของตลาดในปัจจุบัน
- เมื่อทุกคนในองค์กรต่างพร้อมใจกันบอกว่า ลงมือทำเลย! แต่กลับไม่มีใครอยากเป็นผู้รับผิดชอบ
- เมื่อไม่แน่ใจว่าจะสร้างนวัตกรรมไปเพื่ออะไร
- เมื่อไม่มีความจำเป็นจะต้องใช้นวัตกรรม แค่รู้สึกว่าเป็นเรื่องดีๆ ที่ควรทำในองค์กร
- เมื่อไม่สามารถสร้างทีมที่มีความสามารถ ให้ความร่วมมือ และกระตือรือร้นกับการสร้างนวัตกรรม
- เมื่อผู้บริหารไม่สนับสนุนโครงการ
- เมื่อสมาชิกองค์กรยังไม่พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรม
- เมื่อสมาชิกองค์กรไม่แอคทีฟ นิยมทำงานในรูปแบบเดิมๆ
- เมื่อองค์กรไม่มีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคต
- เมื่อองค์กรไม่มีการวางแผนเพื่ออนาคต (และแผนการทำงานระยะยาวที่สุดที่มีอยู่คือไม่เกิน 3 เดือนข้างหน้า)
- เมื่อทุกคนในองค์กรกลัวที่จะล้มเหลว
- เมื่อทุกคนในองค์กรพร้อมจะโจมตีไอเดียใหม่ๆ
- เมื่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีโอกาสที่จะระงับโครงการนวัตกรรมได้ทุกเมื่อ
- เมื่อนวัตกรรมล่าสุดขององค์กรประสบความสำเร็จอยู่แล้ว และยังคงต้องการทดลองต่อไป
แล้วเราควรจะเริ่มสร้างนวัตกรรมเมื่อไหร่?
คงจะต้องตอบว่า…
เมื่อไม่ได้อยู่ในสถานการณ์ 20 แบบ ดังที่กล่าวมา
เมื่อมีความจำเป็นที่จะต้องใช้นวัตกรรมอย่างเร่งด่วน
เมื่อมีสถานการณ์ทางการเงินคล่องตัว และทีมงานทุกคนยินดีที่จะมีส่วนร่วมกับกระบวนการสร้างนวัตกรรมอย่างน้อยเป็นระยะเวลา 1.5 – 3 ปี
โปรดเลือกช่วงเวลาริเริ่มกระบวนการสร้างนวัตกรรมที่เหมาะสม คุณมีโอกาสเริ่มต้นแค่ครั้งเดียว
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen