101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 04 การเตรียมการที่ดีช่วยให้อมุนด์เซนพิชิตขั้วโลกใต้ได้เป็นรายแรก
หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้นวัตกรค้นพบไอเดียใหม่ๆ คือ ‘การเตรียมการที่ดี’ และความสามารถในการคาดการณ์ถึงอุปสรรคที่อาจจะเกิดขึ้นในระหว่างกระบวนการสร้างนวัตกรรมพร้อมทั้งหาวิธีแก้ไข เรื่องราวของอมุนด์เซนต์ นักสำรวจผู้พิชิตขั้วโลกใต้ น่าจะเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีสำหรับนวัตกร
การแข่งขันเพื่อพิชิตขั้วโลกใต้เริ่มระอุมากขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 วันที่ 19 ตุลาคม 1911 โรอัลด์ อมุนด์เซน นักเดินทางชาวนอร์เวย์ และเพื่อนอีก 4 คนเดินทางออกจากฐานในแอนตาร์กติกใกล้กับอ่าวเวลส์ พร้อมด้วยล้อเลื่อนและสุนัขอีก 52 ตัว
ในวันที่ 14 ธันวาคม 1911 ทีมของเขาก็พิชิตขั้วโลกใต้ได้สำเร็จ เป็นเวลาเพียง 33-34 วัน ก่อนที่ทีมสำรวจของ โรเบิร์ต ฟอลคอน สกอตต์ นายทหารเรือชาวสหราชอาณาจักร จะเดินทางตามมาถึง
99 วันผ่านไป ทีมของอมุนด์เซนเดินทางกลับออกมาจากขั้วโลกใต้ด้วยสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง ในขณะที่ทีมของสกอตต์กับเพื่อนๆ เดินทางกลับมายังฐานด้วยสภาวะขาดแคลนอาหาร และร่างกายที่ทรุดโทรมจากความหนาวเย็น
สิ่งที่ทีมของอมุนด์เซนให้ความสำคัญเป็นอันดับหนึ่ง คือ การเตรียมการและการวางแผนที่ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่ง ประกอบไปด้วยการใช้องค์ความรู้ของชาวเอสกิโม อุปกรณ์ที่มีคุณภาพ เครื่องแต่งกายที่เหมาะสม สุนัขลากเลื่อนที่เก่งกาจ และการใช้สกีอย่างมีประสิทธิภาพ
การใส่ใจรายละเอียดของอมุนด์เซนนั้นสะท้อนให้เห็นจากการดัดแปลงรองเท้าบูตที่ทีมงานใส่ เขาทำรองเท้าให้มีขนาดใหญ่เพียงพอ และแยกองค์ประกอบออกเป็นชิ้นๆ เพื่อใส่พื้นรองเท้าที่ทำจากไม้เข้าไป แม้อุณหภูมิจะลดต่ำแค่ไหน ความหนาวเย็นจากน้ำแข็งก็ไม่อาจแทรกผ่านพื้นรองเท้าและถุงเท้าหนาถึง 7 ชั้นที่ทีมงานสวมใส่อยู่
การเตรียมการของอมุนด์เซน ยังรวมถึงการศึกษาเรื่องแว่นตากันหิมะอย่างละเอียดด้วย โดยเขาเลือกใช้แว่นตาที่ทำจากแผ่นหนัง ซึ่งมีช่องเปิดปิดบริเวณดวงตา อุปกรณ์ชิ้นนี้ช่วยให้ทีมงานของเขาปลอดภัยจากอาการ ‘ตาบอดหิมะ’ ภาวะตาบอดชั่วคราวหรืออาการเจ็บปวดทางดวงตาที่เกิดจากการได้รับรังสีอัลตราไวโอเลตมากเกินไป
จึงกล่าวได้ว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จของอมุนด์เซนคือ การเตรียมการที่ดี ความสามารถในการคาดคะเนความยากลำบากที่ต้องประสบระหว่างการเดินทาง และความสามารถในการป้องกันอุปสรรคเหล่านั้น
คุณพอจะมองเห็นภาพไหม ว่าก่อนที่จะลงทุนกับนวัตกรรม เราควรจะต้องเตรียมการอย่างไรก่อน…
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen