101 บทเรียนสำหรับนวัตกร
ตอนที่ 03 โคลัมบัสกล้าที่จะออกเดินทางแม้จะต้องละสายตาจากชายฝั่ง
นวัตกรไม่อาจสร้างนวัตกรรมได้ ถ้าไม่กล้าพอที่จะฉีกกรอบความเชื่อเดิม แล้วทดลองทำสิ่งที่ยังไม่รู้ว่าจะเป็นไปได้หรือไม่ ลองอ่านเรื่องราวของนักสำรวจดินแดนใหม่ดูว่า เขามีทัศนคติอย่างไร ถึงประสบความสำเร็จในการเดินทางที่แสนจะเสี่ยงภัยอันตราย
ผู้อ่านหลายท่านคงจะรู้จัก คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส นักสำรวจและนักเดินเรือชื่อดัง เขาคือผู้ค้นพบหมู่เกาะที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐฟลอริดา สหรัฐอเมริกาในปัจจุบัน (แม้ว่าในตอนนั้น เขาจะเข้าใจว่ามันคือส่วนหนึ่งของอินเดีย)
การค้นพบของโคลัมบัส เกิดขึ้นได้เพราะเขากล้าที่จะคิดแย้งกับความเชื่อเดิม ในขณะที่คนส่วนมากเชื่อว่าโลกแบน เขากลับเชื่อว่าโลกกลม ดังนั้นในมุมมองของเขา นักสำรวจสามารถเดินเรือไปทางทิศตะวันตกเรื่อยไปจนถึงทวีปเอเชียเพื่อค้นหาทรัพยากรอันอุดมสมบูรณ์ได้อย่างแน่นอน โดยไม่ต้องกลัวว่าจะตกขอบโลก
และที่สำคัญที่สุดก็คือ เขากล้าที่จะออกเดินทาง ละสายตาออกจากชายฝั่งทั้งที่ยังไม่รู้แน่ชัดว่ามีภัยอันตรายอะไรรออยู่เบื้องหน้า
ในที่สุด คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส ก็ค้นพบเส้นทางสู่ดินแดนตะวันออก ในปี 1492 แม้ว่าจะคำนวณระยะทางผิดพลาดไปไม่น้อย เขาคำนวณว่าเส้นทางจากหมู่เกาะคานารีแห่งประเทศสเปนจนถึงญี่ปุ่น น่าจะเป็นระยะทางประมาณ 3,000 ไมล์อิตาลี (3,700 กิโลเมตร หรือ 2,300 ไมล์) ทั้งที่ระยะทางที่แท้จริงคือ 19,600 กิโลเมตร (12,200 ไมล์)
หลังจากเดินทางได้หลายสัปดาห์ หลุดออกนอกเส้นทางในแผนที่บ้างในบางครั้ง ลูกเรือเริ่มตื่นตระหนก และหวาดกลัวว่าจะไม่มีโอกาสได้กลับมาเยือนมาตุภูมิอีก โคลัมบัสต้องเผชิญกับการต่อต้านอย่างรุนแรงเพียงไม่กี่วันก่อนที่จะค้นพบทวีปใหม่ ที่ในตอนนั้นเขาเชื่อหมดใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศอินเดีย
ลองคิดกันดู ว่าอะไรคือสิ่งที่ทำให้โคลัมบัสกล้าเดินทางออกนอกแผนที่ ประการแรก โคลัมบัสเป็นนักเดินเรือที่มีความมุ่งมั่นกล้าได้กล้าเสีย อีกทั้งยังมีความมุ่งมาดปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเก็บเกี่ยวความ ‘มั่งคั่ง’ จากดินแดนใหม่ เพราะกษัตริย์สเปนได้สัญญากับเขาว่า หากทำสำเร็จเขาจะได้รับส่วนแบ่งผลกำไรจากการค้าขายด้วย
ประการสุดท้าย โคลัมบัสมีโอกาสประสบความสำเร็จมากขึ้นจากเทคนิคใหม่ในการเดินเรือ ทั้งความรู้เกี่ยวกับทิศทางกระแสน้ำในมหาสมุทรแอตแลนติก และการพัฒนาของเรือใบขนาดเล็ก (caravel) ทั้งหมดนี้ทำให้เขาสามารถแล่นเรือตามกระแสลมได้สะดวกง่ายดายยิ่งขึ้น
เรียกได้ว่าในยามนั้น โคลัมบัสถึงพร้อมด้วย เครื่องมือ และ ทัศนคติ
และที่สำคัญ นวัตกรทุกคนจงจำไว้ มนุษย์ไม่สามารถค้นพบน่านน้ำใหม่ หากไม่มีความกล้าหาญพอที่จะละสายตาจากชายฝั่ง – อังเดร ไกด์
ที่มา
หนังสือ Inspiration for Innovation: 101 Lessons for Innovators เขียนโดย Gijs van Wulfen