สมัยก่อน หลายคนอาจเคยได้ยินคำว่า ‘มหา’ลัยห้องแถว’ ที่ใช้ค่อนขอดมหาวิทยาลัยในต่างแดนซึ่งถูกตั้งข้อกังขาในเรื่องความน่าเชื่อถือหรือมาตรฐานการศึกษา ขณะที่ปัจจุบัน มีคำว่า ‘มหา’ลัยซูม’ (Zoom University) สะท้อนปรากฏการณ์ที่สถานศึกษาหลายแห่งทั่วโลกเลือกใช้แพลตฟอร์ม Zoom ในการจัดการสอนออนไลน์ ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
แพลตฟอร์ม Zoom ที่ก่อตั้งโดยอีริค หยวน มีจุดเด่นอยู่ที่ระบบประชุมออนไลน์ที่ใช้งานง่าย ยืดหยุ่น มีฟีเจอร์ที่สามารถรองรับผู้ใช้งานจำนวนมาก และได้กลายมาเป็นหนึ่งในเครื่องมือหลักของการเรียนทางไกลในปี 2563-2564 รายงานระบุว่า ในเดือนเมษายน 2563 มียอดผู้เข้าร่วมประชุมรายวันผ่าน Zoom กว่า 300 ล้านคน และมีโรงเรียนกว่า 100,000 แห่ง ใน 25 ประเทศ ที่สมัครใช้บริการ
แม้ว่า Zoom จะถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในแวดวงการศึกษา และได้รับคำชื่นชมอย่างมาก แต่ในทางกลับกัน ก็มีกลุ่มผู้ใช้ส่วนหนึ่งที่เห็นข้อบกพร่อง และคิดว่าแพลตฟอร์มนี้ควรได้รับการปรับปรุง ตัวอย่างเช่น ปัญหาสัญญาณขาดหาย ความเบื่อหน่ายและความเมื่อยล้าจากการใช้ Zoom ติดต่อกันนานๆ หรือปัญหาด้านความปลอดภัย จากกรณี Zoom Bombing ที่แฮ็กเกอร์เจาะระบบเข้ามาป่วนการประชุม หรือการแฮ็กบัญชีผู้ใช้งานกว่า 500,000 บัญชีในปี 2563
ในบทความ ‘เบื่อมหา’ลัยซูมกันแล้วใช่ไหม? ชาวเอ็ดเทคเองก็เบื่อ’ จากเว็บไซต์ TechCrunch กล่าวถึง สตาร์ทอัปด้านการศึกษา 4 รายที่เน้นการพัฒนาแพลตฟอร์ม Virtual Classroom เช่นเดียวกับ Zoom และกำลังได้รับความนิยม ได้แก่ Class, Engageli, Top Hat และ InSpace นอกเหนือจากความโดดเด่นทางกลยุทธ์และผลิตภัณฑ์แล้ว สิ่งที่แวดวงการศึกษาคาดหวังก็คือ การทำให้การเรียนออนไลน์เป็นรูปแบบการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพและน่าประทับใจ ไม่ใช่แค่การใช้เทคโนโลยีแก้ขัดเหมือนในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
Class แพลตฟอร์มที่ต่อยอดจาก Zoom
Class เป็นแพลตฟอร์มที่พัฒนาโดย ไมเคิล แชเซน อดีตซีอีโอของ Blackboard บริษัทเทคโนโลยีด้านการศึกษายักษ์ใหญ่ สิ่งที่ Class ทำไม่ใช่การสร้างสิ่งใหม่ แต่เป็นการต่อยอดจากแพลตฟอร์มยอดนิยมอย่าง Zoom เสริมประสิทธิภาพ และช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ใช้ มีระบบที่เอื้อแก่การปรับแต่งห้องเรียนออนไลน์ตามความต้องการของผู้เรียนและผู้สอน รวมทั้งระบบหลังบ้านสำหรับครูที่สามารถใช้ติดตามการเข้าชั้นเรียน และระดับการมีส่วนร่วมของนักเรียนได้แบบเรียลไทม์
Class จับตลาดกลุ่มนักเรียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน (ป.1 – ม.6) และระดับอุดมศึกษา โดยใช้กลยุทธ์ขายพ่วงกับ Zoom ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มที่แพร่หลายในแวดวงการศึกษาอยู่แล้ว และเน้นจุดขายเรื่องความง่ายในการใช้งาน ทำให้ง่ายต่อการโน้มน้าวทั้งนักลงทุน และสถานศึกษาที่มีแผนจะลงทุนด้านซอฟต์แวร์เพื่อการศึกษา
Engageli ฉีกตัวเองให้แตกต่างจาก Zoom
กลุ่มผู้พัฒนา Engageli ตั้งใจให้มันแตกต่างจากแพลตฟอร์มเดิมๆ เช่น Zoom, Google Meets หรือ Microsoft Teams พวกเขาต้องการสร้างห้องเรียนเสมือนขนาดใหญ่ที่ให้บรรยากาศเป็นกันเอง และเอื้อให้การบรรยายของผู้สอน และการสนทนาระหว่างผู้เรียนดำเนินไปพร้อมกันได้
กลุ่มเป้าหมายหลักของ Engageli คือผู้ใช้ระดับอุดมศึกษา จุดเด่นของแพลตฟอร์มนี้คือระบบ ‘โต๊ะกลุ่มเสมือน’ ซึ่งนักศึกษาแต่ละคนจะถูกจัดเข้าวงการเรียนรู้ ในแต่ละวงนักศึกษาสามารถสนทนาผ่านแชท แลกเปลี่ยนโน้ตที่จดไว้ รวมถึงบันทึกภาพหน้าจอได้ในขณะที่กำลังฟังอาจารย์บรรยายอยู่ นอกจากนี้ผู้เรียนสามารถสลับโต๊ะกลุ่มได้เพื่อส่งเสริมให้เกิดการอภิปราย ถกเถียง และอาจารย์เองก็สามารถแทรกเข้าไปในวงย่อยต่างๆ ได้ โดยที่การบรรยายบนหน้าจอหลักยังดำเนินอยู่
Engageli มีฟังก์ชั่นบันทึกภาพหน้าจอ (Screenshot) ที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการย้อนไปดูบทเรียนเก่า ผู้เรียนสามารถบันทึกภาพสไลด์และการบรรยายสดที่เกิดขึ้นในแพลตฟอร์ม แต่ละภาพจะมีไฮเปอร์ลิงก์ที่สามารถนำผู้เรียนกลับไปสู่การสอนในนาทีดังกล่าวได้
แดน อวิดา ผู้ร่วมก่อตั้ง Engageli กล่าวว่า “เราไม่ได้ต้องการที่จะเหนือกว่า Zoom แต่เราต้องการจะแตกต่างจาก Zoom” แพลตฟอร์มนี้มีฟีเจอร์รุ่มรวย (feature-rich) ซึ่งผู้ใช้ทั่วไปสามารถใช้งานระดับพื้นฐานได้ แต่ถ้าต้องการใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์มนี้ให้คุ้มค่าที่สุด ผู้ใช้ควรจะมีทักษะดิจิทัลพอสมควร ถือเป็นความท้าทายในแง่ของการวางตำแหน่งแพลตฟอร์มตัวเองให้มีความซับซ้อน ต่างจากคู่แข่งหลักอย่าง Zoom หรือ Class ที่เน้นการใช้งานง่าย
Top Hat เมื่อการเรียนสดอาจไม่ใช่คำตอบ
Top Hat เป็นสตาร์ทอัปที่มีมุมมองแตกต่างจาก Class และ Engageli โดยผู้ก่อตั้ง ไมค์ ซิลากาเจ เชื่อว่าการสอนสดพร้อมหน้าแบบ Zoom เพียงอย่างเดียวไม่ใช่คำตอบ จากประสบการณ์ในการทำแพลตฟอร์ม Virtual Classroom เป็นเจ้าแรกๆ ทำให้เห็นว่าวิธีการแบบนั้นอาจไม่ใช่รูปแบบการสอนออนไลน์ที่ยืนระยะได้นาน โดยกลุ่มผู้ทดลองใช้ของ Top Hat จะค่อยๆ ผละจากการสอนสดออนไลน์แบบเดิม และหันไปจัดการเรียนแบบกลุ่มเล็ก หรือแบบตัวต่อตัว ในลักษณะที่ไม่จำกัดเวลามากขึ้น
จุดเด่นของ Top Hat คือฟีเจอร์ Community ที่ช่วยให้การจัดการสอนเป็นได้มากกว่าการเรียนผ่านวิดีโอ โดยฟีเจอร์นี้สามารถเปิดพื้นที่ให้ผู้สอนและผู้เรียนได้สนทนา และแลกเปลี่ยนทรัพยากรการเรียนรู้ ในอินเทอร์เฟซของ Community ผู้เรียนสามารถสร้างแชนแนลส่วนตัวเพื่ออภิปรายงาน ทำโครงงาน และส่งข้อความส่วนตัวถึงผู้สอนได้
นอกจากนี้ยังมีฟีเจอร์ Interactive Textbook ที่สามารถแปลงตำราเป็นไฟล์ดิจิทัลได้ด้วย สิ่งที่เหนือกว่าหนังสือเรียน PDF ทั่วไปคือ ผู้ใช้สามารถสอดแทรกเนื้อหาแบบอินเตอร์แอคทีฟ เช่น โพลล์ และกราฟิกเข้าไปในตำราได้
ไมค์เชื่อว่าในอนาคตสถานศึกษาจะต้องลงทุนกับการจัดการเรียนที่ตอบโจทย์เฉพาะบุคคลมากขึ้น รวมถึงการเผยแพร่เนื้อหาการเรียน เช่น การบรรยายในชั้นเรียนขนาดใหญ่ หรือการประชุม มีแนวโน้มที่จะกระทำในลักษณะของการจัดการสอนแบบไม่ประสานเวลา (Asynchronous Learning) มากขึ้น
InSpace หัวใจอยู่ที่การสื่อสาร
สตาร์ทอัปอีกรายที่มีแนวคิดคล้ายกับ Engageli มีชื่อว่า InSpace ก่อตั้งโดย ดร. แนรีน ฮอลล์ อาจารย์มหาวิทยาลัย Champlain College จุดเริ่มต้นมาจากการที่เขาเห็นว่า Zoom ยังไม่ตอบโจทย์การเรียนออนไลน์ จึงได้เริ่มค้นคว้าและพัฒนาแพลตฟอร์ม InSpace ขึ้นมา เพื่อช่วยให้การสื่อสารระหว่างผู้สอนและผู้เรียนเป็นธรรมชาติมากขึ้น
InSpace เป็นแพลตฟอร์มที่เหมาะกับชั้นเรียนออนไลน์ขนาดกลาง (25-50 คน) มีลักษณะคล้ายกับแพลตฟอร์ม Virtual HQ ที่ถือกำเนิดขึ้นช่วงปลายปี 2563 ภายใต้แนวคิดการปฏิรูปห้องเรียนหรือที่ทำงานออนไลน์ให้แตกต่างจากแบบฉบับเดิม สร้างบรรยากาศที่ให้ความรู้สึกเป็นกันเองมากขึ้น มีการปรับเปลี่ยนหน้าตาของเว็บไซต์ พร้อมนำองค์ประกอบของเกมมาผสม นอกจากนี้ยังมีการใช้เทคโนโลยีปริภูมิ (Spatial Technology) ที่ผู้ใช้จะได้ยินแต่เสียงของคนที่อยู่ใกล้ๆ และเสียงจะค่อยลงเมื่อเขาถอยห่างออกมา
ใน InSpace ผู้เรียนไม่จำเป็นต้องออกจากการประชุมในห้องหลักเพื่อที่จะพูดคุยกับสมาชิกคนอื่นๆ และสามารถสลับการสนทนาระหว่างกลุ่มได้ ขณะที่ผู้สอนเองก็สามารถเฝ้าดูการทำงานของกลุ่มผู้เรียนได้แบบเรียลไทม์ และเมื่อผู้เรียนมีคำถาม ช่องคำพูดของเขาจะขยายใหญ่ขึ้น ซึ่งผู้สอนสามารถสังเกตเห็นได้ง่ายกว่าการใช้ฟีเจอร์ยกมือ
ที่มา
G2. Best Virtual Classroom Software. 2021. [Online].
Mansoor Iqbal. Zoom Revenue and Usage Statistics (2020). 2020. [Online].
Natasha Mascarenhas. Tired of ‘Zoom University’? So is edtech. 2021. [Online].
Rebecca Koenig. 9 Insights For Educators We Learned On A Zoom Call — With Zoom. 2020. [Online].
Sam Lauria. Zoom University is cheating students out of a proper education. 2020. [Online].
Sebastian Meineck. ‘Zoom Bombers’ Are Still Blasting Private Meetings With Disturbing and Graphic Content. 2020. [Online].
Vignesh Ramachandran. Stanford researchers identify four causes for ‘Zoom fatigue’ and their simple fixes. 2021. [Online].
Cover Photo Class: The Virtual Classroom Built On Zoom.