มนุษย์คืออะไร? คำถามนี้ตอบได้หลายมิติ อย่างน้อยในมุมวิทยาศาสตร์ก็ให้คำตอบที่ค่อนข้างชัดเจนไว้แล้ว คำถามที่ยากกว่านั้นคือ เราจะเข้าใจมนุษย์ได้อย่างไร? ออกจะหาคำตอบได้ลำบากกว่า เป็นปริศนาลึกลับที่มิได้มีคำตอบเดียว
มีศาสตร์หนึ่งที่พยายามทำความเข้าใจมนุษย์ ตั้งแต่รูปแบบการใช้ชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม พิธีกรรม หรือปทัสถานร่วมกันของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง มันชื่อว่า ‘มานุษยวิทยา’ วิชาที่สำคัญขึ้นทุกขณะท่ามกลางการส่งเสริมการเรียนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อตอบโจทย์เศรษฐกิจและการพัฒนาประเทศ
การอยู่กับความหลากหลายจำนวนมากซึ่งบางอย่างเราไม่คุ้นเคย ไม่เข้าใจ มันง่ายที่เราจะหวาดระแวงหรือผลักสิ่งที่ต่างจากเราให้ถอยห่างออกไป จะไม่เป็นเช่นนั้นได้อย่างไรล่ะ ในเมื่อ ‘คนพวกนั้น’ ชอบทำอะไรแปลกๆ ไม่เหมือนเรา ใช้ภาษาไม่เหมือนเรา เป็นตัวประหลาด หรือเป็นภัยต่ออุดมการณ์ที่เรายึดถือ
แต่ ยุกติ มุกดาวิจิตร อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ บอกว่า มันมีคำอธิบายที่ฟังแล้ว ‘เมกเซนส์’ อยู่ และนักมานุษยวิทยาก็พยายามค้นหาคำอธิบายนั้น
The KOMMON จะไม่พูดถึงทฤษฎีอันซับซ้อนหรืองานวิจัยยากๆ แต่จะพาผู้อ่านไปรู้จักมานุษยวิทยาและการทำงานของพวกเธอและเขา ศาสตร์ที่จะช่วยให้เราเข้าใจกันและกันให้มากขึ้น หรือจะพูดให้โรแมนติกกว่านั้นก็คือ ช่วยให้เราเกลียดกันน้อยลง
มานุษยวิทยาคืออะไร ถ้าบอกว่าเป็นศาสตร์เพื่อความเข้าใจมนุษย์ในแง่มุมต่างๆ ได้มั้ย
พูดอย่างนั้นก็ได้ แต่มานุษยวิทยานิยามได้ 3 แบบ แบบกว้างสุดเลยคือคำว่า anthropology อยู่ในคำตั้งแต่ในวิชาปรัชญาอยู่แล้วที่ว่าด้วยการศึกษามนุษย์ ตามชื่อ anthrop คือมนุษย์ logy ก็คือวิชาหรือความรู้ ความรู้เกี่ยวกับมนุษย์ เวลาที่นักปรัชญาจะพูดเรื่องความเป็นมนุษย์เขาก็ใช้คำว่า anthropology ได้เหมือนกัน แต่ว่าพอมันมาเป็นสาขาวิชา เรากำลังพูดถึงมานุษยวิทยาที่เป็นสาขาวิชาที่เกิดมาประมาณกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ที่มีสมาคมมานุษยวิทยาในยุโรปแล้วก็ในอังกฤษและในสหรัฐอเมริกา มันเกิดขึ้นพร้อมๆ กันเลย ประมาณปี 1840 – 1850 อันนี้เรากำลังหมายถึงสาขาวิชาที่ในที่สุดแล้วมันกลายมาเป็นมานุษยวิทยาอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
แต่ว่าการศึกษาทางมานุษยวิทยาในรูปแบบนี้ก็ยังมีความแตกต่างกันไปอย่างน้อย 2 แบบก็คือ ถ้าเป็นในอังกฤษคำว่า มานุษยวิทยา ที่เป็นสาขาวิชา ส่วนใหญ่แล้วจะหมายถึงการศึกษาที่ให้ความสำคัญกับสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัย ส่วนเขาจะมองว่าคนที่อยู่ในสมัยเดียวกันล้าหลังกว่า อันนั้นอีกเรื่องหนึ่ง พวกที่บอกว่าคนที่อยู่ในป่าเป็นพวกที่ตกค้างมาจากอดีต อันนั้นก็อีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตามคือศึกษาคนและสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยต่างๆ
แต่ถ้าในสหรัฐอเมริกามันหมายถึงการศึกษาชีวิตทางสังคมวัฒนธรรมและยังรวมทั้งคนในอดีต อดีตถึงขนาดที่ไม่มีลายลักษณ์อักษรแล้วคุยกับเขาไม่ได้ ก็คือโบราณคดี หรือไกลไปกว่านั้นคือรวมทั้งมานุษยวิทยากายภาพ ชีวภาพ หรือส่วนหนึ่งในนั้นที่สำคัญมากเลยก็คือพวกไพรเมตวิทยา (Primatology) เพราะฉะนั้นถ้าในแบบอเมริกันจะมีทั้งมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม โบราณคดี และมานุษยวิทยากายภาพ แล้วแถมยังศึกษาภาษาด้วย ดังนั้น สิ่งที่ต่างกันก็คือภาควิชามานุษยวิทยาในสหรัฐอเมริกา ถ้าเป็นมหาวิทยาลัยใหญ่จะมีอย่างน้อย 3 ส่วนย่อยด้วยกัน คือส่วนที่เป็นสังคมวัฒนธรรม ส่วนที่เป็นโบราณคดี และส่วนที่เป็นมานุษยวิทยากายภาพหรือบางที่เรียกมานุษยวิทยาชีวภาพ
ที่ธรรมศาสตร์เนื่องจากเรามีคนจากทั้งสามด้าน แล้วเราพยายามจะทำให้มี tradition แบบอเมริกัน เริ่มจากการเป็นมานุษยวิทยาที่มีคนที่จบมาทั้งอังกฤษและอเมริกา แต่เนื่องจากเรามีอาจารย์ที่สอนโบราณคดีด้วย สอนมานุษยวิทยากายภาพด้วย เราก็เลยพยายามทำให้มี tradition แบบนี้ขึ้นมาคือค่อนข้างไปทางอเมริกา แต่ก็ยังเทียบไม่ได้กับอเมริกาจริงๆ เพราะว่าในอเมริกาจะมีสัดส่วนอาจารย์เท่าๆ กัน ธรรมศาสตร์ส่วนใหญ่ยังเป็นมานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรม แต่เรามีอาจารย์โบราณคดีหลายคน
เข้าใจว่ามานุษยวิทยาเองก็ไม่ได้เหมือนเมื่อกลางศตวรรษที่ 19 ยุคนั้นคนตะวันตกมองว่าฉันเหนือกว่า ฉันเป็นศูนย์กลาง
ไม่เหมือนแน่นอน เขาคิดแบบนั้นโดยที่เขาก็ไม่ได้รู้สึกอะไร จริงๆ มันต่างกันเยอะตั้งแต่ตัวกรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษาและวิธีการศึกษา กรอบแนวคิดในช่วงที่วิชามานุษยวิทยาเกิดขึ้นก็คือเป็นการเปรียบเทียบวัฒนธรรมต่างๆ เพื่อให้เห็นพัฒนาการของมนุษยชาติ คล้ายกับว่าก่อนที่มนุษย์จะมีอารยธรรม มันพัฒนามายังไงจนกระทั่งมีอารยธรรม มันก็เป็นยุคสมัยที่คนสนใจพัฒนาการของตัวเอง แล้วก็ประกอบกับคนเดินทางกันมากขึ้น หาวิธีเข้าใจกัน แต่ว่าในกรอบความคิดสมัยนั้นเป็นกรอบความคิดแบบที่การมองวิวัฒนาการมันครอบงำอยู่
วิธีการศึกษาก็ไม่เหมือนกับรุ่นหลัง จุดเปลี่ยนอยู่ประมาณศตวรรษที่ 20 รุ่นก่อนหน้าก็คือจะใช้วิธีการอาศัยข้อมูลที่มีคนเดินทางไปที่ต่างๆ ทั่วโลกแล้วไปเก็บรวบรวมข้อมูลมา คือคนที่เดินทางไปที่ต่างๆ ส่วนใหญ่แล้วก็ไม่ได้เป็นนักวิชาการ เป็นพ่อค้า มิชชันนารี หรือนักการทูต เจ้าหน้าที่รัฐที่ถูกส่งไปที่ต่างๆ คนเหล่านี้พอไปเจอคนที่นั่นที่นี่ ที่มีวิถีชีวิตที่แตกต่างออกไปเขาก็บันทึกส่งกลับมา จนกระทั่งคนที่อยู่ในอังกฤษ ในยุโรปก็นำข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลเป็นภาพความเข้าใจวิวัฒนาการของสังคมมนุษย์ทั้งหมดโดยภาพรวม เพราะฉะนั้นคุณอาจจะเจองานประเภทเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงในทางเทคโนโลยีหรือการผลิตทางวัตถุ งานของมาร์กซ์และเองเกลส์เองก็อาศัยข้อมูลทางมานุษยวิทยาด้วยเหมือนกัน หรือการเปรียบเทียบในเชิงความคิด ระบบคิด หรือความรู้ ก็พูดถึงพัฒนาการของสังคมภูตผีปีศาจสู่ศาสนา สู่วิทยาศาสตร์
แต่ในสหรัฐอเมริกาต่างออกไปนิดหนึ่งตรงที่ว่าเขามีโลกของตัวเองอยู่เยอะก็คือพวกชนเผ่าพื้นเมืองดั้งเดิมในอเมริกาเอง เพราะฉะนั้นสมาคมของอเมริกันเองแทบจะไม่ไปศึกษาที่อื่น แค่เอาข้อมูลจากในทวีปอเมริกาเองก็มหาศาลแล้ว คนมันมีความหลากหลายอยู่ดั้งเดิม
แต่ทั้งหมดนี้อยู่ในช่วงเดียวกันคือศตวรรษที่ 20 นักวิชาการที่รอข้อมูลเหล่านี้ ตอนหลังๆ ก็อยากจะได้ข้อมูลที่เป็นระบบขึ้นและคิดถึงชุดคำถามที่ชัดเจนขึ้น ก็ทำคู่มือเพื่อให้พวกที่เดินทางไปที่ต่างๆ ช่วยเก็บข้อมูลตามคู่มือนี้ จะได้เป็นระบบขึ้นหน่อย เพราะคนเหล่านั้นไม่ได้ถูกเทรนในการทำวิจัย ไม่ได้ถูกเทรนทางวิทยาศาสตร์ ก็เลยมีชุดคำถามให้เลยหรือมีคู่มือให้ อันนั้นเป็นยุคแรกจริงๆ
ปรัชญามุ่งตอบคำถามพื้นฐาน เศรษฐศาสตร์หาวิธีจัดสรรทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ วิทยาศาสตร์ค้นหาความจริงในธรรมชาติ แล้วมานุษยวิทยาพยายามตอบคำถามอะไร
มันก็มีความหลากหลายอยู่ในตัวมานุษยวิทยาเอง แต่หลังจากศตวรรษที่ 19 พอขึ้นศตวรรษที่ 20 เกิดความเปลี่ยนแปลงสำคัญว่านักมานุษยวิทยาจะไปเก็บข้อมูลเอง ไม่อยากพึ่งข้อมูลที่คนอื่นเก็บมาให้ เอาตัวเองลงไป ซึ่งแตกต่างมาก แน่นอนคุณจะไม่สามารถได้ข้อมูลเยอะๆ เพราะคุณเป็นคนคนหนึ่งที่ต้องไปเก็บข้อมูลเอง มันก็จะมีขอบเขต มีพื้นที่จำกัด มีเวลาจำกัด แต่มันก็นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงสำคัญว่านักมานุษยวิทยาเองก็ต้องพัฒนาวิธีการที่จะไปอยู่กับผู้คน เก็บข้อมูลจากผู้คน
สิ่งที่เปลี่ยนอีกอย่างคือความเปลี่ยนแปลงแนวคิดในการศึกษาที่แต่เดิมคือการจัดลำดับชั้นของสังคมเป็นวิวัฒนาการ เปลี่ยนมาเป็นการเปรียบเทียบโดยที่เราไม่ตัดสินก่อนว่าเขาสูงต่ำ พัฒนาหรือไม่พัฒนา หรือเขาอยู่ขั้นไหน แต่เปลี่ยนไปเป็นความพยายามที่จะเข้าใจเงื่อนไขเฉพาะของแต่ละที่มากขึ้น ทั้งหลักการพื้นฐานเองที่เปลี่ยนจากการเปรียบเทียบความสูงต่ำ มาเป็นการเปรียบเทียบดูความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น
ประกอบกับการที่นักมานุษยวิทยาเองไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเองก็ทำให้หลักการพื้นฐานเปลี่ยนเป็นการพยายามรู้จักความหลากหลายของมนุษย์ให้มากขึ้น คือเมื่อก่อนเราก็เห็นความหลากหลาย แต่ความหลากหลายนั้นมันถูกลดทอนให้เป็นเรื่องของความหลากหลายในเชิงลำดับขั้นหรือพัฒนาการ ตอนหลังเป็นความหลากหลายในเชิงเปรียบเทียบให้เห็นความเป็นมนุษย์ที่มีความเป็นไปได้ในแบบต่างๆ เพราะฉะนั้นมันนำมาซึ่งอะไรได้หลายๆ อย่าง เช่น การตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ได้กว้างขึ้น เดิมถ้าเรามองว่ามนุษย์ต้องวิวัฒนาการเป็นเส้นเดียวกัน เราก็จะเห็นว่าแค่คนที่นั่นยังไม่พัฒนาเท่าเรา แต่สักวันเขาอาจจะเป็นอย่างเราก็ได้ แต่พอคุณมองอีกแบบหนึ่ง เอาทุกคนมาแบแล้วก็บอกว่าที่นี่เป็นอย่างนั้น ที่นี่เป็นอย่างนี้ เรากลับได้เห็นสีสันของความเป็นมนุษย์ที่แตกต่างกัน
มันมีแนวคิดที่นำไปถึงขนาดว่าบางทีเราอาจจะไม่เข้าใจกันจริงๆ เลยด้วยซ้ำ เพราะว่าเราโตขึ้นมาไม่เหมือนกันเลย แล้วที่ต่างๆ ก็ไม่จำเป็นต้องวิวัฒนาการมาเป็นแบบเราก็ได้ แน่นอน เราอาจจะมีอิทธิพลถึงกันได้ แต่ไม่จำเป็นว่าในที่สุดแล้วทุกคนจะกลายมาเป็นคนที่เหมือนกัน แต่มันก็ต้องเถียงกันว่าโดยพื้นฐานแล้วเราก็ต้องเคารพความเท่าเทียมกัน
แต่ถึงที่สุดแล้วมันเป็นปัญหาเหมือนกันเพราะว่าในทางมานุษยวิทยากายภาพ งานวิจัยช่วงหลังๆ ที่มีเครื่องมือมากขึ้น มีข้อมูลมากขึ้น ก็จะพบมนุษย์ที่มีความหลากหลายสายพันธุ์ในรายละเอียดเยอะมากขึ้น มนุษย์ในยุโรปไม่เหมือนกับมนุษย์ในแอฟริกา แล้วก็ไม่เหมือนกับมนุษย์ในเอเชีย อันนี้ก็ต้องยอมรับว่าจริง แต่มีสัดส่วนของความไม่เหมือนกันมากน้อยแค่ไหนก็อีกเรื่องหนึ่ง ในทางสังคมวัฒนธรรมหรือแม้แต่เรื่องภาษา มีข้อมูลมากขึ้นที่สามารถทำให้เราเชื่อได้เหมือนกันว่า มนุษย์มีความแตกต่างกันมาก ในแง่หนึ่งคือเป็นไปได้ที่ สมมติว่าคุณเอามนุษย์ที่นี่ไปโตในแอฟริกา เขาก็จะเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่ใดที่หนึ่งในแอฟริกา แต่เขาก็จะไม่เหมือนกับพ่อแม่เขาโดยสิ้นเชิง ยากมากที่จะเข้าใจกันได้ทั้งหมด ซึ่งตรงนี้มันกลายเป็นจุดยืนใหม่ๆ ของงานศึกษาทางมานุษยวิทยาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา ที่มีแนวโน้มจะเห็นความแตกต่างกันมากขึ้น แล้วกลับมาตั้งคำถามกับความเป็นมนุษย์ มันจะมีคำถามใหม่ๆ เรื่อยๆ ว่าตกลงมนุษย์เป็นยังไงกันแน่
เคยมีความพยายามศึกษาว่ามนุษย์เผ่าพันธุ์ไหนฉลาดกว่า ในเชิงข้อเท็จจริงมีมั้ยที่บอกได้ว่ามนุษย์พันธุ์นี้ฉลาดกว่าพันธุ์นี้
อันนั้นมันบอกไม่ได้เลย ที่ว่าเปอร์เซ็นต์ที่ต่างกันจริงๆ ในทางพันธุกรรมมันแค่ไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ ขนาดคนกับชิมแปนซียังต่างกันแค่หนึ่งจุดเท่าไหร่เปอร์เซ็นต์เอง ในยีนมันต่างกันนิดเดียว แต่ภายนอกต่างกันเยอะมาก ผมก็คิดว่าความแตกต่างที่มนุษย์ในที่ต่างๆ มันมีจริงๆ ในทางกายภาพมันก็ไม่เพียงพอที่จะบอกถึงความแตกต่างด้านความฉลาด บอกยากมาก
มันมีกรอบของความเป็นมนุษย์ในที่ต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องใหญ่เลยอย่างภาษา มันมีคนบางกลุ่มที่ใช้ภาษาเฉพาะของเขาในออสเตรเลีย เวลาที่เขาจะบอกทิศเขาบอกเป็นเหนือใต้ออกตกได้เสมอโดยไม่ต้องอิงกับร่างกาย หมายความว่าเวลาที่เราพูดถึงทิศทางเราจะบอกว่าไปข้างหน้า ไปทางซ้าย ทางขวา เราเอาตัวเราเป็นศูนย์กลาง ฝรั่งก็เป็นอย่างนั้น ภาษาอังกฤษก็เป็นอย่างนั้น แต่ชนเผ่านี้ไม่สามารถบอกทิศทางแบบที่เราบอกได้ แต่เขาบอกทิศทางที่อิงกับโลกเลยคือบอกเป็นเหนือใต้ออกตกได้เลย ในระบบคิดเขาอาจจะมีแผนที่อยู่เสมอและเขาอาจต้องคิดอยู่เสมอ หมายถึงว่ามันเป็นสามัญสำนึกของเขา
เหมือนกับสามัญสำนึกในภาษาอังกฤษหรือภาษาในยุโรปทั่วไปที่เขาจะนึกถึงเรื่องเวลาอยู่เสมอ เขาถึงมี tense ต่างๆ มากมาย ในขณะที่ภาษาเราไม่มีเลย แต่เขามีโดยอัตโนมัติ อย่างนี้เราจะบอกว่าใครฉลาดกว่า ใครโง่กว่า มันไม่ได้ เพียงแต่ว่าอาจจะมีความรับรู้ที่เชี่ยวชาญกับอะไรบางอย่างที่แตกต่างกันออกไป อันนี้เป็นไปได้
คำถามมันเปลี่ยนจากการดูพัฒนาการของสังคมวัฒนธรรมของมนุษย์ไปสู่การดูความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ แต่ก็อย่างที่บอกว่าอันนี้พูดในขอบเขตของมานุษยวิทยาที่สนใจสังคมวัฒนธรรมเท่านั้น ขณะที่โบราณคดีหรือมานุษยวิทยากายภาพ โจทย์เขาก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ เหมือนกัน
ในมานุษยวิทยาสายสังคมวัฒนธรรมคือการพยายามทำความเข้าใจความหลากหลายของมนุษย์
ใช่ ผมคิดว่าใช่
มาร์ทา นุสบาม เขียนหนังสือว่าทำไมมนุษยศาสตร์จึงสำคัญ การศึกษาไม่ควรมุ่งแต่ตอบโจทย์ตลาดแรงงานเท่านั้น ซึ่งถูกแปลเป็นภาษาไทยแล้ว ถามคล้ายๆ กันครับว่าทำไมมานุษยวิทยาจึงสำคัญ
ตอบไม่ได้ว่าเรียนมานุษยวิทยาแล้วจะไปทำอาชีพอะไร ตอบไม่ได้ทันที แต่มันสร้างคนที่มีคุณลักษณะแบบหนึ่ง ก็คือคนที่ไม่มีคำตอบเดียวให้กับเรื่องใดเรื่องหนึ่ง มันไม่มีสูตรสำเร็จของคำตอบจนกว่าเราจะเข้าใจเงื่อนไขต่างๆ หลายอย่างมากขึ้นและดูว่าเงื่อนไขเหล่านั้นมันทำงานกับคนกลุ่มนี้ คนที่นั่น คนในยุคนั้นอย่างไร
ผมคิดว่าความแตกต่างของคนที่จบ…อย่างผมเรียนเศรษฐศาสตร์มาแล้วก็มาเรียนมานุษยวิทยา คนที่เรียนเศรษฐศาสตร์จะมีกรอบของชุดคำถามที่จำกัดกว่า สำหรับเศรษฐศาสตร์อาจจะเห็นว่านี่คือความชัดเจนซึ่งใช่ เขาจะมีความชัดเจนกว่า แต่เขาจะตัดปัจจัยอื่นๆ ออกไปเยอะ ในขณะที่มานุษยวิทยาพยายามดูว่ามีปัจจัยอื่นๆ อะไรอีกที่อาจทำให้เกิดพฤติกรรมแบบนี้หรือคนตัดสินใจไปทางนั้นทางนี้ ถ้าเขาไปทำวิจัยเขาจะมีคำถามที่ไม่ตัดปัจจัยอะไรออกไปง่ายๆ และพยายามจะมองหาว่ายังมีโอกาสมั้ยที่จะเป็นอย่างอื่นได้อีก
อีกอย่างหนึ่งก็คือความพยายามที่อยากจะเข้าไปอยู่ในจุดยืนเดียวกับคนที่เราอยากจะเข้าใจมากกว่าศาสตร์อื่นๆ ในขณะที่ศาสตร์อื่นมีลักษณะรู้มากกว่าคนที่เขาศึกษา แต่มานุษยวิทยาพยายามบอกว่าตัวเองรู้น้อยกว่าคนที่เขาศึกษา ก็คือพยายามเรียนรู้จากคนที่เขาไปทำวิจัยด้วยให้มากสักหน่อย และแน่นอนในที่สุดอาจจะมีคำอธิบายที่คนที่นั่นเองก็ฟังไม่รู้เรื่องเพราะนักมานุษยวิทยาในระดับที่ซับซ้อนจริงๆ เขาอาจต้องพยายามไปคุยกับศาสตร์ต่างๆ หรือกับคนในพื้นที่อื่นๆ ไปแลกเปลี่ยนกันให้ได้ มันก็อาจจะหลุดออกไปจากคนที่นั่นมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ ณ จุดตั้งต้นของความรู้มันเป็นความรู้ในลักษณะที่พยายามจะไปยืนในจุดเดียวกับหรือรู้สึกในแบบเดียวกับคนที่เขาไปศึกษามากที่สุด
ทีนี้สิ่งที่เกิดขึ้น อย่างนักศึกษาเวลาไปทำงานหรือไปทำงานวิจัย สิ่งที่เขาพบก็คือเขาไม่เหมือนคนอื่นในหน่วยงานยังไง มันเคยมีนักการตลาดคนหนึ่งมาหาผม เป็นบริษัทขายสินค้าที่มีชื่อเสียงเหมือนกัน เขากำลังขยายตลาดผลิตภัณฑ์คอนแท็กต์เลนส์ในประเทศไทยซึ่งยังเติบโตได้อีกเยอะ ผมก็ถามเขาว่าแล้วคุณต้องการอะไรจากผม เขาบอกว่าอยากให้ผมพูดถึงประเทศไทยในอีก 50 ปีข้างหน้าว่าจะเป็นยังไง แล้วผมถามว่าแล้วเกี่ยวอะไรกับคอนแท็กต์เลนส์เขาบอกว่า อยากให้ซีอีโอเห็นสังคมนี้ในภาพที่กว้างในหลายๆ มิติ ผมก็ถามว่าทำไมถึงเลือกจะให้ผมไปพูด เขาบอกว่าเขาดูมาแล้วว่าผมทำงานวิจัยหลายๆ อย่างและเป็นนักมานุษยวิทยา มันมีนักการตลาดที่มีชื่อเสียงมากคนหนึ่งเป็นคนฝรั่งเศส หนังสือถูกแปลออกมาเยอะ เขาใช้วิธีการทางมานุษยวิทยาในการพัฒนาหลักการตลาดของเขา
คนนี้จบปริญญาโทมานุษยวิทยาด้วย ซีอีโอบริษัทที่ผมไปเลกเชอร์ให้เขาฟังเป็นคนเกาหลี คนสิงคโปร์ คนจากที่ต่างๆ ในเอเชียประมาณ 20 คนได้ เขาเห็นว่าวิชามานุษยวิทยาช่วยให้เข้าใจลูกค้าของเขาได้ในหลายๆ มิติมากขึ้น เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่งความรู้ต้องการการเอาไปประยุกต์อีกชั้นหนึ่ง เพียงแต่ว่ามานุษยวิทยาที่ธรรมศาสตร์เองไม่ค่อยได้สอนการประยุกต์ในระดับที่จะเอาไปบวกกับการตลาดยังไง เอาไปบวกกับจิตวิทยาเท่าไหร่นัก จริงๆ มันก็มีอยู่ หมายถึงว่าถ้าใครที่อยากทำอย่างนั้น แต่เราอาจจะมีในเชิงการพัฒนา หมายถึงมีอาจารย์ที่มีพื้นฐานหรือประสบการณ์และเป็นคนที่มีความสนใจในทางนั้น อย่างคนที่ทำงานด้านเอ็นจีโอไปด้วย เพราะฉะนั้นวิชามานุษยวิทยาก็ถูกเอาไปประยุกต์ เช่นเรื่องคนจน อย่างผมก็อาจจะถือเป็นคนที่เอาไปประยุกต์ด้วยในเรื่องการเคลื่อนไหวหรือการวิเคราะห์ทางการเมือง ในแง่หนึ่งมันต้องการการนำไปปรับใช้ เพียงแต่ว่าจากฐานตรงนี้เราได้ชุดคำถามใหม่ๆ เราได้ท่าที เราได้ position ของการศึกษาใหม่ๆ
อะไรคือวิธีการแสวงหาความรู้ของมานุษยวิทยา
วิธีที่ทำให้มานุษยวิทยามีคาแรกเตอร์เฉพาะก็คือการวิจัยภาคสนาม อันนี้คือตัดโบราณคดีกับมานุษยวิทยากายภาพออกไปซึ่งใช้หลักฐานทางวิทยาศาสตร์ เขาหาความรู้กับสิ่งที่สนทนากันไม่ได้ตรงไปตรงมา ก็ต้องอาศัยหลักฐานต่างๆ เพื่อสร้างข้อสรุปขึ้นมา มันยากไปอีกแบบ เช่น คุณไปเจอโครงกระดูกแล้วมีริ้วรอย เราก็ต้องสันนิษฐานไปว่าริ้วรอยนั้นเกิดจากอะไร ส่งแล็บ แล้วใช้ความรู้ทางสังคมวัฒนธรรมกลับมาตีความใหม่
แต่มานุษยวิทยาสังคมวัฒนธรรมด้วยเหตุที่ส่วนใหญ่เราศึกษาคนร่วมสมัย อีกส่วนก็มีงานที่ศึกษาคนที่อยู่ในอดีตก็จะใช้ข้อมูลคล้ายๆ นักประวัติศาสตร์ อย่างผมก็ทำทั้งสองอย่างคือใช้งานประวัติศาสตร์ผสมกับงานวิจัยคนในปัจจุบัน ทีนี้งานประวัติศาสตร์ก็มีส่วนคล้ายงานประวัติศาสตร์ เพียงแต่ว่านักมานุษยวิทยาจะตั้งคำถามแบบที่มานุษยวิทยา คือหาลักษณะเฉพาะของสังคมวัฒนธรรมนั้นจากหลักฐานข้อมูลในอดีต และตั้งคำถามในเชิงการวิเคราะห์ด้วยแนวคิดทฤษฎีต่างๆ มากกว่าหรือชัดเจนกว่านักประวัติศาสตร์ทำ
แต่วิธีการที่ทำให้มานุษยวิทยามีชื่อเสียงมากคือวิธีการวิจัยแบบภาคสนาม คือไปอยู่กับชาวบ้าน ไปใช้ชีวิตร่วมกับเขา ไปสัมภาษณ์พูดคุยกับเขาในแบบที่ส่วนใหญ่แล้วไม่เป็นทางการ จดบันทึกประสบการณ์เหล่านั้น แล้วเอามานั่งวิเคราะห์ ในแง่หนึ่งก็คล้ายกับการที่เราแจกคำถามแล้วให้คนไปเก็บมา แต่มันต่างกันมากตรงที่ว่าในกระบวนการพอเราไปทำเองคือเรามีทั้งคำถาม เราวิเคราะห์ไปด้วย และเราอาจจะปรับคำถามและวิเคราะห์ซ้ำๆ
เราเข้าไปเรียนรู้ชีวิตเขาในแบบที่ใกล้เคียงกับวิถีชีวิตที่เขาอยู่มากเสียหน่อย แต่แน่นอนว่าเราไม่ได้เติบโตในสังคมนั้น แต่แนวโน้มหนึ่งที่นักมานุษยวิทยาส่วนหนึ่งจะทำกัน ไม่ใช่ว่านักมานุษยวิทยาทุกคนจะทำได้ จะติดตามพื้นที่วิจัยเดิมๆ ไปตลอดเวลา ในแง่หนึ่งมีโอกาสที่คุณจะเติบโตไปพร้อมกับเขาในลักษณะที่คุณตามทันว่าที่นั่นเกิดอะไรขึ้น
แต่ยังไงก็ตาม การเอาตัวเองเข้าไปเรียนรู้ด้วยตนเองคือการวิจัยภาคสนาม ซึ่งก็มีคำอธิบายในแง่หนึ่งก็คือคุณไปมีประสบการณ์ตรงที่นั่น คุณใช้ตัวเองเป็นผู้เรียนรู้ คนอาจจะคิดว่าส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสัมภาษณ์ แต่การสัมภาษณ์มันเป็นแค่ส่วนเดียว แล้วบางทีการสัมภาษณ์ก็ไม่ได้ช่วยอะไร เพราะหลายสิ่งหลายอย่างผู้คนทำโดยที่ไม่มีคำอธิบาย เราก็ต้องไปสังเกตและร่วมปฏิบัติด้วย พอร่วมปฏิบัติมันคือการใช้ตัวเองไปเรียนรู้ มีประสบการณ์ตรง เช่น คุณไปทำนากับเขาอันนี้ก็เบสิกหน่อย หรือมากกว่านั้นคุณไปกินข้าวกับเขา บางคนไปเรียนวิชาหมอผีกับเขา คือเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตทางสังคมวัฒนธรรม การเรียนรู้นี้คือการพาเราออกไปจากความคุ้นเคยของเรา
พอจะพูดได้มั้ยว่าหัวใจของวิธีการศึกษาทางมานุษยวิทยาคือการพาตัวเองออกไปในภาคสนาม
มันคือส่วนสำคัญ จะเรียกว่าเป็นหัวใจก็ได้ แต่ก็ไม่ได้ถึงกับว่านักมานุษยวิทยาทุกคนจะต้องเป็นอย่างนั้น นักมานุษยวิทยาที่มีชื่อเสียงจำนวนมากก็ไม่ได้เริ่มจากการทำวิจัยภาคสนาม แต่ผมคิดว่าคนนอกมากกว่าที่มองว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้มานุษยวิทยามีชื่อเสียงคือการวิจัยภาคสนาม ไปที่นู่นที่นี่ เอาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้น เรียนรู้สังคมวัฒนธรรม มีประสบการณ์ด้วยกัน
พอพูดว่า มนุษย์ ซึ่งไม่ใช่น้ำที่เราสามารถวัดจุดเดือดได้ที่ 100 องศาเซลเซียส มนุษย์มีอารมณ์ มีบริบท มีสถานภาพ ฯลฯ เวลานักมานุษยวิทยาค้นพบข้อสรุปอะไรสักอย่าง มันคือความเป็นไปได้หรือความจริง
ความจริงทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เราบอกว่าน้ำเดือดที่ร้อยองศาจริงๆ มันก็มีเงื่อนไขมากมาย แล้วก็ยังมีความจริงในหลายระดับ ความเข้าใจหรือความจริงเกี่ยวกับมนุษย์ก็เหมือนกัน มันก็มีหลายชั้นหลายระดับ แต่ถึงที่สุดสิ่งที่เราได้มันคืออะไร บางทีมันบอกได้แค่ว่ามันเมกเซนส์หรือเปล่า
อย่างตอนที่ผมทำวิจัยเรื่องคนเสื้อแดง ผมอธิบายว่าเขาไม่ได้ถูกชักจูง หลอกล่อ หรือถูกจ้างมานะ เขามาชุมนุมด้วยตัวเองนะ เขาตัดสินใจด้วยตัวเอง ผมถามต่อว่าแล้วทำไมเขาถึงตัดสินใจด้วยตนเอง ลองไปดูซิ ว่าชีวิตเขาเปลี่ยนไปมั้ย การเปลี่ยนแปลงของชีวิตก็อาจมีส่วนก็คือว่าการที่เขาสามารถพึ่งตัวเองได้มากขึ้น การที่เขาสามารถตัดสินใจทางการเมืองได้ก็เพราะว่าการเลือกตั้งมีผลต่อชีวิตเขาจริงๆ คนที่เขาเลือกสามารถทำให้ชีวิตเขาดีขึ้นมาได้จริงๆ ไม่ใช่แค่ตัวนักการเมืองเฉพาะถิ่น แต่เป็นเรื่องของพรรคการเมือง ข้อสรุปก็คือว่าสิ่งเหล่านี้เปลี่ยนแปลงทั้งหมดทำให้เกิดขบวนการคนเสื้อแดงขึ้นมา
ทีนี้จะบอกว่ามันคือความจริงระดับไหน หรือว่ามันจริงหรือเปล่า บางทีมันบอกไม่ได้ แต่ข้อเสนอของงานวิจัยนี้คุณเชื่อมั้ยล่ะ หรือคุณคิดว่ามันเมกเซนส์มั้ยล่ะ จากคำอธิบายต่างๆ เหล่านี้ ถึงที่สุดความจริงในระดับนี้ ในระดับอธิบายสังคมที่ซับซ้อน มันเป็นเรื่องว่าเมกเซนส์หรือเปล่า เพราะทุกอย่างมันวัดไม่ได้ จะเอาอะไรมาวัด สถิติก็ทำได้แค่เป็นข้อมูลประกอบกับสิ่งต่างๆ คุณอาจจะทำวิจัยเชิงสถิติให้ตายยังไง ถ้าคุณจะถามทัศนคติ มันก็ยังเป็น subjective อยู่ดี เพียงแต่เป็น subjective ที่มากกว่าหนึ่งคน มันก็ไม่ได้จะบอกได้อย่างตรงไปตรงมา
เพราะฉะนั้นมันได้แค่ว่ามันเมกเซนส์หรือเปล่า แล้วความเมกเซนส์ตรงนั้นมันช่วยให้เราเข้าใจอะไรมากขึ้นมั้ย แล้วความเข้าใจมากขึ้น ถ้าเราจะนำไปสู่การทำนโยบายบางอย่างหรือปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตบางอย่างจากการที่เรารู้อย่างนี้แล้วทำไมไม่ลองเชื่อตามแนวทางแบบนี้ดู ถ้ามันเวิร์กก็โอเค มันไม่รู้ไง ผมคิดว่าวิทยาศาสตร์ก็เหมือนกัน ถึงที่สุดข้อค้นพบอะไรก็แล้วแต่ มันก็รอการพิสูจน์เพราะทุกอย่างมาจากการอนุมานแบบที่น่าเชื่อถือมากที่สุด เราทำได้แค่นั้น
ข้อสรุปทางมานุษยวิทยาคือหาคำอธิบายปรากฏการณ์ที่สมเหตุสมผลใช่มั้ย
ใช่ คือมันสมเหตุสมผลได้มากที่สุด ต่อให้เรื่องอะไรที่เราอาจจะคิดว่ามันไม่สมเหตุสมผล แต่คุณสามารถทำให้มันสมเหตุสมผลได้มั้ย หรือเราสามารถเข้าใจความเป็นเหตุเป็นผลของมัน อย่างน้อยผมคิดว่าสิ่งที่นักมานุษยวิทยามีร่วมกันอย่างหนึ่งก็คือ เราเชื่อว่ามนุษย์ไม่ว่าจะแตกต่างกันอย่างไร มันมีเงื่อนไขอะไรบางอย่าง เราไม่อยากใช้คำว่าสมเหตุสมผล เพราะบางทีมันอยู่ในวิธีคิดแบบหนึ่งมากไปหน่อย แต่ว่ามันอาจมีเงื่อนไขอะไรบางอย่างที่เราเห็นเขาทำแบบนั้น เราเห็นแค่ผิวเผิน ไม่เข้าใจ เราคิดว่ามันทำอะไรวะ
หน้าที่ของนักมานุษยวิทยาก็คือทำยังไงเราจะเข้าใจสิ่งที่เขาทำ พอถึงจุดหนึ่งความสงสัยตรงนั้นมันถูกคลี่คลายได้และเราอธิบายให้คนอื่นฟังได้ว่าที่เขาทำแบบนี้มันมีเงื่อนไขอะไร มีกลไกอะไร หรือมันอาจจะมีเหตุผลเฉพาะตัวของเขา แล้วมันอาจจะเป็นเหตุผลที่บางทีเขาอธิบายไม่ได้ แต่ด้วยความที่นักมานุษยวิทยาพยายามจะเข้าใจก็เลยพยายามหาคำอธิบาย
รับรู้มาว่าตอนนี้ศาสตร์อื่นๆ สนใจวิธีการ มุมมองของมานุษยวิทยาเพิ่มขึ้น คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร
ผมคิดว่ามานุษยวิทยามีอย่างน้อยสามอย่างที่ต่างจากสาขาวิชาอื่นเยอะหน่อย อย่างที่หนึ่งก็คือการทำงานกับคนนี่แหละ เอาจริงคือเราอยากหาความรู้ใหม่ๆ จากคนทั่วไป คนสามัญ แล้วเราก็จะเชื่อว่าทุกคนมีอะไรบางอย่างที่เราจะเรียนรู้จากเขาได้ สิ่งหนึ่งที่คนเรียนมานุษยวิทยาจะได้นิสัยนี้ไปก็คือการที่ยังไงก็ตามคุณสามารถไปคุยกับคนได้ เพราะว่าเราอยากรู้จักเขาและเราเชื่อว่าความรู้ที่ได้จากเขามันขยายความรู้ที่เราเคยมี ห้องแล็บของเราก็คือชีวิตของผู้คน ขณะที่วิทยาศาสตร์เขาขยายความรู้จากการค้นพบ แต่การค้นพบของเราคือการค้นพบที่ได้จากการไปรู้จักคนแล้วก็เอามาทดสอบ หมายถึงเอาความรู้ตรงนั้นมาทบทวนหรือขยายความรู้ที่เราเคยมีอยู่ ทำให้ความรู้ทางมานุษยวิทยาไม่เหมือนกับความรู้อื่น
อย่างที่สองคือการปูพื้นฐานความรู้ มานุษยวิทยามันอ่านหนังสือเยอะ หมายถึงว่าแนวคิดทฤษฎีต่างๆ ที่เราอ่านมันกว้างมาก ผมคิดว่ามันเป็นความรู้ที่เปิดให้กับการเชื่อมต่อไปได้เรื่อยๆ คุณอาจจะเชื่อมต่อไปในระดับลึก ไปคุยกับพวกนักปรัชญาระดับที่เป็นคำถามพื้นฐานต่างๆ นักมานุษยวิทยาชอบคุยกับนักปรัชญา ในระดับกว้าง นักมานุษยวิทยาชอบไปปะทะกับศาสตร์อื่นๆ ถ้าเป็นนักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องการเมืองก็จะไปปะทะกับข้อเสนอทางรัฐศาสตร์ต่างๆ นักมานุษยวิทยาที่สนใจเรื่องเศรษฐกิจก็ไปปะทะกับข้อเสนอของพวกนักเศรษฐศาสตร์ อย่างผมสนใจเรื่องภาษาก็จะไปปะทะกับพวกนักภาษาศาสตร์ อันนี้คือความกว้างและลึกของมานุษยวิทยาที่คุณสามารถสนทนากับศาสตร์ต่างๆ ได้หลากหลายมาก โดยที่ถึงที่สุดในอุดมคติเลยคือคุณเอาความรู้ที่คุณได้จากคนสามัญไปทะเลาะกับความรู้ที่มีอยู่แล้วในศาสตร์ต่างๆ
สามก็คือนักมานุษยวิทยาชอบถกเถียงกันเอง คือศาสตร์ต่างๆ มันก็ถกเถียงกันเองนั่นแหละ แต่ว่ามานุษยวิทยามันทบทวนตัวเองเยอะมาก มันวิพากษ์กันเองหนักตลอดเวลาทำให้ศาสตร์ทางมานุษยวิทยาเปลี่ยนเร็วมาก ห้าปีคุณจะเห็นอะไรใหม่ๆ อยู่ตลอด ถ้าไม่อ่าน ไม่ตามหนังสือใหม่ก็จะตกขบวนอย่างรวดเร็ว คุณจะเริ่มคุยกับคนรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้หรือได้น้อยลงเรื่อยๆ อันนี้ก็คือการที่นักมานุษยวิทยาทบทวนตัวเองอยู่บ่อยๆ ถกเถียงกันสูงมาก
ศาสตร์อื่นๆ เอาวิธีการทางมานุษยวิทยาไปใช้มากขึ้นหรือเปล่า
ผมคิดว่าที่เอาไปใช้เยอะเลยก็คือ วิธีการวิจัยภาคสนาม อย่างนักรัฐศาสตร์ก็ยอมรับตัวเองเหมือนกันว่ามันเปลี่ยนวิธีการตั้งคำถาม อย่างคนที่เริ่มจากปรัชญาการเมืองหรืออะไรต่ออะไรมันจะมีคำตอบที่มีอยู่ก่อนแล้ว ค่อยไปดูว่าชีวิตของผู้คนไม่ตรงกับคำตอบยังไง ในขณะที่เริ่มต้นใหม่อย่างมานุษยวิทยาก็คือไปดูซิ ว่าชีวิตของผู้คนมีคำตอบอะไรให้เรา แล้วมันจะสนทนากับคำตอบที่มีอยู่แล้วได้ยังไง มันก็เป็นวิธีตั้งต้นใหม่ๆ
การขยายพรมแดนความรู้ทางมานุษยวิทยาในไทยมีเพดานหรือข้อจำกัดอะไรบ้าง
เอางี้ ผมอยากจะบอกว่าเราไม่มีทุนให้นักศึกษาปริญญาเอกไปทำวิจัย เรามีทุนที่สนับสนุนให้นักศึกษาปริญญาเอกได้ทุนซึ่งไม่ใช่ทุนที่สนับสนุนการทำวิจัยโดยเฉพาะ เป็นทุนที่ให้ไปอยู่ต่างประเทศ นั่นหมายถึงการไปค้นคว้าเอกสารตำรามากกว่า ไม่ใช่การไปเก็บข้อมูลภาคสนาม ในขณะที่เรามีทุนให้นักศึกษาปริญญาโท มันตลกมาก
ทุนถ้ามีก็ควรมีทุนให้นักศึกษาปริญญาเอกที่ศึกษาทางมานุษยวิทยาไปเก็บข้อมูลที่ไหนก็ได้ในโลก แต่ประเทศนี้ยากมากที่จะได้ทุนไปเก็บข้อมูลในต่างประเทศ ความรู้ที่รัฐสนใจยังเป็นความรู้ที่อยากรู้แต่กับประเทศไทย อันนี้เป็นสิ่งที่คับแคบมาก ในขณะที่เคยมีทุนของประเทศญี่ปุ่นให้นักศึกษาไทยไปเรียนภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งตอนหลังไม่มีมาเป็นสิบปีแล้ว
คุณจะเห็นอาจารย์หลายๆ คนที่ตอนนี้อาจจะเป็น ผศ. รศ. แล้วทำวิจัยเกี่ยวกับประเทศเพื่อนบ้านจำนวนหนึ่งในนั้นได้ทุนจากญี่ปุ่น ขณะที่ประเทศนี้ไม่มี คุณต้องควักกระเป๋าตังค์เองหรือว่าอาจจะมีบางมหาวิทยาลัยที่พยายามสร้างโปรแกรมภาษาต่างประเทศ ซึ่งคุณเข้าไปเรียนก็ต้องจ่ายค่าเล่าเรียน สิ่งนี้สำคัญยังไง คือการทำวิจัยในต่างประเทศ การเรียนภาษาต่างประเทศสำหรับการศึกษาทางมานุษยวิทยาผมว่ามันสำคัญมาก ถามว่าทำวิจัยในประเทศมันไม่ได้เหรอ ก็ได้ แต่ว่าคุณจะเจออย่างนี้ ก็คือว่าสมมติมีนักวิจัยไทยที่ไปทำวิจัยเกี่ยวกับคนม้ง แทบจะไม่มีใครเลยถ้าเขาไม่ได้เป็นคนม้งเอง ที่จะไปเรียนภาษาม้งหรือไปทำวิจัยคนกะเหรี่ยงโปว์ เขาก็จะไม่ได้เรียนภาษาโปว์ หรือแม้แต่ไปทำวิจัยคนอีสานเขาก็พูดภาษากรุงเทพกับคนอีสาน น้อยคนที่จะรู้ภาษาอีสานแบบลึกซึ้ง ซึ่งก็มีแต่ไม่ใช่ส่วนใหญ่
ความรู้ที่ลึกซึ้งเกี่ยวกับชีวิตผู้คนจริงๆ จากโลกทัศน์ในภาษาของเขา ในความรับรู้ต่อโลกของเขาซึ่งมันแตกต่างกันมากกับคนที่พูดภาษากรุงเทพมันก็จะหายไป สู้คุณผลักให้เขาไปอยู่ในต่างประเทศเลยมันจะมีโอกาสมากกว่า แต่ก็มีอาจารย์อนุสรณ์ อุณโณ ซึ่งวิจัยคนในสามจังหวัดชายแดนใต้ เขาก็ไปเรียนภาษามลายูจริงๆ ซึ่งมันยากเพราะว่าไม่มีใครสอน คุณต้องไปเรียนกับคนในพื้นที่เอง หรือผมไปทำวิจัยคนไทดำในประเทศเวียดนาม ผมก็ต้องไปขวนขวายหาเรียนเอง สิ่งเหล่านี้ผมคิดว่าเป็นเพดานของประเทศไทย เงินน่ะมี แต่วิสัยทัศน์ยังไม่กว้างพอที่จะให้เกิดการพัฒนาความรู้เหล่านี้ โดยเฉพาะความรู้ทางมานุษยวิทยามันต้องการการเข้าใจความหลากหลายสูง
มันยังมีเพดานอย่างอื่นอีกมั้ย
เรื่องภาษาอังกฤษก็เป็นเรื่องใหญ่เหมือนกัน จริงๆ ตอนนี้สิ่งหนึ่งที่เราค่อยๆ มีมากขึ้น คือความพยายามที่จะเข้าไปมีส่วนพัฒนาความรู้ทางมานุษยวิทยาในระดับโลก มันก็มีเป็นระยะๆ ที่พวกอาจารย์ในสถาบันต่างๆ ไปร่วมมือกับนักวิชาการระดับโลกหรือค่อยๆ ไปพัฒนาความรู้ร่วมกัน สิ่งเหล่านี้มันใช้เวลานาน บางทีสักสิบปีก็อาจมีนักมานุษยวิทยาไทยที่เป็นที่รู้จักในระดับโลกมากขึ้น เพียงแต่ขณะนี้ผมก็ยังโทษเพดานจากเรื่องทุนการศึกษา ทุนวิจัยที่ทำให้โอกาสที่คนจะพัฒนาความรู้ด้านนี้อย่างจริงจังจริงๆ มันก็ยาก
แต่ว่าอีกอย่างที่เป็นอุปสรรคสำคัญคือระบบการศึกษาในระดับอุดมศึกษาประเทศไทยนั่นแหละ เพราะว่ามันเรียกร้องภาระการสอนของอาจารย์มาก ทำไมภาระการสอนของอาจารย์ต้องมาก ก็เพราะว่ามันคือแหล่งรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัย ค่าลงทะเบียนจากนักศึกษานี่แหละคือแหล่งรายได้สำคัญของมหาวิทยาลัยไทย ซึ่งมันดูงี่เง่ามั้ย ในขณะที่ประเทศอื่นมีทุนที่รัฐบาลต้องให้มากับการวิจัยอย่างเป็นกอบเป็นกำจริงๆ ประเทศนี้ก็มีแต่ว่ามันไม่ได้เชปไปในทางที่จะเอื้อต่อการพัฒนาความรู้มานุษยวิทยาสักเท่าไหร่ พอคุณมีภาระงานสอนมาก จะทำงานวิจัยที่ดีๆ ก็ยาก โอกาสก็น้อย
ถ้าใครสักคนอยากเรียนมานุษยวิทยา อะไรจะช่วยให้เขาตัดสินใจได้ว่าเขาเหมาะกับวิชานี้
อาจจะเป็นเรื่องของความเปิดกว้างทางความคิด พูดอย่างนี้ก็กว้างไป มันก็พูดยากนะ สิ่งที่น่ากังวลก็คือการปิดกั้นทางความคิด คล้ายๆ ว่าถ้าคุณมีธงอยู่แล้ว คิดว่าความรู้น่าจะไปทางไหน น่าจะเป็นยังไง เช่น ถ้าคุณเชื่อมั่นในเฟมินิสม์แบบสุดลิ่มทิ่มประตูแล้วก็มองปัญหาอะไรก็เป็นปัญหาปิตาธิปไตยไปหมด อย่างนี้เป็นปัญหาแล้ว หรือคุณเชื่อมั่นในมาร์กซิสม์อย่างเต็มที่ อันนี้มีปัญหาได้ว่าคุณจะไม่เปิดรับคำถามใหม่ๆ อย่างที่ผมบอก มานุษยวิทยามันเริ่มจากการที่คุณสำรวจความรู้ที่หลากหลายมากๆ แล้วค่อยไปดูว่าความรู้เหล่านั้นจะไปสนทนากับข้อมูลที่คุณได้จากชีวิตของผู้คนอย่างไร
เราควรสอนมานุษยวิทยาในประถม มัธยม เหมือนกับที่นักปรัชญาเรียกร้องให้สอนปรัชญามั้ย
ผมเคยสัมภาษณ์นักศึกษาคนหนึ่ง ตอนนั้นเขาอยู่ปี 1 เขาเรียนสังคมวิทยา มานุษยวิทยามาเทอมหนึ่งแล้ว เขาก็ชอบวิชามานุษยวิทยา แล้วเขาก็จะขอทุน ผมก็เป็นอาจารย์ที่ปรึกษาเขา นั่งคุยกันยาวๆ ผมก็ถามลอยๆ ว่าเป็นยังไงบ้างเรียนมา แล้วผลการศึกษาเขาก็ดี ได้เรียนวิชาในสาขาบ้างแล้ว เขาก็ตอบยาวเลยว่าน่าจะมีวิชาแบบนี้ที่สอนตั้งแต่ระดับมัธยมเพราะว่ามันสอนให้ตั้งคำถามกับตัวเองว่าเราเข้าใจคนอื่นพอหรือยัง ขณะเดียวกันมันช่วยให้เราต้องเปิดใจฟังทัศนะ ฟังมุมมอง หรือพยายามเข้าใจวิถีชีวิตของเขาให้มากขึ้น ซึ่งเขาคิดว่ามันเป็นวิชาที่น่าจะสอนตั้งแต่เด็ก
ผมเองก็ไม่ได้รู้จักวิชามานุษยวิทยาตอนปริญญาตรี ไม่เหมือนกับนักศึกษาคนนี้ที่รู้จักตั้งแต่ตอนเรียนปริญญาตรี เขาก็เลยสามารถสะท้อนกลับไปได้ทันทีกับชีวิตตอนที่เขาเรียนมัธยม ขณะที่ผมมารู้จักทีหลัง แต่ผมก็สะท้อนกลับไปตอนที่ผมเรียนเศรษฐศาสตร์ว่าความรู้อันนี้ที่ผมคิดว่ามันโอเค เศรษฐศาสตร์ทุกวันนี้ยังมีสิ่งที่เรียกว่าหลักเศรษฐศาสตร์อยู่เลย ขณะที่ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าหลักมานุษยวิทยาเท่าไหร่ มันอาจจะมีหลักการใหญ่ๆ แต่มันไม่มีความรู้ที่ตายตัว
ฟังจากที่คุณเล่ามาดูเหมือนว่ามานุษยวิทยาจะทำให้เราเข้าใจกันมากขึ้น เคารพกันมากขึ้น
ก็คิดว่าน่าจะช่วย ส่วนใหญ่แล้วเราจะได้คนที่อยากจะรู้จักคนอื่นหรือพยายามเข้าใจคนอื่น
มันจะทำให้เราเกลียดกันน้อยลงมั้ย
มันก็อาจจะโรแมนติกไปหน่อยถ้าพูดอย่างนั้น อาจจะไม่ถึงขนาดนั้นหรอก มันก็พูดยาก แต่อาจจะเป็นไปได้ก็ได้เพราะว่าสิ่งที่พวกเราเรียนกัน…อย่างผมสอนมานุษยวิทยาภาษา ผมก็จะพูดถึงภาษาต่างๆ นักเรียนก็จะชินไปเองที่จะได้ยินว่าเดี๋ยวก็พูดถึงคนที่นั่นที่นี่ แล้วก็ได้เห็นความหลากหลายของคน มันเป็นไปได้แบบนั้นแบบนี้ แต่วิธีที่เราพูดกัน วิธีที่เราออกเสียง วิธีที่เราคิดผ่านภาษา มันเป็นไปได้แบบต่างๆ มากมาย แล้วมันก็มีเหตุปัจจัยหรือเงื่อนไขรองรับที่ทำให้ชีวิตเขาเป็นแบบนั้น
ผมคิดว่ามันทำให้เราใจกว้างขึ้นหน่อยแล้วก็ลดตัวเองลงสักหน่อย และพยายามฟังคนอื่นมากขึ้น อย่างน้อยที่สุด นักศึกษาคณะผมทุกคนจะได้เดินทางไปที่ต่างๆ ที่จะไปเจอกับผู้คน ไม่วิชาใดก็วิชาหนึ่ง ผมคิดว่าสามสี่วิชาต้องมีที่เขาจะได้ไปเจอกับชาวบ้าน กับผู้คน ไม่ว่าจะในเมือง คนจนเมือง อย่างอาจารย์อนุสรณ์พาเข้าไปสำรวจคุก มันจะมีสิ่งเหล่านี้ที่เขาจะได้ไปเจอ ไปเห็น แค่นั่งรถออกไปจากกรุงเทพ สมมติว่าไปตามอีสาน เด็กบางคนก็ไม่เคยได้เห็นพื้นที่เหล่านั้น ผมคิดว่ามันทำให้เห็นอะไรมากขึ้น
สิ่งที่ผมพยายามใส่เข้าไปเวลาไปสอนพิเศษให้คณะอื่น สอนมานุษยวิทยาเบื้องต้นให้กับคณะเศรษฐศาสตร์ ผมก็ต้องมีไปนอนต่างจังหวัดสักคืนสองคืนก็พาไปที่นู่นที่นี่ ออกไปแค่ราชบุรีไปเจอชุมชนชาวกะเหรี่ยง เด็กที่โตมาในเมืองเป็นหลักก็ตื่นเต้นแล้ว แล้วเราให้เขาได้ลองคุยกับผู้คน ได้เห็นชีวิตประจำวัน แค่เพียงเล็กน้อยก็ทำให้เขาน่าจะเห็นอะไรมากขึ้น เห็นความหลากหลายของชีวิตมากขึ้น