ใครฆ่าความอยากรู้?

329 views
7 mins
October 11, 2023

          ยังจำความรู้สึกที่โลกนี้ช่างเต็มไปด้วยคำถามได้อยู่ไหม? ไม่ว่าใครๆ ก็คงต้องผ่านช่วงวัยที่เป็นเจ้าหนูจำไมประจำบ้าน เดินผ่านสิ่งต่างๆ ด้วยสายตาอยากรู้ และสงสัยว่าสิ่งนั้นคืออะไร สิ่งนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมถึงเป็นเช่นนั้น แต่แล้วนานวันเข้าความสงสัยใคร่รู้ก็เหมือนจะสูญหายไปจนหมด สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นกับผู้คนทั่วโลกราวกับเป็นสูตรสำเร็จ ความฉงนของคนเราหายไปตั้งแต่เมื่อไร เราทำหล่นหาย หรือมีใครมาลักพามันไป ถึงเวลาที่ต้องหาคำตอบไปด้วยกัน

ผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่ง ‘โรงเรียน’

          หากพูดถึงหนึ่งในสถานที่ที่คนส่วนใหญ่มักจะคลุกคลี เรียนรู้ และเติบโตแล้ว ‘โรงเรียน’ คงเป็นชื่อแรกๆ ที่เข้ามาในความคิด เมื่อเข้าสู่ ‘วัยเรียน’ หลายคนเริ่มถามคำถามต่างๆ น้อยลง นั่นทำให้สถานศึกษากลายเป็นผู้ต้องสงสัยอันดับหนึ่งที่ถูกชี้เป้า

          เป็นที่ทราบกันดีว่าเด็กเกิดมาพร้อมกับความสงสัย สังเกตได้จากดวงตากลมโตที่เหลือบมองซ้ายขวา จนกระทั่งเมื่อเด็กเริ่มพูด พ่อแม่เป็นผู้รับหน้าที่ตอบคำถามจำนวนนับไม่ถ้วน มีนักวิจัยทดลองบันทึกคำถามที่ออกจากปากของเด็กอายุ 14 เดือนถึง 5 ปี พบว่า พวกเขาถามคำถามเฉลี่ย 107 ข้อต่อชั่วโมง และเด็กคนหนึ่งสามารถถามคำถามได้สูงสุดถึง 3 ข้อต่อนาที ทั้งนี้ เด็กอายุ 2 ถึง 5 ขวบ จะถามคำถามประมาณ 40,000 ข้อ การถามจึงเป็นหนึ่งในวิธีที่มนุษย์ใช้เรียนรู้และทำความเข้าใจโลก

          หากแต่งานวิจัยของ ซูซาน เองเกล ผู้เขียนหนังสือ The Hungry Mind พบว่าการตั้งคำถามของเด็กกลับลดฮวบเมื่อพวกเขาเริ่มเข้าโรงเรียน เด็กในโรงเรียนประถมแถบชานเมืองของอเมริกา ถามคำถามเพียง 2-5 ข้อในระยะเวลา 2 ชั่วโมง และซ้ำร้ายเมื่อเด็กๆ โตขึ้น พวกเขาก็เลิกถามไปเลย อย่างเช่น เด็กชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 (อายุราว 10-11 ขวบ) ไม่มีคำถามถามครูแม้แต่ข้อเดียวตลอด 2 ชั่วโมง

          สิ่งนี้อาจสอดคล้องกับภาวะหมดไฟในการเรียน นักการศึกษาเห็นว่าเด็กวัย 8-10 ขวบ แสดงความสนใจในการอ่านและศึกษาโดยทั่วไปน้อยลง โดยให้ความเห็นว่าอาจเพราะมีกิจกรรมอื่นมาดึงความสนใจ เช่น กีฬา เกม รวมถึงกิจกรรมหลังเลิกเรียน แต่หลายคนก็เห็นว่าอาจเป็นเพราะระบบการศึกษาครอบงำพวกเขาด้วยการสอบและการประเมิน ปรากฏการณ์ดังกล่าวอาจเกี่ยวกับระบบการศึกษามากกว่าเรื่องพัฒนาการของเด็ก นักการศึกษาคนหนึ่งกล่าวว่า “เมื่ออายุ 8-10 ขวบ เด็กๆ เปลี่ยนจากการเรียนที่จะอ่าน เป็นการอ่านเพื่อเรียน”

          ในงาน TED2006 เซอร์ เคน โรบินสัน ได้บรรยายในหัวข้อโรงเรียนทำลายความคิดสร้างสรรค์หรือไม่โดยพูดถึงเรื่องระบบการศึกษาไว้อย่างน่าสนใจ เขายืนยันว่าความคิดสร้างสรรค์นั้นมีความสำคัญต่อการศึกษามากพอๆ กับการอ่านออกเขียนได้ และเราควรปฏิบัติต่อทั้งสองสิ่งอย่างเท่าเทียมกัน ความกล้าลองผิดลองถูกเป็นทักษะของการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ แต่เมื่อยิ่งโตขึ้นเรากลับสูญเสียทักษะนั้น เหลือเพียงความกลัวว่าจะทำผิดพลาดและโดนประณาม

          โรบินสัน พบว่าระบบการศึกษาทั่วโลกต่างแบ่งความสำคัญของวิชาออกเป็นลำดับชั้น ชั้นบนสุดคือคณิตศาสตร์และภาษา ถัดมาเป็นวิชามนุษยศาสตร์ และศิลปะอยู่อันดับสุดท้าย  ซึ่งยังถูกแบ่งอีกว่าดนตรีอาจอยู่สูงกว่าการละคร สาเหตุของการแบ่งเช่นนี้ เริ่มมาจากการเกิดขึ้นของระบบการศึกษาสาธารณะครั้งแรกในช่วงศตวรรษที่ 19 เป้าหมายของการศึกษา ณ ขณะนั้นมีไว้เพื่อตอบสนองความต้องการของระบบเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรม จึงทำให้ยึดถือความสามารถทางวิชาการเป็นหลัก

          การแบ่งลำดับชั้นของวิชาโดยคำนึงถึงประโยชน์ต่อการทำงานมาเป็นอันดับหนึ่ง ส่งผลให้เด็กหลายคนหันเหความสนใจออกจากสิ่งที่ชอบ เพราะคิดว่ากิจกรรมอย่างดนตรีหรือศิลปะ ไม่อาจทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองได้ โรงเรียนไม่ได้ให้คุณค่ากับสิ่งที่พวกเขาทำได้ดีสักเท่าไร และกระบวนการสอบเข้ามหาวิทยาลัยยิ่งทำให้เด็กๆ หลายคนที่เก่งหรือมีความคิดสร้างสรรค์ คิดว่าพวกเขาไม่เก่ง ทั้งที่ความจริงแล้ว ‘ความเฉลียวฉลาด’ ในโลกใบนี้มีหลากหลายรูปแบบ

ใครฆ่าความอยากรู้?
Photo: BlackboardBattlefield

          โรบินสัน ยกตัวอย่างถึงเรื่องราวของจิลเลียน ลินน์ นักออกแบบท่าเต้นสำหรับละครเวทีเรื่องดังอย่าง ‘Cats’ และ ‘Phantom of the Opera’ เขาเคยถามเธอว่า “จิลเลียน คุณมาเป็นนักเต้นได้อย่างไร” ลินน์ตอบว่า ตอนที่เธอเป็นนักเรียน โรงเรียนเขียนจดหมายหาผู้ปกครองว่าเธออาจจะมีปัญหาในการเรียนรู้ เนื่องจากไม่สามารถจดจ่ออยู่กับสิ่งใดได้ ทั้งยังรบกวนเพื่อนๆ แม่กับเธอจึงไปหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อพูดคุยถึงปัญหานี้

          จังหวะที่ผู้เชี่ยวชาญขอคุยกับแม่เป็นการส่วนตัว โดยเปิดวิทยุให้เธอรออยู่ในห้องคนเดียว เสียงเพลงทำให้เธอลุกขึ้นมาเต้น โดยมีสายตาของแม่และผู้เชี่ยวชาญแอบมองอยู่ แล้วเขาก็พูดกับแม่ของเธอว่า “คุณนายลินน์ครับ จิลเลียนไม่ได้ป่วยหรอก เธอเป็นนักเต้นต่างหาก พาเธอไปโรงเรียนสอนเต้นเถอะ” หลังจากนั้นลินน์จึงได้เข้าสู่เส้นทางการเต้นที่แสนมหัศจรรย์ ต่างจากการใช้ชีวิตในโรงเรียนที่ช่างสิ้นหวังสำหรับเธอ เรื่องนี้ทำให้เห็นว่าระบบการศึกษากระแสหลักเป็นไปเพื่อผลิตสินค้าชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่อาจตอบโจทย์ความหลากหลายของผู้เรียน

          ย้อนกลับมาที่ ‘ความสงสัย’ ที่อาจถูกพรากไปเพราะโรงเรียน เราอาจเห็นได้ว่าระบบการศึกษาดังกล่าว ไม่เพียงทำลายความคิดสร้างสรรค์ หรือมองข้ามเด็กที่มีพรสวรรค์ แต่ยังอาจทำลายความสงสัยใคร่รู้ไปด้วย ลองคิดภาพถึงห้องเรียนที่เด็กทุกคนนั่งรวมกันอยู่กลางห้อง เพื่อเรียนบทเรียนบางอย่าง อาจเป็นเรื่องของเมฆและท้องฟ้า ในระหว่างนั้นมีเด็กคนหนึ่งมองออกไปนอกหน้าต่าง เห็นสายฟ้าฟาดเสียงดังเปรี้ยง แล้วร้องถามขึ้นด้วยความสนใจว่าปรากฏการณ์นั้นคืออะไร แต่ครูอาจตัดบทง่ายๆ เพียงเพราะต้องการดึงความสนใจของเขากลับมาที่บทเรียน

          หลายคนคงเคยเผชิญเหตุการณ์เช่นนี้ในอดีต และนั่นอาจทำให้เด็กหลายคนที่เต็มไปด้วยคำถามมากมาย เรียนรู้ที่จะไม่ถามคำถามที่โรงเรียนเพราะไม่มีใครตอบ ทั้งที่งานวิจัยชี้ให้เห็นว่า ความอยากรู้อยากเห็นมีความสำคัญมากกว่าความสามารถในการจดจ่ออยู่กับบทเรียนเสียอีก

          ระบบการศึกษาดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับความประพฤติของเด็กหรือผลการเรียนมากกว่าความอยากรู้อยากเห็น เด็กที่มีผลการเรียนดีกลับมีความอยากรู้อยากเห็นน้อยลง เนื่องจากพวกเขามองว่ามันเป็นความเสี่ยง หากจะมีการถามอะไรบ้างก็เป็นเพียงเพื่อปรับปรุงผลลัพธ์ของตนเองเท่านั้น ในขณะที่เด็กซึ่งเต็มไปด้วยความฉงนจริงๆ จะมุ่งเป้าการถามคำถามเพื่อทำความเข้าใจหัวข้อใดๆ อย่างลึกซึ้งขึ้น

          อย่างไรก็ตาม ในแต่ละโรงเรียนมักจะมีครูที่ส่งเสริมความอยากรู้อยากเห็น แต่มักขึ้นอยู่กับครูเป็นรายบุคคลมากกว่าระบบของโรงเรียน ส่วนโรงเรียนที่เห็นถึงความสำคัญของเรื่องนี้อาจมีอยู่บ้าง ยกตัวอย่างเช่น โรงเรียนเตรียมอนุบาลในเมืองบริสตอล ประเทศอังกฤษ เลิกให้เด็กสองขวบเล่นของเล่น แล้วแทนที่ด้วยวัสดุอย่างกล่องกระดาษแข็ง กระป๋อง โทรศัพท์เก่า หรือสิ่งอื่นๆ ที่ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ เพื่อให้เด็กๆ ได้คิดจินตนาการในการเล่นอย่างเต็มที่และเพลิดเพลิน

          ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ซึ่งเข้าไปสังเกตการณ์โรงเรียนดังกล่าว มองว่า มนุษย์เรียนรู้จากประสบการณ์ใหม่ๆ และความอยากรู้อยากเห็นก็เป็นสิ่งสำคัญต่อกระบวนการนี้ “เด็กๆ ควรได้รับการส่งเสริมและกระตุ้นให้ถามคำถาม แม้ว่านั่นอาจเป็นสิ่งที่ท้าทายสำหรับครู… เราต้องหาเวลาสำหรับซักถามระหว่างวันบ้าง แต่โรงเรียนกลับมีเวลาไม่เพียงพอสำหรับความคิดสร้างสรรค์และความสงสัยใคร่รู้”

          ระบบที่ให้ความสำคัญกับคำตอบมากกว่าคำถาม ไม่ใช่เพียงเกิดขึ้นที่โรงเรียนเท่านั้น แต่บางทีบ้าน หรือที่ทำงานเองก็เป็นเช่นนั้น ผู้คนส่วนใหญ่มักได้รางวัลจากการให้คำตอบ เราถูกฝึกผ่านรูปแบบของการทำแบบฝึกหัดและการทำข้อสอบ การสัมภาษณ์เข้าทำงาน รวมไปถึงการหาทางออกเมื่อต้องเผชิญปัญหาที่ผ่านเข้ามาอย่างไม่รู้จบ

หรือนี่จะเป็นขบวนการผลาญความสงสัย

          อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยอีกมากที่มีส่วนพรากความสงสัยไปจากมนุษย์ ยกตัวอย่างเช่นความรู้ที่กันเราให้ออกห่างจากความฉงน ช่องว่างระหว่างสิ่งที่รู้กับสิ่งที่ไม่รู้คือแรงขับเคลื่อนที่ทำให้สงสัยและอยากหาคำตอบ เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราเสาะหาคำตอบจนคิดว่ารู้พอแล้ว เราจะค่อยๆ ถูกดึงออกจากความสงสัยนั้นไป ในขณะที่บางครั้งอีโก้ก็ปิดกั้นเราจากความอยากรู้อยากเห็น เนื่องจากการยอมรับว่าเราไม่รู้ ทำให้เรารู้สึกเหมือนตัวเล็กและอ่อนแอเหลือเกิน

          นอกจากนี้ปัจจัยด้าน เวลา ในโลกที่แสนเร่งรีบ อาจทำให้เราไม่มีโอกาสได้สังเกต ตรึกตรอง และตั้งคำถาม การใช้ชีวิตปกติแต่ละวันแทบจะสูบพลังงานไปจนหมด ทำให้ความอยากรู้อยากเห็นของเราไม่มีโอกาสได้เติบโตดังเช่นตอนเป็นเด็กที่มีเวลาเหลือเฟือ และยังมีปัจจัยเรื่องสุขภาพเช่น ความเครียด ภาวะสมองเสื่อม รวมไปถึงยาเสพติดที่บ่อนทำลายความอยากรู้อยากเห็นของเราเช่นกัน

          ดร.ไดแอน แฮมิลตัน ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมชี้ให้เห็นปัจจัยหลัก 4 ประการ ที่ขัดขวางหรือลดคุณภาพของความสงสัยใคร่รู้ในมนุษย์ โดยเรียกย่อๆ ว่า “FATE” มาจาก Fear (ความกลัว) Assumptions (การทึกทัก) Technology (เทคโนโลยี) และ Environment (สิ่งแวดล้อม)

          เริ่มกันที่ความกลัวนับได้ว่าเป็นปัจจัยหลักซึ่งมีอิทธิพลต่อความอยากรู้อยากเห็นของเรามากที่สุด โดยอาจเป็นความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ ความกลัวในคำตอบที่เราจะได้รู้ ความกลัวว่าความรู้ใหม่นั้นจะท้าทายความเชื่อที่เรายึดถือในปัจจุบัน หรือความกลัวการล้มเหลวหรือผิดพลาดที่เกิดจากความอยากรู้อยากเห็น ทั้งนี้ ในสภาพแวดล้อมที่ไม่ค่อยต้อนรับการถามคำถาม ความผิดพลาดหรือการยอมรับว่าตัวเองไม่รู้ ก็อาจส่งผลต่อสายตาที่คนรอบข้างมองมาที่เรา และนั่นก็ยิ่งสร้างความกลัวและหวั่นวิตกมากขึ้น จนครอบงำความกล้าและความอยากรู้อยากเห็นของเราไป อย่างไรก็ตามความอยากรู้อยากเห็นที่มากขึ้นเกินจะเก็บ อาจช่วยผลักดันเราให้เอาชนะความกลัวนั้นได้ในที่สุด และยิ่งเรารู้เยอะ เราก็จะยิ่งกลัวน้อยลงไปเอง ดังนั้นชัยชนะต่อความกลัวเพียงครั้งเดียว จึงสามารถเปิดโอกาสอีกมากมายให้กับผู้มีความฉงนอยู่เต็มหัวใจ

          ในขณะเดียวกันการทึกทักหรือตั้งสมมติฐานเอาเองก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้ความสงสัยถูกดองเอาไว้ไม่ได้เฉิดฉายเสียที เราสบายใจกับการทำสิ่งต่างๆ ในแบบเดิมที่เคยทำ อาจรู้สึกว่าสิ่งที่มีอยู่ก็ดีอยู่แล้ว ทำไมเราจะต้องตั้งคำถามหรือเสาะหาวิธีการใหม่ๆ ด้วย หรือทึกทักไปเองว่าปัญหาหรือความสงสัยที่เรามีอาจจะได้รับการแก้ไขไปแล้วก็ได้

          ยกตัวอย่างเช่น เราอาจจะเลือกงานตามความคาดหวังของคนอื่น หรือคิดว่าเราคงทำมันได้ดี ทั้งที่เรายังไม่ทันได้สำรวจตัวเองว่าเหมาะกับมันไหม หรือชอบงานนี้หรือเปล่า แน่นอนว่าความสงสัยใคร่รู้ไม่อาจเกิดได้เลยหากเราไม่ลองออกไปเผชิญสิ่งที่อยู่นอกพื้นที่เดิมๆ ที่เราอยู่

          เช่นเดียวกับแวดวงอุตสาหกรรมที่มักจะเลือกหนทางที่ชัวร์มาก่อนหนทางที่ใหม่เสมอ ทั้งๆ ที่แต่ละองค์กรต่างก็โหยหาความก้าวหน้าและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะเข้ามาแก้ไขปัญหาให้ดียิ่งขึ้น การเปลี่ยนทัศนคติของเราจาก “ถ้ามันยังไม่พัง ก็อย่าเพิ่งไปซ่อมมัน” เป็น “หากยังไม่พัง ก็พังมันซะ!” แล้วค่อยจัดการก่อร่าง แก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงช่วยให้หลุดออกจากกรอบสมมติฐานที่ครอบเราอยู่ได้

          นอกจากนี้ ความสะดวกสบายของเทคโนโลยีทำให้เราสามารถเข้าถึงคำตอบมากมายได้อย่างง่ายดาย แต่เมื่อคนเริ่มพึ่งพาเทคโนโลยีมากขึ้น ความอยากรู้อยากเห็นก็อาจหมดไป คำตอบมากมายที่เรารู้หลังจากกดปุ่มไม่กี่คลิก ทำให้ความสงสัยในขณะนั้นสิ้นไปทันที และนั่นก็อาจทำให้เราละเลยความจำเป็นในการค้นหาต่อไปว่า ทำไมคำตอบจึงเป็นเช่นนั้น

          กระนั้นก็มีคนที่มองต่างออกไป โดยมองว่าอินเทอร์เน็ตสามารถช่วยค้นหาสิ่งที่เรียกว่า ‘ความอยากรู้อยากเห็นเฉพาะเจาะจง’ เช่น นักแสดงในเรื่องนี้มีใครบ้าง สิ่งนี้ช่วยไขข้อข้องใจเล็กๆ ที่มักติดอยู่ในหัวภายในเวลาอันสั้น ต่างจากความสงสัยเมื่อเราทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ที่มุ่งหาคำตอบซึ่งยังไม่เคยมีใครรู้ และหาในอินเทอร์เน็ตไม่ได้ ดังนั้น การค้นหาข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ ก็อาจจะกระตุ้นให้เราอยากรู้อยากเห็นเพิ่มเติมได้เช่นกัน

          ปัจจัยสุดท้ายที่นับว่าเป็นอีกหนึ่งตัวเต็งผู้ทำลายความสงสัยในตัวมนุษย์ก็คือสภาพแวดล้อมที่แต่ละคนใช้ชีวิตอยู่ ดังเช่นโรงเรียนได้เปลี่ยนจากเจ้าหนูช่างถามเป็นเด็กที่เงียบขึ้นทุกทีๆ หรือบางครั้งครอบครัว เพื่อน กระทั่งคนในโลกโซเชียลก็อาจทำให้เรากังวลว่า การแสดงความสนใจหรือสงสัยในบางสิ่งที่ต่างออกไป จะทำให้คนอื่นมองเราเปลี่ยนไปเป็นอีกแบบหนึ่ง

          จอห์น โบว์ลบี ผู้ริเริ่มทฤษฎีความผูกพัน (Attachment Theory) ระบุว่า สัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นที่พบในเด็ก ได้รับอิทธิพลอย่างมากมาจากการเลี้ยงดูของแม่หรือผู้ดูแล “เด็กน้อยที่มองว่าแม่ของตนเป็นรากฐานที่มั่นคง จะรู้สึกปลอดภัยในการสำรวจสภาพแวดล้อมของตน ในทางกลับกัน เด็กน้อยที่ไม่รู้สึกถึงความปลอดภัยหรือความมั่นคงของแม่ จะเป็นเด็กที่กังวลและมีแนวโน้มจะสำรวจสภาพแวดล้อมของพวกเขาน้อยกว่ามาก” ทั้งนี้ หากเด็กได้รับการส่งเสริมกรอบความคิดแห่งความฉงน เช่น การถามคำถามอย่าง “จะเกิดอะไรขึ้นถ้า…” หรือ “ฉันสงสัยจังถ้า…” ก็จะปลูกฝังนิสัยช่างคิดช่างถามได้

          ไม่เพียงแต่สภาพแวดล้อมของวัยเด็ก หากแต่สภาพแวดล้อมของวัยผู้ใหญ่อย่างเช่นที่ทำงานก็ส่งผลถึงความสงสัยที่หดหายไปได้เช่นกัน งานศึกษาหลายชิ้นชี้ให้เห็นว่า การให้สิทธิหรืออิสระแก่พนักงานในการเลือกโดยสมัครใจ (แม้จะมีตัวเลือกไม่มาก) ช่วยกระตุ้นความสนใจของพวกเขาได้มากกว่าการมีคนอื่นกำหนดทิศทางให้ทำ องค์กรที่มีวัฒนธรรมแบบลำดับขั้นเข้มแข็ง ความใคร่รู้ของพนักงานระดับล่างจะลดลงอย่างมาก เนื่องจากความเห็นหรือความเชื่อของผู้ที่อยู่ในระดับสูงกว่ามักมีน้ำหนักกว่าเสมอ

          ความหลากหลายก็เป็นอีกหนึ่งคำสำคัญที่กำหนดระดับความสงสัย ในสภาพแวดล้อมของทีมงานที่มีองค์ประกอบ ‘เหมือนกัน’ เกินไป ทั้งในแง่ภูมิหลัง การศึกษา ที่หล่อหลอมความคิดและการกระทำ อาจจะทำให้เกิดคำถามหรือความสงสัยระหว่างการทำงานได้ยาก หากไม่มีการแลกเปลี่ยนความเห็นกับทีมอื่นหรือลูกค้าเลย ก็มีแนวโน้มว่าจะฟังแค่เสียงพวกเดียวกันเอง ที่สอดคล้องกันจนละเลยคำถามสำคัญๆ ไป

          นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่อาจมีผลให้คนเรามีความสงสัยใคร่รู้ในระดับที่แตกต่างกัน เบ็คกี โธมัส ผู้เขียนที่ทำงานเกี่ยวกับประเด็นเจเนอเรชัน ชี้ว่าความรู้สึกไม่มั่นคงปลอดภัย สามารถกระตุ้นให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น มากกว่าปัจจัยด้านอายุของบุคคล เขาอธิบายว่า “คนยุคมิลเลนเนียลเติบโตมาในช่วงเวลาที่มีความเชื่อใจต่ำมาก เนื่องด้วยวิกฤตทางการเงิน เหตุการณ์ 9/11 พ่อแม่ตกงาน ฯลฯ ดังนั้น พวกเขาจึงมีแนวโน้มที่จะตั้งคำถามกับสิ่งต่างๆ ในระดับที่สูงกว่าเจนเอ็กซ์หรือเบบี้บูมเมอร์เมื่อช่วงวัยเดียวกัน” เพราะคนรุ่นก่อนๆ ล้วนโตมาในยุคที่ ‘ปลอดภัย’ และมักจะเชื่อผู้นำ ทำให้ไม่ค่อยมีความสงสัยหรือคำถามเฉกเช่นที่เป็นอยู่ตอนนี้

          ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมานี้อาจจะเป็นหรือไม่เป็นตัวการที่ทำให้ความสงสัยใคร่รู้ของแต่ละคนหายไป ศัตรูของความสงสัยใคร่รู้อาจจะแฝงตัวอยู่ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นสังคม สภาพแวดล้อมภายนอก ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี หรือความรู้สึกภายในจิตใจ การย้อนกลับไปมองสาเหตุที่แท้จริง อาจจะทำให้เราได้พบกับความอยากรู้อยากเห็นที่ถูกพรากไปอีกครั้ง และถึงแม้ในอนาคตมันจะถูกลักพาตัวไปอีก เราก็คงตามหามันไม่ยากแล้ว จริงไหม?

ใครฆ่าความอยากรู้?


ที่มา

บทความ “Curiosity :The neglected trait that drives success” จาก bbc.com (Online)

บทความ “Why Asking Questions Is Good For Your Brand And Your Career” จาก forbes.com (Online)

บทความ “Curiosity: Why It Matters, Why We Lose It And How To Get It Back” จาก forbes.com (Online)

บทความ “The ‘Why’ Behind Asking Why: The Science of Curiosity”จาก knowledge.wharton.upenn.edu (Online)

บทความ “The Question is the Answer Part 2: Why We Stop Asking Questions and How to Start Again” จาก metalearn.net (Online)

บทความ ‘Schools are killing curiosity’: why we need to stop telling children to shut up and learn. จาก theguardian.com (Online)

บทความ “Do schools kill creativity?” จาก ted.com (Online)

บทความ “Four Factors that Diminish Human Curiosity” จาก futurelearn.com (Online)

บทความ “What Kills Curiosity at Companies – And How to Avoid It.” (Online)

บทความ “How to develop curiosity in your team” จาก leaddev.com (Online)

บทความ “Who Asks Questions, And What It Tells Us” จาก behavioralscientist.org (Online)


บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในหนังสือ Lifelong Learning Focus issue 03 (2566)

RELATED POST

แหล่งชุมนุมความคิดเรื่องพื้นที่สาธารณะเพื่อการเรียนรู้
และห้องสมุดกับการเปลี่ยนแปลงสังคม

                                                                                            

The KOMMON มีการใช้คุกกี้ เพื่อเก็บข้อมูลการใช้งานเว็บไซต์ไปวิเคราะห์และปรับปรุงการให้บริการที่ดียิ่งขึ้น คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และสามารถจัดการความเป็นส่วนตัวเองได้ของคุณได้เองโดยคลิกที่ ตั้งค่า

Privacy Preferences

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

อนุญาตทั้งหมด
Manage Consent Preferences
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    Always Active

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์นี้เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก